Skip to main content
sharethis

บทความเดิมชื่อ :จุดเริ่มต้น : เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษมีผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง[1]


 


 


อดิศร เกิดมงคล


 


จากการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ได้เสนอแผนพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS) แก่รัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ คือ กัมพูชา แคว้นยูนนานของประเทศจีน ลาว พม่า เวียดนาม และไทย เมื่อปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ด้าน คือ


 


(1)          เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับการครองชีพของประชาชนในพื้นที่


(2)          ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษา


(3)          ให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ


(4)          ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก


 


เป้าหมายสำคัญของแผนฯ คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ นำมาซึ่งความมั่งคั่งและปราศจากความยากจนในภูมิภาค โดยเน้นที่การพัฒนาเส้นทางการขนส่งและเส้นทางเศรษฐกิจ (economic corridor), การสื่อสาร, การแลกเปลี่ยนพลังงาน, การค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน, การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน , การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะ , ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม , การจัดการทรัพยากรน้ำและควบคุมปัญหาน้ำท่วม  และสุดท้ายการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งประกอบไปด้วยรายละเอียด 9 ด้าน ดังนี้


 


(1)          การพัฒนาเส้นทางการขนส่งและเส้นทางเศรษฐกิจ (economic corridor) เป็นการสร้างเส้นทางคมนาคม 3 เส้นทาง เนื่องจากการค้าข้ามพรมแดนต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนน เพื่อให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพในการขนย้ายสินค้าและประชาชนในภูมิภาคโดยไม่มีอุปสรรค คือ


·               เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (The North-South Economic Corridor) เป็นการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมจากมณฑลยูนนานมาจรดกรุงเทพมหานคร


·               เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(The East-West Economic Corridor) เป็นโครงการการพัฒนาการขนส่งเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันประเทศพม่าทะลุผ่านประเทศไทย ออกทะเลจีนใต้ในเวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศนอกภูมิภาค โดยเฉพาะญี่ปุ่น เช่น เส้นทางมุกดาหาร-สะหวันนะเขต-ดองฮา-ดานัง , เส้นทางแม่สอด-เมียวดี-เมาะละแหม่ง , เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ ซิตี้-วังเตา


·               เส้นทางเศรษฐกิจด้านใต้(The Southern Economic Corridor) เป็นการปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพมหานครจรดโฮจิมินน์


 


(2)          การสื่อสาร เป็นเรื่องของการขยายเครือข่ายการโทรคมนาคม การลดปัญหาความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยี(ลดช่องว่างทางด้านเทคโนโลยี) การปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการสื่อสาร และการเปิดระบบเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารแห่งชาติในประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหกประเทศ


 


(3)          การแลกเปลี่ยนพลังงาน เป็นเรื่องของการสนับสนุนการค้าพลังงานภายในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการก่อสร้างสายส่งพลังงานเชื่อมโยงระบบพลังงานต่างๆในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนทางด้านพลังงานของภาคเอกชน โครงการที่สำคัญที่สุด คือ โครงการเขื่อนจิงหง และเขื่อนท่าซางเพื่อส่งพลังงานมาประเทศไทย


 


 


(4)          การค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค สร้างบรรยากาศในการลงทุนให้นักลงทุนทั้งในและนอกภูมิภาค การลงทุนข้ามเขตแดนเพื่อเปิดโอกาสในการแข่งขันทางการค้าในเขตภูมิภาค โดยการเอื้ออำนวยให้มีการค้าและการลงทุนข้ามเขตแดน การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนการลงทุนขนาดเล็กและขนาดกลาง(SME)


 


(5)          การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เป็นการเปิดโอกาสในการแข่งขันในเขตภูมิภาคโดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนดั้งเดิมในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในท้องที่เขตภูมิภาค การพัฒนาเครือข่ายสถาบันเอกชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในส่วนภูมิภาค การสร้างศักยภาพและขยายกลไกของความร่วมมือในภาคเอกชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน เพื่อเป็นแหล่งทุนระหว่างกันในเขตภูมิภาค


 


(6)          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะ เป็นการส่งเสริมระบบมาตรฐานการฝึกอบรมที่สอดคล้องและวุฒิบัตรทักษะวิชาชีพ การจัดตั้งระบบเพื่อรับรองสถาบันการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน การสร้างเสริมศักยภาพของสถาบันฝึกอบรมเชิงวิชาชีพและเทคนิค การศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอพยพข้ามชายแดน ทั้งทางด้านปัญหาสุขภาพและสังคมและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และการแสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหาสุขภาพและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการอพยพข้ามชายแดน


 


(7)          ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมการจัดกรอบยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อมในเขตภูมิภาคและการควบคุม การส่งเสริมประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมความร่วมมือในวงกว้างอีกทั้งการมีส่วนร่วมโดยถือเอาชุมชนเป็นที่ตั้งในการร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับการบริโภคที่ยั่งยืนและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และการส่งเสริมให้มีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และโครงการต่อเนื่องเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมที่รุนแรงของแหล่งต้นน้ำและป่าทาม


 


(8)          การจัดการทรัพยากรน้ำและควบคุมปัญหาน้ำท่วม เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการวางแผนการใช้ที่ดินทำกิน เพื่อลดปัญหาของผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบที่มีปัญหาน้ำท่วมรุนแรง การสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างการตรวจสอบเพื่อลดปัญหาความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในแถบชุมชนเมืองและบริเวณที่มีผู้อยู่อาศัย การเสริมสร้างศักยภาพองค์กรในการเตรียมความพร้อมและการจัดการเมื่อยามฉุกเฉิน และการสนับสนุนด้านการเงินในการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บกักน้ำและโครงสร้างแบบอื่นๆ เพื่อลดความเสียหายของปัญหาน้ำท่วมในเขตภูมิภาค


 


(9)          การพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในเขตภูมิภาคและการพัฒนาการท่องเที่ยว การสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขตความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เพื่อเพิ่มรายได้ ลดปัญหาความยากจน แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติจากการพัฒนาที่ไม่ได้วางแผนและไม่มีความยั่งยืนและพัฒนาทรัพยากรบุคคล


 


จากการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ GMS ที่เวียงจันทน์ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2551 (GMS Summit ครั้งที่ 3) ผู้นำทั้ง 6 ประเทศก็ได้ยืนยันร่วมกันอีกครั้งว่า จะยึดมั่นในนโยบาย 3C คือ Connectivity-การเชื่อมโยง เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการคมนาคม ต่อมา Competitiveness-ความสามารถในการแข่งขัน เป็นการนำทรัพยากรมนุษย์มาใช้เพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มที่ และ Community-ชุมชน คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในภูมิภาค


 


จากแนวทางดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นว่าแผนพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มีเป้าหมายมุ่งกำหนดให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกลายเป็น "เขตเศรษฐกิจใหม่" โดยเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวเพื่อขายให้แก่ประเทศไทย หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพม่า เช่น ถนน และเขื่อนแผนพัฒนาฉบับนี้มองว่าทรัพยากรเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้เพื่อก่อความมั่งคั่งแก่ภูมิภาคและเชื่อมต่อการค้ากับประเทศอื่นนอกภูมิภาค โดยจะเห็นว่ามีการสร้างถนนจำนวนมากเพื่อขนส่งสินค้าออกสู่ทะเล แม้จะมีแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่อ้างว่าเพื่อช่วยจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนก็พบว่าเป็นไป เพื่อพาณิชย์ เช่น โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทะเลสาบเขมร ที่ส่งเสริมให้รัฐเข้าไปควบคุมการจัดการทรัพยากรประมงของชุมชนในทะเลสาบเขมร[2]


 


สำหรับการพัฒนาตามกรอบ GMS ในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Mega Project)[3] ลงสู่จังหวัดในพื้นที่ชายแดน เน้นหนักโดยตรงเรื่องการค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการร่วมมือทางการท่องเที่ยวและบริการ ในลักษณะการสร้างเมืองคู่แฝดตามแนวชายแดนของแต่ละประเทศ มุ่งเน้นให้พื้นที่ชายแดนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพืชพาณิชย์


 


พื้นที่โครงการในส่วนของไทย ประกอบด้วย 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และตาก 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครพนม เลย สกลนคร หนองคาย อุดรธานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และมุกดาหาร 2 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี และสระแก้ว โดยรัฐบาลไทยคาดว่าการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวจะเป็นการขยายฐานทางอุตสาหกรรมและบริการของไทย มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลากหลายและราคาต่ำ โดยเฉพาะการพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำและแหล่งแร่ต่างๆ รวมถึงการช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรมของไทยที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นฐานวัตถุดิบและอุตสาหกรรมพื้นฐานให้กับไทย


 


การพัฒนาตามกรอบดังกล่าวของไทย สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของแผนฯ GMS ในข้อที่ 4 คือ เรื่องของการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศ  GMS ได้เพิ่มจุดเน้นความร่วมมือตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ  (Economic Corridor) ที่มุ่งให้แต่ละประเทศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) คือเมาะละแหม่ง - เมียวดี (พม่า) - แม่สอด - พิษณุโลก - ขอนแก่น - กาฬสินธุ์ - มุกดาหาร (ไทย) - สะหวันนะเขต - แดนสะหวัน (ลาว) - ลาวบาว - เว้ - ดองฮา - ดานัง (เวียดนาม)


 


ปัจจุบันในปี 2551 พบว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Mega Project) ในประเทศไทยตามกรอบ GMS เป้าหมายที่ 4 ประกอบด้วย


 


(1)          ภาคเหนือ คือ โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดเชียงราย และโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด


(2)          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ การเชื่อมโยงการค้าชายแดนระหว่างด่านมุกดาหาร(ไทย)กับด่านสะหวันนะเขต(ลาว) ผ่านโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุกดาหาร และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน กับโครงการพัฒนาด่านชายแดนช่องเม็ก


(3)          ภาคตะวันออก คือ การเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชา คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Koh Kong ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ติดกับชายแดนไทยจังหวัดตราด และ เขตเศรษฐกิจพิเศษ O Neang Poipet ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ติดกับชายแดนไทยที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว


 


นอกจากนี้ยังพบว่าการพัฒนาตามกรอบ GMS เป้าหมายที่ 4 ยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS: Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ด้วยเช่นกัน


  


ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ACMECS มีเป้าหมายหลัก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตมากขึ้นตามแนวชายแดน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและการผลิตไปยังบริเวณที่มีความได้เปรียบ สร้างโอกาสการจ้างงาน ลดความแตกต่างของรายได้ ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่งร่วมกันอย่างยั่งยืน โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามกรอบ GMS คือ โครงการ Contract Farming ที่เป็นโครงการความร่วมมือด้านเกษตรกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา โดยกำหนดพื้นที่นำร่องโครงการ 3 พื้นที่ คือ ไทย-พม่า: แม่สอด-เมียวดี ไทย-ลาว: เลย-ไชยะบุรี และ ไทย-กัมพูชา: จันทบุรี-พระตะบอง/ไพลิน


 


โดยสรุปเมื่อมีการพัฒนาตามโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งตามกรอบของ GMS และ ACMECS เข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่าอนุภูมิภาคแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่การรวมกลุ่มด้านการค้า การลงทุน การเป็นตลาดแหล่งใหญ่ และการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่สำคัญ นอกจากนั้นประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจของไทยผูกพันกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว เขมร และเวียดนามอย่างใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ได้ซื้อสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย มีแรงงานข้ามชาติอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นแรงงานค่าจ้างราคาถูก นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เกิดการย้ายฐานการลงทุนจากประเทศไทยไปยังพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูก และวัตถุดิบต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทย


 


แม้ว่าการพัฒนานำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า การจ้างงาน และการสะพัดของเงินตรา และก็ไม่มีใครปฏิเสธเช่นกันว่า การพัฒนานำมาซึ่งความย่อยยับของทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น หากแต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอต่อสาธารณะชน ภาพที่ออกไปคือ ความสะดวกสบาย ศักยภาพในการผลิต อัตราการจ้างงาน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากที่ประชุมของมูลนิธิสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ได้จัดประชุมเรื่องผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ มีตัวแทนจากประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า และประเทศไทย เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ก็ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาภายใต้กรอบ GMS คือ การย้ายถิ่นฐานของคน การลักลอบนำคน สัตว์ พืช ข้ามแดน ปัญหาเรื่องโรคติดต่อตามแนวชายแดน เช่น ไข้หวัดนก ไข้มาลาเรีย เอดส์ และเท้าช้างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ


 


แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า งานวิจัยของนักวิชาการไทยที่ได้ดำเนินมาส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ เพื่อหาศักยภาพและลู่ทางการลงทุน และการส่งเสริมบริการการท่องเที่ยว มากกว่าศึกษาถึงผลกระทบหรือความสูญเสียที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะความสูญเสียที่นำมาซึ่งการย้ายถิ่นของประชาชนในประเทศที่ตั้งของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เหล่านั้น ขาดการศึกษาเชิงลึกถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของประชาชน รวมถึงความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว


 


แม้ว่าจะมีการศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว แต่ก็มีเพียงการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) (2548) โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่องผลกระทบทางสังคมของระเบียงตะวันออก-ตะวันตก กรณีศึกษาผลกระทบทางสังคมของการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ระยะที่หนึ่ง เพียงโครงการเดียวเท่านั้น ผลการศึกษาพบว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ คือ การที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรซึ่งมีรายได้น้อย ทำให้ประชากรในวัยทำงานบางส่วนอพยพออกไปทำงานที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะจังหวัดมุกดาหารขาดอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่รองรับแรงงานภายในจังหวัด และการดำเนินการส่งเสริมอาชีพจากภาครัฐไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องและสอดประสานกัน สิ่งที่ตามมาคือ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างถิ่นและแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยเฉพาะแรงงานจากฝั่งลาวเข้ามารับจ้างทำนาและตัดอ้อย


 


จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิจัยถึงผลกระทบ อันเกิดจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าวอย่างรอบด้าน ซึ่งบางส่วนมีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน บางส่วนกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง






[1]บทความนี้ คือ จุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กรณีศึกษาโครงการพัฒนาภายใต้กรอบ GMS และ ACMECES  ภายใต้การประสานความร่วมมือของ Mekong Migration Network(MMN) ซึ่งในปี 2551-2552 ทาง Peaceway Foundaton โดยอดิศร เกิดมงคลได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานทีมวิจัยประจำประเทศไทย ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในระยะเริ่มต้นการดำเนินการ



[2] http://www.livingriversiam.org/mk/Mek_a1.htm


][3]งานวิจัยให้ความหมายของคำว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Mega Project) หมายถึงเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความเห็นชอบ มีวงเงินลงทุนรวมเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจชายแดน การค้าชายแดน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน และโครงการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในงานวิจัยนี้หมายถึงเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการคอนแทรกฟาร์มมิ่งเท่านั้น ไม่ครอบคลุมโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมระหว่างประเทศ เช่น การสร้างถนน ทางรถไฟ รวมถึงโครงการพัฒนาพลังน้ำในลาว และโครงการท่อส่งก๊าซในพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net