Skip to main content
sharethis

กลุ่ม Arakan Oil Watch ประเทศพม่า เผยแพร่รายงานการแย่งชิงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพม่าอย่างไม่โปร่งใสโดยบริษัทจีน ที่ทำให้เกิดปัญหาความแร้นแค้นและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความมั่นคงที่กำลังลุกลามบานปลาย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบอยู่ในพื้นที่

 

กลุ่ม Arakan Oil Watch ประเทศพม่า เผยแพร่รายงานการแย่งชิงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพม่าอย่างไม่โปร่งใสโดยบริษัทจีน ที่ทำให้เกิดปัญหาความแร้นแค้นและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความมั่นคงที่กำลังลุกลามบานปลาย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบอยู่ในพื้นที่

 

 

 

 

 

แผนที่รัฐอาระกันและพื้นที่สำรวจปิโตรเลียม "บล็อก M" จะเห็นเกาะใหญ่ที่ชื่อ "รัมรี" อยู่ในเขตดังกล่าว (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

พื้นที่ขุดเจาะปิโตรเลียมบนเกาะรัมรี รัฐอาระกัน (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

เส้นทางวางท่อส่งก๊าซจากมหาสมุทรอินเดียด้านรัฐอาระกัน สหภาพพม่า ผ่านพื้นที่ตอนกลางของพม่าเพื่อเข้าสู่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนระยะทางกว่า 2,380 กิโลเมตร (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

บ่อขุดเจาะน้ำมันแบบพื้นบ้าน (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

การขุดเจาะน้ำมันแบบพื้นบ้าน (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

 

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เผยแพร่รายงานการแย่งชิงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพม่าอย่างไม่โปร่งใสโดยบริษัทจีน ที่ทำให้เกิดปัญหาความแร้นแค้นและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความมั่นคงที่กำลังลุกลามบานปลาย ทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบอยู่ในพื้นที่

 

"ขวางกั้นเสรีภาพ" (Blocking Freedom) เป็นรายงานที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยชนกลุ่ม "เฝ้าระวังน้ำมันอาระกัน" (Arakan Oil Watch) (คลิกที่นี่เพื่ออ่านรายงาน) ซึ่งระบุว่าบริษัทจีนทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าในการยึดที่ดินและที่ทำกิน ทำลายการเพาะปลูก และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ด้วยการก่อให้เกิดมลพิษในดินและในแหล่งน้ำระหว่างการสำรวจน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน

 

นายจอกไก เข่ง (Jockai Khaing) ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกันกล่าวว่า "บริษัทและผู้สนับสนุนของรัฐบาลซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพม่าต้องทำให้พวกเราแน่ใจว่าพวกท่านยึดมาตรฐานสากลในการปฏิบัติกับประชาชนท้องถิ่นในเรื่องสิทธิ มีหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อม และยึดหลักความโปร่งใส มิเช่นนั้นเราขอเรียกร้องให้พวกเขายุติการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพม่า"

 

สำหรับรายงานดังกล่าวใช้เวลาเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 2 ปี บนเกาะรัมรี (Ramree Island) ในรัฐอาระกัน ด้วยเงื่อนไขที่อันตรายและเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเกาะดังกล่าวมีบริษัทขุดเจาะน้ำมันชายฝั่งแห่งชาติจีน หรือ CNOOC (China National Offshore Oil Company Ltd. - CNOOC ltd.) โดย CNOOC กำลังสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า "บล็อก M" (Block M) มาตั้งแต่ปี 2548 โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ในนิวยอร์ก และฮ่องกง พบว่า CNOOC เป็นหุ้นส่วนโครงการกับบริษัทโกเดน อารอน จำกัด (Golden Aaron Pte. Ltd.) ซึ่งบริษัทนี้มีเจ้าของคือนายสตีเวน ลอว์ (Stephen Law) บุตรชายของขุนศึกยาเสพย์ติดโล ชิง ฮัง (Lo Hsing Han)

 

การสำรวจน้ำมันโดยบริษัท CNOOC (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท CNOOC ที่เรนันดอง (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

ที่ดินที่เรนันดองผืนนี้ถูกยึดเพื่อใช้เป็นที่ขุดเจาะน้ำมันโดยบริษัท CNOOC

(ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

สภาพดินและแหล่งน้ำบนเกาะรัมรีหลังจากมีโครงการขุดเจาะปิโตรเลียมโดย CNOOC (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

 

รายงานดังกล่าวระบุว่าประชาชนท้องถิ่นซึ่งดำรงชีพนับศตวรรษด้วยการขุดบ่อน้ำมันแบบพื้นบ้าน ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของพวกเขาโดยไม่มีการเตือน พวกเขาถูกริบที่ดินอันเป็นสมบัติและใช้ทำมาหากิน ทั้งนี้ความไม่พอใจปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2550 เมื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบตัดสินข้อขัดแย้งด้วยตัวของเขาเองด้วยการเข้าไประงับการขุดเจาะของบริษัท CNOOC และเข้าปล้นสะดม ทำให้ทหารท้องถิ่นเข้าปราบปราม ทำให้ชาวบ้านกว่า 70 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ บางคนหนีมาไกลถึงประเทศไทยและมาเลเซีย

 

เรนันดอง (Renandaung) มีความหมายว่า "ภูเขาน้ำมัน" ในภาษายะไข่ เป็นเขตขุดเจาะน้ำมันพื้นบ้าน โดยชาวบ้านร้อยละ 90 จาก 200 ครัวเรือนเลี้ยงชีพด้วยการขุดน้ำมันขาย ในแต่ละวันชาวบ้านจะขุดน้ำมันได้ระหว่าง 1 - 4 แกลลอน (แกลลอนละ 4.55 ลิตร) โดยน้ำมันบ่อหนึ่งสามารถขุดได้หลายปี ผู้ขุดน้ำมันขายสามารถจะขุดน้ำมันตรงไหนก็ได้ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทน 1 ใน 7 ของกำไรที่ได้ให้กับเจ้าของที่ดิน โดยสามารถขายน้ำมันที่ขุดได้ให้กับโรงกลั่นน้ำมันของชาวบ้านในราคาแกลลอนละ 4,000 จ๊าต (4 เหรียญสหรัฐ) ส่วนคนที่ไม่ได้เช่าบ่อน้ำมันก็สามารถไปเป็นแรงงานรับจ้างเจาะน้ำมันได้ โดยผู้ชายมีรายได้ที่ 1,500 จ๊าตต่อวัน ส่วนผู้หญิงมีรายได้ที่ 1,000 จ๊าตต่อวัน

 

ทั้งนี้ประมาณการว่ามีบ่อน้ำมันของชาวบ้านไม่น้อยกว่า 300 แห่ง ถูกยึดโดยตำรวจ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และคนงานของบริษัท CNOOC ระหว่างการสำรวจน้ำมันของบริษัท บ่อน้ำมันของชาวบ้านหลายแห่งในเรนันดอง (Renandaung) บนเกาะรัมรี ถูกสั่งปิด ชาวบ้านรายหนึ่งที่ถูกปิดบ่อน้ำมันเล่าให้ฟังว่า เขาและเพื่อนบ้านถูกปิดบ่อน้ำมันรวมกัน 3 บ่อ โดยคำสั่งของตำรวจตามคำขอของบริษัท CNOOC โดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชย และไม่มีการหาบ่อน้ำมันใหม่มาชดเชย เขาต้องหยุดงานไปเดือนเต็มๆ เพื่อขุดหาบ่อน้ำมันแห่งใหม่ที่ไกลกว่าพื้นที่ขุดเจาะของ CNOOC

 

นอกจากชาวบ้านจะสูญเสียที่ดินให้กับโครงการขุดเจาะน้ำมันของ CNOOC แล้ว การขุดเจาะในระดับ 10,000 ฟุตของบริษัท ที่ลึกมากกว่าถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับการขุดเจาะด้วยวิธีของชาวบ้านที่ 500 ฟุต ทำให้นักวิศวกรธรณีวิทยาคาดว่าการขุดเจาะของ CNOOC จะเปลี่ยนโครงสร้างทางธรณีวิทยา ทำให้ชั้นขุดเจาะน้ำมันแบบพื้นบ้านแห้งไปและน้ำมันจะอยู่ในชั้นที่ลึกมากกว่าเดิม

 

ชายคนหนึ่งเล่าว่าถูกยึดที่ดินไปโดยไม่ได้รับเงินชดเชย โดยบริษัทจีนใช้รถแทรกเตอร์เข้ามาเกลี่ยที่ดินจนทรายขึ้นมาจนเต็มพื้นที่ ที่ดินนี้เป็นของบรรพบุรุษของเขาและตกทอดมาหลายชั่วอายุคน ที่ดินนี้มีชื่อเขาเป็นเจ้าของ มีหลักฐานอยู่ที่สำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นและที่ดินนี้ไม่น่าเป็นของบริษัทจีน เขาบอกต่อว่าในที่ดินของเขามีบ่อน้ำมันแบบพื้นบ้าน 8 แห่ง เขาขอร้องบริษัทจีนเว้นบ่อน้ำมันให้เขาไว้สักบ่อหนึ่งเพื่อใช้เลี้ยงครอบครัว แต่เขาก็ถูกขับไล่ออกจากบ่อน้ำมัน เขาพยายามเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวในที่ดินที่เหลือ แต่ดินก็แย่เสียจนปลูกอะไรไม่ได้ เขาพยายามขุดน้ำมันจากที่ดินส่วนที่เหลือ แต่กลิ่นจากห้องสุขาของคนงานบริษัทน้ำมันจากจีนก็ส่งกลิ่นเสียจนไม่มีใครกล้ามาช่วยเขาขุดน้ำมัน

 

ทั้งนี้เขาไม่ได้รับค่าชดเชยที่บริษัท CNOOC จะจ่ายให้ครอบครัวละ 40,000 จ๊าต (31 เหรียญสหรัฐ หรือราว 990 บาท) ต่อการสูญเสียที่ดินให้กับโครงการ ทั้งนี้เงินชดเชยดังกล่าวมีการจ่ายมายังเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าในระดับท้องถิ่น แต่ไม่ถึงมือเจ้าของที่ดินจริงๆ

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขุดเจาะน้ำมันของ CNOOC เช่น ทำให้ปลาในแหล่งน้ำเสียชีวิต ชาวบ้านที่นำปลาไปรับประทานเกิดปวดศีรษะและเจ็บป่วย แหล่งน้ำเน่าเสียและชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกได้ รวมถึงไม่ได้รับเงินชดเชย เป็นต้น

 

นายจอกไกกล่าวว่า "แม้แต่ผู้คนในเมืองแถบรัฐอาระกันยังมีไฟฟ้าใช้ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน คุณจินตนาการได้เลยว่าประชาชนจะโกรธแค้นขนาดไหนที่รัฐบาลทหารพม่าส่งออกทรัพยากรไปให้ประเทศเพื่อนบ้านแลกกับตัวเงินที่ชาวบ้านไม่มีวันได้สัมผัส"

 

ทั้งนี้จีนวางแผนจะใช้เกาะรัมรีเป็นประตูทางออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยจะมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่จ๊อกผิ่ว (Kyauk Phyu) จากจุดนี้จะมีการวางท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพม่าเข้าสู่มณฑลยูนนานของจีน โดยผ่านพื้นที่ตอนกลางของพม่าซึ่งมีประชากรหนาแน่น

 

และที่เกาะรัมรี ชุมชนท้องถิ่นคือผู้พ่ายแพ้มากที่สุดในพม่า โดยบริษัทจากจีนได้รับสิทธิให้ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในน่านน้ำทั้งหมด 16 แห่ง นอกจากนี้ยังมีมากกว่า 11 ประเทศที่กำลังลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพม่า

 

"จีนและบริษัทที่กำลังลงทุนในพม่าต่างออกนโยบายรับผิดชอบด้านสังคมโดยมีเนื้อหาที่น่าประทับใจ แต่เป็นเรื่องโชคร้ายในพม่า เพราะนโยบายเหล่านี้เป็นเพียงโวหารไร้ค่า" นายจอกไก ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกันกล่าวในที่สุด

 

 

อ่านรายงาน Blocking Freedom ฉบับสมบูรณ์ (ภาคภาษาอังกฤษ) ได้ที่

http://www.arakanoilwatch.org/publications/Blocking%20Freedom.pdf

 

 

เกี่ยวกับกลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกัน

กลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกัน (Arakan Oil Watch - AOW) เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในรัฐอาระกันและประเทศพม่า กลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกันดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสของการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค โดยกลุ่มเฝ้าระวังน้ำมันอาระกันเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกของขบวนการท่อก๊าซชเว (Shwe Gas Movement) และเป็นสมาชิกองค์กรเฝ้าระวังน้ำมันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Oil Watch)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

www.arakanoilwatch.org และ www.shwe.org

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สันติบาลจับพม่าพลัดถิ่นหลังชุมนุมต้านท่อก๊าซหน้าสถานทูต "แดจังกึม" 18/4/2549

เตรียมชุมนุมค้านท่อก๊าซพม่า หวั่นชาวบ้านถูกเผด็จการละเมิดสิทธิ 26/3/2550

ค้านท่อก๊าซพม่าที่สถานทูตเกาหลี หวั่นลงทุนสร้างเผด็จการพม่าเข้มแข็ง 27/3/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net