Skip to main content
sharethis








ที่มาของภาพ: kwekalu.net


นางซิปโปรา เส่ง (Zipporah Sein) ได้รับการลงคะแนนให้เป็นเลขาธิการของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูคนใหม่ ระหว่างการประชุมสมัชชาเคเอ็นยู ครั้งที่ 14 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางภาคตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง แทนนายมานชาที่ถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ นางซิปโปรา เส่ง เป็นเลขาธิการหญิงคนแรกของเคเอ็นยู นอกจากนี้นางซิปโปรายังเป็นเลขาธิการองค์กรสตรีชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกะเหรี่ยงของทหารพม่าด้วยเช่นกัน


โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นางซิปโปรา เส่งได้รับรางวัล Perdita Huston Human Rights Award ในฐานะที่ช่วยเหลือให้ผู้หญิงต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในพม่า นอกจากนี้ ยังได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรสตรีสากลให้เข้ารับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 2549 อีกด้วย


 


ด้านนางเหย่น เลขาธิการสันนิบาตสตรีแห่งพม่าแสดงความยินดีที่นางนางซิปโปรา เส่งได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ เพราะนั่นหมายความว่า กองกำลังเคเอ็นยูให้การยอมรับและยอมให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียงเลือกคณะกรรมการผู้บริหารเคเอ็นยูขึ้นมาอีก 11 คน โดยมีนายพลแทม ลา บอ ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการกองกำลังเคเอ็นยู นายเดวิด ทาคาพอได้รับเลือกให้เป็นรองผู้อำนวยการ นายพลลา หง่วยได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการคนที่ 1 และนายซอดอเลมูได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการคนที่ 2


 


กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้มายาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต่อสู้เพื่อเรียกร้องปกครองตัวเองตั้งแต่ปี 2492 และไม่เคยทำสัญญาหยุดยิงร่วมกับทางรัฐบาลพม่า


 


แต่ในปี 2538 ทหารกลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกจากเคเอ็นยู และก่อตั้งกองกำลังโดยใช้ชื่อ กองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ หรือกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ ต่อมาดีเคบีเอได้ทำสัญญาหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่าและหันมาต่อสู้กับกะเหรี่ยงเคเอ็นยูกันเอง


 


ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยอิสระแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวออกมาจากเคเอ็นยู นำโดยพลตรีเถ่งหม่อง อดีตผู้นำ KNLA กองพลที่ 7 ได้ทำสัญญาหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่า และหลังจากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำของทั้งสองกลุ่มเป็นระยะ ๆ


 


ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2547 นายพลโบเมียะ ผู้อำนวยการกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูได้เดินทางไปยังกรุงย่างกุ้งเพื่อพบปะกับนายพลขิ่นยุ้น ซึ่งต่อมาได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า "Gentlemen"s agreement" (สัญญาสุภาพบุรุษ) แต่สองปีให้หลัง กองทัพพม่ากลับเข้าโจมตีชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนืออย่างหนัก จนทำให้ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบเข้ามายังประเทศไทยกว่า 3 หมื่นคน


 


และในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา เคเอ็นยูได้ยุติการติดต่อกับรัฐบาลพม่า หลังจากที่พลตรีเถ่งหม่องและทหารเคเอ็นยูกว่า 300 นายหนีไปอยู่กับกองทัพพม่า


 


(ที่มา: Irrawaddy 20 ต.ค.51)


 


ที่มา: CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net