ทัศนะศิลปินกับวิกฤตการเมือง: "ฮาเมอร์ ซาลวาลา" นักสังเกตการณ์ในห้วงความขัดแย้ง

"ถ้ากลุ่มที่ชุมนุมไม่มีข้อกังขาอะไรเลย งานศิลปะก็อาจไปรับใช้ตรงนั้น แต่ถ้ากลุ่มนั้นมีข้อกังขาบางอย่างที่น่าสงสัย ศิลปินต้องดูตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ตะบันทำไปทั้งๆ ที่เขากำลังรวมกลุ่มจะไปฆ่าคน อย่างนี้ก็ไม่ควร แต่ธรรมดาแล้วศิลปะมันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ มันก็รับใช้อะไรต่างๆ ศาสนา การเมือง ความรัก แต่คุณต้องดูตรงนั้นด้วยเหมือนกันว่าทำไมคุณจึงยืนตรงนั้นแล้วเรียกให้คนมาตรงนั้น"

บทสัมภาษณ์โดย: ทีมงาน Here Station

(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2551)

 

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองอันร้อนระอุ การแบ่งฝั่งฝ่ายของคนในสังคมในหลายวิชาชีพ ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพ "ศิลปิน" ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์ อย่างดุเดือด เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ว่าจะเลือกข้างฝ่ายไหน ก็จะทำให้ฝ่ายนั้นมีสีสันสะดุดตาขึ้นมาทันที

 

วันนี้ประชาไทได้เสาะหาศิลปินที่กล้าพูดเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง พูดคุยถึงประเด็นความคิดของแต่ละท่าน (ซึ่งหมายว่าเราอาจจะตามไปสัมภาษณ์อีกหลายท่าน ที่พร้อมให้เราสัมภาษณ์) ต่อความรู้สึกนึกคิดเฉพาะของศิลปินท่านนั้นๆ ในห้วงวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน

 

และในตอนแรกนี้เราขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ "ฮาเมอร์ ซาลวาลา" ศิลปินผู้ที่มีความสนใจเรื่องการเมืองท้องถนน มาตั้งแต่ครั้งพฤษภาทมิฬ จนถึงปัจจุบัน และบ่อยครั้งที่วัตถุดิบที่เขาได้เก็บไว้จากเหตุการณ์ทางการเมือง ได้โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มหนังสั้นที่เขาทำ..

 

 

 

1.

 

"บางทีก็เอามาผูกเรื่องอยู่ในหนังของตัวเอง ผมก็ยังเป็นศิลปิน และอยู่ที่ว่าใครจะใช้วัตถุดิบอะไร บางคนมองทะเล วาดภาพ แต่ผมเห็นว่าเรื่องราวทางสังคมนี่มันน่าสนใจกว่าที่จะเอามาทำหนัง"

 

2.

 

"ผมก็อยากให้มันหยุด ผมก็อยากไปทำหนังการ์ตูนให้เด็กดู เพียงแต่ว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้มันอยู่ข้างๆ เรา เราก็ต้องหันไปมองสิ่งนี้เอามาทำงาน และที่ผมทำก็ทำเพื่อหวังให้มันหยุดด้วย"

 

3.

 

"ผมว่าสิ่งแรกที่เขาเรียกร้องกันไม่ให้มีความรุนแรง ผมเห็นด้วย ที่เขาไปจุดเทียนกัน แต่เสร็จแล้วคุณจะมาบอก สันติภาพ สันติภาพ ตลอดเวลาเขาไม่ฟัง มันต้องมีอย่างอื่น คุณต้องลุกขึ้นมาทำอะไรด้วย เช่น เอาคนผิดมาลงโทษ ไม่อย่างนั้นจุดเทียนก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ไม่ใช่ลุกขึ้นมาก้าวร้าว"

 

4.

 

".7 คือการทรยศคนที่ตาย พอปฏิวัติผมก็เครียด ไม่นึกว่าจะเกิดอีกแล้ว ตอนพฤษภา ผมก็คลานอยู่บนถนนตอนทหารยิง จนได้รัฐธรรมนูญ 40 มา ถ้าไม่ดีก็แก้มันสิ จะมาฉีกมันทำไม เพื่อนๆ เขาก็เลยพอรู้ว่าเราเป็นยังไง เพราะช่วงนั้นเพื่อนศิลปินเขากำลังรวมกลุ่มกันเลี้ยงฉลองหลังรัฐประหาร เขาก็แฮปปี้นะ แต่ผมไม่"

 

5.

 

"ถ้ากลุ่มที่ชุมนุมไม่มีข้อกังขาอะไรเลย งานศิลปะก็อาจไปรับใช้ตรงนั้น แต่ถ้ากลุ่มนั้นมีข้อกังขาบางอย่างที่น่าสงสัย ศิลปินต้องดูตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ตะบันทำไปทั้งๆ ที่เขากำลังรวมกลุ่มจะไปฆ่าคน อย่างนี้ก็ไม่ควร แต่ธรรมดาแล้วศิลปะมันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ มันก็รับใช้อะไรต่างๆ ศาสนา การเมือง ความรัก แต่คุณต้องดูตรงนั้นด้วยเหมือนกันว่าทำไมคุณจึงยืนตรงนั้น แล้วเรียกให้คนมาตรงนั้น"

 

6.

 

"หมายถึงไม่เอาทักษิณกับไม่เอาพันธมิตรฯ ใช่ไหม คือมันไม่ถึงกับไม่เอาเลยทั้งหมด ตอนนี้มันน่าจะเป็นแบบใครผิดอะไรก็ต้องว่ากันเป็นคนๆ เป็นเรื่องๆ ไป ผมไม่เคยเลือกไทยรักไทยหรือพลังประชาชนเลย แต่ผมไม่สนับสนุนให้ยุบพรรค มันไม่มีฝั่งดีฝั่งเลว มันเป็นไปไม่ได้ และมันน่าจะคิดถึงประชาชนไว้ก่อน"

 

ฮาเมอร์ ซาลวาลา

 

 

0 0 0

                    

เห็นผลงานในบล็อกของพี่ (http:/day4nite.wordpress.com) พี่สนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยพฤษภา ฝั่งพันธมิตร นปก.นี่ก็ไปมาหมดแล้วใช่ไหม?

ผมเคยไปร่วมชุมนุมกับฝั่งพันธมิตรฯ มาก่อน แต่พอพูดเรื่อง ม.7ก็กลับบ้านเลย เลิกเลย พอมีรัฐประหารนี่ไม่อยากคุยกันแล้ว ล่าสุด 30/70 นี่ไม่รู้เขาทำอะไรของเขากันแน่

 

ส่วนฝั่ง นปก.เคยไปแย๊บๆ มีเพื่อนเป็นกวี เคยไปนั่งคุยๆ กัน แต่ผมรู้สึกว่าขออยู่วงนอกแล้วพูดของผมดีกว่า เพราะ นปก.หรือ นปช.เองก็มีหลายกลุ่มมาก ยิบย่อยอยู่เหมือนกัน ประชาชนรากหญ้าควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ดี และฝั่งนั้นก็ยั่ว ผมก็เคยเห็น เขาตั้งใจยั่วเพราะรู้ว่ายั่วติดแน่นอน เคยมีครั้งหนึ่งม็อบมอเตอร์ไซด์ ไม่ได้ไปปิดอะไร แต่ไปประท้วงหน้าถนนพระอาทิตย์ ผมถ่ายไว้ แต่อันสุดท้ายนี่ถ่ายไม่ได้เพราะเขาเขวี้ยงขวดแก้วมา เข้ากกหูก็ตาย และมันท้ายขบวนแล้ว เหมือนเขาไม่ต้องการให้ขบวนผ่านไป เหมือนต้องการให้มาเผาบ้านพระอาทิตย์ซะ รู้สึกอย่างนั้นนะ ในขณะที่วันนั้นม็อบมอเตอร์ไซด์ก็พยายามคุมกันไม่ให้แตกแถว ใครแตกแถวก็ดึงกลับมา แต่ก็มีอารมณ์ ด่าแม่กันตลอด

 

ฝั่งพันธมิตรฯ มีลักษณะคล้ายๆ กันไหม รุนแรงไหม?

ล่าสุดนี่ก็ตีกันจนตาย (กรณีคุณณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง)

 

ได้เข้าไปถ่ายไว้อีกไหม วันที่ปะทะกัน?

ไม่ได้ถ่าย เพราะมันไม่มีกล้อง และไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม เพราะถ้าจะไปก็ต่อเมื่อมีใจ และก็ต้องมีกล้องด้วย ผมก็เป็นนักสังเกตการณ์ด้วยระดับหนึ่ง ไปแบบไม่มีกล้องมันจะไม่คุ้มถ้าเจ็บตัวกลับมา

 

ถ้ามีม็อบ มีประท้วงไปเก็บภาพไว้แล้วได้มานำเสนอที่ไหนไหม?

บางทีก็เอามาผูกเรื่องอยู่ในหนังของตัวเอง ผมก็ยังเป็นศิลปิน และอยู่ที่ว่าใครจะใช้วัตถุดิบอะไร บางคนมองทะเล วาดภาพ แต่ผมเห็นว่าเรื่องราวทางสังคมนี่มันน่าสนใจกว่าที่จะเอามาทำหนัง

 

ความขัดแย้งในปัจจุบันของสองฝั่งที่เขามองว่าเป็นวิกฤต สำหรับศิลปินมันอาจเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในการสร้างสรรค์งานหรือเปล่า?

พูดอย่างนั้นมันก็ใจร้าย ผมก็อยากให้มันหยุด ผมก็อยากไปทำหนังการ์ตูนให้เด็กดู เพียงแต่ว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้มันอยู่ข้างๆ เรา เราก็ต้องหันไปมองสิ่งนี้เอามาทำงาน และที่ผมทำก็ทำเพื่อหวังให้มันหยุดด้วย

 

แต่มันอาจมีนิดหนึ่ง ตอนเด็กๆ อยากเป็นช่างภาพสงคราม แต่พอพฤษภาทมิฬนี่ผมน้ำตาร่วง ได้รู้ว่าตัวเองทำไม่ได้ เคยเห็นช่างภาพฝรั่งเขาอยู่ในเหตุการณ์เขาไม่มีอารมณ์ร่วม ออกมาแล้วค่อยว่ากันอีกทีว่าคิดยังไง แต่อย่างเรานี่มันไม่ได้

 

สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เมื่อไร?

ก็ตั้งแต่เด็ก สนใจมาตลอด และไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องหนักอะไร มันเป็นเรื่องของเรา แต่หลังๆ นี่จะเลิกสนใจแล้ว รู้สึกมันเหนื่อย มันจะโกรธกับชาวบ้านเขาอยู่เรื่อย อย่าคุยกันดีกว่า

 

ที่ผ่านมามีคนถ่ายภาพข่าว ถ่ายอะไรเกี่ยวกับม็อบ แต่ไม่มีใครเอามาทำเป็นงานศิลปะ?

ในเชิงสารคดี มันก็ต้องบันทึกไว้ทั้งหมด วันก่อนเขานัดกันแถวราชดำเนิน ผมก็ไปแอบๆ ดูพันธมิตรฯ แต่ไม่กล้าเข้า กลัว แล้วไม่รู้ใครจำผมได้หรือเปล่า อาจจะโดนเหยียบอยู่แถวนั้น

 

ผมว่าสิ่งแรกที่เขาเรียกร้องกันไม่ให้มีความรุนแรง ผมเห็นด้วย ที่เขาไปจุดเทียนกัน แต่เสร็จแล้วคุณจะมาบอก สันติภาพ สันติภาพ ตลอดเวลาเขาไม่ฟัง มันต้องมีอย่างอื่น คุณต้องลุกขึ้นมาทำอะไรด้วย เช่น เอาคนผิดมาลงโทษ ไม่อย่างนั้นจุดเทียนก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ไม่ใช่ลุกขึ้นมาก้าวร้าว

 

เหมือนกับว่าสันติภาพในความหมายของพี่ มันไม่ได้เบาบาง แบบจุดเทียนกันอย่างเดียว แต่ต้องเข้าถึงเนื้อหา?

ผมยังรู้สึกว่าเรามาทำสารคดีเชิงสืบสวนไหมว่าใครตาย แล้วแฉมันออกมา อย่างนี้มันอาจจะหยุดความรุนแรงได้ เพราะคนก่อความรุนแรงโดนรุกแล้ว แต่จุดเทียนเฉยๆ เขาไม่สนใจหรอก มันก็ดีที่แสดงออกมา แต่มันต้องรุกระดับหนึ่ง

 

พี่คิดว่า พี่เป็นนักสังเกตการณ์ ไม่ได้ไปร่วมจริงจังอะไร?

ผมจริงจัง แต่ให้ไปนั่งฟัง ผมไม่ฟัง ไม่ว่ากับใครก็ตาม ผมรำคาญ

 

แล้วศิลปินที่เข้าไปร่วมกับพันธมิตรจำนวนหนึ่ง พี่มองยังไง

ก่อนอื่นผมขอตั้งข้อสังเกต ในอเมริกา ว่ามันก็มีฝ่ายริพับลิกันกับเดโมแครต แต่มันก็ไม่โกรธไม่เกลียดกัน ถ้ากลับมาที่เมืองไทย ผมว่าอย่าตามๆ กันไป แล้วถ้าใครคิดต่างก็อย่ามาด่า มันต้องแลกเปลี่ยนกัน

ส่วนคำถามนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องตามๆ กัน พี่ใหญ่ไป ลูกน้อง สาวกก็ตามไปด้วย ถ้าเป็นเพื่อชีวิตก็ต้องอยู่ตรงนั้น ไม่ได้มองอย่างอื่นเลย ถ้าหัวขบวนเขวแล้วไม่จำเป็นต้องเขวด้วย เขาอาจจะไม่เขวก็ได้นะ แต่ผมยังมองว่ามันเป็นการตามๆ กันไป

 

พี่คิดว่าศิลปินเลือกที่จะไปยืนฝั่งพันธมิตรฯ เป็นเพราะรสนิยมหรือเปล่า อย่าง นปก. ทำไมมีแค่สายัณต์ สัญญา มันเป็นเรื่องกลุ่มตลาดหรือเปล่า?

ผมมีเพื่อนที่ไป นปก.คือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ผมว่าผมอยู่ข้างนอกมันทำงานได้ดีกว่า ถ้าไปอยู่ตรงนั้นมันอาจต้องตีอีกฝั่งหนึ่งเลย อีกข้อหนึ่งงานของผมมันไม่ใช่งาน ตู้ม ตู้ม ชาวบ้านเขาจะเอ๋อเปล่าๆ ไม่มีความสุข ผมว่าผมอยู่ข้างนอกดีกว่า แต่ผมว่าเรื่องรสนิยมนี่มีผล

 

ไม่มีรสนิยมหรือเปล่า สำหรับฝั่ง นปก.?

เขาพยายามแก้ปัญหาตรงนี้อยู่เหมือนกันนะ เพราะเขาเคยชวนไปคุยว่าจะจัดคอนเสิร์ตอยู่ แต่ผมก็ไม่อยากไปช่วยคิดเพราะมันเสียความเป็นอิสระ เหมือนว่าเราต้องอยู่ข้างไหน

 

มีเพื่อนๆ ที่ทำงานด้านศิลปะชวนพี่ไปร่วมกับพันธมิตรฯ ไหม?

เคยมีชวนไปออกเอเอสทีวี ผมก็เฉยๆ เขาก็เดาออกไม่ได้ติดต่อมาอีก เพราะช่วงปฏิวัตินี่ผมเครียด กินเหล้าที่ไหนเมาหน่อยก็โวยวายกับเรื่องนี้ ผมถือว่าทรยศนะ มาตรา 7 ด้วย มันมีคนตายมาตั้งแต่ 14 ตุลาหรือก่อนหน้านั้นอีก มาจน 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ แล้วอยู่ๆ คุณบอกให้คืนกลับไป แล้วไอ้ที่ตายไปนี่ยังไง

ดังนั้น ม.7 คือการทรยศคนที่ตาย พอปฏิวัติผมก็เครียด ไม่นึกว่าจะเกิดอีกแล้ว ตอนพฤษภา ผมก็คลานอยู่บนถนนตอนทหารยิงจนได้รัฐธรรมนูญ 40 มา ถ้าไม่ดีก็แก้มันสิ จะมาฉีกมันทำไม เพื่อนๆ เขาก็เลยพอรู้ว่าเราเป็นยังไง เพราะช่วงนั้นเพื่อนศิลปินเขากำลังรวมกลุ่มกันเลี้ยงฉลองหลังรัฐประหาร เขาก็แฮปปี้นะ แต่ผมไม่

 

ฝั่งคนทำงานศิลปะที่ไม่แฮปปี้กับรัฐประหารดูเหมือนจะน้อยนะ?

น้อย ผมแทบไม่เห็นใครเลย (ช่วงแรกๆ เขาไม่ค่อยแสดงออกกัน) แล้วคนอื่นก็ยังมาถามอีกว่าพี่บ้าหรือเปล่า เฮ้ย เขาเอากันอย่างนี้ รุ่นใหญ่เขานำไปอย่างนี้ก็ไปอย่างนี้

 

งานศิลปะมันน่าจะทำหน้าที่ให้คนฉุกคิดมากขึ้นกับการเข้าไปร่วมกับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือมันจะต้องทำหน้าที่ปลุกเร้าให้คนยิ่งรู้สึกยิ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายหนักเข้าไปอีก?

มันมีสองเรื่อง ถ้ากลุ่มที่ชุมนุมไม่มีข้อกังขาอะไรเลย งานศิลปะก็อาจไปรับใช้ตรงนั้น แต่ถ้ากลุ่มนั้นมีข้อกังขาบางอย่างที่น่าสงสัย ศิลปินต้องดูตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ตะบันทำไปทั้งๆ ที่เขากำลังรวมกลุ่มจะไปฆ่าคน อย่างนี้ก็ไม่ควร แต่ธรรมดาแล้วศิลปะมันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ มันก็รับใช้อะไรต่างๆ ศาสนา การเมือง ความรัก แต่คุณต้องดูตรงนั้นด้วยเหมือนกันว่าทำไมคุณจึงยืนตรงนั้น แล้วเรียกให้คนมาตรงนั้น

 

นักวิชาการเขาชอบพูดว่าเขาเป็นสองไม่เอา พี่เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

หมายถึงไม่เอาทักษิณกับไม่เอาพันธมิตรฯ ใช่ไหม คือมันไม่ถึงกับไม่เอาเลยทั้งหมด ตอนนี้มันน่าจะเป็นแบบใครผิดอะไรก็ต้องว่ากันเป็นคนๆ เป็นเรื่องๆ ไป ผมไม่เคยเลือกไทยรักไทยหรือพลังประชาชนเลย แต่ผมไม่สนับสนุนให้ยุบพรรค มันไม่มีฝั่งดีฝั่งเลว มันเป็นไปไม่ได้ และมันน่าจะคิดถึงประชาชนไว้ก่อน

 

ถามเรื่องสื่อ สื่อปัจจุบันมีหลายคนวิจารณ์กันเยอะ มองการเสนอข่าวสารในปัจจุบันว่ายังไง อย่างเอเอสทีวี ที่บ้านก็ดูแล้วก็เกิดอาการตึงเครียด?

เดี๋ยวนี้เขากล้าโกหกกันหน้าตาเฉยนะ ดูเหมือนยั่วยุเลยทีเดียว ผมฟังทั้งสองฝั่งเหมือนกัน เปิดวิทยุฟังด้วย มีถ่ายทอดเอเอสทีวีบ้าง อยากฟังว่าเขาคิดยังไงกัน แต่บางทีต้องปิดเลย ไม่ไหว พูดอะไรได้น่าเกลียดขนาดนี้ มันไม่ใช่สื่อแล้ว

 

ที่ว่าข่าวมันน่าเกลียด ช่วยขยายความหน่อย?

มันเลือกข้าง เลือกข้างมาตลอดเวลาไม่ว่าจะยุคไหน ยุคใคร บางทีเราไปอยู่ในเหตุการณ์แล้วมาเปิดหนังสือพิมพ์ มันไม่เห็นอีกฝั่งเลย ทั้งที่เราก็เห็น

 

ถ้าเทียบกับหนังที่ทำเรื่องสันติภาพ ความรุนแรง ข่าวการเมืองมันมีแง่นี้ไหมที่กระตุ้นให้คนเกลียดชังกัน สร้างความรุนแรง ถ้าไม่นับเอเอสทีวี?

ไม่นะ ข่าวมันก็ต้องเป็นข่าว แต่คนมันต้องไม่หมกมุ่น เครียด ออกไปเดินเล่นบ้าง ต้องปิดทีวีบ้าง เลิกคุยเรื่องการเมืองบ้าง

 

พูดถึงทีวี อย่างเมืองนอก หนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ คนจะซื้อกันเยอะ เพราะจะมีตารางบอกว่าสัปดาห์นี้รายงานทีวีจะมีอะไรบ้าง คนจะซื้อกันเยอะ แล้ววางไว้หลังทีวี แล้วก็เปิดทีวีตามรายการที่อยากดู เลือกที่จะดู แต่อย่างเรานี่เปิดทีวีแช่กันไว้เลย

 

ประชาชนดูทีวีกันทั้งวันทั้งคืนน่าจะตื่นตัวทางการเมือง แต่พี่บอกว่าไม่ควรดูทีวีมาก เพราะอะไร?

มันเครียด ว่าไหมล่ะ และบางทีมันทำให้โกรธด้วย ตอนช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียผมเคยโกรธมาก โทรไปด่าคนอ่านข่าวว่าคุณบ้าหรือเปล่า มานั่งเห่อรายงานเรื่องอาวุธอยู่ได้ยังไง โดยที่ลืมไปแล้วว่ามันคือสิ่งที่จะเอาไปฆ่าคน ผมก็เลยทำหนังเลย แล้วช่วงสงครามอ่าวรอบสองนี่ก็ถ่ายทอดข่าวสงครามกันเหมือนเรียลลิตี้โชว์เลย

 

ทีวีพันธมิตรฯ เขาเป็น เรียลลิตี้โชว์หรือเปล่า?

ผมไม่ได้ดู ฟังวิทยุบ้าง

 

จริงๆ เขาลงทุนสูงกว่านะ มีม็อบ มีคน มีปราศรัยเร้าอารมณ์?

มันต้องดูว่าสิ่งนั้นมันดีหรือเปล่า แต่ม็อบพันธมิตรฯ มีข้อดีอย่างหนึ่ง มันทำให้มีการตรวจสอบ ถึงแม้มันเลยเถิดไปแล้ว แต่มันมีฐานนี้ทำให้สมัคร สุนทรเวช เปลี่ยนได้ เมื่อก่อนเขาไม่ใช่แบบนี้ พอโดนเข้าบ้างก็รู้ว่ามันเป็นยังไง แล้วเขาก็นิ่งขึ้น หรือรัฐมนตรีศึกษาฯ บอกว่าเด็กอย่ามายุ่งกับพันธมิตรฯ ม็อบนี้ก็ทำให้เห็นว่าพูดอะไรต้องคิดหน่อย ซึ่งจะว่าไปพูดไม่ให้นักศึกษามายุ่งกับการเมืองมันก็ไม่ถูก จะเตือนกันก็อีกเรื่องแต่ไม่ใช่มาบอกไม่ให้ยุ่ง

 

ยุคปัจจุบันปัญหาของสื่อมันมีมากขึ้นไหม?

มากขึ้น ดูอย่างกรณีโชติศักดิ์ อ่อนสูง ก็ได้ มีการบอกว่าเจอที่ไหนให้ทำร้าย นี่ไม่ใช่สื่อแล้ว

 

ที่บ้านไม่มีทีวี เพราะเบื่อการเมืองหรืออะไร?

ผมไม่ได้อยู่เมืองไทย 6 ปี พอกลับมาเมืองไทย เมื่อไม่ได้ดูมา 6 ปีแล้ว เอาเป็นว่าเราเลิกราต่อกัน ยกเลิกไปเลยดีกว่ากับทีวีไทย แต่ใครเปิดผมก็ดูนะ เพียงแต่ไม่มีในบ้าน รวมๆ แล้วไม่ได้ดูทีวีไทยมาซัก 10 ปีได้

 

อย่างนี้ตกข่าวไหม?

ผมใช้อินเตอร์เน็ต ฟังวิทยุบ้าง

 

ปัญหาหลักของพี่ที่ไม่ดูทีวีคืออะไร เรื่องการบริโภคหรือเรื่องการเมือง?

ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมืองนะ เกมส์โชว์เต็มไปหมด ละครน้ำเน่านี่ผมก็ไม่ดูอยู่แล้ว แต่สัดส่วนเหล่านี้มันเยอะมาก จะดูข่าว ทุกวันนี้ข่าวก็ดันน่าเกลียดอีก มันก็เหลือแค่สารคดีกับบอล กีฬา ผมแทบไม่เหลืออะไรให้ดู เรื่องที่ว่านั้นก็มีได้ แต่มันต้องมีสัดส่วน มันมีได้ ช่วงบ่าย สามีไปทำงาน ภรรยาซักผ้าเสร็จ ลูกยังไม่กลับก็ดูละคร เย็นๆ เด็กกลับบ้านก็เป็นการ์ตูน รายการเด็ก ค่ำๆ ก็จะเป็นรายการข่าว หนักหน่อย สารคดี ดึกๆ ก็โป๊หน่อย

 

พี่ไม่ชอบดูทีวีแต่สนใจทำภาพยนตร์ ใช่หรือไม่ว่าสื่ออย่างภาพยนตร์และทีวี เป็นสื่อที่มีพลังมากที่สุด?

เขาว่าอย่างนั้นกัน แต่มันไม่หนักแน่นเท่าหนังสือ หนังมันง่ายคือกำลังจะบอกอะไร แต่ถ้าจะให้จับใจคนไปเลยผมว่ามันก็ต้องเป็นหนังสือ ดนตรีนี่ก็ง่าย พลิ้ว โน้มอารมณ์คนง่าย หนังนี่จะยากหน่อย โดยเฉพาะเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ มีคนเคยพูดว่าถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ใช้หนัง หนังมันอยู่ตรงกลางระหว่างอารมณ์ล้วนๆ แบบเพลง หรือเนื้อหาแบบหนังสือ แต่คนหลายคนที่จะมีใจกับอะไร พอหลังจากหนังแล้วมันต้องเป็นหนังสือ

 

ข้อจำกัดของสังคมไทยเรื่องการทำหนังมีหลายเรื่องไหม?

เรื่องทุนก็มี ส่วนเรื่องเสรีภาพ คนแบบผม เวลาทำหนังไม่ได้สนใจว่าใครจะเซ็นเซอร์ ผมก็มีเสรีภาพที่จะทำของผม แต่ถ้าคุณคิดจะเอาไปฉายในโรงทั่วไป คุณก็จะรู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพนัก แต่หนังที่เราทำก็ไม่ได้คิดจะไปฉายแบบนั้นอยู่แล้ว ผมเลยไม่รู้สึกว่าถูกปิดกั้น ยังไม่เคยถูกปิดกั้นซักเรื่องเพราะยังไม่เคยฉายโรง ที่เกอเธ่ให้ทำเขาก็ฉายให้ หรือไม่ก็จัดงานเล็กๆ ฉายเอง และอาจเพราะหนังที่ทำเป็นหนังสั้น ณ เวลานั้นไม่มีใครเขาทำหนังสั้นกันอยู่แล้ว

 

เคยคุยกับเพื่อนที่ทำหนังสไตล์แบบนี้ว่า ต่อให้สังคมมันเป็นเผด็จการหรืออะไรก็ตาม เราก็ยังทำหนังของเราได้อยู่ ไม่มีปัญหา เป็นความได้เปรียบแบบหนึ่ง

 

นั่นคือข้อดีของการเป็นอินดี้?

แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเป็นเผด็จการแรงๆ ก็อาจจะไม่ได้ ตอนนี้เลยคิดว่าอยากจะลองแตะเรื่องบางเรื่องดู ผมอาจโดนแน่ เรื่องปฏิเสธความรุนแรง สงคราม จริงๆ มันก็ธรรมดา คงไม่มีใครว่าอะไร

ข้อหนึ่งของการรุก ที่พูดเมื่อกี๊ว่า ถ้าอยากให้มีสันติภาพ ไม่มีความรุนแรง คุณก็ต้องรุก มาจี้ว่าใครทำอะไรผิด และอีกอันหนึ่งก็คือ ไอ้ที่แตะไม่ได้ วันนี้ต้องพูดมันออกมาแล้ว พูดให้ปลอดภัยตัวเองแต่ต้องพูด ไม่อย่างนั้นอำนาจจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ

 

ต่อยอดมาจากประเด็นอินดี้ อินดี้รุ่นใหม่ๆ ที่พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็นอินดี้เพื่อจะเอามาขายในตลาด mass เห็นอย่างไงกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าอยากทำงานอิสระจริงๆ ก็ทำได้แล้วทำไปเลย แต่รุ่นใหม่ๆ ดูเหมือนจะขายอินดี้แค่เปลือก?

ผมลองเอาเรื่องหนังมาเปรียบเทียบแล้วกัน ตอนผมทำหนังแรกๆ มันเป็นหนัง 16 มม. แล้วก็ทำหนังสั้น ผมก็รู้จักกับคนในวงการภาพยนตร์ เขาว่าบ้าหรือเปล่าทำหนังสั้น มันก็เหมือนกัน คือ การที่ทำหนังสั้น ก็เพราะอยากจะพูดเรื่องเรื่องหนึ่งที่เข้าไปในระบบสตูดิโอเขาไม่มีวันได้พูด ดังนั้น หนังสั้นสมัยก่อน ที่มันสั้นเพราะเงินมันน้อยด้วย แล้วก็เรื่องที่เขาจะเสนอมันไม่มีทางเข้าไปในระบบได้ มันก็เลยเป็นเรื่องเกย์ เลสเบี้ยน คนถูกกดขี่ การเมือง อะไรอย่างนี้เสียเยอะ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น

 

แต่ยุคใหม่มันก็มีหนังสั้น หนังสือทำมือ ทำกันเถอะ แต่ธรรมชาติตรงนี้มันหายไป ทุกวันนี้ผมเป็นกรรมการหนังสั้นแล้วก็เบื่อๆ ทำอะไรกันของคุณ แบบนี้มันก็ดาษดื่น เยอะไปหมดแล้ว แต่ถ้าเขาจะเล่าเรื่องชีวิตเขาก็โอเค เพราะงานศิลปะไม่ใช่เฉพาะให้ศิลปินทำ คุณอยากทำคุณก็ทำ นี่เป็นข้อดี ยิ่งมีเทคโนโลยีก็ทำได้ง่าย  (แต่ในเมืองไทย คำว่าอินดี้เสียไปเลย จากพวกที่มีแต่เปลือก)

 

 

 

เกี่ยวกับ "ฮาเมอร์ ซาลวาลา"

 

ฮาเมอร์ ซาลวาลา ถือเป็นผู้สร้างหนังทำหนังทดลองยุคแรกๆ ของไทย ฮาเมอร์ยังเป็นช่างภาพอิสระ ให้กับนิตยสารอย่าง นิตยสารฟิล์มไวรัส, นิตยสารแอล เดคคอ, นิตยสารคลีโอและนิตยสารอิมเมจ ก่อนที่จะหันมาให้ความสนใจในการทำหนัง โดยเขาลงทุนซื้อกล้อง 16 มม. ด้วยเงินของตัวเอง และเริ่มฝึกทำหนังสั้นด้วยตัวเองมาโดยตลอด โดยหนังสั้นเรื่องแรกๆ ของเขา เรื่อง สงครามก่อนสงคราม (War before War) (2532) ได้รับเชิญให้เข้าฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ The Golden Camera ที่ เมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี

 

ต่อมาในปี 2534 ฮาเมอร์ ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาพยนตร์ทดลองครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเกอเธ่ ร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยในอบรมครั้งนั้น ฮาเมอร์มีได้มีโอกาสสร้างหนังสั้นเรื่อง บุญทิ้ง ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Melbourne ครั้งที่ 42

 

ในช่วงหลังเกิดพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ฮาเมอร์ได้แสดงออกความคิดเห็นของเขาที่มีต่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วยการสร้างหนังสั้นทดลองเรื่อง ค้างคาวเดือนพฤษภา (Bat of May)

 

ต่อมา ในปี 2538 ฮาเมอร์ได้เข้าร่วมอบรมหนังทดลองครั้งที่ 2 ของเกอเธ่อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำหนังยาวเล่าเรื่อง และเน้นการถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ มีการทำงานกันเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ซึ่งฮาเมอร์ ได้มีโอกาสกำกับหนังสั้นขนาดยาวที่สร้างเสียงฮือฮา เรื่อง เมีย (Wife) ที่ฮาเมอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากสกู๊ปในหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีไปมีความสัมพันธ์ผู้ชาย (ซึ่งแสดงโดยคาเมล ซาลาวา ดาราละครชื่อดังสมัยนั้น ซึ่งเป็นพี่ชายของฮาเมอร์ด้วย) หนังเรื่องนี้ได้รับเชิญไปฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์ครั้งที่ 11

 

ผลงานหนังสั้นอีกเรื่องของฮาเมอร์ที่ได้รับเสียงตอบรับจากเทศกาลหนังนานาชาติ คือ เรื่อง บอลลูน (Balloon) หนังอนิเมชั่นความยาวเพียง 1 นาที ซึ่งถ่ายโดยฟิล์ม 1 นาที ได้รับเชิญเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์และวิดีโอ เมืองมัลโม ประเทศสวีเดน เทศกาลภาพยนตร์และวิดีโอ Monte Video Biennial เมืองซานติเอโก ประเทศชิลี

 

ปัจจุบัน ฮาเมอร์ยังคงเป็นช่างภาพอิสระ และมีงานแสดงผลงานภาพถ่ายทั้งในและนอกประเทศ และเขายังคง กำลังถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว ซึ่งใช้เวลาสร้างมาแล้วกว่า 10 ปี

 

ที่มา:   http://www.thaishortfilmfestival.com/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท