กรีนพีซ เสนอทางเลือก "ปฏิวัติพลังงาน : แผนการพลังงานที่ยั่งยืนของโลก"

 

วันที่ 30 ต.ค.51  กรีนพีซ จัดงานสัมมนาเรื่อง "ปฏิวัติพลังงาน แผนการพลังงานที่ยั่งยืนของโลก" ห้องนิลุบล โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรให้ความรู้จำนวน 3 คน คือนายโอลิเวอร์ สคาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายของสภาพพลังงานหมุนเวียนแห่งยุโรป (EREC) ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ "พลังงาน-งานที่มีพลัง" และ คุณสายรุ้ง ทองปลอน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ดำเนินรายการโดย นายธาดา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

นายธาดา บัวคำศรี กล่าวถึงรายงานการ "ปฏิวัติพลังงาน แผนการพลังงานที่ยั่งยืนของโลก" ซึ่งจัดทำขึ้นโดย EREC และกรีนพีซสากลว่า เป็นการชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงานอย่างมุ่งมั่น สามารถสร้างอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินราว 360 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยที่ระบบพลังงานดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของโลกได้ครึ่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องภูมิอากาศอีกด้วย

 

 

หลังจากนั้นนายโอลิเวอร์ สคาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายของสภาพพลังงานหมุนเวียนแห่งยุโรป (EREC) ได้พูดถึงพลังงานหมุนเวียนซึ่งก็คือการปฏิวัติพลังงานว่า ตลาดพลังงานหมุนเวียนของโลกสามารถเติบโตได้เทียบเท่าพลังงานฟอสซิล ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวที่จัดทำขึ้นนั้นเป็นรายงานในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นข้อตกลงร่วมของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ลดการปล่อยของเสียภายในปี 2565 ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน แม้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง แต่ต้นทุนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสังคมเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2015-2020 เมื่อถึงเวลานั้นต้นทุนพลังงานหมุนเวียนก็สามารถที่จะแข่งกับต้นทุนพลังงานฟอสซิลได้

 

 

นอกจากนี้นายโอลิเวอร์ ยังกล่าวอีกว่า ทางเราต้องการให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในโลกที่กำลังพัฒนามากขึ้น การใช้พลังงานต่อหัวไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้พลังงานถึง 50% ของประชากรในภูมิภาคอื่น ส่วนภาคการขนส่งต้องมีมาตรการต่างๆ คือระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพาหนะในปี 2020 ไม่ควรที่จะใช้น้ำมัน และในปี 2050 จะต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 5%

 

 

"เราต้องมีพลังหมุนเวียน ถ้าต้องการให้สิ่งแวดล้อมดี เราจะมีอิสระมากขึ้นในการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งไม่ขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ส่วนในเรื่องราคาน้ำมันเราไม่สามารถรู้ว่าในปี 2050 ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับเท่าไร อาจจะเป็น 300-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะสงผลกระทบต่อสังคม ส่วนราคาพลังงานลม พลังงานน้ำจะไม่มีการส่งบิลมาให้เราแน่ใน 40 ปีข้างหน้า"

 

 

นายโอลิเวอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมีความพร้อม และสามารถที่จะสนับสนุนการปฏิวัติพลังงานให้เกิดขึ้นจริง เรามีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เรามีเทคโนโลยีที่จะพาทุกคนไปสู่อนาคตที่ใส่สะอาด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องทางเทคนิค แต่เป็นอุปสรรคทางการเมืองที่จะสร้างภาคพลังงานของโลกขึ้นมาใหม่ "สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง"

 

 

ต่อมา ดร. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายถึงทางเลือกของประเทศไทยในการเลือกใช้พลังงานว่า รัฐบาลไทยได้เลือกแล้วที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งสังคมโดยรวมไม่สามารถเลือกได้เลย และในปัจจุบัน การประเมินการใช้ไฟฟ้าโดยรัฐบาลก็สูงกว่าความเป็นจริง โดยในปี 2551 สูงกว่าความเป็นจริงถึง 1389 เมกะวัตต์ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ การประเมินของรัฐบาลจะเกินความเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนพลังงานเกินกว่าความจำเป็น

 

 

ดร.เดชรัตน์ กล่าวต่อว่า แผนพลังงานทางเลือก ทำให้เราสามารถเอาเงินที่แหลือมาพัฒนาเศรษฐกิจได้มากกว่าพลังงานกระแสหลัก และการจ้างงานตามแผนพลังงานทางเลือกก็จะมีมากกว่าแผนของรัฐถึง 30,000 ตำแหน่ง  ในขณะที่มีเรามีผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่พร้อมจะเข้าสู้ระบบแล้ว เราจึงมีสิทธิที่จะเลือกเพื่อสังคมของเรา

 

 

 

 

 

ด้านคุณสายรุ้ง ทองปลอน จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า จากการไปดูงานที่รัฐวอชิงตันและที่รัฐออเรกอน ว่าด้วยเรื่องการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล ประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงก็คือเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งหากมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยเรา น่าสนใจมากซึ่งเราอาจจะไม่คุ้นเคย สองรัฐนี้เขามองเรื่องค่าไฟเหมือนสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นประเด็นที่สงสัยมาโดยตลอดว่า ทำไมค่าไฟฟ้าบ้านเราไม่เหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยว ไม่เหมือนกับการลงทุนในกิจการทุกประเภทที่มีภาระความเสี่ยง แต่สำหรับธุรกิจไฟฟ้าซึ่งมีทั้งรัฐและเอกชนดำเนินการ มันอยู่ในโครงสร้างแบบรับประกันความเสี่ยง หรือจะว่าไปก็คือรับประกันกำไรให้เลย

 

 

นอกจากนี้การการประกันกำไรแล้วยังคล้ายกับเก็บเงินล่วงหน้าประมาณ 25% ไปบวกกับเม็ดเงินการลงทุน แล้วก็ไปบวกในภาระค่าไฟด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างแบบนี้คืออะไร ก็คือทำให้เรามุ่งหน้าไปสู่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โรงหนึ่งสามหมื่นกว่าล้าน แต่เราไม่ค่อยสนใจในประเด็นนี้ คนลงทุนไม่ต้องรับภาระความเสี่ยง คนกำหนดนโยบายไม่ต้องรับภาระความเสี่ยง ดังนั้นไฟฟ้าจะใช้หรือไม่ใช้ คุณทำดีหรือไม่ดี อย่างไรคุณก็ได้กำไรไปเพราะคนจ่ายคือผู้บริโภค

 

 

สายรุ้งสรุปว่า สำหรับเรื่องไฟฟ้าในประเทศไทย ผู้บริโภคจึงเป็นผู้แบกภาระการลงทุนในค่าไฟฟ้า ชาวบ้านรับภาระต้นทุนของทางสังคม แม่เมาะ ราชบุรี ปากมูล เราจ่ายทุกวัน เดี๋ยวก็มีกองทุนขึ้นมาอีก โดยประชาชนเป็นผู้จ่าย เพราะฉะนั้นภาระทางสังคมก็คือชาวบ้านจ่าย ภาระทางสิ่งแวดล้อมก็จ่าย พวกเราทั้งหมดจ่าย

 

 

สายรุ้งยังมีข้อเสนอโดยยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าต้องการไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปีนี้ ฝ่ายนโยบายควรจะกำหนดมาเลยว่าต้องการไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ แล้วผู้กำกับดูแลก็มาดูว่าจะทำอย่างไร เปิดรับซื้อ เป็นรัฐวิสาหกิจก็ได้ เอกชนก็ได้ แล้วไปคิดมาว่า การผลิตไฟฟ้าแบบนั้นใครจะซื้อ ราคาเท่าไร โดยให้วางแผนโดยผู้ประกอบการเอง เพราะฉะนั้นเขาจะต้องคิดถึงการประกอบการที่มีประสิทธิภาพที่สุดและผู้บริโภคยอมรับด้วย อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การวางแผนในประเทศไทยอาจจะต้องวางแผนทรัพยากรแบบบูรณการด้านไฟฟ้า หรือ IRP ถ้าจะมีการวางแผนผลิตไฟฟ้า จะต้องคิดถึงเรื่องปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้งด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเหตุ

 

 

  รายละเอียดฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเงินของรายงาน The Energy [R]evolution scenario สามารถศึกษาได้ที่ www.greenpeace.org/energyrevolution

 

 

  รายงานนี้จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน Technical Thermodynamics ที่ศูนย์การบินอวกาศแห่งเยอรมนี นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากมหาวิทยาลัย สถาบันและอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 แห่ง

 

 

  รายงานฉบับใหม่นี้เพิ่มการวิเคราะห์ที่มีรายละเอียดของศักยภาพของประสิทธิภาพพลังงาน ระบบการขนส่งในอนาคต เช่น รถไฟฟ้า และการวิเคราะห์ทางการเงินในภาคพลังงาน

 

 

  รายงานนี้ให้ภาพของแนวคิดพลังงานโลกอย่างกว้างขวางและครอบคลุม โดยวิเคราะห์ว่าจะปรับโครงสร้างของระบบพลังงานโลกอย่างไรบนพื้นฐานของการประเมินในระดับภูมิภาคของศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงานและการใช้ประโยชน์จากระบบการผลิตไฟฟ้า-ความร้อนแบบกระจายศูนย์ แผนการปฏิวัติพลังงานนี้นำเสนอเพื่อเปรียบเทียบกับแผนการพลังงานที่เป็นไปตามปกติขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) ซึ่งแบ่งโลกออกเป็น 10 ภูมิภาค

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท