สัมภาษณ์พิเศษ พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ: "การเมืองใหม่ต้องให้ภาคประชาสังคมเป็นหัวหอก"

ขณะที่กระแสการเมืองใหม่มาแรง กลุ่มหัวขบวนนักเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคใต้จึงไม่อาจอยู่เฉยได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.ภาคใต้) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้

 

โดย สวรส.ภาคใต้ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการจัดเวทีที่จับเอานักเคลื่อนไหวระดับหัวกะทิกว่า 30 ชีวิตมาถกกัน ซึ่งการเมืองใหม่ในสายตานักเคลื่อนไหวสายใต้จะเป็นอย่างไรและจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร อ่านบทสัมภาษณ์ "พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ" ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ผู้ถอดความจากเวทีดังกล่าวได้ดังนี้..

 

 

 

พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.ภาคใต้)

 

การพูดคุยกันได้แบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราจะทำอะไรและทำได้อย่างไรบ้าง แล้วเบื้องหน้าเบื้องหลังของการเมืองปัจจุบันนี้คืออะไรแน่ เพราะมันเป็นคำถามว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร เพราะอะไร มาจากการเมืองภาคประชาชนจริงหรือเปล่า ต้องการปฏิรูปจริงหรือเปล่าหรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่มข้างบนใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ประการสำคัญคือจะก้าวพ้นจากการเมืองเก่าไปได้อย่างไร นี่คือปัญหาสำคัญ

 

ส่วนระยะยาว เราก็คุยการเมืองใหม่ว่าของใครเก่าของใครใหม่ของใครมาจากไหน จะก้าวพ้นไปจากการเมืองเก่าได้อย่างไร เราก็มาดูว่าหลักการพื้นฐานของการคิดนี้ทุกปัญหาว่า ระบบการเมืองคืออะไร เป้าหมายสุดท้ายของการเมืองใหม่คืออะไร โครงสร้างการจัดการการเมืองใหม่เป็นไงบ้าง พื้นที่ที่มีเสียงของประชาชนอยู่ที่ไหน อยู่ที่ช่องทางความเข้าใจของสังคมหรือว่าเราไปนิยามว่าประชาชนคือใคร กลุ่มองค์กรเป็นอย่างไร รูปแบบประชาธิปไตยท้องถิ่นภายใต้แนวทางการเมืองใหม่เป็นอย่างไร มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น มีระบบตรวจสอบอย่างไร

 

การเมืองใหม่ในวิถีพอเพียงจะนำไปสู่การเรียนรู้ภาคประชาชนอย่างไร ประชาธิปไตยภาคการเมืองใหม่คืออะไร สถานการณ์ปัจจุบันสาเหตุมาจากอะไร ที่มาของการแสวงหาการเมืองใหม่คืออะไร จุดยืนทางสังคมเป็นอย่างไร รูปแบบของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน สาเหตุที่มาของการแสวงหาการเมืองใหม่ จุดยืนทางสังคมของพวกเรา รูปแบบการแก้ปัญหาของประเทศประชาธิปไตยแม่แบบในสถานการณ์ปัจจุบันมีหรือไม่

 

คนที่มาลองถามบ้างมาว่าทำไมถึงมา แล้วมีอะไรที่อยากจะบอกคนในวงบ้าง 1.เราเผาตำราประชาธิปไตยเก่าๆ ดีหรือไม่ เพราะว่าเรารู้ว่า ประชาธิปไตยแบบนี้มันไม่ดี มีข้อเสีย

 

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่นั่งอยู่ก็บอกว่า ถ้าเผาระบบประชาธิปไตยแบบนี้ไปก็ล้มคณะรัฐศาสตร์ไปเลย ยกเลิกคณะรัฐศาสตร์ทั้งหมด แล้วเอาอาจารย์ที่จบรัฐศาสตร์ไปฆ่าทิ้ง สอนคนอย่างไรออกมา

 

บางคนบอกว่าต้องเปลี่ยนนิยามประชาธิปไตยใหม่ คือ การเมืองใหม่นิยามของประชาธิปไตยเป็นของชุมชน ซึ่งจุดชี้ขาดหรือจุดร่วมของหลายฝ่ายอยู่ที่การเมืองภาคประชาชน

