Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


 


ภาพชายผู้หนึ่งบนจอโทรทัศน์มีสีหน้าช็อค และเจ็บปวด ในขณะที่เขาผู้นั้นดูเหมือนเพิ่งเริ่มจะตระหนักว่า ขาส่วนล่างของเขานั้นขาดหายไปและมีเลือดท่วม เนื่องจากแรงระเบิดชนิดหนึ่ง


 


ชายผู้นั้นชื่อ ธัญญา คูณแก้ว หนึ่งในผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ปิดล้อมรัฐสภาตอนเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 7 ตุลาคม และเขายืนอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งกระสุนแก๊สน้ำตาถูกยิงใส่ผู้ชุมนุมนัดแล้วนัดเล่า


 


ในที่สุดพื้นที่ตรงนั้นก็ถูกเคลียร์เพื่อที่รัฐบาลและบรรดา ส.ส. จะได้เข้าไปเพื่ออ่านและฟังการแถลงนโยบายของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี


 


จนถึงบัดนี้ยังไม่ชัดเจนว่านายธัญญานั้นขาขาดเพราะเหตุใด แต่สิ่งที่ชัดแจ้งก็คือว่า เขาสูญเสียขาระหว่างมีการสลายม็อบ ไม่มีความพยายามจากทางการที่จะเตือนให้ผู้ชุมนุมถอยออกไปก่อนที่จะมีการยิงกระสุนแก๊สน้ำตา ไม่มีผู้นำระดับสูงของรัฐบาลลงมาพยายามเจรจาในนาทีสุดท้ายก่อนเกิดเหตุ


 


มันมีแต่ความรุนแรง...


 


รัฐบาลอาจอ้างว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะส่งใครไปคุยก่อนยิงแก๊สน้ำตา เพราะผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นถูก "ล้างสมอง" โดยบรรดาแกนนำพันธมิตรฯ ที่ขึ้นเวทีตลอด 24 ชั่วโมง สลับกันสร้างความเกลียดชัง และให้ข้อมูลด้านเดียว แต่ถ้าการเจรจาสำเร็จ หรือใช้วิธีละมุนละม่อมกว่านี้ ณ วันนี้ ขานายธัญญาอาจจะยังอยู่กับเจ้าตัวก็ได้


 


และนี่ยังไม่รวมถึงผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตผู้อื่นที่เกิดตามมา


 


นายกฯ สมชายมิได้แสดงความเสียใจอะไรเลยในวันแรกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายธัญญาและผู้ชุมนุมจำนวนมากอีกหลายร้อยคน รวมถึงตำรวจที่บาดเจ็บ


 


ความสูญเสียนี้เป็นความรับผิดชอบของนายกฯ หรือเปล่า หรือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของนายธัญญาเอง


 


นายกฯ อ่านนโยบายรัฐอย่างเร่งรีบเหมือนกับว่าเขาพยายามทำลายสถิติอะไรสักอย่าง


 


ในบรรดานโยบายทั้งหลายมีเรื่องความ "สมานฉันท์" และเจตนาของรัฐบาลนี้ที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อแสดงให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นว่าประเทศไทยนั้นมุ่ง "ยุติการขัดแย้งโดยสันติ" และพูดถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะทำให้ "สถานการณ์กลับสู่สมานฉันท์"


 


นายสมชายอาจจะพูดด้วยเสียงนุ่มๆ และพูดถึงสันติภาพ ความสมานฉันท์ และสามัคคี แต่การกระทำของรัฐบาลนายสมชายเมื่อวานนี้ แม้ในขณะที่พูดนั้นก็เป็นตรงกันข้าม เพราะช่วงที่นายสมชายพูดผ่านช่องเอ็นบีที อีกช่องหนึ่ง คือไทยทีวี (ทีพีบีเอส) ก็กำลังถ่ายทอดสดเช่นกัน แต่เป็นการถ่ายทอดสดการปะทะกันหน้า บชน. ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และตำรวจ โดยทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงและอาวุธเท่าที่หาได้


 


ดูเหมือนว่ารัฐบาลนั้นพร้อมที่จะรักษาอำนาจของตนไว้ไม่ว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้น


 


พลิกไปดูอีกช่องเพื่อดูอีกด้าน เพียงไม่กี่นาทีหลังจากคำพูดสวยหรูของนายสมชายพรั่งพรูออกมาก ก็เป็นภาพนายพิภพ ธงไชย ผู้นำพันธมิตรฯ ซึ่งบังเอิญถูกกล้องทีวีจับภาพอยู่โดยไม่รู้ตัว ก่อนที่นายพิภพจะต้องพูดคุยกับสื่อผ่านทีวี นายพิภพกำลังยิ้มแย้ม พูดคุยกับนักข่าวอย่างไม่เป็นทางการ ถึงแม้ขานายธัญญาจะขาดหายไปแล้ว หน้านายพิภพเพิ่งปรับมาเป็นหน้าซีเรียสก็ต่อเมื่อเขาตระหนักว่าหน้าเขาอยู่หน้ากล้องทีวีจำนวนหนึ่งและต้องสื่อสารส่งภาพสู่สาธารณะ ผู้เขียนสงสัยว่า จริงๆ แล้วคนอย่างนายพิภพ จำลอง ศรีเมือง และสนธิ ลิ้มทองกุล รู้สึกแคร์กับบรรดาสมาชิกกลุ่มพันธมิตรฯ ทั่วไปอย่างนายธัญญาและอีกจำนวนมากที่เอาตัวเข้าเสี่ยง ในการต่อสู้ครั้งนี้มากน้อยเพียงใด หรือพวกเขาเป็นเพียงตัวประกอบของหนังที่ถูกกำกับโดยแกนนำพันธมิตรฯ


 


บรรดาแกนนำอาจจะลุกขึ้นมาประณามรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาล "โจร" รัฐบาล "เผด็จการ" "ทรราช" และ "ป่าเถื่อน" และประณามว่าการกระทำนั้นไม่ชอบธรรม รุนแรงเกินเหตุ แต่พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกหรือไม่ว่าพวกเขามีส่วนรับผิดชอบต่อการสูญเสียและบาดเจ็บของคนอย่างนายธัญญา


 


บรรดาแกนนำไม่รีรอที่จะใช้เลือดเนื้อที่สูญเสียเพื่อเป็นข้ออ้างในการปลุกระดมม็อบต่อ และยื่นคำขาดเมื่อเย็นวันอังคารว่า รัฐบาลจะต้องยุบสภาภายใน 18.00 น. มิฉะนั้น ...


 


ความรุนแรงหากขยายวงต่อและบานปลายย่อมนำไปสู่รัฐประหารเพื่อพวกพ้องได้อีกครั้งและอาจเป็นรัฐประหารที่บรรดากลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ จะได้รับชัยชนะร่วม ไม่ว่าต้นทุนจะต้องใช้เลือดอีกสักกี่ซีซีก็ตาม


 


ถึงเวลาประมาณเที่ยงของวันอังคารเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็ถูกผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ แทงด้วยปลายธงทะลุปอด อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมารถคันหนึ่งก็ระเบิดใกล้รัฐสภาทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน ตกค่ำผู้ชุมนุมหญิงอายุ 20 เศษ ก็ทนพิษบาดแผลจากการปะทะไม่ไหวและเสียชีวิตไปอีกหนึ่ง และมาถึง ณ เวลาที่เขียน ยอดผู้บาดเจ็บของสองฝ่ายรวมกันมีมากกว่า 400 ราย ซึ่งมีตำรวจอยู่ในนั้นประมาณ 20 นาย ตัดแขนขา 4 ราย มือเท้า 4 ราย


 


ส่วนนายธัญญานั้น ผู้ดำเนินรายการช่อง 3 ที่เป็นสถานีที่เสนอภาพขาขาดของนายธัญญาได้กล่าวขอโทษต่อผู้ชมที่ได้ฉายภาพซึ่งอาจกระทบกระเทือนความรู้สึก และอธิบายว่าภาพหลุดออกไปเพราะเป็นภาพถ่ายทอดสด


 


สังคมไทยอาจจะต้องการ "ความเป็นจริง" แบบที่ย่อยง่าย โดยไม่ต้องการเห็นเลือดหรือขาขาด หรือผู้กำกับ ในขณะที่ความรุนแรงดูเหมือนจะคุกรุ่นยืดเยื้อต่อไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ


 


 


ปล. นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวในวันที่ 7 ต.ค. ว่า "อย่ากระพริบตา หนังเรื่องนี้เป็นหนังยาว ใกล้จบแล้ว อำนวยการสร้างตั้งแต่ปี 48 ฉายมาเรื่อยถึงปี 49 จนถึงปี 51 หลายคนดูแล้ว ถามผมว่า เมื่อไหร่จะจบ และจะคิดถึงแกนนำพันธมิตรฯ ถ้าหนังจบจะไม่เห็นหน้าผมอีกต่อไป" (โพสต์ทูเดย์ 8 ต.ค.51, หน้า A4)


 




ปล.2 ถึงทั้งสองฝ่าย: ผู้กำกับอยู่ไหน โปรดิวเซอร์เป็นใคร ช่วยออกมาแสดงตัวและรับผิดชอบหน่อย
 


 


……………………..


หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียง Violence without responsiblity, on either side, the Nation, 8 ต.ค.51


 


แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 20.10น. 8 ต.ค.51


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net