Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


เมื่อผมได้เขียนบทความลงตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ และ วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เรื่อง เข้าใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างง่ายๆ และ เรื่อง ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไป ซึ่งผมได้ฟันธงไปว่า บารัก โอบามา จะได้รับชัยชนะเหนือนางฮิลลารี คลินตันในการคัดเลือกจากพรรคเดโมแครตให้เป็นผู้แทนในการเข้าไปชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีและในที่สุดจะได้รับชัยชนะเหนือนายจอห์น แมคเคน ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งในตอนนั้นแทบจะไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้


 


บัดนี้ ผลการเลือกตั้งล่าสุดคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากประชาชน (Popular Vote) ที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงปรากฏว่านายบารัก โอบามานั้นมีชัยชนะเหนือนายจอห์น แมคเคน ที่ว่าผลอย่างไม่เป็นทางการนั้นก็เพราะว่าผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะถูกตัดสินโดยผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College)ของแต่ละรัฐือนายจอห์น แมคคเคน่อง ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาค


 


หากไม่มีอะไรพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินแล้วหรือเกิดกรณีที่เรียกว่า "การผิดสัญญาของผู้เลือกตั้ง" (Faithless elector)ที่คณะผู้เลือกตั้งไม่เลือกตามที่ประชาชนในรัฐต่างๆลงคะแนนให้แล้ว (เคยมีปรากฏเหมือนกัน ที่ฮือฮามากๆคือระหว่างนายรูเธอร์ฟอร์ด ฮาเยส (Rutherford B. Hayes) กับ ซามูเอล ทิลเด็น(Samuel Tilden) เมื่อปี๑๘๗๖ ซึ่งในปัจจุบันบางรัฐ ก็หาทางแก้โดยออกเป็นกฎหมายบังคับไว้เลยว่าคณะผู้เลือกตั้งต้องเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนในรัฐนั้นลงคะแนนให้เท่านั้น) บารัก โอบามา ก็จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒


 


บารัก โอบามา มีชื่อเต็มว่า บารัก ฮุสเซน โอบามา จูเนียร์ (Barack Hussein Obama,Jr.) เกิดถือฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๑๙๖๑ อายุ ๔๗ ปี ชื่อ "บารัก" แปลว่า "ผู้ได้รับพร" ในภาษาสวาฮิลี เป็นชื่อซึ่งได้มาจากบิดาชาวเคนยาของเขา "โอบามา ซีเนียร์"และมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายแล้วพบรักกับ แอนน์ ดันแฮม(Ann Dunham) นักศึกษาหญิงผิวขาวขี้อายวัยเพียง ๑๘ ปี ในชั้นเรียนภาษารัสเซีย ทั้งคู่รักกันและแอบไปแต่งงานกันที่เกาะมาวีซึ่งในขณะนั้นโอบามา ซีเนียร์ อายุเพียง ๒๓ ปี


 


การแต่งงานของทั้งคู่นับว่าเป็นความกล้าหาญและแปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่งในสังคมอเมริกันสมัยปี ๑๙๖๐ ที่รัฐกว่าครึ่งประเทศถือว่าการแต่งงานระหว่างคู่ต่างสีผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ผิวขาวและดำ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในบางรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐทางตอนใต้ ผู้ชายผิวดำอาจถูกรุมทำร้ายหรือจับแขวนคอได้เพียงแค่ชายตามองผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น


 


แต่ต่อมาบารัก บามา ซีเนียร์ได้ผละจากพวกเขาไปเมื่อโอบามาจูเนียร์อายุได้เพียง ๒ ขวบเท่า โดยบิดาของเขาไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และกลับประเทศไปรับราชการในรัฐบาลเคนยา แอนน์มารดาของเขาจึงได้แต่งงานใหม่กับนักศึกษามุสลิมจากอินโดนีเซีย "โลโล โซโตโร (Lolo Sotoro)" เมื่อปี ๑๙๖๗ และอพยพครอบครัวมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียอยู่ระยะหนึ่ง


                       


โอบามาแยกตัวกลับมาอยู่กับคุณตาและคุณยายและเรียนต่อที่โรงเรียนปูนาฮูที่ฮาวาย วิทยาลัยอ็อกซิเด็นทอลที่คาลิฟอร์เนีย และจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์กเมื่อปี ๑๙๘๓ แล้วหางานทำทันทีโดยเป็นพนักงานประจำบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการเมืองแต่ต่อมาปี ๑๙๘๕ โอบามาได้หันมาทำงานด้านสังคมด้วยการทำงานกับกลุ่มอาสาสมัคเพื่อชุมชนคนดำที่ยากจนย่าน "South Side" ของชิคาโก


 


ปี ๑๙๘๘ โอบามาได้เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการเป็นคนผิวดำคนแรกที่เป็นประธานของวารสาร "Harvard Law Review" เมื่อจบจากฮาร์วาร์ดแล้วโอบามาก็ยังกลับมาที่ชิคาโกอีกครั้งโดยเป็นทนายฝึกหัดด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกันและแต่งงานกับ มิเชลล์ โรบินสัน ในปี ๑๙๙๒ มีลูกสาวด้วยกัน ๒ คนคือ มาเลีย และ นาตาชา


 


โอบามาเริ่มเข้าสู่วงการเมืองด้วยการได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของรัฐสภาอิลลินอยส์เมื่อปี ๑๙๙๖ (เป็นสภาระดับรัฐมิใช่ระดับชาติ) และสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา(ระดับชาติ)ในปี ๒๐๐๐ แต่ประสบความพ่ายแพ้ แต่ต่อมาก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา(ระดับชาติ) และเข้าทำหน้าที่วุฒิสมาชิกผิวดำคนที่ ๓ ของสหรัฐอเมริกาในปี ๒๐๐๕


 


บทบาททางการเมืองของโอบามาได้ฉายแสงอย่างเจิดจ้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกล่าวปราศรัยครั้งสำคัญของพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่เพื่อเสนอชื่อจอห์น เคอร์รีให้เป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ๒๐๐๔ ที่จัดขึ้นที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์


 


ตอนที่สำคัญที่สุดของสุนทรพจน์ในครั้งนั้นที่สร้างชื่อเสียงให้โอบามาโด่งดังขึ้นอย่างมากมายก็คือ "...ไม่มีเสรีนิยมอเมริกา ไม่มีอนุรักษ์นิยมอเมริกา มีแต่สหรัฐอเมริกาไม่มีอเมริกันผิวดำ ไม่ละตินอเมริกา ไม่มีเอเชียนอเมริกา มีแต่สหรัฐอเมริกา..."(… there is not a liberal America and a conservative America — there is the United States of America. There is not a Black America and a White America and Latino America and Asian America — there"s the United States of America…)


 


ก้าวสำคัญของชีวิตโอบามาได้มาถึงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๐๗ เมื่อโอบามาประกาศที่หน้าอาคารที่ทำการรัฐอิลลินอยส์หลังเก่า เมืองสปริงส์ฟิลด์ เมืองหลวงของรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่ง อับราฮัม ลินคอล์น เคยนั่งทำงานอยู่ที่นี่และเคยกล่าว  สุนทรพจน์ต่อต้านการมีทาสเมื่อปี ๑๘๕๘ โดยการปราศรัยครั้งนั้นโอบามาประกาศว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมแล้วที่จะมีผู้นำเลือดใหม่ ผู้นำที่พร้อมจะถอนทหารออกจากอิรัก พร้อมที่จะประสานรอยแยกระหว่างคนกลุ่มต่างๆ


                       


แน่นอนว่าหนทางสู่ความสำเร็จย่อมไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ แม้ว่าโอบามา จะเป็นคนผิวดำก็ตามก็ใช่ว่าเขาจะได้รับการยอมรับจากคนผิวดำทั้งหมดไม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงคนผิวขาวอนุรักษ์นิยมนั้นไม่เลือกโอบามาอย่างแน่นอน แต่คนผิวดำก็มิใช่จะเลือกโอบามาเสียทั้งหมด ในตอนแรกของการรณรงค์หาเสียงคนผิวดำทั่วไปมองว่าเขาฉลาดเกินไป วางตัวไว้สูงเกินไป ห่างเหินเกินไป และจัดอยู่ในกลุ่มคนชั้นสูงเกินกว่าที่คนผิวดำทั่วไปจะคบหาสมาคมด้วย คนดำซึ่งมีการศึกษาน้อย มีรายได้ต่ำ จึงไม่ชอบโอบามาเอามากๆ บางคนมองว่าเขายัง "ดำ"ไม่พอ เพราะเขาเป็นลูกครึ่งและอาศัยอยู่ในไฮด์ ปาร์ก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของคนขาว คนร่ำรวย และคนมีการศึกษา


 


แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป โอบามาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจที่มีต่อผู้คนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นใดหรือสีผิวใดก็ตาม จนในที่สุดเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน ๒๐๐๘  โอบามาหักปากกาเซียนทางการเมืองทั้งหลายด้วยการเอาชนะนางฮิลลารี คลินตัน วุฒิสมาชิกจากนิวยอร์กในการต่อสู้เพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างยืดเยื้อ สนุก มีสีสันและสูสีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน


 


โอบามาได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของอเมริกาด้วยการเป็นผู้นำผิวสีคนแรก ผู้นำที่เติบโตจากประสบการณ์ที่ขมขื่นจากการถูกดูถูกเหยียดหยามด้วยเหตุแห่งความเป็นคนจนและเป็นคนผิวสี


 


ผมเชื่อว่าจากวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ไม่เพียงจำเพาะแต่สังคมอเมริกันเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ในแง่ของความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นใดหรือผิวสีใดก็ตามก็ย่อมมีโอกาสขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการเป็นผู้นำของประเทศหรือผู้กุมอำนาจรัฐ


 


สังคมไทยเองนั้นเล่าก็ควรที่จะนำเอาตัวอย่างนี้มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเมืองของไทย มิใช่แต่จะคอยพึ่งหวังแต่ให้เพียงคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ยึดครองอำนาจรัฐ ประดุจดังมรดกตกทอดไม่มีที่สิ้นสุดดังเช่นทุกวันนี้


 


 


ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งสหรัฐ


http://www.bangkokbiznews.com/2008/05/07/news_254837.php
 
http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/16/WW12_1222_news.php?newsid=220393
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net