Skip to main content
sharethis

โดย โครงการแผนพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน


 



 



 



 



 


           


ด้วยเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนคือพลังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิด ทัศนคติ และวีถีการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ให้รู้จักอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน ดังนั้นในการต่อยอดกิจกรรมโครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชนฯ ซึ่งทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ในส่วนของกิจกรรมในสถานศึกษา จึงเกิดความร่วมมือระหว่างพลังงานจังหวัดพังงา อบต.ลำภี และผู้บริหารโรงเรียนทั้งหมดในตำบลลำภี จัดกิจกรรม "เพาะเมล็ดพันธุ์พลังงาน" ขึ้นโดยมีการเข้าค่ายการเรียนรู้ที่โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง 2 โดยมีเด็กๆ ทั้งประถมและมัธยมจากโรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง และโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนถึงชั้น ม.3 อีก 2 แห่ง


 


นายธเนต ธนาวุฒิ พลังงานจังหวัดพังงา กล่าวว่า จุดประสงค์ที่เลือกทำในโรงเรียนก่อน เพราะเล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมรณรงค์ บอร์ดนิทรรศการ หรือแค่เอาโปสเตอร์มาให้เด็กในโรงเรียนดู จะไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ เนื่องจากเด็กได้รับความรู้น้อย จึงอยากให้มีการเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา ให้เขาได้รับรู้ รับทราบ เข้าใจถึงเรื่องของพลังงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไป การใช้ การประหยัด การอนุรักษ์ เด็กจะได้นำความรู้ที่ได้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และในครอบครัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายถึง ชั้น ป.5 และ ม.2 ซึ่งในปีถัดไป เด็กเหล่านี้ยังอยู่ในโรงเรียนเดิม จะได้ถ่ายทอดสู่รุ่นน้องกลุ่มต่อๆ ไปได้ หรือเมื่อจบออกไปเรียนที่อื่นก็จะกลายเป็นเครือข่ายพลังงานที่กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ


 


โดยในการอบรมแต่ละครั้ง จะนำเด็ก พร้อมครูวิทยาศาสตร์ อีกโรงเรียนละ 2 คน เข้าค่าย ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม หมุนเวียนเข้าฐานการเรียนรู้ที่จัดไว้ และเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย วิทยากรที่อยู่ประจำแต่ละฐานจึงออกแบบเกมประจำแต่ละฐานการเรียนรู้ด้วย


 


เช่น ฐานจูงไข่ไดโนเสาร์ เรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติเตาซูเปอร์อั้งโล่ วัตถุที่ทำให้เกิดไฟคืออะไร ใช้งานได้อย่างไร ผลที่ได้จากการใช้เตาซูเปอร์อั้งโล่มีอะไรบ้าง เกมที่ให้เด็กเล่นจะเน้นให้เกิดความสามัคคีคือทำอย่างไรจึงจะหิ้วไข่ไดโนเสาร์ให้ถึงจุดหมายปลายทางในระยะเวลาที่รวดเร็วและปลอดภัย ส่วนฐานยางยัดขวด เรียนรู้เกี่ยวกับเตาชีวมวล ระบบการทำงานเป็นอย่างไร ไม้ 1 กิโลกรัมให้ความร้อนกี่นาที และเกมที่เล่นเป็นการฝึกความคิด และความสามัคคีไปพร้อมๆ กัน


 


ฐานตาข่ายมรณะ เรียนความแตกต่างระหว่างการใช้หลอดตะเกียบกับหลอดไส้ ค่าไฟฟ้าต่างกันเท่าไหร่ หลอดตะเกียบประหยัดพลังงานลงเท่าไหร่ ในการเล่นเกมทุกคนต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังพาตัวเองลอดผ่านตาข่ายไปให้ได้ และฐานอุดรูรั่ว มีเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร เอาไม้ใส่เข้าไปเพื่อเผาถ่านใช้เวลากี่ชั่วโมง ถ่านที่ได้มาหนักกี่กิโลกรัม ผลจากการเผาถ่านได้น้ำส้มควันไม้ สรรพคุณ และวิธีการใช้น้ำส้มควันไม้ โดยเกมที่เล่นในการอุดรูรั่ว ก็เหมือนกับเราจ่ายเงิน รูรั่วก็เหมือนกับเงินที่เราจ่ายออกไป พลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน ประปา แก๊ส ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นค่าที่จ่ายออกไป แต่จะอุดรูอย่างไรให้น้ำที่อยู่ในถังไหลออกน้อยที่สุด


 


"นอกจากนี้ ในช่วงกลางคืนยังให้เด็กแสดงกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน เช่น ละคร นิทาน เพื่อให้เด็กมีความคิดเชื่อมโยงเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และตลอดระยะเวลาที่เด็กเข้าค่าย จะแจกชิปแทนเงิน กลุ่มละ 10,000 บาท เพื่อให้เขาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ ค่าแก๊ส ค่าถ่าน ค่าวัตถุดิบ อาหาร น้ำ เครื่องปรุง โดยแต่ละกลุ่มจะใช้เทคโนโลยีพลังงานต่างกัน กลุ่มที่ 1 พึ่งพาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 ใช้แก๊สหุงต้ม กลุ่มที่ 3 ใช้เตาซูเปอร์อั้งโล่ และกลุ่มสุดท้ายใช้เตาชีวมวล โดยไม่บอกล่วงหน้าว่าเป็นเกมอย่างหนึ่ง ถึงช่วงสุดท้ายก็ให้รวบรวมว่าแต่ละกลุ่มใช้ชิปไปเท่าไหร่ คงเหลือเท่าไหร่ เด็กจะรู้ได้ว่ากลุ่มไหนใช้พลังงานน้อยที่สุด ใช้น้อยเพราะอะไร และกลุ่มไหนใช้พลังงานมากที่สุด อย่างไร" พลังงานจังหวัด อธิบายถึงรายละเอียด


 


น.ส.พิรุณรัตน์ ศรีนิล ครูผู้สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง 2 ยืนยันว่าผลจากการนำเด็กเข้าค่ายเพาะเมล็ดพันธุ์พลังงาน ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง เห็นได้ชัดเจนจากชั่วโมงการงานพื้นฐานอาชีพ ที่เด็กให้ฝึกประกอบอาหาร เด็กแต่ละกลุ่มจะหิ้วเตาซูเปอร์อั้งโล่มาจากบ้าน แทนที่จะใช้เตาแก๊สในห้องอเนกประสงค์ เพราะเห็นว่าอาหารบางอย่างต้องใช้เวลานานในการต้มให้เปื่อยยุ่ย การใช้เศษไม้ที่หาได้ง่ายรอบๆ โรงเรียนจึงประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า ที่สำคัญคือเด็กที่ผ่านการเข้าค่าย จะสามารถเป็นวิทยากรในโรงเรียน ในลักษณะพี่สอนน้อง ให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกับนักเรียนที่อยู่ในช่วงชั้นอื่น ขณะนี้กำลังร่วมกันจัดทำร่างหลักสูตรพลังงานท้องถิ่น โดยในระดับประถมเน้นเนื้อหาการปลูกปลูกจิตสำนึกประหยัดพลังงานและรู้คุณค่าพลังงาน ส่วนในระดับมัธยมจะเน้นการนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะสามารถนำหลักสูตรนี้มาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปีการศึกษาหน้า


 


ด.ช.ขจรวุฒิ รุ่มจิตร หรือน้องเท่ห์ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง 2 ซึ่งเคยผ่านการเข้าค่ายเพาะเมล็ดพันธุ์พลังงานมาแล้ว เล่าว่ารู้สึกสนุกมากในการเข้าค่าย เพราะมีเกมและกิจกรรมเกี่ยวกับพลังงาน ที่ทำให้เกิดความรู้และทึ่งมาก เนื่องจากหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมาก แต่มักถูกมองข้ามมาตลอด เช่น การดูทีวี เดิมจะเปิดตลอดเวลา แม้บางรายการจะไม่ค่อยชอบ ทำให้เกิดรูรั่ว พ่อแม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละจำนวนมาก แต่เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ก็ได้คิดว่าควรแบ่งเวลาในการดู เลือกเฉพาะรายการที่ชอบจริงๆ เท่านั้น เสร็จแล้วก็ปิด ถอดปลั๊กให้เรียบร้อย ถ้าปิดโดยใช้รีโมทคอนโทรล เครื่องก็ยังต้องใช้ไฟหล่อเลี้ยงอยู่ ทั้งที่เราเลิกดูทีวีไปแล้ว ทำให้เปลืองไฟ


 


เช่นเดียวกับ ด.ญ.จินดารัตน์ ผอมถึง หรือน้องจิน เพื่อนร่วมชั้น บอกว่า ในชีวิตประจำวันของคนเรา มักไม่รู้สึกว่าใช้พลังงานเกือบ 24 ชั่วโมง พอเข้าค่ายอบรมแล้ว ถึงสังเกตเห็นว่าเราใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย และเปล่าประโยชน์ในแต่ละวันจำนวนมาก จึงได้เริ่มเปลี่ยนนิสัยตนเอง ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ทั้งภายในบ้านและที่โรงเรียน ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานเสร็จ รีดผ้าคราวละมากๆ และหัดติดเตาถ่านหรือฟืนแทนการใช้แก๊สหุงต้ม ซึ่งก็ช่วยทางบ้านประหยัดได้มาก ดูได้จากบิลค่าไฟฟ้าที่ลดลงอย่างเห็นผลทันตา


 


ผลเชิงรุกที่พลังงานจังหวัด และอบต.ลำภี ได้ดึงโรงเรียน และชุมชน เข้ามาเป็นแนวร่วม สร้างเด็กให้เป็นเมล็ดพันธุ์พลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างผู้ใหญ่ให้เป็นวิทยากรตัวคูณ และนักวางแผนพลังงานชุมชนทำให้เกิดชาวบ้านในเขต ต.ลำภี จำนวน 4,882 คน 1,545 ครัวเรือน มีความตื่นตัว และทำทุกวิถีทางที่จะช่วยประหยัดพลังงาน เช่น เผาถ่านใช้เอง ใช้เตาซูเปอร์อั้งโล่ เตาชีวมวล แทนก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้า หรือแม้แต่การท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ต่างๆ ก็หันมาเลือกเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน อย่างช่น การใช้เตาถ่านแทนแก๊สหุงต้ม มาให้นักท่องเที่ยวใช้ และนับเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจค่อนข้างมาก


 


เมื่อร่วมกันประเมินโดยภาพรวมแล้ว ก็มั่นใจว่าชาวบ้านกว่า 70% ของ ต.ลำภี มีความรู้ ความเข้าใจ ตื่นตัวในการอนุรักษ์พลังงานอย่างแท้จริง และน่าจะขยายผลไปสู่ชาวบ้านที่เหลือได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้


 


ชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชน กับกระทรวงพลังงานในปี 2552 สามารถสมัครได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด หรือศูนย์ประสานงานกลางการวางแผนพลังงานชุมชน โทร. 0-2223-3344 ต่อ 2262-3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net