นสพ. เลี้ยวซ้าย สัมภาษณ์ "ผาสุก พงษ์ไพจิตร" ว่าด้วยวิกฤตการเงินโลก

ในห้วงเวลาแห่งความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก นสพ.เลี้ยวซ้าย ของพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ได้พูดคุยกับ "ผาสุก พงษ์ไพจิตร" คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อทรรศนะวิกฤตการเงินโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทย

 

เลี้ยวซ้าย:  วิกฤตเศรษฐกิจโลก บทเรียนที่เราได้รับคือ รัฐบาลสหรัฐ ยุโรป คือ การอุ้มสถาบันการเงิน มีกระแสการช่วยเหลือนายทุนด้วยกัน คือรัฐไม่ค่อยช่วยคนจน แต่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มทุนด้วยกันเอง อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่

ผาสุก:  ก็มีการวิเคราะห์กันมากมายว่า นโยบายที่ใช้แตกต่างกันที่อเมริกา ที่ยุโรป เช่นอังกฤษ ที่อเมริการัฐบาลให้เงินแก่บริษัทเหล่านั้นกู้ยืมเพื่อเอาไปแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของ แต่ที่อังกฤษ รัฐบาลเข้าไปซื้อหุ้นเท่ากับว่ารัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็อาจจะมีบทบาทผลักดันให้บริษัทเหล่านี้ปรับปรุงตนเอง ดำเนินการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในกรณีของอเมริกา ในกรณีอเมริกา รัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีบทบาท เข้าไปโอบอุ้มแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้เข้าไปผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงิน ไม่เหมือนในยุโรป ก็มีการถกเถียงกันนะว่า รัฐบาลควรจะทำอย่างงี้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ทำความมั่นใจในระบบทุนนิยมจะสูญหายไป ระบบทุนนิยมจะล่มสลาย ก็เลยต้องเข้ามา อีกทั้งสถาบันการเงินมันใหญ่เกินไปและถ้าล้มมันก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่น

 

เลี้ยวซ้าย: การที่เขาบอกว่า สถาบันการเงินขนาดใหญ่ถ้าปล่อยให้ล้มแล้วจะทำให้ระบบทุนนิยมล่มไปด้วย มันจริงหรือไม่ เป็นเพียงแค่ข้ออ้างหรือเปล่า เพราะสถาบันเหล่านี้ดำเนินธุรกิจผิดพลาดเอง

ผาสุก: ถ้าเขาเชื่อมั่นในตลาดจริง เขาก็คงปล่อยให้มันล้ม มาถึงจุดหนึ่งก็คงจะกลัวว่าสถาบันการเงินจะถูกซื้อไปโดยต่างชาติ อย่างจีน ถ้าเป็นญี่ปุ่นคงไม่เป็นไร แต่จีนนี่ไม่แน่ใจ เพราะจีนพยายามจะซื้อบริษัทน้ำมัน แต่รัฐบาลไม่ต้องการให้เข้ามา ก็มีการเมืองระหว่างประเทศด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นมาตรฐานสองระดับ สมัยที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 อเมริกาเสนอให้ใช้มาตรการของระบบตลาดที่จะปล่อยให้บริษัทล้มลงไป แทนที่รัฐบาลจะเข้ามายุ่ง แต่เมื่อตัวเองเจอสถานการณ์ ตัวเองก็ใช้วิธีการเข้ามาโอบอุ้ม

 

เลี้ยวซ้าย: เรามักได้ยินนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกล่าวอ้างว่า ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

ผาสุก: ใช่ พอตัวเองเจอปัญหาเข้าจริงๆ ก็เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด แต่คราวนี้เข้ามาแทรกแซงช้า การเข้ามาช่วยกรณีเลแม่น ก็เข้ามาโดยไม่มีข้อแม้ พวก CEO ควรออกมารับผิดชอบ

 

เลี้ยวซ้าย: วิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินที่เกิดขึ้นในใจกลางของระบบทุนนิยม คือ สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มละลาย อยากทราบว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ผาสุก: การที่บริษัทเลแมน บราเธอร์ ล้มละลายไปส่งผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์ของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในประเทศแล้วเป็นจำนวนน้อยมาก ฉะนั้นผลกระทบก็อยู่ในวงแคบ แต่ว่าผลกระทบทางอ้อมของเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกา ในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจไทยมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าส่งออก เพราะประเทศเหล่านี้เป็นตลาดสำคัญ  แต่ส่วนดีที่มันโยงกับเรื่องนี้คือความต้องการน้ำมันลดลง เพราะฉะนั้นราคาน้ำมันจึงมีแนวโน้มลดลง แต่เฉพาะตัวนี้ตัวเดียวไม่มากพอที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตามอาจารย์คิดว่า สำหรับประเทศไทยวิกฤตทางการเงินส่งผลกระทบต่อประเทศค่อนข้างจะแรงเพราะทำให้การท่องเที่ยวลดลงมาก เพราะฉะนั้นสองส่วนคือ การท่องเที่ยวลดลง ความต้องการสินค้าไทยลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย แต่เรายังโชคดีที่ภาคเกษตร ราคาสินค้าเกษตรยังคงสูงอยู่ แม้ความต้องการสินค้าเกษตรลดลงบ้าง ก็ไม่ลดลงมากพอที่จะทำให้เราขาดทุน เรายังโชคดีที่ขายสินค้าเกษตรได้ ดังนั้นภาคเกษตรจึงเป็นตัวหนุนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังคงทรงตัว  และเราสามารถจะคาดการณ์ได้ว่า ปีหน้าคงจะมีโรงงานอุตสาหกรรมต้องปิดตัวเอง หรือขาดทุน เพราะ ขายของไม่ได้ และก็จะเกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่อาจารย์ไม่มีตัวเลขอัตราการว่างงาน ยุโรป อเมริกาซื้อน้อยลง สินค้าประเภทใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ของเด็กเล่น มีดีมานด์ (ความต้องการ)  ลดน้อยลง นอกเหนือจากปัญหาคุณภาพ

 

เลี้ยวซ้าย: ในวันข้างหน้า มีแนวโน้มที่ค่าแรงคนงานจะสูงขึ้นอีกหรือไม่ ทางพรรคเองก็ร่วมกับขบวนการแรงงานออกมาเรียกร้องรัฐให้เพิ่มค่าแรงหลายครั้ง อาจารย์คิดว่าอย่างไร

ผาสุก:  ถ้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 5%-6% การเรียกร้องของฝ่ายแรงงานก็อาจจะได้ผล แต่ในภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลง อาจจะลำบากหน่อย อย่างน้อยก็เรียกร้องให้คงระดับไว้ตามอัตราเงินเฟ้อ ถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟู การต่อรองก็สูง หากเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องเป็นภาระของรัฐบาลที่จะช่วยให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษาแก่เด็ก อุดหนุนค่าใช้จ่ายของเด็กๆ

 

เลี้ยวซ้าย:  แต่ตอนนี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นตกต่ำใช่ไหม

ผาสุก: ในช่วงนี้คาดการณ์กันว่า อัตราการเจริญเติบโตจะลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้นหรือยัง ยังไม่ดูตัวเลข อัตราการเพิ่มของสินค้าส่งออกลดลง ต้องดูตัวเลข และตอนนี้นักข่าวให้ความสนใจเรื่องการเมืองมากกว่า เราก็เลยไม่ค่อยมีข้อมูล คุณต้องไปคุยกับคนงานว่าโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวลงเพิ่มขึ้นหรือไม่

 

เลี้ยวซ้าย:  อาจารย์มีข้อเสนออะไรหรือไม่ที่จะเสนอให้รัฐบาลช่วยคนจนมากขึ้น

ผาสุก:  รัฐบาลควรจะช่วยเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กๆ  ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่อยู่ในระดับล่างจะมีปัญหามากกว่าคนอื่น เพราะจะต้องผลักดันให้ลูกออกมาหางานทำ แต่ว่ากำลังแรงงานที่มีการศึกษาเป็นส่วนสำคัญ ถ้าหากเด็กขาดเรียนจะทำให้คุณภาพลดน้อยถอยลงไป โดยอาจจะคิดเป็นโปรแกรมสนับสนุนคนรายได้น้อย ให้เป็นเงินอุดหนุน แต่ก็ต้องมีวิธีการเพื่อให้แน่ใจว่าเงินไปใช้เพื่อเด็กเหล่านี้ ที่บราซิลรัฐบาลเข้าไปช่วยผู้หญิงเลี้ยงดูลูก แต่ต้องใช้คนเยอะ

 

เลี้ยวซ้าย: นั่นหมายถึงว่า รัฐต้องมีนโยบายลดภาระของประชาชน เพิ่มสวัสดิการให้คนรากหญ้ามากขึ้น

ผาสุก: ใช่ แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า งบประมาณลงไปถึงมือประชาชนหรือไม่ กรณีของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คนได้รับประโยชน์จริง เราควรเก็บภาษีท้องที่มากขึ้นเพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สุขภาพของประชาชน แทนที่จะสร้างถนน สาธารณูปโภค ควรเน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษา สุขภาพ

 

เลี้ยวซ้าย:  เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราควรที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีของประเทศ

ผาสุก:  คือเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพี แค่ 18% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วในบางประเทศ สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีมากกว่า 50% หรือ 40% ขึ้นไป เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า เรายังคงมีทางที่จะเพิ่มสัดส่วนของภาษีต่อจีดีพี นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บรวมทั้งการจัดทำทะเบียนผู้เสียภาษีใหม่ อย่างภาคธุรกิจ หรือภาคที่เราเรียกว่า cooperate เสียภาษี 25% ในขณะที่ภาษีรายได้ ผู้มีรายได้เสียไม่ถึง 20%  จำนวนคนทำงานที่เสียภาษียังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนทำงานทั้งหมด ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่ามันมีทางที่จะปรับปรุงได้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบการจัดเก็บ รัฐบาลไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบ จึงก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงแม้กระทั่งภาคธุรกิจมีส่วนที่หลีกเลี่ยงอีกเยอะเลย

 

แต่แน่นอนทุกคนเสียภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเทศเราเก็บ 7% ในสแกนดิเนเวีย ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ราวๆ 17%-22% ก็มีข้อเสนอให้จัดเก็บ 10% แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าเพิ่มสักที เพราะกลัวการต่อต้าน ทีจริงควรจะเพิ่มได้แล้ว ส่วนภาษีทางตรง ภาษีรายได้ของเขาก็ค่อนข้างสูง ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ก็เป็นระบบก้าวหน้า ในแง่ของมูลค่าภาษี ภาษีมรดกมันอาจจะไม่ทำให้ประเทศได้รับภาษีเพิ่ม แต่มันช่วยไม่ให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้สุดโต่ง และเป็นตัวกำกับให้คนมีทรัพย์สินเอาทรัพย์สินไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะเก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไร

 

เลี้ยวซ้าย: งั้นอาจารย์ก็สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน

ผาสุก:  ควรเก็บภาษีมรดก คือมันมีเหตุผลที่ว่า การที่คนได้ประโยชน์จากการที่ไม่ได้ทำอะไรเลยเพียงเพราะว่าเกิดมาโชคดีเป็นลูกคนรวย มันไม่ยุติธรรมต่อคนที่เกิดมาเป็นลูกคนจน จึงควรต้องเก็บภาษีเพื่อให้รัฐนำไปใช้จ่ายลดความแตกต่าง ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะต้องมีการเก็บภาษีมรดก เพื่อไม่ให้ผู้ที่มีทรัพย์สินเก็บทรัพย์สินให้ราคามันขึ้นเฉยๆ และปิดกั้นโอกาสไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้ เช่น ในกรณีของญี่ปุ่น ถ้าไม่ทำอะไรเลยกับทรัพย์สินภายใน 3 ชั่วอายุคน คุณต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามาซื้อ ต้องขายเพื่อนำเงินไปเสียภาษี แต่ต้องมีมรดก 100 ล้านบาทขึ้นไป ในกรณีของบ้านเรามีคนที่มีมรดก 100 กว่าล้านบาทเยอะขึ้น แต่เยอะเท่าไรไม่ทราบ ต้องเข้าใจว่า ภาษีมรดกมีบทบาทของการลดความเหลื่อมล้ำ คนไม่ควรเก็บที่ดินเอาไว้เฉยๆ

 

เลี้ยวซ้าย:  แล้วอีกวิธีหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เราควรจะเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้นจากคนรวย

ผาสุก: คนที่เสียภาษีมากเกินไป อาจจะหลีกเลี่ยง ในต่างประเทศก็เหมือนกัน เช่น พวกนักกีฬาก็จะหลีกเลี่ยงภาษีโดยการย้ายไปอยู่ประเทศอื่น  เพราะฉะนั้นควรเก็บภาษีในระดับที่ไม่ลดแรงจูงใจ

 

 

 

……………

อ่านหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2551 ได้ที่

http://www.pcpthai.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท