สารคดี : จ๋ามตอง...ดอกไม้ที่ผลิบานหวังรอตะวันฉายฉาน (ตอน 2)

 

เรื่อง/ภาพ : ภู เชียงดาว

 

 

 

บนดอยไตแลง, กุมภาพันธ์ 2551

 

ดอยไตแลง คือฐานที่มั่นของกองบัญชาการสูงสุด กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (Shan Stat Army -SSA) ภายใต้การนำของ "พันเอกเจ้ายอดศึก" ที่ตั้งอยู่เขตรอยต่อระหว่างเมืองปั่นและเมืองโต๋น รัฐฉาน ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ดอยไตแลงยามนี้ จึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงฐานทัพกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่เท่านั้น หากยังกลายเป็นชุมชนบนสันเขาสูงที่ทอดยาวยื่นออกไป สองฟากถนนดินที่ผ่ากลาง จึงมองเห็นทั้งค่ายทหาร หมู่บ้านผ่ายเพ (หมู่บ้านคนทุกข์) วัด โรงเรียนเด็กกำพร้า โรงพยาบาลขนาดยี่สิบเตียง และบ้านพักเด็กกำพร้า ตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามยอดดอย

 

หลังจากที่ผมมีโอกาสพบเห็นดอยไตแลง ในห้วงขณะนั้น- -

ผมมีความรู้สึกสองอย่างผสมปนเปกัน

 

ดอยไตแลง เหมือนภาพวาดด้วยฝีมือช่างที่ชื่อ "ชะตากรรม" ใช้พู่กันระบายสีแห่งความหวังและความหม่นเศร้าฉาบไว้บนผืนผ้าใบ จนดูกลมกลืนแยกจากกันไม่ออก

 

ใช่ ผมกำลังจะบอกว่า แผ่นดินนี้มีทั้งความหม่นเศร้าและความหวัง

ในแววตาหม่นเศร้าของใครหลายคนนั้น ผมยังมองเห็นความเชื่อมั่นและความหวังเปล่งประกายให้เห็นอยู่

 

 

 

ปากทางเข้าสู่ดอยไตแลง

 

 

ชุมชนเรียงรายบนสันเขา

 

 

หน้ากระท่อม มีกองฟืนสะสมไว้ในหน้าหนาว

 

 

 

รูปปั้นนายพลโมเฮง (เจ้ากอนเจิง)

ภาพนายพลโมเฮงสวมใส่ชุดทหารกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ สะพายดาบ  คาดปืนประจำกาย ยืนบัญชาการอยู่เคียงข้างทหารหาญในสนามรบ โคนแขนข้างซ้ายของเขาหายไป ไม่ยอมใส่แขนเทียม  ว่ากันว่าเพราะเขาต้องการให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละและความพยายามในการกู้ชาติไทใหญ่กลับคืน

      

 

เด็กหญิงไทใหญ่จ้องมองไปเบื้องหน้า

 

 

ครูโอ่งหม่าหาน

อดีตนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยตองจี/แกนนำนักศึกษาเหตุการณ์ 8-8-88

 

 

เช้านั้น, ผมนั่งคุยกับครูโอ่งหม่าหาน ครูแม่หญิงไทยใหญ่ของโรงเรียนกำพร้าดอยไตแลง ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอเป็นอดีตนักศึกษาไทยใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยตองจี และเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งในเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลทหารเผด็จการพม่า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 จนเกิดการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนในพม่าอย่างรุนแรงในขณะนั้น

 

ทุกวันนี้ ครูโอ่งหม่าหาน วัยสี่สิบกว่า เธอนิ่งสงบ เปรียบได้เป็นทั้งครูใหญ่ แม่ และคนดูแลคุ้มภัยเด็กๆ กำพร้าบนดอยไตแลงเกือบสามร้อยชีวิต

 

แหละนี่คือบทสนทนาระหว่างผมกับครูโอ่งหม่าหาน…

           

บ้านเดิมครูอยู่เมืองไหน

อยู่ที่เมืองนาย อยู่ทางภาคใต้ของรัฐฉาน

 

เรียนจบจากที่ไหนมา

จบจากมหาวิทยาลัยตอง จบสาขาเกี่ยวกับแผนที่ ภูมิศาสตร์ (geoghaphy)

 

จบปีอะไร

จบปี 1988  ช่วงเหตุการณ์ 888

 

ครูได้เข้าร่วมกับเหตุการณ์ 888 ด้วยใช่มั้ย

ใช่ ได้เข้าร่วมในเมืองตองจี เมืองนาย

 

มีคนเข้าร่วมมากไหม

มีนักศึกษาเกือบทั้งหมดเข้าร่วม

 

เพราะอะไรถึงได้เข้าไปร่วมชุมนุมประท้วง

ไม่ชอบรัฐบาลทหารพม่าในสมัยนั้น จึงรวมตัว รวมกลุ่มกันประท้วง

 

ตอนนั้น นักศึกษาจากเมืองตองจีได้ประสานกับทางนักศึกษาย่างกุ้งบ้างมั้ย

ได้ประสานกันอยู่ ครูหม่าฯ เป็นผู้เข้าร่วมประชุมและได้ประสานงาน เป็นตัวแทนคนเมืองนายด้วย

 

หลังการประท้วงที่ตองจีมีคนตายเยอะมั้ย

มีแต่ไม่เท่าที่ย่างกุ้ง และโป่งเจา ซึ่งเป็นวัดของจีน หลังจากนั้นต้องหนีออกมา ไม่กล้าอยู่เป็นหลักแห่ง ผู้ชายต้องหนี ถ้าเป็นผู้หญิงเขาจะจับทันที  เราสองพี่น้องจึงต้องหนีเข้าป่าเพื่อรวมกลุ่มกัน

 

ครูย้ายจากเมืองนายในปีอะไรนะ

ปี2004

 

ก่อนหน้านั้นได้ทำงานอะไร

เปิดร้านขายยา อยู่ในเมือง พอเราไปสมัครเข้างานที่รัฐบาลเขาก็ไม่รับ เพราะว่าเขารู้ประวัติเรา  เขาพยามกดดันไม่ให้ลุกขึ้นมาใหญ่มาโต

 

หลังจากออกมาจากเมืองนายไปอยู่ไหนก่อน

มาอยู่ที่ตองจี 3 เดือน แล้วมาทำงานที่นี่ (มาเป็นครูบนดอยไตแลง) 

 

ใครเป็นคนแนะนำให้มาอยู่บนดอยไตแลง

ดาวแสง หรือครูเล็ก แนะนำให้มา ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นครูฝึกทหาร

 

ครูย้ายมาอยู่ที่ดอยไตแลงกี่คน ตอนนั้น

มาทั้งครอบครัว ลูก 5 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ เด็กๆ ต้องต่างม้า ข้ามป่าข้ามดอยเข้ามา

 

ใช้เวลาเดินทางกี่วันจากตองจีมาถึงดอยไตแลง

3 คืน 4 วัน เดิน นอนกลางทาง นอนหัวเมือง จากหัวเมืองต้องต่างม้า

 

ระหว่างการเดินทาง มีการสู้รบกันไหมช่วงนั้น

มี เพราะในช่วงปี 2005-2006 นั้นมีการสู้รบกันหนัก

 

ตอนที่เกิดการสู้รบกันตอนนั้น ครูดูแลนักเรียนกันอย่างไร

ช่วงที่มีการยิง เราก็ต้องมีการเตรียมตัวตลอดเวลา อย่างเช่นในตอนเช้า ต้องรีบลุกขึ้นมาทำอาหารเก็บตุนไว้

 

บริเวณโรงเรียนเด็กกำพร้าดอยไตแลงมีหลุมหลบภัยมั้ย

สำหรับนักเรียนไม่ได้ทำ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงจริงๆ เราจะรีบพาเด็กอพยพข้ามไปฝั่งไทยก่อน

 

เด็กนักเรียนที่นี่เป็นเด็กกำพร้าหมดเลยหรือ

75 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนกำพร้า ที่เหลือเป็นลูกของทหาร ทุกวันนี้ มีนักเรียนกำพร้า 250 คน เป็นแม่หญิง 72 คนที่เหลือเป็นชาย 175 คน

 

ผมหยุดบนสนทนากับครูโอ่งหม่าหาน เมื่อครูบอกว่า ลองถามชีวิตของเด็กนักเรียนกำพร้าที่นี่ดูดีกว่า...

 

หันไปพูดคุยกับเด็กกำพร้าบนดอยไตแลงที่นั่งอยู่ในบ้านพักครู ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเด็กกำพร้า

 

"เป็นไงบ้าง สบายดีมั้ย" ผมทักทายเธอ บัวเงิน เด็กหญิงไทใหญ่วัยสิบสี่ปี เธอผู้มีผิวคล้ำ ดวงตาเศร้าและหวั่นหวาด

 

"อยากให้น้องช่วยบอกเล่าให้อ้ายฟังว่า มาอยู่ที่ดอยไตแลงนี้ได้อย่างไร"

 

ทันใดนั้น จู่ๆ เธอก็ก้มหน้าสะอื้นไห้ หยาดน้ำตาพรั่งพรูออกมาอาบแก้ม จนผมต้องหยุดนิ่ง เงียบไปชั่วขณะ

 

ดูเหมือนว่าเธอยังตื่นผวา เหมือนลูกนกที่หวาดกลัวภยันตรายที่อยู่รายรอบ

 

เธอบอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสะอื้นว่า ตอนนั้นเธออายุได้แปดเก้าขวบ พ่อแม่พาเธอหนีออกจากหมู่บ้าน เข้าป่า หลบหนีพวกทหารพม่า แต่ก็ไปได้ไม่ไกล พ่อแม่ของเธอถูกทหารพม่าฆ่าตายต่อหน้าต่อตา เธอต้องซ่อนตัวในป่า และหนีตาย จนทหารไทยใหญ่มาพบปะเข้า จึงพามาอยู่บนดอยไตแลง

 

ซึ่งเด็กกำพร้าบนดอยไตแลง ไม่ใช่มีแค่เพียงเด็กชาวไทยใหญ่เท่านั้น ยังมีเด็กเผ่าปะหล่อง ปะโอ ที่ทุกคนล้วนมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก หมู่บ้านถูกเผา พ่อแม่ถูกทหารพม่า ปล้น ฆ่า ข่มขืน ทุกคนต้องหนีตายกระเซอะกระเซิง จนมาเจอทหารไทยใหญ่พาหนีข้ามน้ำ ข้ามดอย มาพักอยู่รวมกันที่นี่

 

ที่ "บ้านพักเด็กกำพร้าดอยไตแลง"

 

 

หอพักนักเรียนเด็กกำพร้าบนดอยไตแลง

 

 

แววตาของเด็กกำพร้าบนดอยไตแลง

 

 

เด็กกำพร้า ชีวิต การศึกษา กับความหวัง

 

 

 

เด็กกำพร้าทุกคนจะอาศัยอยู่รวมกันในบ้านพัก ที่สร้างขึ้นเป็นเพิงกระท่อมไม้ไผ่อย่างง่ายๆ ภายในยกพื้นโล่งๆ แยกเป็นเรือนพักชาย-หญิง นอนเรียงรายรวมกันหลังคาหนึ่งไม่ต่ำกว่ายี่สิบคน ทุกคนจะถูกฝึกให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลที่พักและทำอาหารกินกันเอง

 

ใช่ ที่นี่อาจอัตคัตลำบากในการดำรงอยู่บ้าง

แต่ชีวิตของเด็กๆ ที่นี่ก็ยังมีความปลอดภัยกว่า

 

กระนั้น ในความเศร้านั้นยังมีความหวัง หลังจากพูดคุยกับเด็กกำพร้าหลายๆ คน พวกเขาและเธอ ต่างพูดถึงความฝันให้เราฟังคล้ายๆ กันว่า จะตั้งใจเรียนหนังสือ อยากเรียนต่อ เรียนจบแล้ว อยากกลับมาเป็นหมอ เป็นทหาร และอยากเป็นครูสอนหนังสือที่นี่

 

ความฝันเหล่านั้นเริ่มเป็นจริง, เมื่อสอบถามครูดู จึงรู้ว่า ล่าสุด มีหลายคนที่เรียนจบจากโรงเรียนเด็กกำพร้าดอยไตแลง แล้วลงไปเรียนต่อในโรงเรียนที่จ๋ามตองได้เปิดสอนอยู่ที่แนวชายแดน ก่อนนำความรู้เหล่านั้นกลับมาช่วยพัฒนาที่ดอยไตแลงกันหลายคน

 

                                                                                                  (โปรดติดตามตอนจบ)

 

 





 

 

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์รัฐฉาน (คศ.๑๙๓๙ - ปัจจุบัน)

 

ค.ศ.๑๗๓๙                     เริ่มเข้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะที่อังกฤษยังปกครองรัฐฉาน

ค.ศ.๑๙๔๒                     ญี่ปุ่นเข้าสู่รัฐฉาน

ค.ศ.๑๙๔๕                     สิ้นสุดสงครามโลก

ค.ศ.๑๙๔๗                     ไทยใหญ่ กะฉิ่น ฉิ่น ได้ดำเนินการร่วมกันเริ่มจัดทำข้อตกลงสัญญาปางหลวงที่ เมืองหลวงรัฐฉานภาคใต้ หลังจากนั้น นายพลอู อองซาน ได้เป็นตัวแทนฝ่ายพม่า เข้าร่วมลงนามสัญญาปางหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์

ค.ศ.๑๙๔๘                     สี่ชนชาติที่รวมตัวกันในรูปของ "สหภาพพม่า" ได้รับเอกราช โดยรัฐสภาได้มอบตำแหน่งให้เจ้าส่วยแต้ก เจ้าฟ้าเมืองยองห้วย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพ โดยมีสาระสำคัญเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าว่า เมื่อครบสิบปี ในปี ค.ศ.๑๙๕๘ ไทใหญ่ กะฉิ่น ฉิ่น สามารถแยกตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งประเทศของตนเป็นเอกราชได้

ค.ศ.๑๙๔๙                     กะเหรี่ยงปฏิวัติสามารถเข้ายึดรัฐกะเหรี่ยง รัฐฉานและรัฐพม่าได้บางส่วน พม่าส่งกองทัพเข้าไปปราบกลุ่มกะเหรี่ยง กองทหารพม่าถือโอกาสปักหลักอยู่ในตองยี ไม่ยอมถอนกำลังออกมา

ค.ศ.๑๙๔๙-๑๙๕๓           ทหารจีนก๊กมินตั๋ง ถอยร่นจากประเทศจีนเข้ามาในรัฐฉาน จาก ๑,๗๐๐ คนในปี ค.ศ.๑๙๕๐ เป็น ๔,๐๐๐ คนในปี ค.ศ.๑๙๕๑ และในปี ค.ศ.๑๙๕๓ ได้ทวีจำนวนขึ้นเป็น๑๒,๐๐๐ คน ทางรัฐบาลกลางของสหภาพพม่าส่งกองทัพเข้ามาทั่วรัฐฉานตั้งแต่กองกำลังก๊กมินตั๋งเริ่มบุกเข้ามา เพื่อปราบและขับไล่ทหารจีนก๊กมินตั๋งออกไป นับจากเหตุการณ์นี้เป็นต้นมา ทหารพม่าก็เริ่มเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน และเริ่มกระทำการทารุณ ปล้น ฆ่า ข่มขืน ทำร้ายประชาชนไทยใหญ่ตลอดมา

ค.ศ.๑๙๕๐                     ยุคอูนุเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยใหญ่สามารถบริหารบ้านเมืองอย่างอิสระได้ในระดับหนึ่ง

ค.ศ.๑๙๕๗                     มีการประชุมใหญ่ระดับเจ้าฟ้าที่เมืองไหย รัฐฉานเหนือ

ค.ศ.๑๙๕๘                     เจ้าน้อย(ซอหยั่นต๊ะ) ก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติหนุ่มศึกหาญ(NSH) ที่รัฐฉานใต้

ค.ศ.๑๙๕๙                     เจ้าฟ้าในรัฐฉานทุกองค์มอบอำนาจให้แก่คณะรัฐบาลไทใหญ่ในปลายเดือนเมษายน

ค.ศ.๑๙๖๐                      ก่อตั้งกองกำลังรัฐฉานอิสระ (SSIA)

ค.ศ.๑๙๖๑                      -ก่อตั้งกองกำลังสามัคคีแห่งชาติรัฐฉาน (SNUF)

                                    -จัดการประชุมใหญ่เพื่อให้สหภาพเป็นสหภาพอย่างแท้จริง จัดทำที่ตองจี รัฐฉานภาคใต้

                                    -เจ้ากุ่งตะระ (เจ้างาคำ) ก่อตั้งกองกำลังศึกหาญไต (SNA)

ค.ศ.๑๙๖๒                      นายพลเนวินได้จับกุมเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ในรัฐฉานที่มาประชุมรัฐสภา เจ้าส่วยแต้ก เจ้าฟ้าเมืองยองห้วย ประธานาธิบดีคนแรกของพม่าตายในที่คุมขัง

ค.ศ.๑๙๖๔                     -เจ้าฟ้านางเฮือนคำ มหาเทวีเจ้าส่วยแต้ก ก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA)

                                    -ขุนส่า (จางซีฟู) กองกำลังอาสาสมัครพม่า เข้าป่าก่อตั้งกองกำลังไตรวมพลัง (SUA)

ค.ศ.๑๙๖๘                     พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (BCP) ขยายอิทธิพลในรัฐฉาน โดยยึดพื้นที่ภาคตะวันออกแม่น้ำคง (สาละวิน) และภาคตะวันตกแม่น้ำคงบางส่วน

ค.ศ.๑๙๖๙                      เจ้ากอนเจิง ก่อตั้งกองกำลังปฏิวัติแห่งรัฐฉาน (SURA)

ค.ศ.๑๙๗๑                     SSA ก่อตั้งพรรคสวัสดิภาพแห่งรัฐฉาน (SSPP) ที่รัฐฉานภาคเหนือ

ค.ศ.๑๙๗๒                     SSA และ SURA รบกันที่รัฐฉานภาคกลาง และภาคใต้

ค.ศ.๑๙๗๓                     SSPP/ SSA ได้เชื่อมสัมพันธ์กับจีน

ค.ศ.๑๙๗๕                     SSA รัฐฉานภาคเหนือกับภาคใต้แตกสามัคคีและรบกัน เพราะอุดมการณ์ทางการเมือง (คอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย)

ค.ศ.๑๙๗๘                     -SSA สามารถรวมตัวกันได้ดังเดิม

                                    -เจ้าจ่ามเมือง นายทหารระดับสูง SSA ได้จากภาคเหนือลงมาทางภาคใต้ ไปที่ตั้งกองกำลังขุนส่าที่บ้านหินแตก (SUA) และได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

ค.ศ.๑๖๗๙                     SSA ได้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ค.ศ.๑๙๘๒                     ทหารไทยเข้ายึดบ้านหินแตกที่ตั้งกองกำลังขุนส่า (SUA)

ค.ศ.๑๙๘๓                     เจ้ากอนเจิง ประกาศเรียกร้องให้มีความสามัคคีระหว่างกองกำลังไทใหญ่ที่แตกแยกกันเป็นกลุ่มต่างๆ และรวมเป็นกองกำลังเดียว

ค.ศ.๑๙๘๔                     SURA และ SSA รัฐฉานภาคใต้รวมตัวกันก่อตั้งคณะกรรมการปฏิวัติแห่งรัฐฉาน (TRC/TRA)

ค.ศ.๑๙๘๕                     SUA ขุนส่า (จางซีฟู) เข้าร่วม TRC แล้วรวมกันตั้งกองทัพเมิงไต SSRC/MTA

ค.ศ.๑๙๘๘                     เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๑๙๘๘ นายพลเนวินที่ปกครองพม่าเป็นเวลา ๒๖ ปีต้องลาออก

ค.ศ.๑๙๘๙                     -พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (BCP) สลายตัว

                                    -กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ทำสัญญาหยุดยิงกับพม่า

                                    -SSA ภาคเหนือ ทำสัญญาหยุดยิงกับพม่า

                                    -ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNLD)

ค.ศ.๑๙๙๐                      เกิดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในพม่าและพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNLD) ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งในรัฐฉาน

ค.ศ.๑๙๙๑                      เจ้ากอนเจิง ประธานแห่งกองทัพเมิงไต ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง และได้เขียนบันทึกเป็นพินัยกรรมไว้ เพื่อให้กองทัพทำงานกู้ชาติต่อไปด้วยความสามัคคี

ค.ศ.๑๙๙๓                     กองทัพเมิงไต (MTA) ภายใต้การนำของขุนส่ารุ่งเรือง

ค.ศ.๑๙๙๕                     เจ้ากานยอด ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพเมิงไตภาคเหนือประกาศแยกตัวจากกองทัพเมิงไต (MTA) และก่อตั้งกองกำลังแห่งชาติไทใหญ่ (SSNA) เนื่องจากเกิดความไม่เสมอภาคและการเลือกปฏิบัติขึ้นในกองทัพเมิงไต ระหว่างชาวจีนกับไทใหญ่

ค.ศ.๑๙๙๖                      -กองกำลัง MTA นำโดยขุนส่าได้มอบตัว ยอมสลายกองทัพและมอบอาวุธให้แก่พม่า

                                    -SSA รัฐฉานภาคเหนือ และSSNA ก่อตั้งสภาสันติภาพแห่งชาติ (SSPC)

                                    -เจ้ายอดศึก แยกตัวจาก MTA ไปฟื้นฟู SURA ตามแนวทางของเจ้ากอนเจิง

                                    -เจ้ายอดศึก (SURA) เจ้ากานยอด (SSNA) และเจ้าเสือแท่น (SSA) กองกำลังทั้ง ๓ ได้ประชุมร่วมกันที่แสงแก้ว (รัฐฉานภาคเหนือ) และประกาศให้ใช้ชื่อกองทัพอย่างเดียวกันว่า กองกำลังรัฐฉาน (SSA) เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๑๙๙๖ และร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการทางการเมืองชื่อว่า  SSNO (Shan Stat National OrganiZation)

                                    -กองทัพ SSA ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการทหารอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน กลางรัฐฉาน รัฐบาลพม่าได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง และเพื่อไม่ให้ประชาชนไทใหญ่ให้ความช่วยเหลือกับกองทัพกู้ชาติของตน ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ทางรัฐบาลทหารพม่าได้กวาดต้อนประชาชนเขตรัฐฉานภาคกลาง และภาคใต้ที่อยู่นอกตัวเมืองประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน บังคับให้ทิ้งบ้านเรือน ไร่นา สัตว์เลี้ยง ให้อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ในตัวเมืองภายใน ๓-๕ วัน ที่ได้รับคำสั่ง เมื่อพ้นกำหนดแล้ว พื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ถือเป็นเขต "ยิงอิสระ" หากคนไทใหญ่กลับไปในพื้นที่บ้านเดิมอีกต้องถูกลงโทษถึงตาย

                                    -ชาวไทใหญ่โพ้นทะเลได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคสามัคคีเพื่อประชาธิปไตยไทใหญ่ (Shan Democracy Union-SDU) โดยมีเจ้าช้าง ณ ยองห้วย เป็นผู้นำ

ค.ศ.๑๙๙๗                     -ไทใหญ่ได้รับเข้าเป็นสมาชิก UNPO

                                    -ได้เกิดการฆ่าหมู่ประชาชนชาวไทใหญ่ในรัฐฉานภาคกลางเป็นจำนวนมากโดยกองกำลังพม่า

ค.ศ.๑๙๙๘                     คณะกรรมการทางการเมืองที่ชื่อว่า SSNO (Shan Stat National OrganiZation)ได้เปลี่ยนชื่อเป็น JAC

ค.ศ.๑๙๙๙                     SSA ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึกได้ก่อตั้งสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council Of the Shan Stat) พันเอกเจ้ายอดศึกย้ายกองบัญชาการสูงสุด กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) มาตั้งฐานกำลังที่ดอยไตแลง เขตรอยต่อระหว่างเมืองปั่นและเมืองโต๋น รัฐฉาน ประเทศพม่า ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด

ค.ศ.๒๐๐๑-๒๐๐๒            กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) ได้ทำการกวาดล้างยาเสพติด จนเป็นเหตุให้ต้องปะทะกับทหารพม่าอย่างรุนแรง และพม่าปิดด่านทุกแห่งที่ติดกับประเทศไทย

ค.ศ.๒๐๐๒-ปัจจุบัน           วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๐๐๕ พันเอกเจ้ายี่ ผู้นำกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan Stat National Army-SSNA) ซึ่งทำสัญญาตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าไป 10 ปี ได้ประกาศเข้าร่วมกับกองทัพ SSA ของพันเอกเจ้ายอดศึก และจะดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทำการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง การทหาร ตลอดทั่วพื้นที่รัฐฉาน

 

 

                                    รวบรวมและเรียบเรียง โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

                                    ที่มา : หนังสือ ก่อนตะวันจะฉาย "ฉาน",โอเพ่นบุ้ค จัดพิมพ์,๒๕๕๐

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

"จ๋ามตอง หญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังเพื่อชาวไทใหญ่" วันดี สันติวุฒิเมธี : สัมภาษณ์ ,นิตยสารสารคดี กันยายน 2548

บทสัมภาษณ์ "เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง" หญิงไทใหญ่ที่ "บุช" ขอพบ",  www.prachatai.com , 21 พ.ย.2548

ทำความรู้จักหนังสือ"ใบอนุญาตข่มขืน", www.prachatai.com

ก่อนตะวันจะฉาย"ฉาน" พันเอกเจ้ายอดศึก,นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,นวลแก้ว บูรพวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ้ค,ก.ย. 2550

 

 

 

 

หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้ คือหนึ่งในงานเขียนอยู่ในหนังสือรวมเล่มชื่อ "ลมหายใจบนไหล่เขา" ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) จัดพิมพ์ขึ้นในนาม "สำนักพิมพ์ชนเผ่า"พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551 ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าว มีรวมงานเขียนของ หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง, ชิ สุวิชาน, แพร จารุ,ภู เชียงดาว และ อานุภาพ นุ่นสง มีวางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือทั่วไป

 

 

อ่านตอน 1 สารคดี : จ๋ามตอง...ดอกไม้ที่ผลิบานหวังรอตะวันฉายฉาน (ตอน 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท