Skip to main content
sharethis



 


สวนปาล์ม


 



 


ทลายปาล์ม


 



 


น้ำมันปาล์มดิบ


 



 


หีบน้ำมัน


 

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)


 


การใช้พลังงานทดแทนจากพืชหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นหนทางที่จะช่วยลดโลกร้อน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้คิดเฉพาะในส่วนของการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีวัตถุดิบจากพืช ซึ่งเป็นตัวดูดก๊าซเรือนกระจกแล้วคิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น แต่กระบวนการก่อนจะได้เชื้อเพลิงชีวภาพต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาด้วยทั้งสิ้น โดยหากรวมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงอาจมีปริมาณการปลดปล่อยมากกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


นายศรวิษ เสียงแจ้ว นักศึกษาปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น โดยเฉพาะไบโอดีเซล ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาสูงมาก ส่งผลไปถึงการผลิตไบโอดีเซลที่ต้องเพิ่มการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบเป็นน้ำมันปาล์มจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น แต่ทว่าการเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรจากพืชชนิดอื่นเป็นปาล์มน้ำมันอาจมีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมให้กับการปลูกปาล์มน้ำมัน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงได้เริ่มทำการศึกษาวงจรชีวิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตไบโอดีเซล โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในประเทศไทย


 


"จากการศึกษาเปรียบเทียบการถางป่าเพื่อปลูกปาล์ม ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย พบว่าการถางป่าทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่สะสมอยู่ในผืนป่า ซึ่งการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจะเกิดประโยชน์ และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างแท้จริงต้องใช้เวลาตั้งแต่ 80 ถึง 400 กว่าปี ขึ้นอยู่กับชนิดของป่าที่ถูกทำลาย ส่วนในประเทศไทยไม่มีนโยบายให้ถางป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงเท่าในต่างประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่การเพาะปลูกและกระบวนการอื่นๆ ก็ยังคงมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่บ้าง" นายศรวิษ กล่าว


 


ทั้งนี้ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัฏจักรชีวิตการผลิตไบโอดีเซลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการเพาะปลูก ที่ต้องมีการใช้ปุ๋ย โดยปุ๋ยยูเรียจะเป็นตัวการหลัก เพราะโดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยค่อนข้างมาก ซึ่งบางส่วนจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่มีความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 296 เท่า อีกส่วนคือการหีบน้ำมัน และการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งต้องใช้พลังงานกับเครื่องหีบทลายปาล์มและเครื่องผลิตไบโอดีเซล โดยเชื้อเพลิงที่ใช้อาจเป็นถ่านหินหรือไฟฟ้า หรือบางโรงงานอาจใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เป็นการช่วยลดการปลดปล่อยในกระบวนการนี้ แต่อย่างไรก็ดี น้ำมันเสียจากโรงงานหีบน้ำมันจะมีการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญอีกตัวหนึ่ง


 


นายศรวิษ กล่าวถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในประเทศไทยว่า จะทำการเก็บข้อมูล 2 ส่วน อันประกอบด้วยการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งจะถามถึงลักษณะการใช้ปุ๋ยและผลผลิตต่อปี อีกส่วนหนึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่สำรวจมาทำการศึกษาวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในดิน และความสมบูรณ์ของดินที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงอัตราการปลดปล่อยหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกในแปลงปาล์มน้ำมัน เปรียบเทียบกับพืชชนิดเก่าที่ปลูกในพื้นที่เดิม หากมีปริมาณคาร์บอนในดินเพิ่มขึ้นหลังจากการปลูกปาล์มน้ำมัน แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมกับการเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน


 

"จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออก ซึ่งมีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับภาคใต้ ทำให้มีความสามารถในการปลูกปาล์มน้ำมันในบางพื้นที่ น่าจะมีความเหมาะสมในการเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะการปลูกทดแทนในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากโดยปกติแล้วการปลูกมันสำปะหลังจะทำให้ดินขาดธาตุอาหาร อีกทั้งการไถพรวนบ่อยๆ และการให้ปุ๋ยจำนวนมากก็เป็นการเร่งการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดินขึ้นสู่บรรยากาศ หากเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชยืนต้น น่าจะมีผลดีกับดินมากกว่าการปลูกมันสำปะหลัง ทั้งนี้หากการศึกษาครั้งนี้ได้ผลสำเร็จจะเป็นข้อมูลที่ภาครัฐสามารถนำไปใช้กำหนดพื้นที่ที่ควรสนับสนุนให้มีการปลูกปาล์มน้ำมัน การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจะทำให้ไม่มีการเพิ่มการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเท่ากับการบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้ไบโอดีเซล และยังช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายของพันธกิจในพิธีสารเกียวโตด้วย" นายศรวิษ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net