Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศรีสุวรรณ จรรยา
กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ


           


คงไม่ใช่เรื่องซ้ำซาก ที่จะต้องกล่าวถึงปัญหาสารแคดเมียมแพร่กระจายในพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว ลุ่มน้ำแม่กุ กว่า 12 หมู่บ้าน ในตำบลแม่ตาว ตำบลแม่กุ และตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตากขึ้นมาอีกครั้ง


หลังจากเฝ้าดูกระบวนการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในฝ่ายภาครัฐมาเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่สถาบันจัดการทรัพยากรน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute: IWMI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เผยแพร่ผลการวิจัยปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในตัวอย่างดินและพืชในปริมาณที่สูงมากในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 จวบจนปัจจุบัน


            สิ่งที่พบในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลคือ การแก้ผ้าเอาหน้ารอด ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 92.1 ล้านบาทสั่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดซื้อข้าวของชาวบ้านมาทำลายทิ้งเสีย (รับซื้อเฉพาะปี พ.ศ.2547 - 2549) และพยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพจากทำนาข้าว ไปเป็นอาชีพอื่น และมีแผนงานอื่น ๆ ในการจัดการปัญหากว่า 10 แผนงานโดยใช้งบประมาณแผ่นดินไปกว่า 274 ล้านบาท โดยที่ยังเพิกเฉยหรือล่าช้าเกินสมควรต่อการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงว่า ปัญหาดังกล่าวใครเป็นผู้ก่อปัญหา ตัวการที่แท้จริงคือใคร เพื่อที่จะได้นำไปสู่ข้อยุติในการเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้ก่อปัญหาตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปแก้ปัญหา ให้กับผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาหลักเพียงกลุ่มเดียว


            ที่ผ่านมา ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ดูเหมือนจะแข็งขันเอาจริง เอาจัง กันแต่เฉพาะในช่วงที่ปัญหาถูกตีแผ่ผ่านหน้าสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ เท่านั้น แต่พอเรื่องราวนานวันขึ้น เมื่อข่าวคราวเงียบหายไป ความกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐก็เย่อหย่อนตามไปด้วย จนกระทั่งแทบจะไม่ทำอะไรเลยจนบัดนี้ ในขณะที่ปัญหาในพื้นที่ยังคงปรากฏ และแฝงอยู่ กับความเจ็บป่วยของชาวบ้านกว่า 6,000 ราย ที่มีสารแคดเมียมเจือปนอยู่ในเลือด กระดูก และปัสสาวะ (ในที่นี้มีระดับแคดเมียมสูงกว่าปกติ 844 ราย ไตวายและไตเสื่อม 40 ราย ไตเริ่มเสื่อม 219 ราย เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 24 ราย ) กับการที่ต้องมาทนพิษ ทรมาน กับการเป็นโรคไต ไตวาย โรคกระดูกพรุน และล้มตายไปแล้วกว่า 13 ราย อันเนื่องมาจากการได้รับสารแคดเมียมที่ปนเปื้อนในข้าว ในพืชผัก ที่ต้องบริโภคกันยู่ทุกวันนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือช่วยเหลือ หรือทำอะไรให้ดีขึ้นกับปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่


การแก้ไขปัญหาที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมแกมบังคับให้ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่จากพื้นที่นา ไปเป็นพื้นที่ไร่ เปลี่ยนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั่งเดิมจากการเป็นชาวนา ทำนาข้าวที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศ ไปเป็นชาวไร่อ้อย เพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอธานอลในพื้นที่ ที่กำลังจะเปิดเดินเครื่องในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 นี้


ฤดูกาลที่ผ่านมาพื้นที่นาจำนวนกว่า 13,000 ไร่ที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในผืนนา (มี 369 ไร่ ความเข็มข้นมากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, มี 1,100 ไร่ ความเข็มข้น 3-9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมี 11,531 ไร่ ความเข็มข้น 3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่มาตรฐานยุโรปอยู่ที่ไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ) ถูกแปรเปลี่ยนให้ไปทำไร่อ้อยได้เพียง ไม่ถึง 2,000 ไร่ เนื่องจากติดขัดปัญหาพื้นที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขังมากเกินไป ไม่เหมาะสมต่อการปลูกอ้อยได้ แม้ทดลองปลูกไปก็ได้ผลผลิตไม่คุ้มทุน หากจะทำให้ได้จริงต้องลงทุนยกแปลงนาให้เป็นร่องสวน พร้อมกับปรับปรุงบำรุงดินขนานใหญ่ จากดินเหนียวท้องนา ให้มาเป็นดินร่วนซุย ใส่ปูนขาว ปูนมาล์ลหรือโดโลไมท์ และอินทรียวัตถุจำนวนมาก จึงจะปลูกอ้อยได้ดี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินลงทุนมากมายขนาดนั้น ส่วนการส่งเสริมให้ปลูกพืชยืนต้นอื่น ๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ต้นสัก ต้นสบู่ดำ ฯลฯ ก็ไม่สามารถประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผืนดินมีสภาพไม่เหมาะสมนั่นเอง อีกทั้งไม่มีตลาดรองรับ


เมื่อเป็นเช่นนั้นใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเลิกจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน เราจึงเห็นพื้นนาที่เคยว่างเปล่ากลับกลายมาเป็นผืนนาข้าวที่เขียวขจีอีกครั้ง โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ชาวบ้านก็ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องของตนเองและคนในครอบครัว และว่าหากถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็คงไม่เก็บข้าวไว้กินเอง แต่จะขายให้พ่อค้านำไปสีขายให้กับคนกรุงเทพฯได้กินต่อไป ส่วนชาวบ้านที่ทำนา ก็จะไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นที่คิดว่าปลอดสารแคดเมียมมาบริโภคกันเองแทน


เรื่องดังกล่าว ใช่ว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่รู้โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการปกครอง กรมควบคุมโรค และกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการจัดการปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวจะดูเชื่องช้าต่อการแก้ไขปัญหาอย่างน่าละอายยิ่ง ในขณะที่มีกฎหมายมากมายหลายฉบับที่ระบุว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ข้างต้นที่จะต้องเข้าไปดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหาตามบทบาท ภาระหน้าที่ของตนตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานนั้น


            แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งก็คือ ความพยายามให้ความช่วยเหลือ หรือปกปิดข้อมูลข่าวสาร ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงว่าสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงนั้น ใครคือตัวการ ดูเหมือนจะแข็งขันในการปกป้องผู้ประกอบการมากกว่าการเข้าไปป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านและผู้เจ็บป่วย แต่จะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ เหมือนดังเช่น กรณีสารพิษตะกั่วแพร่กระจายในลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต่างรุมชี้ไปเลยว่าใครเป็นตัวการ แต่พอมาเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในพื้นที่แห่งนี้ ที่ผู้บริหารเป็นถึงบุคคลชั้นสูงในสังคมไทย ทุกอย่างกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แม้ว่าโดยตรรกะแล้ว ถ้าไม่ทำตัวเป็นหูหนวก ตาบอดจนเกินไปแล้ว สามารถฟันธงได้เลยว่า ต้นเหตุของปัญหาหลักนั้นอยู่ที่ใด หรือแม้แต่สถาบันทางการศึกษาหลักของประเทศถึง 2 แห่ง ก็พลอยตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ประกอบการไปด้วย เพียงแค่ค่าจ้างให้ทำงานวิจัยในพื้นที่เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองที่มีชื่อเสียง อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังพยายามทำตนเป็นนักล็อบบี้ยิสต์ ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้ใครมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ใครคือต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง


            แต่ทว่าวันนี้ ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และความเสมอภาค กำลังจะปรากฏเมื่อชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 6,000 คน ได้มาร้องทุกข์ต่อสภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือทางคดีให้กับชาวบ้านทั้งหมด ทั้งทางแพ่ง และทางปกครองกับผู้ประกอบการ และหรือหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง อย่างน้อยความจริงจะได้รับการพิสูจน์ เปิดเผยต่อหน้าศาลเองว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร และทำไมเรื่องดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเพาะบ่ม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จเสียที และความรับผิดชอบตามหลักการผู้ใดเป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) ก็จะตามมา โดยเฉพาะจะได้เลิกถกเถียงกันเสียทีว่ากิจกรรมที่กระทำกันบริเวณต้นน้ำห้วยแม่ตาว แม่กุ เช่น การเปิดหน้าดิน การระเบิดภูเขา การลอยแร่ การใช้สารเคมีมหาศาลในการเพิ่มศักยภาพแร่ การกองสุมแร่ในที่กลางแจ้ง ความล่าช้าในการสร้างบ่อกักเก็บตะกอนดิน และความล่าช้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับการปิดหน้าผิวดินของชาวบ้านเพื่อปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ อย่างไหนกันแน่ คือ ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาการแพร่กระจายของสารแคดเมียมตลอดลุ่มน้ำแม่ตาว และแม่กุ หรือชาวบ้านผิดเองที่ไปเกิด ตั้งถิ่นฐานและทำนาไร่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น


ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ระบุไว้ชัดเจนต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐว่าใครต้องทำอะไร อีกทั้งพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 ก็ระบุไว้เช่นกันว่าใครมีหน้าที่โดยตรงในการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และที่สำคัญจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือ หน่วยงานอนุญาตหรือผู้ให้ประทานบัตร ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบสูงสุด ในฐานะหน่วยงานทางปกครองของรัฐ ที่พึงมีหน้าที่กระทำการใด ๆ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน และวันนี้หน่วยงานเหล่านั้นได้ทำหน้าที่แล้วหรือยัง


อีกไม่นาน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาตีแผ่ต่อสังคม เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยแล้ว แต่ทั้งนี้ชาวบ้านยังคงแสดงเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า พร้อมที่จะเจรจาพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่าย หากมีความบริสุทธิ์ใจและมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบ และร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาแคดเมียมแพร่กระจายที่แม่ตาว ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะถิ่นอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อช้างตายทั้งตัว จะมัวเอาใบบัวมาปิดให้มิดได้อย่างไร...ความจริงต้องเป็นความจริงวันยังค่ำ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net