 

การเมืองภาคประชาชนต้องมีจริยธรรมมีการควบคุมซึ่งกันและกัน มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ต้องข้ามพ้นการนิยามเชิงพื้นที่ไปสู่ตัวบุคคล หรือบางคนบอกว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีความต่อเนื่องสะสมเชิงคุณภาพ เพราะการเมืองมีการวิวัฒนาการไปตลอดเวลาแต่ว่าคุณภาพเป็นสิ่งเราตั้งคำถามว่าคุณภาพดีหรือไม่ดี แล้วเราก็รู้สึกว่าที่ผ่านมาคุณภาพไม่ได้พัฒนาขึ้น

 

เราได้คนมีปัญหามาแล้วอย่าง นายกสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้นายยงยุทธ ติยะไพรัช มาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเฉลิม อยู่บำรุง ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่คุยกันก็คือ เพราะเราขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ขาดการทบทวน ขาดการเอามาวิเคราะห์

 

จากนั้นหลังจากให้ทุกคนตั้งคำถามแล้วก็ให้บอกอยากบอกอะไรก็บอก ก็ได้ความเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันพลเมืองขาดวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วม

 

ปัจจุบันมีการชี้นำรวมศูนย์ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายพันธมิตร แกนนำพูดอะไรก็เฮกันเข้าไปไม่ต้องคิดอะไร ทำตามนั้นไปเลยเพราะมีคนคิดให้แล้ว สถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นทางสองแพร่งแบบนี้

 

จึงคิดออกมาว่า ควรจะปฏิวัติหรือปฏิรูป การปฏิวัติคือล้างเลย แต่ปฏิรูปคือปรับแต่ง

 

สถานการณ์ขณะนี้ ต่างจากตอนพฤษภาทมิฬหรือตุลาคือมีเรื่องการสื่อสารเข้ามา อย่างกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารจับมวลหมู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วมาก ก็เพราะการสื่อสาร เราพบว่าสถานการณ์ปัจจุบันเหมือนกับทุกคนตกผลึกร่วมกันแล้วว่า การเมืองในระบบแบบนี้ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหา ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาการเมืองแบบนี้ไม่ได้

 

ความขัดแย้งปัจจุบันอยู่ที่การทำลายกฎกติกา การไม่มีศีลธรรม จริยธรรม ไม่รู้ชั่วรู้ดี เราเคราะห์แล้วพบว่า จุดเปลี่ยนหนึ่งคือการปรับแผนพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ช่วงปี 2537 - 2539 คือ หลังช่วงพฤษภาทมิฬ

 

มีการปรับวิธีคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันมีการเสนอสูตรการเมืองใหม่ซึ่งไม่ใช่พึ่งเริ่มมี แต่มีมาก่อนช่วงพฤษภาทมิฬแล้ว

 

เราก็คิดว่าระบบการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาหาภาคประชาชนได้จริง การที่มีแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่มันเริ่มส่อเค้าให้เห็นที่ตั้งแต่มีการตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) หรือองค์กรที่สามหรือสภาที่สาม เพิ่มขึ้นมาจากนิติบัญญัติ ตุลาการและฝ่ายบริหาร ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ สป.ไม่มีบทบาทอะไร เสนอความคิดเห็นไปแล้วก็ไม่เอา

 

จากนั้นเราวิเคราะห์สถานการณ์โดยให้ตั้งคำถาม แล้วก็ให้แต่ละคนคิดว่าอยากจะบอกอะไร ก็มาคุยกันว่าถ้าอย่างนั้นรูปแบบการเมืองใหม่ต้องเป็นไงบ้าง

 

หลักการร่วมของรูปแบบการเมืองใหม่ที่ได้จากการประชุมกัน คือข้อแรก ต้องมีระบบคุณธรรม จริยธรรม ให้อยู่ในตัวบุคคลมากกว่าติดรูปแบบหรือวิธีทำ

 

ขณะนี้เราสร้างกลไกสร้างกติกา เพราะเราว่าคนที่ไปอยู่ในนั้นไม่มีคุณธรรม แต่ถึงให้มีระบบกลไกดีอย่างไร พวกนี้ก็ไปทำลายหมด อย่างเช่นรัฐธรรมนูญปี 40 เราบอกว่าดีแล้วเมื่อคนที่เอาไปใช้ขาดคุณธรรม จริยธรรม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาจนต้องไปเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550

 

แต่เมื่อได้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาแล้วคนที่เป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ พรรคพลังประชาชนที่มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีปัญหาอยู่ จึงสงสัยว่าในข้อนี้ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ระบบคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าระบบอื่น

 

หลักการร่วมข้อถัดมาคือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ

 

1.ต้องมีอิสระ ไม่เป็นทางการ ไม่มีโครงสร้างเชิงอำนาจ

2.เน้นการสร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล เฝ้าระวังโดยภาคประชาชน

3.กระบวนการนโยบายสาธารณะต้องใช้การมีส่วนร่วม เป็นนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ต้องฟื้นพลังชุมชนขึ้นมาใหม่และต้องไม่ลืมประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน บนฐานวิถีชุมชน ต้องยอมรับความหลากหลายของการที่จะมาเป็นฐานคิดของประชาธิปไตย

 

ขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมนี้ในภาคประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เทคโนโลยีอย่าง ASTV ซึ่งสื่อสารได้เร็ว ทุกคนนั่งฟังก็ทราบว่า พันธมิตรฯจะเคลื่อนอย่างไรในแต่ละจังหวัดๆ การสื่อวารแบบตัวบุคคลแถบจะไม่ค่อยได้ใช้ อย่างวันนี้จะมีการสลายม็อบทุกคนก็ลือกันไปเป็นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์

 

ต้องสร้างการเรียนรู้ ยกระดับปัญหาภาคประชาชน ขณะนี้เราเห็นทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการให้ข้อมูลอะไรบ้าง มีการสร้างการเรียนรู้หรือไม่

 

คำถามว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ มีใครตรวจสอบ ฝ่ายหนึ่งให้ข้อมูล แต่อีกฝ่ายบอกว่าเชื่อไม่ได้เราเชื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากกว่าแต่บางข้อมูลก็เกินจริง

 

หลักการสำคัญในการพัฒนาระบบราชการอยู่ที่การกระจายอำนาจเข้าสู่ส่วนย่อยมากที่สุด โครงสร้างความอ่อนแอทางการเมืองขึ้นอยู่กับระบบราชการ จนทำให้ผู้ใหญ่ที่อยู่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ คิดแต่ผลประโยชน์ของมันเอง

 

แล้วกระทรวงก็คิดผลประโยชน์ของกระทรวงเอง เพราะเวลานักการเมืองเข้ามาเหมือนกับโยนชิ้นเนื้อให้เลี้ยง อยากได้หรือไม่ตำแหน่ง อยากได้หรือไม่งบประมาณนี้ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรี

 

รัฐมนตรีในโครงสร้างที่ผ่านมาใช้ผลประโยชน์เป็นตัวยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับการเมือง ไม่ได้ใช้ผลประโยชน์ของประชาชน

 

การก้าวต่อไปต้องทำไรบ้างนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3ระยะ ได้แก่ระยะเร่งด่วน เป็นงานร้อน คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรฯกับรัฐบาล เราคุยกันว่าถ้าเราเคลื่อนเรื่องนี้จุดยืนของภาคประชาสังคมทั้งหมด ต้องการให้กำจัดหรือทำลายระบอบทักษิณ

 

ระบอบทักษิณเป็นแค่ชื่อ แต่จริงๆแล้ว คือต้องทำลายเรื่องการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองของกลุ่มหรือพรรค จุดยืนสำคัญคือต้องทำลายเรื่องนี้

 

แล้วสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร ต้องคิดยุทธการใหม่ๆ คือ เราเองคิดว่าภาคใต้ขณะนี้เป็นภาคที่มีอิสระของการใช้ความคิดมากที่สุด คิดว่าภาคใต้เป็นฐานที่มั่น ความที่เราเป็นฐานที่มั่นสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือ ต้องทำให้เครือข่ายเราเป็นเครือกันให้มากที่สุด เป็นเพื่อนกันให้มากที่สุด มาร่วมกันคิดร่วมกันประเมินสถานการณ์ น่าจะทำให้ภาคใต้มีความเข้มแข็ง มีวิธีคิดไปแนวทางเดียวกัน

 

เราอาจเป็นกองหนุนในการเคลื่อนเรื่องการทำการเมืองใหม่ได้ คือ 1.ภาคใต้เป็นฐานที่มั่น 2.ฐานที่มั่นเหล่านี้ต้องยกระดับของกำลังของภาคใต้ พูดไปเหมือนไปรบ แต่อันที่จริงคำว่ากำลังเราต้องพยายามยกหรือพัฒนาศักยภาพของเครือข่าย

 

จะทำอย่างไรบ้าง คือ หลังจากทำกลุ่มทำอะไรแล้ว เราต้องสร้างอุดมการณ์ชาติร่วมกัน ต้องมาคุยร่วมกันว่า อุดมการณ์คืออะไร เหมือนอย่างที่เราตอบโจทย์ว่าอุดมการณ์ เราคือต้องทลายคำว่าการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองออกไป

 

แล้วพอมีอุดมการณ์ชาติแล้วจะขยายอุดมการณ์ไปยังเครือข่ายต่างๆ เหมือนเราขยายเครือข่ายทางปัญญาออกไป แล้วเราเองต้องจัดทัพใหม่ คำว่าจัดทัพใหม่ คือ ไม่บอกว่าเราคือพันธมิตรฯ เพราะคิดว่าพันธมิตรทำอะไรไปแล้วบางอย่างมันถอยไม่ได้ แต่เราเองเราจะเป็นเพื่อนกับพันธมิตร เราจะไปหนุน

 

ขณะนี้เราเห็นด้วยบางอย่างกับพันธมิตรฯ โดยวิธีหรือเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เราก็อาจไม่ไปเป็นทีมเดียวกับพันธมิตรฯ แต่ถ้าถาม เราก็เลือกข้างพันธมิตรฯ สาเหตุที่เราเลือกข้างพันธมิตร เพราะพันธมิตรกำลังทำเรื่องการเมืองภาคประชาชน ทำเรื่องการเมืองใหม่ เราเห็นด้วยตรงนั้น

 

เราเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองบ้านเรา คิดว่าที่เขาทำมันส่งผล เช่น เรื่องเขาพระวิหาร เรื่องคอรัปชั่นต่างๆ จนถูกตรวจสอบ ทำให้เห็นว่า การที่ระบบทำหน้าที่ตรวจสอบแบบนี้ทำให้รัฐบาลระมัดระวัง ไม่ใช่ถือครองอำนาจอยู่ แล้วจะทำได้ตามอำเภอใจ

 

พอเรายกระดับกำลังแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เราต้องพยายามสร้างสำนึกทางการเมืองใหม่ขึ้นมา พอเรามีสำนึกการเมืองใหม่ขึ้นแล้วอาจต้องคิดต่อว่าสำนึกนั้นให้ทางออกการเมืองใหม่อย่างไรบ้าง

 

เช่น เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการเมืองใหม่ว่า ถ้าสร้างกลไกการตรวจสอบภาคประชาชนขึ้นมาอีกกลไกหนึ่งที่ชัดเจน คล้ายๆ กับพันธมิตรฯ ที่ทำหน้าที่แล้วได้ผล จะมีกลไกอะไรที่คล้ายๆ แบบนี้

 

ประการที่สอง กระจายการเปลี่ยนฐานอำนาจจากศูนย์กลางไปอยู่แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด อาจเข้ารูปเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการเปลี่ยนฐานอำนาจ ปรับใหม่เรื่องการกระจายอำนาจสู่การองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำอย่างไรให้ส่วนกลางมีอำนาจน้อยลง แต่ฐานอำนาจไปอยู่ที่ส่วนภูมิภาคหรือที่จังหวัด

 

ส่วนระยะกลาง เราต้องพยายามต้องสร้างการเมืองคู่ขนาน คือสร้างทางเลือกหรือเปิดหรือชิงพื้นที่สาธารณะ จะทำได้ต้องเปลี่ยนแปลงชุมชนในเรื่องการพัฒนากระบวนสาธารณะโดยทุกภาคส่วน คืออย่าให้นโยบายออกมาจากส่วนกลางอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องช่วงชิงมวลชนมาให้ได้ก่อน แต่ไม่ใช่เอามาเป็นพวกเป็นกลุ่ม จากนั้นจึงยกระดับการเรียนรู้ที่หลากหลาย

 

ระยะยาว คือ ต้องพยายามสร้างกรอบแนวคิดประชาธิปไตยใหม่ คิดกันว่าประชาธิปไตยหรือการเมืองใหม่ต้องเป็นการเมืองชุมชนเป็นฐานใหญ่ ใช้ประชาสังคมเป็นหัวหอก ใช้ทุนของชาติหนุนเสริม

 

ทุนของชาติคือทุนที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ ทุนที่มีกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ทุนที่เป็นภูมิปัญหาท้องถิ่นที่มีอยู่ อย่างทุนวัฒนธรรมตะวันออก คือ ความเอื้ออาทร ความรักใคร่กลมเกลียว การใช้ศาสนาหรือหลักธรรมของศาสนาขัดเกลาไม่ว่าศาสนาใด

 

หัวใจของการเมืองใหม่น่าจะอยู่ที่ประชาธิปไตยท้องถิ่น นี่คือนิยาม เราคิดที่จะทำให้ได้ ต้องให้การเรียนรู้ เพราะคนที่เข้ามาร่วมมีทั้งนักรัฐศาสตร์ อาจารย์ หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม

 

สำหรับบทบาทของ สวรส.ภาคใต้ ที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ ก็เพราะว่างานของ สวรส.เป็นการจัดการงานวิจัย เป็นการจัดการความรู้ เพื่อไปพัฒนาระบบสุขภาพ

 

โดยสุขภาพในความหมายใหม่ คือ สุขภาวะ ภาวะที่เป็นสุข ปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพและภาวะที่เป็นสุข สุขภาพไม่ใช่เรื่องของการเจ็บป่วยอย่างเดียว เป็นเรื่องของสุขทางกาย สุขทางจิต สุขทางสังคม สุขทางปัญญา

 

ขณะนี้ปัญหาบ้านเมืองมีทุกข์อยู่ สาเหตุเกิดจากการเมือง เพราะฉะนั้นทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทางสังคมด้วย ถ้ามีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปัญหากับสุขนั้น เราก็จัดมาลองดู โดยกระบวนการจัดการความรู้ จัดการวิจัยว่าจะช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร นั่นเป็นงานหลักของ สวรส. ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องใดเราใช้หลักแบบนี้ แล้วลงไปช่วยจัดการ

 

งานนี้เราเห็นแล้วว่าจะไปสู่การขัดแย้งทางสังคม ทางออกจะเป็นเชิงวิชาการ ไม่ใช่ทางออกทางอารมณ์ หรือกลุ่มหรือพรรคพวก มีการประสานให้ภาคีเครือข่ายสุขภาพมาคุยด้วยกัน

 

คุยเรื่องนี้แล้วว่าใครควรจะแกนสำคัญของทุกภาคส่วน อย่างสายวิชาการ เราก็เชิญอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จาก มอ. ปัตตานีและหาดใหญ่ สายวิชาชีพทั้งที่เป็นครูและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สายวิชาชีพสุขภาพ แพทย์ชนบท เข้ามาช่วยกันคุย ขณะเดียวเราไปดูถึงกลุ่มถึงประชาคมต่างๆ ที่มีศักยภาพในการเคลื่อนงานทั้งภาคใต้ได้

 

มีที่มาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี สงขลา หรือภาคท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น เข้ามานั่งคุยด้วย เริ่มต้นด้วยกลุ่มคนที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้เลือกข้าง เช่น ไม่ได้เลือกกลุ่มที่เอาพันธมิตรฯ แบบสุดโต่งเข้ามาคุยและก็ไม่ได้เลือกคนอยู่ข้างรัฐบาลสุดโต่งมาคุยด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท