Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สามชาย ศรีสันต์


 


ไปที่ใดๆ ในดินแดนที่อ้างเอ่ยว่า "เย็นศิระเพราะพระบริบาล"  "ไทยนี้รักสงบ" ก็พบสีเหลือง สีแดงเกลื่อนกล่น ไปทั่วเมือง สร้างความร้อนแรงของอารมณ์ความรู้สึกได้ไม่ต่างจากแสงที่กระทบโทนสีของเสื้อแล้วปะทะเข้าสายตา  เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แข่งกับเสียงอภิปรายบนเวทีเสมือนโกรธแค้นมาแต่ชาติปางไหนผ่านหูผ่านตาเข้ามาทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะรับฟัง  ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมตามต่างจังหวัด ข่าวยิงกันตาย ขว้างระเบิด และการประกาศตนแบ่งแยกว่าอยู่ฝ่ายใด แพร่กระจายไปทั่ว จนแทบไม่เหลือที่ยืนให้กับคนที่ใส่เสื้อสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ เหลือง แดง  ไม่ถือมือตบและตีนตบ


สอ สอง พลอ หน้า สังคมไทย
เหล่าบรรดาคนที่พอจะมีอำนาจ บารมี มีความรู้ เป็นผู้ใหญ่ดูจะพึ่งพิงเป็นความหวังได้ ถ้าไม่เลือกข้างใส่เสื้อ ก็มักพูดพร่ำเพ้ออยู่เพียงไม่กี่คำ คือ "สมานฉันท์"  "สันติวิธี"


ดูเสมือนว่าสังคมไทยมีทางออกให้กับความขัดแย้ง 2 ฝ่าย มากมาย แต่ล้วนใช้การไม่ได้ทั้งสิ้น ข้อเสนอให้มีการเจรจา ยอมถอยกันคนละก้าว  หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เสมือนคำเสแสร้งอุทานเอาใจคู่สนทนาเมื่อเล่าเรื่องตื่นเต้นให้ฟัง   เป็นคำพูดติดปากเมื่อเหล่าบรรดาผู้มีหน้ามีตาในสังคมถูกถามว่า ประเทศควรจะหาทางออกให้กับเรื่องนี้อย่างไร ? "หาคนกลางมาเจรจา"  "ยุบสภา" "นายกฯ ลาออก" "หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า" "ต้องชุมนุมโดยสันติอย่างยั่วยุ"   "ใช้แนวทางสันติวิธี" .....  ล้วนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้


ขณะที่ฝ่ายสีเหลืองประกาศจะติดอาวุธ และตอบโต้ยิงฝ่ายตรงข้ามจนได้รับบาดเจ็บเมื่อเฉียดเข้าไปใกล้เส้นเขตแดนทางอำนาจ ฝ่ายสีแดงก็แสดงแสนยานุภาพกองกำลัง เฉกเช่นการเดินสวนสนาม ตรวจคน พร้อมรบ  ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่าตนเองใช้ความสงบ สันติ และทั้งคู่ก็กล่าวอ้าง "ประชาธิปไตย"  "อหิงสา" และสิทธิอันสูงส่งยิ่งของพลเมืองไทย ในทางตรงข้าม กลับยั่วยุและดึงมวลชนเข้าเป็นพวก ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ และมุ่งทำลายล้างกันปรากฏเป็นข่าวที่ยากจะเบือนหน้าหลบหนีไม่รับรู้  ทุกๆ ความเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้น คำสบถด่าควบคู่ไปกับถ้อยคำประเภท  รักชาติ รักประชาธิปไตย และรักพ่อ ร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น


นี่คือ ความรุนแรงของ "สันติ และสมานฉันท์"   มันถูกใช้เพื่อแอบอ้างการกระทำก้าวร้าว ทำลายล้าง  และโดยตัวของมันเองทำให้คนยอมจำนน นิ่งเฉย และปล่อยให้เกิดความรุนแรง  ทั้งยังยอมรับรองความชอบธรรมให้พฤติกรรมก้าวร้าว


ความรุนแรงของคำสมานฉันท์
เพราะด้วยคำๆ นี้ มันถูกนำไปโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่า ไม่ใช้สันติ ยั่วยุ ให้ประชาชนแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย  และพาคนมาตายมาเข่นฆ่าทำลายกัน เป็นถ้อยคำโจมตีที่รุนแรง  ไม่ต่างจากการประณามว่าเป็น "ฆาตกร" แต่ทั้งสองฝ่ายก็เป็นทั้ง ประธาน และกรรม ในเวลาเดียวกัน คือ กระทำการยั่วยุ เชิญชวนคนมาร่วมชุมนุม พร้อมไปกับกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันไป


            1. ด้วยคำว่า สันติ และสมานฉันท์  ถูกใช้เพื่อช่วยให้ ผู้ใช้ความรุนแรง กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นประชาชน ผู้ชุมนุมโดยสันติ เป็นการใช้สิทธิของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้อง "การเมืองใหม่" เรียกร้องประชาธิปไตย "ต่อต้านรัฐประหาร" ข้อเรียกร้องเหล่านี้ล้วนสันติ สมานฉันท์ และงดงามทั้งสิ้น ฉะนั้นฝ่ายตรงข้ามที่วิพากษ์วิจารณ์  ไม่เห็นด้วย โต้แย้ง ล้วนเป็นผู้ต้องการให้เกิดความรุนแรง  ไม่รักชาติ ไม่รักประชาชน รวมทั้งไม่รักพ่อ มันเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องถูกทำลายให้หมดสิ้นไป


            2. เรากำลังเผชิญหน้ากัน ภายใต้คำว่า "สันติ"  และ "สมานฉันท์"  และเรากำลังฆ่ากันตายด้วยถ้อยความเหล่านี้  เมื่อเวลาที่ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายความมั่นคง อ้างความสงบเรียบร้อยสิ่งที่ตามมาก็คือการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และเมื่อพันธมิตรประชาชนอ้างการชุมนุมโดยสันติ ก็มักเป็นคำพูดภายหลังที่เกิดจากเหตุการณ์ปะทะกัน จนได้รับบาดเจ็บเสียเลือด และบางครั้งเสียชีวิต (ของฝ่ายพันธมิตรเองและฝ่ายตรงข้าม)


3. ในขณะที่ นักวิชาการ บรรดานายทหาร นักการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสื่อมวลชน ก็ใช้คำเหล่านี้ เป็นคำตอบให้กับทางออกของความขัดแย้ง ไม่เพียงไร้น้ำยา ไร้สาระ  ไร้ความหมาย มันยังช่วยทำให้ผู้พูดมีภาพพจน์ที่ดี รักชาติ รักประชาชน โดยไม่ต้องแสดงบทบาทเข้าไปมีส่วนจัดการกับปัญหา   ทั้งช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมความขัดแย้งที่นับวันจะรุนแรงขึ้นด้วย เพราะเมื่อรับเอาวาทกรรมเหล่านี้เข้าไปแล้ว มีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นคือ เฉยนิ่งดูดายเพื่อไม่สร้างขั้วและความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็เลือกข้างแบ่งฝ่ายเพื่อปะทะ ยับยั้งฝ่ายตรงข้ามที่กำลังใช้ความรุนแรง


มายาคติที่ฝ่ายผู้ปกครองและฝ่ายความมั่นคงพร่ำสอนคนไทยเรื่อยมาทำให้เข้าใจเอาว่า ความเห็นที่แตกต่าง และอยู่ตรงข้ามกับ "พวกเรา"  ผู้สมานฉันท์ และสันติ คือ ความไม่สมานฉันท์ ที่ต้องขจัดให้หมดไป  ขณะที่การเรียกร้องให้สมานฉันท์ และเอ่ยอ้างวิธีการแบบสันติวิธี เป็นความสมานฉันท์  


ด้วยวิธีคิดแบบที่ไม่ยอมรับความขัดแย้ง การต่อสู้ แข่งขัน และการแบ่งฝักฝ่ายในความเห็นทางการเมือง ทำให้เราไม่ยอมรับเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายตรงข้ามที่แตกต่าง  เพราะเรารับดำรัสความรัก ความสามัคคี และความงดงาม เรียบสงบ นิ่งเฉยมาหลายร้อยปี  เวลาเราถูกสอนเรื่องความสามัคคี "ตัวอย่าง" ที่ยกฐานะขึ้นเป็น "ตัวแทน" ความสามัคคี คือ ไม้ 1 ซีก ที่ถูกหักได้ง่าย กับไม้หลายซีกที่รวมตัวกันแล้วไม่สามารถถูกหักลงได้ ในแบบเรียนหรือในภาพยนตร์โฆษณา ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า "สามัคคี" คือการรวมตัวกันภายในเพื่อสู้กับภัยจากภายนอก สามัคคี สมานฉันท์ หรือคำประเภทเดียวกันเหล่านี้ ล้วนทำให้เราชอบธรรมที่จะรวมตัวกันทำลายฝ่ายตรงข้าม  ขั้วความขัดแย้งตรงข้ามจึงกอปรขึ้นจากความสามัคคี และสมานฉันท์ เป็นฝ่ายตรงข้ามที่อยู่คนละสี  เป็นความสามัคคีรวมพลังของคนเสื้อสีเดียวกัน  คำประเภทความสามัคคี สมานฉันท์ สันวิธีจึงสร้างความรุนแรงให้ทบทวีขึ้นเมื่อถูกใช้ในบริบทของสังคมไทย เพราะยิ่งรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม ก็ยิ่งแสดงถึงความสามัคคี !! ดังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 ที่การตายของฝ่ายตรงข้ามคือ ความสามัคคี สมานฉันท์ของฝ่ายเรา


เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายตรงข้ามที่แตกต่าง
วันนี้เราควรยอมรับการต่อสู้ ความแตกต่าง การแข่งขัน ตลอดจนความรุนแรงที่ไม่ได้กระทำต่อชีวิต ร่างกาย แต่เป็นความรุนแรงของการเสนอสินค้าที่ดีกว่า ได้มาตรฐาน มีคุณค่ากว่า ในราคาที่ต้องจ่ายต่ำกว่า เสมือนการช่วงชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ภายใต้กติกา กรอบ กฎเกณฑ์  ความสมานฉันท์เป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัฐ-ชาติ กับศัตรูภายนอกผู้มารุกรานในยุคของเส้นกั้นพรมแดนมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งล้าหลังและพ้นยุค  ขณะที่สันติวิธี ก็ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อย นิ่งเฉย ไม่มีความขัดแย้ง ประนีประนอมหรือทางสายกลาง  แต่คือการต่อสู้ เรียกร้อง ยกเหตุผลขึ้นมาโน้มน้าว เสนอประโยชน์สุขให้กับคนในชาติที่ต้องการจะดึงเข้าเป็นแนวร่วม ภายใต้การปฏิบัติกับฝ่ายตรงข้ามเสมือนเป็นคู่แข่ง เป็นนักกีฬาที่ลงสนามแข่งขันกันภายใต้กติกาที่ยึดถือร่วมกัน นั่นคือ กฎหมายบ้านเมือง ไม่ใช่เข่นฆ่ากันตายไปข้างหนึ่ง


"ความคิดเรื่องความเห็นพ้องต้องกัน รวมตลอดถึงความคิดเรื่องสมานฉันท์ จึงขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการเก็บกดปิดกั้นมากกว่าการเปิดกว้าง ที่สำคัญเป็นความคิดที่ไม่มีพื้นที่ว่างให้กับความแตกต่างและความเห็น… การเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของความสมานฉันท์ ความเห็นพ้องต้องกัน แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนศัตรูให้เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ยอมรับในกฎเกณฑ์ กติกา ของประชาธิปไตย"  (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ไบเทค-บางนา เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2550, อ้างจาก ประชาไท)


 


การแข่งขันทางธุรกิจ ในประเทศที่เรียกตัวเองว่าพัฒนาแล้ว เต็มไปด้วยยุทธวิธีที่แยบยล  สร้างกติกาแบบเห็นพ้องต้องกันขึ้นเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ รับรองความชอบธรรมของการแสวงหาความสุขความสบายภายใต้การค้าเสรี แม้จะแสวงประโยชน์และช่วงชิง แต่เปิดให้มีการต่อรอง เสนอเงื่อนไข และแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่เคยมุ่งเอาชีวิต กักขัง ทรมาน หรือประกาศสงคราม ถึงจะเป็นสิ่งที่ยากจะทำใจยอมรับ แต่ก็คือพัฒนาการทางการเมืองภายใต้เสรีนิยมใหม่ ที่ไม่ใช่การต่อสู้เข่นฆ่า หรือคำอุทานประเภทสมานฉันท์ สามัคคี หรือการแก้กฎกติกากัน ด้วยการปฏิรูปการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ ในเมื่อพฤติกรรมของคนไม่เคยยอมรับกฎกติกา  แต่เราพยายามปรับกติกาให้เหมาะกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องผู้มีพลังอำนาจโดยไม่สนใจกติการวมที่ทุกฝ่ายยอมรับมันได้  ด้วยเหตุง่าย ๆ เพราะพรรคพวกของตัวเองพ่ายแพ้ตามกติกา  (ไม่ได้หมายเจาะจงถึงฝ่ายเรียกร้องการเมืองใหม่ และ/หรือฝ่ายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ)


หากเรายอมรับว่าเราอยู่ภายใต้ความสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะมีความเห็นที่แตกต่าง เราควรเปิดพื้นที่ให้กับการต่อสู้แข่งขัน การแสดงพลังที่สนามรัชมังคลา การรวมตัวกันที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ การเรียกร้องเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย การประกาศเชิญชวนคนให้เข้ามาเป็นพวก ให้มารวมตัวกันแสดงความเห็น การใช้สงครามสื่อ สัญลักษณ์และเสนอผลประโยชน์ตอบแทนด้านนโยบาย และชีวิตที่ดีกว่าให้กับมวลชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหว ล้วนเป็นการต่อสู้แข่งขัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิเสรีภาพ ยิ่งต่อสู้รุนแรง เผชิญหน้าโดยไม่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายกัน ก็ยิ่งจะนำพาสังคมไปสู่ทางออกได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพราะท้ายที่สุด ความแตกต่างหลากหลาย จะทำให้ 2 ฝ่ายที่ครอบครองพื้นที่เข้าใจเอาว่าเป็นเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้ เป็น 2 ฝ่ายที่สร้างปัญหา ให้กับคนฝ่ายที่ 3 - 4 - 5  ... อย่ายอมให้ถ้อยคำประเภท "เมื่อไม่อยู่ข้างฉันก็เป็นศัตรูกับฉัน" (หรือเป็นศัตรูกับสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ฉันและคนไทยเทิดทูน)  มาครอบงำทำให้เราต้องเลือกข้าง  การมีส่วนร่วมทางการเมือง การไม่นิ่งเฉยดูดาย คือการมีจุดยืนที่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่การต้องยอมรับทางเลือกที่กลุ่มอำนาจหยิบยื่นให้ การยืนอยู่ในจุดของตนเองโดยอิสระ คือการเมืองภาคประชาชน เป็นการเลือกข้าง ที่ไม่ใช่ข้างที่ถูกบังคับเลือก


เมื่อ 2 ฝ่ายเริ่มสูญ การเจรจาจะเกิดขึ้นตามมาโดยไม่ต้องวิงวอนร้องขอ


วันนี้เราควรไปให้พ้นคำว่า สามัคคี สมานฉันท์ สันติวิธี และเริ่มคิดทำอะไรที่มันสร้างสรรค์กว่าปากพร่ำสมานฉันท์แต่มือจับอาวุธเข้าเข่นฆ่ากันได้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net