Skip to main content
sharethis



ประชาไท - เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2551 สำนักข่าวเอพีรายงานความคืบหน้าคดีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันและภรรยาถูกกล่าวหาว่าร่วมกันติดสินบนอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยอัยการศาลนครลอสแองเจลิสระบุว่า นายเจอรัลด์ กรีน และ นางแพทริเีชีย กรีน ต้องมารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันที่ 14 ต.ค.2551 หลังถูกตั้งข้อหาแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 


ทั้งนี้ เจอรัลด์ กรีน วัย 75 ปี เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในนครลอสแองเจลิส ผลงานล่าสุดคือ Rescue Dawn นำแสดงโดยนายคริสเตียน เบล นักแสดงชาวอังกฤษ แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวถ่ายทำในประเทศไทยเมื่อปี 2549 และต่อมานายกรีนถูกตั้งข้อหาติดสินบนอดีตผู้ว่าการ ททท.เพื่อช่วยเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของตนได้เป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ หรือ Bangkok International Film Festival เมื่อปี 2546 ขณะที่นางแพทริเชีย กรีน วัย 52 ปี ภรรยาของนายเจอรัลด์ ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับสามีติดสินบนเจ้าหน้าที่ของ ททท. ซึ่งทั้งสองคนยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา


 


อย่างไรก็ตาม อัยการศาลยืนยันว่านายและนางกรีนต้องมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยระบุว่าทั้งสองคนจ่ายเงินให้กับอดีตผู้ว่าการ ททท.เป็นเงิน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 57 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฟิล์ม เฟสติวัล แมเนจเมนต์ซึ่งนายกรีนเป็นผู้บริหารมีรายได้ถึง 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 448 ล้านบาท โดยสัญญาว่าจ้างระหว่าง ททท.และบริษัทของนายกรีนไม่ได้มีแค่การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการจัดทำบัตรเอกสิทธิ์ "อีลิท การ์ด" ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังมีโครงการจัดทำปฏิทิน สมุดบันทึก และเว็บไซต์ด้วย


 


ด้านนางแพทริเชีย กรีน ถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมเรื่องการปลอมแปลงบัญชีการเงิน การเสียภาษี และมีส่วนรู้เห็นในการติดสินบน เพราะมีรายงานว่านางกรีนจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทย่อยๆ หลายบริษัทซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับผิดชอบจัดงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพร่วมกับบริษัทของนายกรีน รวมถึงรับผิดชอบเรื่องการจัดทำบัตรอีลิทการ์ดด้วย แต่บริษัทดังกล่าวใช้ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ปลอม อีกทั้งยังไม่ีมีหลักฐานยืนยันการทำงานใดๆ มาแสดง ส่อให้เห็นถึงเจตนามิชอบในการปกปิดข้อมูลการรับสินบน ปลอมแปลงบัญชีการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี


 


ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและข้อหาใหม่ที่นายและนางกรีนต้องรับทราบมีทั้งหมด 20 คดี ได้แก่ ข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ 1 กระทง ข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการทุจริตในต่างประเทศ 10 กระทง ข้อหาพัวพันการฟอกเงิน 7 กระทง และข้อหาปลอมแปลงบัญชี 2 กระทง ส่วนอดีตผู้ว่าการ ททท.ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2546 คือ คุณหญิงจุฑามาศ ศิริวรรณ ซึ่งภายหลังเข้าร่วมพรรคเพื่อแผ่นดินในฐานะรองหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค แต่ประกาศลาออกหลังมีรายงานข่าวว่านายและนางกรีนถูกจับกุมที่สหรัฐฯ ฐานพัวพันข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย


 


ส่วนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ หรือที่รู้จักกันในนาม "บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล" จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการ ในปีนี้เทศกาลจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย.ที่ผ่านมา และสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานข่าวผู้จัดงานถอดภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างญี่ปุ่นและไทย เรื่อง Children of the dark ออกจากผัง โดยเจ้าหน้าที่ ททท.ที่ร่วมรับผิดชอบการจัดงานให้เหตุผลว่าภาพยนตร์ดังกล่าวลักลอบถ่ายทำในไทย และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ


 


ทว่านายจุนจิ ซากาโมโต ผู้กำกับภาพยนตร์ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ไทย โดยระบุว่าการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างสองประเทศ แต่นายซากาโมโตได้แสดงความเสียใจที่ผลงานของตนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวไทย และยืนยันว่าตนและผู้อำนวยการสร้างพร้อมตัดต่อฉากและเนื้อหาในภาพยนตร์ตามคำแนะนำของรัฐบาลไทย เพื่อจะได้มีโอกาสนำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย เนื่องจากเนื้อหาของ Children of the dark ต้องการสื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีเด็กในไทย


 


 


 


ข้อมูลอ้างอิง


+ Film producer, wife accused of bribing official


+ บางกอกฟิล์มปลด "Children of the Dark" เหตุลักลอบถ่าย-กระทบภาพลักษณ์ไทย


+ Japanese film kept in the dark at Thai film festival


+ Director offered edit on pic cut from Bangkok


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net