Skip to main content
sharethis

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)


 


ใกล้ทราบผลเต็มทีว่าแล้วว่า ใครจะขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไป ผู้สมัครหลายท่านได้นำเสนอนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ หลากหลายรูปแบบเพื่อทำให้ชีวิตของชาวกรุงเทพฯ สะดวกสบายขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่นโยบายหนึ่งที่ผู้สมัครฯทุกคนต่างให้ความสำคัญ และเป็นนโยบายที่ชาวกรุงเทพฯทุกคนเฝ้ารอผู้ที่จะเข้ามาปัญหานี้ คือ การจัดการการจราจรในกรุงเทพฯ


 


ผศ. ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครว่า ปัญหาการจราจรในเมืองล้วนมาจากโครงการสร้างการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ดีพอ เช่น ขาดการพัฒนาระบบราง หรือ รถไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้นอย่างเพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน การควบคุมระบบสัญญาณไฟบนท้องถนน หรือการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ หากมีการจัดการระบบขนส่งขนส่งโดยรวมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปัญหาการจราจรย่อมแก้ไขให้ดีขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มิได้มีอำนาจสิทธิขาดอย่างเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหาของระบบจราจรในกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การแก้ปัญหาเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม


 


"สิ่งที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่พอจะสามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรเฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ การจัดสรรเส้นทางการเดินทางบนถนนให้เอื้ออำนวยต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้นต่อคนจำนวนมากที่อาศัยระบบขนส่งมวลชน โดยการเปิดช่องทางเดินรถประจำทาง (Bus lane) พิเศษในเส้นทางสายหลัก เพื่อให้รถเมล์ และรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีผู้โดยสารนั่งเต็มที่นั่งทั้งคันได้ไปก่อนรถคันอื่น โดยจัดให้เลนพิเศษนี้อยู่ที่เลนขวาสุดเพื่อไม่ให้ไปทับซ้อนกับเลนของรถเลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าซอยเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมปรับป้ายหยุดรถประจำทางไปอยู่บนเกาะกลางถนน แต่ให้มีจำนวนน้อยเฉพาะจุดที่สำคัญๆ ส่วนบริเวณแยกสัญญาณไฟควรใช้ระบบจีพีเอสเพื่อเปลี่ยนสัญญาณไฟอัตโนมัติให้รถในช่องทางเดินพิเศษได้ไปก่อน เมื่อคนที่โดยสารกับรถเมล์ได้มีโอกาสไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนั่ง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้คนไม่หันไปใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อจำนวนรถน้อยลง ปัญหาการจราจรติดขัดก็จะน้อยลงไปด้วย" ผศ. ดร.จำนง กล่าว


 


นอกจากนี้ ผศ. ดร.จำนง ยังแนะนำอีกว่า สำหรับพื้นที่ใต้ทางด่วนที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถปรับปรุงให้เป็นถนนช่องทางพิเศษสำหรับรถประจำทางได้ ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างถนนสายหลักและถนนสายรอง และ ควรมีระบบส่งต่อผู้โดยสารที่เป็นรถเล็ก เช่น รถตู้ หรือรถชัทเตอร์บัสจากจุดที่ห่างไกลมาส่งที่จุดขึ้นรถประจำทางพิเศษนี้ นอกจากนี้ตามสถานที่ที่มีผู้ต้องการใช้รถแท็กซี่จำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ โรงพยาบาล โรงแรม สถานีขนส่ง หรือสนามบิน กทม.สามารถจัดการระบบจอดรับผู้โดยสารของรถแท็กซี่ให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้


 


โดยอาศัยความร่วมมือกับเจ้าของสถานที่จัดสรรพื้นที่รองรับการจอดรอผู้โดยสารแบบจำกัดจำนวน แต่ให้มีรถเข้ามาเสริมได้อย่างต่อเนื่องทันทีที่รถที่จอดรออยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถูกเรียกใช้บริการไปแล้ว โดยใช้ระบบจีพีเอสระบุตำแหน่งรถสมาชิกที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อเรียกรถใหม่ให้เข้ามาเสริมโดยติตต่อกันทางวิทยุหรือโทรศัพท์มือถือ เพื่ออำนวยความสะดวกแต่ป้องกันไม่ให้มีรถแท็กซี่จอดรอจำนวนมากจนกลายเป็นปัญหารถติดบริเวณที่จอดรอรับผู้โดยสาร


 


ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัญหาสำคัญของมหานครอย่างกรุงเทพฯ รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา กทม.มีนโยบายให้มีการคัดแยกขยะเพื่อให้สะดวกต่อการบำบัดและจัดเก็บขยะ แต่นโยบายนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง


 


ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านการจัดการขยะของผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ควรเน้นเรื่องการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบเพื่อสะดวกต่อการบำบัดขยะตามประเภทของขยะ และยิ่งไปกว่านั้นควรนำกรุงเทพเข้าสู่ยุคที่ขยะมีค่าดั่งทอง หลังจากการคัดแยกขยะแล้วกทม.สามารถเปลี่ยนคุณค่าของขยะให้มีค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน อาทิ การหมักขยะเพื่อให้เกิดก๊าซมีเทน ที่สามารถใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ หรือนำไปเผาเพื่อให้ความร้อนโดยตรง และนำขยะพลาสติกมาเปลี่ยนรูปเป็นน้ำมัน เป็นต้น


 


นอกจากนี้ รศ. ดร.สิรินทรเทพ ยังกล่าวอีกว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นโยบายด้านโลกร้อน เป็นนโยบายที่มหานครทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ มีการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนเพื่อลดปัญหาจากภาวะโลกร้อน กรุงเทพมหานครก็เช่นเดียวกันที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ควรทำให้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่มีความชัดเจนและหนักแน่นมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในด้านนี้ให้มากขึ้น


 


ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายต่างๆ ที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เป็นจริงได้ ไม่เฉพาะตัวผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ของ กทม.เท่านั้น แต่ชาวกรุงเทพฯทุกคนมีส่วนที่จะทำให้นโยบายเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหา ดังนั้นเราทุกคนต้องลงมือช่วยกันแก้ปัญหา ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และหน้าที่ของพลเมืองที่ดี การที่เราช่วยกันคนละไม้คนละมือจะทำให้เห็นผลสำเร็จได้เร็วขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net