Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สายสะพาย


ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1223721910&grpid=01&catid=17



การกระทำของผู้บริหารศาลเป็นการกระทำจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"หรือไม่

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นการสมมุติขึ้นเพื่อทดสอบว่า ผู้พิพากษาตุลาการจะตอบคำถามหรือปฏิบัติอย่างไร


 


ในการพิจารณาคดีสำคัญคดีหนึ่งของศาลสูง ผู้บริหารศาลได้จ่ายสำนวนให้ตุลาการคณะหนึ่งพิจารณา ปรากฏว่า องค์คณะดังกล่าวมีความเห็นเสียงข้างมาก 3 ใน 5 เสียงเห็นว่า  ควรกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น มีการยกร่างคำสั่งเสียงข้างมากดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว


 


ปรากฏว่า ความเห็นขององค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ ไม่ตรงกับความเห็นของผู้บริหารศาล จึงมีการดึงคดีกลับและจ่ายสำนวนไปให้อีกองค์คณะหนึ่งซึ่งมีผู้บริหารศาลดังกล่าวเป็นหัวหน้าคณะเอง


 


ผลการพิจารณาขององค์คณะใหม่ตรงกันข้ามกับองค์คณะที่โดนดึงสำนวนคืน แม้เสียงจะไม่เป็นเอกฉันท์


ทั้งนี้เสียงข้างน้อยในองค์คณะใหม่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่มีการดึงสำนวนขึ้นและมีการบันทึกไว้ในกระบวนพิจารณาด้วย


 


คำถามแรก คือ การกระทำของผู้บริหารศาลเป็นการกระทำจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"( รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคสอง)หรือไม่


 


คำถามสอง ถ้าการกระทำของผู้บริหารศาล เป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและความผิดทางอาญาอื่นหรือไม่


 


คำถามสาม  ถ้าท่านเป็นผู้พิพากษาตุลาการในศาลดังกล่าว รู้เห็นและเป็นตุลาการที่อยู่ทั้งในองค์คณะเดิมและองค์คณะใหม่ ท่านจะทำอย่างไร


 


1.นิ่งเฉยเสีย ขืนโวยวายหรือร้องเรียนจะเดือดร้อนแก่ตัวเอง


 


2.เห็นว่า อยู่ในสภาวะน้ำท่วมปาก เพราะถ้าร้องเรียน(มีหลักฐานอยู่แล้ว เช่น บันทึกการจ่ายสำนวน คำสั่งให้คูกรณีชี้แจง เจ้าของสำนวนเปลี่ยนคน บันทึกกระบวนพิจารณา) จะเป็นการทำลายสถาบันศาลเพราะจะทำให้สาธารณชนไม่เชื่อถือศรัทธา


 


3.ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)หรือนำหลักฐานมาเปิดโปงต่อสาธารณะเพราะ ถ้าปล่อยให้มีผู้บริหารศาลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เท่ากับองค์กรมีลักษณะเน่าใน ประชาชนย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่เป็นเป็นธรรม เนื่องจากจะมีการแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีจากผู้บริหารศาลได้เสมอ


 


ไม่ว่า ในทางปฏิบัติจริง ผู้พิพากษาตุลาการจะทำอย่างไร ไม่รู้ไม่เห็น เพราะไม่ใช่หน้าที่


 


การกระทำของท่านต้องเป็นไปตามคำสัตย์ปฏิญาณที่ว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและปราศจากอคติทั้งปวงนั้น เป็นเพียงถ้อยคำที่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทองหรืออยู่ในมโนสำนึกที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net