ประวัติศาสตร์บอกเล่า ธงสะบัดพลิ้ว เหลือง... แดง...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

 

ชื่อบทความเดิม: ประวัติศาสตร์บอกเล่า ธงสะบัดพลิ้ว เหลือง...แดง..."วันธรรมศาสตร์สามัคคี"

 

วิภา ดาวมณี

octnet72@yahoo.com

 

เรากำลังยืนอยู่บนเส้นทางแห่งการต่อสู้เพื่อธรรมะ อย่างสุจริต และเปิดเผย ปราศจากอาวุธและแม้กระทั่งผรุสวาจา กำลังของเรา คือ ธรรมะ และความสามัคคี เมื่อผิดหวังจากคำตอบของฝ่ายรัฐบาล นักศึกษาร่วม 3 พันคน ก็กระจายกำลังออกรายล้อมตึกรัฐสภาและแล้วสำเนียงแห่งการต่อสู้เรียกร้องก็ก้องกังวานขึ้น "โดมของเรา ชีวิตของเรา เอาคืนมา"

 

ข้อความนี้คือคำเรียกร้องเพื่อทวงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คืนจากทหารเมื่อ 57 ปี ที่แล้ว ขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์เดินขบวนไปยังรัฐสภา วันที่ 5 พฤศจิกายน วันแห่งความสามัคคี... มีความหมายอย่างไร เกิดอะไรขึ้น ความสามัคคีที่ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านเหล่าอำนาจนิยม ทำไมไม่บันทึกไว้ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองของไทย?

 

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนปี พ..2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกเป็นเป้าว่าให้ความร่วมมือกับฝ่ายกบฏซึ่งมาจากทหารเรือ รัฐบาลจอมพล ป.จึงส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัย มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดมหาวิทยาลัย คณะกรรมการนักศึกษาขณะนั้นได้ช่วยกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราวโดยไปยืมสถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ มาใช้แทน ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท คณะต่างๆ อย่างคณะพาณิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติ ในช่วงเย็นนักศึกษาต้องอาศัยเพียงแสงจากตะเกียง นับเป็นห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก และเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง

 

"การเดินขบวน" กลายเป็นประเพณีทางการเมือง หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันฝ่ายกองทัพบกเข้ายึดมหาวิทยาลัย นักศึกษาธรรมศาสตร์ 3,000 คนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 ภายใต้คำขวัญ "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ในที่สุดรัฐบาลทหารก็ยอมคืนมหาวิทยาลัยในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เรียกว่าวัน "ธรรมศาสตร์สามัคคี"

 

ถัดมาอีก 1 ปี นักศึกษาธรรมศาสตร์ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามในยุคสงครามเย็น คัดค้านการส่งทหารไทยไปรบในเกาหลี และถูกจับกุมรวม 19 คน ปี 2500 นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นกองหน้าในการคัดค้าน เปิดโปงการเลือกตั้งสกปรก ภายใต้สภาพแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลก และการก้าวขึ้นมามีอำนาจของสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการมีบทบาทอย่างเข้มแข็งของกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยม ท่ามกลางประเทศที่ตกอยู่ภายใต้บรรยากาศการทำรัฐประหาร

 

ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 ธันวา วันรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว (..2550) ผู้ผ่านประสบการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงการก่อรัฐประหารในยุคต่างๆ ได้มาถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ขณะเป็นนักศึกษา ณ ห้องจิตติ ติงศภัศต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อาจารย์มารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เล่าถึงประสบการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อตอนยังเป็นนักศึกษาว่า หลังจากที่ธรรมศาสตร์โดนยึดโดยทหาร ตนและเพื่อนๆก็ได้มีการรวมตัวกันแจกใบปลิวชักชวนเพื่อนๆธรรมศาสตร์ด้วยกันให้พร้อมใจออกไปเดินขบวนเรียกร้องอย่างสันติไปยังรัฐสภา และได้มีการเดินขบวนในวันธรรมศาสตร์สามัคคี เพื่อยึดธรรมศาสตร์คืนจากทหาร

 

"เราออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเพราะเรารักความถูกต้อง รักความเป็นธรรม ความยุติธรรม เรามีจิตวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์อยู่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้สั่งสอนให้เรารักประชาชน ให้เรารักประโยชน์ส่วนรวม ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่มีการปลูกฝังอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้"

 

ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ที่ปรึกษาศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงการก่อรัฐประหารยุค 2494 ว่า ธรรมศาสตร์เป็นเป้าหมายของการทำรัฐประหาร ซึ่งในการทำรัฐประหารนั้นเปรียบได้กับการยิงกระสุนปืน 5 นัดใส่ธรรมศาสตร์ กระสุนนัดแรกนั้นเป็นการยิงใส่ครู-อาจารย์ เป็นผลทำให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยอพยพไปประเทศจีน ส่วนกระสุนนัดที่สอง เป็นการยิงตรงไปยังนักศึกษา ลิดรอนสิทธินักศึกษา และกระสุนนัดที่สามพุ่งไปที่มหาวิทยาลัย โดยการออกพระราชบัญญัติแก้ไขชื่อของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉยๆ พร้อมทั้งยกเลิกหลักสูตรการศึกษาโดยตัดวิชาการเมืองออกไป เพื่อไม่ต้องการให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

 

กระสุนลูกที่สี่นั้นสืบเนื่องจากการจัดการอภิปรายโต้วาทีคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็นผลทำให้นักศึกษาสาวคนหนึ่งต้องถูกเรียกตัวไปสอบสวนตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ เพื่อจะเค้นให้ได้ว่าใครเป็นคนจัดและดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนกระสุนนัดสุดท้ายคือ การยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นผลทำให้เหล่านักศึกษารวมตัวกันเป็นขบวนการเพื่อเรียกร้องเอามหาวิทยาลัยคืนมาและก็เป็นผลสำเร็จ ลุงสัมผัสเล่าว่า

 

"จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้ชีวิตของการต่อสู้ ความเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากตัวหนังสือหรือทฤษฎี การที่ไม่สนใจการเมือง ส่งผลกระทบคือ ทำให้ทิศทางการเมืองจะถอยก็ไม่ได้ จะก้าวหน้าก็ไม่ได้ จะไปซ้ายก็ไม่ได้ จะไปขวาก็ไม่ได้ และทำอย่างไรการเมืองถึงจะฟื้น การมีแค่คุณธรรมไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือต้องมีทิศทาง และจิตวิญญาณควบคู่ไปด้วย"

 

ความสามัคคีในครั้งนั้นก่อให้เกิดการชุมนุมกันมากที่สุดจำนวนเรือนพัน ที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เรียกร้องขอความเป็นธรรม นักศึกษาคนหนึ่งชื่อ "อันดับ รองเดช" ลุกขึ้นชูแขน เอามีดโกนกรีดท่อนแขนเลือดไหลอาบ ส่วน ปริญญา ลีรสอน ได้ดื่มเลือด...เพื่อบอกให้รู้ว่า "นี่เลือดธรรมศาสตร์เข้มข้น" ไม่เหมือนเลือดนักการเมือง

 

ขณะนั้นมีกวี 2 ท่าน เขียนคำกลอนเขียนเพลงปลุกระดม ท่านแรกคือ เปลื้อง วรรณศรี เป็นนักเรียนเตรียมปริญญารุ่นที่ 5 ได้เขียนกลอนเรื่อง "โดมผู้พิทักษ์ธรรม" ในหนังสือ "ธรรมจักร" และปักษ์ในขณะนั้น ได้บอกจบท้ายว่า "...ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม" ซึ่งได้กลายเป็นคำอมตะมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ท่านยังเป็นเจ้าของคำขวัญว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ซึ่งก็เป็นคำขวัญที่ยังดำรงอยู่จนทุกวันนี้เช่นกัน

 

อีกท่านคือ ทวีป วรดิลก หรือ "ทวีป วร" นักเรียนเตรียมปริญญารุ่นที่๖ ท่านแต่งเพลง "โดมในดวงใจ" ได้แทรกความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณชาวธรรมศาสตร์ไว้ในเพลงนี้ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในทุกวันนี้

 

ปี 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน คือ มีทหารเรือจี้จอมพล ป. ลงเรือบดหัว แล้วเกิดการต่อสู้กันระหว่างทหารบกและทหารเรือ ทหารเรือก็แพ้ตามระเบียบ เพราะกำลังน้อยกว่า มหาวิทยาลัยถูกยึด นักศึกษาถูกสั่งห้ามเข้ามหาวิทยาลัย ทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยและประกาศว่า จำเป็นต้องยึดมหาวิทยาลัยไว้เป็นที่ทำการชั่วคราว นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า 9 คน ได้เดินทางไปหาท่านรองนายกฯ เพื่อเจรจาด้วยสันติวิธี ลุงสัมผัสเล่าว่า " แทนที่จะพูดจาด้วยท่านขอจดชื่อก่อน แล้วบอกว่าว่างๆ ค่อยคุยกันใหม่" หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปก็มีประกาศของทางมหาวิทยาลัยออกมาว่า " ห้ามไม่ให้นักศึกษาที่มีรายชื่อต่อไปนี้เข้ามหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี" โดยชื่อที่ปรากฏคือ ชื่อของผู้ที่ไปบ้านรองนายกฯทั้ง ๙ คน หลังจากนั้นไม่นานก็มีประกาศออกมาให้ลบทะเบียนนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้ามีบทบาทในการเคลื่อนไหว ๕ คน ซึ่งรวมนายทวีป วรดิลกด้วย

 

เช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2494 หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อมิถุนายนปีเดียวกัน นักศึกษานำโดยนายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ได้ร่วมกันทำแผนใต้ดิน แผนแรกคือการผลิตหนังสือพิมพ์กำแพงติดตามตึกต่างๆ และระหว่างซอกตึกคณะบัญชี พร้อมทั้งพิมพ์โรเนียวใบปลิวเอาไปทิ้งตามห้องบรรยาย มีใจความว่า... "ถ้าท่านรักธรรมศาสตร์ เห็นแก่ธรรมศาสตร์ ขอให้เดินกันอย่างสงบไปที่รัฐสภาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับ สส.รุ่นพี่ของเรา ในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนในวันที่ 11 ตุลา" ก็ปรากฏนักศึกษาว่าไปกันเป็นจำนวนมาก จน สส.เพทาย โชตินุชิต ได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัยได้เมื่อไร

 

ลุงสัมผัสจำได้ดีว่ากำลังสำคัญในขณะนั้น คือ "นักศึกษาหญิง" เพราะเป็นด่านหน้าในการดันประตูสภาจนประตูเปิดออก ก่อนจะวิ่งกรูกันเข้าไปยึดสนามหญ้าหน้าสภา รองนายกฯ ขณะนั้นรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก ออกมาบอกว่า "ไม่คืน" อย่างไรทหารก็ต้องใช้มหาวิทยาลัย นักศึกษาหญิงจึงเรียกร้องว่า "เราขอพบจอมพล ป. ถ้าท่านเป็นลูกผู้ชาย ให้ลงมาพบลูกหลานหน่อย" ด้วยเสียงแจ๋วๆ นี่คือ "พลังของผู้หญิง"

 

จอมพล ป. ยอมลงมาพบ และเริ่มการเจรจา "พวกคุณลูกๆ หลานๆ ทั้งนั้น มีอะไรหรือ" นักศึกษาหญิงก็บอกว่า "มหาวิทยาลัยของหนู ขอคืนมาเถอะค่ะ พวกหนูไม่มีที่เรียน" ท่านถามกลับมาว่า "ใครอยู่เบื้องหลัง" นักศึกษาหญิงก็บอกว่า "ไม่มีเบื้องหลังหรอก มีแต่เบื้องหน้าทั้งนั้นแหละ" ท่านจึงบอกว่า "ตกลงจะคืนให้" นักศึกษาถามว่า "เมื่อไร" ท่านจึงบอกว่า "ภายในหนึ่งเดือน"

 

แล้วนักศึกษาก็สลายตัวกันไป

 

ผ่านไป 1 เดือนไม่มีทีท่าจากรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัย กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจเข้ายึดมหาวิทยาลัยอีก แผนคือจัดการนำเที่ยว โดยพานักศึกษาไปทัศนาจร โดยวางแผนกันที่บ้านของ สุวัฒน์ วรดิลก (ระพีพร) เตรียมปริญญารุ่น 3 ซึ่งเป็นนักกลอนเสียดสีรัฐบาลตลอดมา เริ่มจากขอนักศึกษาหญิงหน้าตาดีๆ ไปพบท่านอธิบดีการรถไฟ ขอรถไฟพานักศึกษาไปทัศนาจรที่นครสวรรค์ ท่านอธิบดีก็ยินดีให้มา ไปนครสวรรค์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นชาวธรรมศาสตร์ ได้มาต้อนรับ กลุ่มนักศึกษาพักที่นั่นหนึ่งคืน แล้วกลับมาถึงกรุงเทพฯ เช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ซึ่งนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งรออยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แล้วจัดรถบัสคันใหญ่ยกขบวนตรงมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนนักศึกษาได้กรูเข้าไปยึดห้องเรียน ทหารที่เฝ้าอยู่ต้องถอยออกไปตามระเบียบ

นักศึกษาที่ร่วมเหตุการณ์ในรุ่นนั้น จึงถือว่า วันที่ 5 พฤศจิกายนนั้นเป็นวันคืนสู่เหย้า เป็นวันประวัติศาสตร์ จากการเคลื่อนของขบวนการนักศึกษาเริ่มจาก 11 ตุลาคม 2494 แล้วคืนสู่เหย้า แต่มาถึงปัจจุบันผู้มีอำนาจจะพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ โดยไม่ยอมให้จัดงาน 5 พฤศจิกายน

 

ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เล่าว่า

 

"เรารู้ว่าเขา (รัฐบาล) มีแผนการไม่ให้นักศึกษาของเรายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เขาจะได้ปกครองประเทศโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน หรือทำเหมือนกับว่าแยกสลาย หรือไม่ให้คนมาอุทิศตัวให้กับการเมือง เหมือนกับที่นักล่าเมืองขึ้นปกครองเมืองขึ้นนั่นแหละ ในขณะนั้นผมยังจำได้ เราได้มีการอภิปรายปัญหาเรื่องเปลี่ยนชื่อ ตัดชื่อ "การเมือง" ออก เรามีการจัดโต้วาทีเรื่อง "การเมืองกับการศึกษา" ทำนองนี้ เรามีการจัดชุมนุมคัดค้านการเปลี่ยนชื่อ แล้วประเด็นนี้ถูกนำไปเป็นประเด็นที่ถูกสอบสวนในภายหลัง คนที่ลุกขึ้นอภิปรายเป็นนักศึกษาหญิง คือ คุณสุภางค์ โพธิ์ทอง ถูกเรียกไปสอบสวนถึงหนึ่งวันเต็มๆ เพื่อจะเค้นว่าใครเป็นคนจัด ใครเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ ขณะนั้นเรามองเห็น เรารู้ แต่อำนาจรัฐประหารทำให้เราต้องยอม

 

ผู้มีอำนาจเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยยังไม่พอ แบ่งแยกคณะก็ไม่พอ ยังยกเลิกหลักสูตรการเมือง เพื่อทำลายจิตวิญญาณที่รักความเป็นธรรม จิตวิญญาณที่รักประชาธิปไตย มีทางเดียวที่จะรอดคือ "ความสามัคคี" หรือ "พลังนักศึกษา" จึงได้เกิดกระบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น เพื่อเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน อย่างที่อาจารย์มารุตกล่าว เราสูญแล้ว เราหมดแล้ว มีทางเดียวคือต้องสู้ ตายก็ตายบรรยากาศของนักศึกษาสมัยนั้นเป็นอย่างนี้จริงๆ "

 

อาจารย์ มารุต บุนนาค กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ในตอนท้ายของการเสวนาว่า

 

"ผมฝากไว้อย่างเดียวว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุ เล่าให้ฟัง อย่าให้มันหายวับไปกับสายลม ขอให้อยู่ในจิตวิญญาณและสำนึกของชาวธรรมศาสตร์รุ่นต่อๆ ไป ให้ความรู้สึกในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม เพื่อประชาธิปไตยดำรงอยู่ต่อไป ไม่สิ้นสุด โดยวิธีการอย่างใดก็ได้ ที่ท่านอาจารย์และคนรุ่นใหม่ จะสร้างให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป"

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีจุดประสงค์ในการบ่มเพาะพลเมืองยุคใหม่ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เพื่อลดอำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การเคลื่อนขบวนของชาวธรรมศาสตร์เกือบ 3 พันคน จึงนับเป็นการแสดงพลังของคนหนุ่มสาวในระบอบประชาธิปไตยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จนในที่สุดจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จำเป็นต้องรับปากว่าจะคืนธรรมศาสตร์ให้กับนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาทั้งหมดก็ได้กลับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ..2494

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้เช่นทุกวันนี้ หากเราไม่มีคนหนุ่มสาวชาวธรรมศาสตร์ในอดีตที่องอาจ กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ และมีจิตใจที่รักในระบอบประชาธิปไตย วันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกๆปี จึงถือเป็น "วันธรรมศาสตร์สามัคคี" วันที่ชาวธรรมศาสตร์รวมพลังยึดมหาวิทยาลัยคืนมาจากทหาร เพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงาม

 

"เหลืองของเราคือ ธรรม ประจำจิต แดงของเรา คือ โลหิต อุทิศให้"

 

หาใช่เหลืองแดงที่แตกแยก ต่างอุดมการณ์ และผลประโยชน์....ธงหลากสี เหลืองแดงพลิ้วสะบัด.... ความหมายที่แจ่มชัดนั้นหลายคนอาจลืมเลือน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท