Skip to main content
sharethis

จ๋ามตองคือสตรีไทยใหญ่ที่นิตยสารไทม์ยอกย่องให้เป็น 1 ใน 50 ฮีโร่แห่งเอเชีย ภู เชียงดาว ถ่ายทอดชีวิตและผลงานของเธอ ผ่านสถานการณ์การต่อสู้ในปัจจุบัน หรืออีกอย่างก็คือ บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชาวไทใหญ่ผ่านชีวิตของเธอ

 

 

 

เรื่อง/ภาพ : ภู เชียงดาว

 

 

 

 

ในเมืองชายแดน

 

บ่ายนั้น, ผมมีโอกาสนัดเจอกับ "จ๋ามตอง" เพื่อชวนคุยถึงภารกิจที่เธอรับผิดชอบอีกครั้ง

 

ปัจจุบัน นอกจากเธอจะทำงานด้านการรณรงค์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่และชาติพันธุ์อื่นๆ แล้วเธอยังมีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาในจังหวัดชายแดนแห่งหนึ่ง เป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์  ได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย และพัฒนาตนเองและคนรอบข้าง

 

"ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาทำงานก่อสร้างและงานรับจ้างทั่วไป เป็นเด็กที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจากรัฐฉาน ไม่ว่าจะเป็น ไทยใหญ่ ปะหล่อง ปะโอ ว้า ลาหู่ คะฉิ่น"

 

ทำไมจ๋ามตองถึงมาเน้นเรื่องการศึกษา

 

เธอบอกว่า อยากให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรียนรุ้ความเป็นเพื่อน และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

 

"ถ้าคนเราเข้าใจ และเรียนรู้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เคารพซึ่งกันและกัน มันก็จะทำให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในรัฐฉานและในพม่าได้ในอนาคต" 

 

และที่สำคัญ เธอบอกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ทุกวันนี้ ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับชาวไทยใหญ่ เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งๆ ที่ถูกทหารพม่ากดขี่ข่มเหงหลายแสนคน แต่กลับไม่มีการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ เพียงเพราะว่า ไม่มีการยอมรับว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย

 

"คนเหล่านี้พอหนีมาถึงชายแดน หลายชั่วอายุคนพยายามจะเป็นลูกจ้าง เพื่อที่จะได้อยู่ไปวัน ๆ ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องการศึกษาจึงมักถูกมองข้ามว่า จะไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญเท่าไร แต่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร หากไม่มีพื้นฐานทางการศึกษา คิดว่าการให้โอกาสเขาศึกษาคือการทำให้เขามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะเป็นลูกโซ่ที่เขาจะมีโอกาสช่วยคนอื่นๆ และจะเป็นวงกว้างต่อไป"

 

"ในอนาคตสังคมจะเป็นอย่างไร  หากไม่มีพื้นฐานทางการศึกษา  คิดว่าการให้โอกาสเขาศึกษา คือการทำให้เขามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากเรื่อยๆ มันจะเป็นลูกโซ่ที่เขาจะมีโอกาสช่วยคนอื่นๆ และจะเป็นวงกว้างต่อไปขึ้น" เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นต่อการศึกษา

 

วางขอบเขตและให้ความหมายการศึกษาไว้อย่างไร

 

"เป็นอะไรก็ตามที่ทำให้เขาช่วยตนเอง และหาวิธีช่วยเหลือคนอื่นได้ คือหวังให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ก็หวังให้เขามีศักยภาพ ต้องอ่านออกเขียนได้ เข้าใจประเด็น รู้จักวิเคราะห์ รู้จักหาวิธีแก้ปัญหา รู้จักทางเลือก รู้จักการประสานงาน รู้จักการสื่อสาร อย่างน้อยแค่มีพื้นฐานก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนขั้นอื่นๆ จะดีกว่านี้หรือไม่ คงต้องมีการพูดคุยและต้องไปวางแผนกันในระยะยาวต่อไป"

 

ส่วนใหญ่นักเรียนจะอยู่ในวัยไหน

 

"ระดับเยาวชน เป็นผู้ใหญ่ จะรับรุ่นละประมาณ 20 กว่าคน ความจริงคนที่ต้องการการศึกษามีมาก แต่เรารับไม่ได้หมด การให้การศึกษาตรงนี้เป็นส่วนที่เราพอทำได้ และถ้ามีวิธีอื่นที่ทำได้กว้างขวางกว่านี้ก็ยิ่งดีจะได้ครอบคลุมทั่วถึง"

 

เธอบอกว่า ตอนนี้เยาวชนที่เข้ามาเรียนนั้น จบการศึกษาไปหลายรุ่นแล้ว จำนวนหลายร้อยคนแล้ว บางคนก็กลับไปเป็นครูตามเขตชายแดน หรือไปทำงานกับองค์กรช่วยเหลือสังคมหลายๆ องค์กร

 

นั่น ทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของครูหนุ่มแห่งดอยไตแลง ที่บอกเล่าชีวิตเขาให้ฟังว่า ชีวิตเขาเหมือนเกิดใหม่ เมื่อรอดพ้นจากเงื้อมมือทหารพม่า ในขณะที่พ่อแม่ของเขาถูกฆ่ากลางป่า ในที่สุด มีทหารไทใหญ่มาเจอ และพาเล็ดลอดหนีมาอยู่ดอยไตแลง

 

เขาเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสลงไปเรียนหนังสือในโรงเรียนของจ๋ามตอง ก่อนจะกลับไปเป็นครูสอนหนังสือเด็กนักเรียนกำพร้าบนดอยไตแลง

  

"เหนื่อยไหม ที่ต้องทำงานหนักแบบนี้" เราเอ่ยถามเธอ

 

"ถ้าทำบ่อยๆ ก็ดีเอง บางทีก็ตะโกนบ้าง แต่ไม่ค่อยทำ" จ๋ามตองพูดพร้อมหัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี      

 

จ๋ามตอง ในพ.ศ.นี้ (2551) เธอมีอายุย่าง 27 ปี และเธอได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย แต่รางวัลหรือชื่อเสียงไม่ใช่เป้าหมายหรือความมุ่งหวังของเธอ ทุกวันนี้เธอบอกย้ำอยู่อย่างนั้นว่า การทำงานมาได้ถึงระดับนี้ ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เธอมองว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้นการต่อสู้ เมื่อเทียบการเคลื่อนไหวอันยาวนานของเหล่าผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้กับผืนแผ่นดินรัฐฉานในห้วงหกสิบปีที่ผ่านมา

 

"มันเพิ่งเริ่มเองค่ะ จ๋ามตองรู้สึกอย่างนั้นนะว่ามันเพิ่งเริ่มต้นการต่อสู้แค่นั้นเอง"            

 

"ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ทั้งที่ว่าจ๋ามตองทำงานตรงนี้มาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว" ผมตั้งคำถาม

 

"ก็เพราะว่าการต่อสู้นี่ เรารู้ว่ามันมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ แล้วก็ยิ่งประสบการณ์ที่เราทำมา 10 ปี อย่างนี้ เราก็ยิ่งเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำมันก็มากขึ้น ซึ่งมันหมายถึงว่า เราต้องสร้างกำลังหรือสร้างกลุ่มคนอีกหลายกลุ่ม สร้างคนที่เป็นเยาวชนหรือว่าคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานให้มากขึ้น เพื่อที่งานจะได้กว้างขวางมากกว่านี้"

 

เธอบอกอีกว่า งานที่ทำก็ไม่ใช่แค่การทำงานที่ทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว หากเธอได้รับการช่วยเหลือจากหลายฝ่ายด้วย ทั้งในชุมชน แล้วก็องค์กรต่างๆ ที่ให้การช่วยเหลือ เพื่อช่วยกันเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน

 

ทำให้นึกไปถึงคำพูดของอาจารย์คืนใส ใจเย็น จากสำนักข่าวไทยใหญ่( S.H.A.N) ซึ่งเป็นอดีตผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศ ของกองทัพเมิงไต (MTA) บอกเล่าให้เราฟังในวันนั้นว่า หลังจากขุนส่า และMTA วางอาวุธ สถานการณ์การต่อสู้ของพี่น้องไทยใหญ่ ก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นไม่มีหวังหรือไม่มีทางออก

 

"แม้ว่ามันจะมีช่วงหนึ่งที่มันเลวร้าย แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่ ของเจ้ายอดศึก กับกลุ่มแม่ญิงไทยใหญ่ก็มีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้กัน นี่ก็เป็นอาวุธที่แหลมคมอีกชนิดหนึ่ง"อาจารย์คืนใสบอกเล่าให้ฟังในวันนั้น 

 

จ๋ามตอง บอกว่า ที่อาจารย์คืนใสพูด ก็คิดว่าอาจารย์เขาคงเห็นว่าแนวทางการต่อสู้ มันไม่ใช่มีวิธีเดียว แล้วก็เราคิดว่าการต่อสู้มันทำให้เป็นการเปิดเวทีที่กว้างมากขึ้น มันเป็นการต่อสู้ที่ไร้พรมแดน เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีพรมแดน ที่เราสามารถนำเรื่องของการต่อสู้ อย่างเช่นโดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งคิดว่ามันจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้น การต่อสู้ของเรา เราก็ต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ

 

"ตรงนี้ เราคิดว่าชาวบ้านที่เป็นเยาวชนหรือว่ากลุ่มผู้หญิง ต่างก็มีบทบาทในการที่จะสร้างศักยภาพหรือร่วมกันสร้าง ร่วมกันต่อสู้ในนามของประชาชนจริงๆ ได้ คือทำให้หลายฝ่ายมาร่วมมือกันได้ คือทำได้ตั้งแต่พื้นที่ ระดับชุมชน ในระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ อย่างกลุ่ม "สวอน" กลุ่มผู้หญิงไทยใหญ่ ก็คือพยายามที่จะให้นานาชาติเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน การข่มขืนอย่างเป็นระบบนั้นมันมีการกระทำอย่างเป็นระบบมานานแล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ชาวโลกไม่เคยรับรู้แล้วก็มันก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กลุ่มผู้หญิงออกมาเปิดเผยเรื่องการทารุณกรรมทางเพศอย่างนี้กับนานาชาติ"

 

แล้วมีปฏิกิริยาตอบกลับมาอย่างไรบ้าง หลังจากไปเปิดเผยรายงานนี้ให้กับสังคมโลก

 

"เขาก็จะถามว่า ยังมีความโหดร้ายอย่างนี้อีกเหรอ จนถึงทุกวันนี้ยังมีอยู่เหรอ ซึ่งมันเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยและตีแผ่  แต่พอเรารายงานไป มันทำให้มีการพูดถึง ทำให้มีการรับรู้ของนานาชาติมากขึ้น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้าน การต่อสู้ของประชาชนชาวไทยใหญ่นั้นทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าในอนาคต คนที่เป็นประชาชนเหล่านี้ เขาก็ต้องจะเป็นคนที่ตัดสินใจว่า ในอนาคตเขาอยากจะให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นยังไง หรือว่าอยากจะให้อนาคตทางเรื่องการเมืองหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ อยากจะให้เป็นยังไง เขาก็จะเป็นคนตัดสินใจเอง ตรงนี้ คิดว่ามันเป็นการสร้างความรู้ แล้วก็คิดว่ามันเป็นการสร้างพลังที่จะอยู่กับสังคม แล้วก็จะอยู่กับประชาชนไปในระยะยาว"

 

จ๋ามตอง บอกอีกว่า ทุกวันนี้ ในประเทศพม่ายังคงถูกปิดกั้นทางการศึกษาอยู่เหมือนเดิม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ยิ่งถ้าอยู่ในเขตที่มีการสู้รบ หรือในเขตที่มีทหารพม่าเข้ามาคุมเช่นในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน กะเหรี่ยง กะเรนนี ก็ยังคงมีการขับไล่ชาวบ้านตลอดมีการบังคับย้ายถิ่นฐานมากกว่าแปดแสนคน

 

"และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีการไปบังคับให้ย้ายอีก จึงทำให้คนเหล่านี้เขาก็ไม่ต้องไปสนใจอยู่แล้วเรื่องการศึกษา เพราะสิ่งแรกก็คือต้องนึกถึงการเอาตัวรอด ต้องมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ว่าจะอยู่ไปยังไง เพราะฉะนั้น การศึกษาจะไม่มีเลย" 

 

ดังนั้น ในเมื่อไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ในประเทศไทย เธอจึงจำเป็นต้องเปิดโรงเรียนเพื่อรองรับเด็กๆ ที่พ่อแม่หนีข้ามมาเป็นแรงงาน แล้วไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ก็เข้าไปส่งเสริมให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้อ่านออกเขียนได้

 

"นอกจากนั้น อีกระดับที่พยายามทำตอนนี้ ก็คือ อยากจะสอนเยาวชนที่เขาจะสามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ หรือว่าให้มีการเรียนรู้เรื่องสังคมศาสตร์ต่างๆ เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือว่าเรื่องใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน การเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการหัดถ่ายรูป การใช้กล้องถ่ายวิดีโอเพื่อที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปใช้เก็บข้อมูลได้"

 

จ๋ามตอง ยังย้ำให้ฟังอีกว่า โรงเรียนแห่งนี้จะเป็นการสร้างเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองในอนาคตด้วย

 

"อยากให้เยาวชนมีส่วนร่วมและมีความรู้ไม่ใช่เฉพาะเขา แต่เขายังสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับนี้ไปแบ่งปันให้คนอื่นได้ ถ้าเขาเป็นครูเขาก็สอนคนอื่นได้อีกหลายคน ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายที่หลายคนที่เขาเริ่มเป็นครูและเราเห็นได้ชัดว่าเยาวชนมีความสามารถมากขึ้น และมีเยาวชนหลายร้อยคนที่หันมาสนใจที่จะทำงานเพื่อชุมชนและทำงานเพื่อมี่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องภาษา การสื่อสารขั้นพื้นฐาน"

 

 

จ๋ามตอง รายงานเหตุการณ์ในพม่าให้สังคมโลก

(ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

 

 

จ๋ามตองยังเชื่อมั่นศรัทธา และมีความหวังว่า- -สักวันหนึ่ง แผ่นดินรัฐฉานจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

"ความหวังก็คือ เวลาที่เราเห็นว่าเยาวชนหรือว่ากลุ่มของผู้หญิงหลายกลุ่ม กลุ่มของชุมชนที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือว่าอะไรก็ตาม เราเห็นว่าตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนี้ก็จะอยู่ไปกับอนาคตด้วย"

 

เธอบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่พูดว่าอยากได้การเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องแสดงให้ทหารพม่าเห็นว่า เรายังมีความพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพยายามหาความรู้เพิ่มเติมด้วย เพื่อที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า

 

"ไม่ใช่แค่บอกว่าทหารพม่าไม่ดี แต่ว่าเราก็ต้องตั้งคำถามและให้คำตอบตัวเองเหมือนกันว่า แล้วเราทำอะไรที่เราทำได้ดีกว่านั้น...มันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตและสำหรับตอนนี้ด้วย ทั้งปัจจุบันแล้วก็อนาคต ไม่อย่างนั้นก็ลำบาก"

 

"ทุกวันนี้มีความสุขมั้ย..." ผมเอ่ยถามชีวิตเธอห้วงนี้

 

"ก็ต้องบอกว่า เราก็เป็นเหมือนคนหนึ่งที่เหมือนทั่วไป ที่อยากจะทำอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้น แค่นั้นเอง แต่เราก็คิดว่าอะไรก็เป็นไปได้ ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจ ไม่ยอมสิ้นหวัง เพราะว่าเราอยากจะทำ ก็ทำไป"

 

"แสดงว่าทุกวันนี้ไม่เคยท้อเลยหรือ" ผมปลุกคำถามของความหวัง...

 

"บางครั้งสถานการณ์มันก็แย่ มันก็มีบ้าง ที่ต้องร้องแบบโอ้ย...ทำไมมันถึงเป็นถึงขนาดนี้ เป็นไปได้ขนาดนี้ เป็นมานาน ก็ยังเป็นอีก มันก็ไม่ใช่ว่าสิ้นหวัง เพราะงานที่เราทำ มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราทำงาน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"

 

กระนั้น จ๋ามตองยังมองคงนักรบ นักต่อสู้เพื่อชาวไทยใหญ่รุ่นก่อนๆ มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

"ใช่ เขาต่อสู้กันมาก็ 50 กว่าปี แล้วเราเห็นได้ชัดเจนและตอกย้ำมาตลอดว่า ทหารพม่าได้กระทำอย่างนี้มานานแล้ว ที่ทำให้ประชาชนนั้นอยู่ไม่ได้ แล้วยิ่งมีการพยายามทำให้ประชาชนมีความยากลำบาก มีการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ จนทำให้เขาต้องต่อสู้  แต่ก็นั่นแหละ  ถึงแม้ทหารพม่าพยายามจะกดดันหรือว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็จะมีคนที่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมและคิดว่ามันน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงลุกขึ้นมาสู้ มันก็ต้องมีเรื่อยๆ  เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สานต่อความหวังที่ว่า สักวันหนึ่ง เราคงจะเห็นอิสรภาพ เสรีภาพ ไปพร้อมๆ กับประชาชนทุกคนแค่นั้นเอง"

 

ใช่ ทุกวันนี้ นอกจากเธอจะทำงานด้านการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แล้ว เธอยังคงทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านเวที ผ่านสื่อต่างๆ ไปยังสังคมโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง 

 

"จ๋ามตองคิดว่าการเผยแพร่สถานการณ์ข้อมูลที่เป็นความจริง จะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และถ้าหากมีความเข้าใจ ก็จะมีความเห็นใจ แล้วก็จะมีความช่วยเหลือกันมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นพื้นฐานที่พวกเขาก็น่าจะได้รับความเห็นใจในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย"

 

ก่อนผมจะขอตัวกลับ, ผมเอ่ยคำถามโง่ๆ กับเธอ "แท้จริงแล้ว มนุษย์เราต้องการอะไร"

 

"...คิดว่ามนุษย์นั้นก็เหมือนกันทุกที่ มนุษย์ทุกคนก็อยากมีเสรีภาพ อยากจะอยู่อย่างมีความสุข อยากมีเสรีภาพสำหรับตัวเขาเอง สำหรับชุมชนของเขา อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่คิดว่ามันเป็นพื้นฐานของทุกคน แล้วก็คิดว่ามนุษย์นั้นไม่มีพรมแดน"

 

นี่คือความคิด ตัวตน ชีวิต และจิตวิญญาณของแม่หญิงไทใหญ่คนหนึ่ง ที่ชื่อ "จ๋ามตอง" ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงอีกหลายคนบนแผ่นดินผืนนี้ ที่เป็นเสมือนดอกไม้ที่ยังผลิบานหวังท่ามกลางสงครามความขัดแย้ง

 

แน่นอน ทุกคนยังคงเชื่อมั่นและวาดหวังลึกๆ ในใจว่า...

สักวันหนึ่ง- -ท้องฟ้าแห่งเสรีภาพจะเปิดกว้าง

และดวงตะวันดวงใหม่จะฉายแสงไปทั่วรัฐฉาน!!                    

 

 

o o o o o

 

 

 

อ่านความคิดของหญิงไทใหญ่...

ในแผ่นดินพม่า เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

จ๋ามตอง"(Charm Tong) จาก Shan Women"s Action Network (SWAN) และ "แสงน้อง"(Hseng Noung) ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Advisory Team Member of the Shan Women"s Action Network -SWAN) และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า (Presidium Board member of Women"s League of Burma)

 

กับบทสนทนาว่าด้วยเรื่อง... "ในแผ่นดินพม่า เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง"

 

 

"จ๋ามตอง" (Charm Tong)

จาก Shan Women"s Action Network (SWAN)

 

 

เมื่อถามถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพม่าตอนนี้

ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละรัฐ ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ยังถูกกดขี่หรือไม่

 

จ๋ามตอง บอกว่า การกดขี่ข่มเหงประชาชนยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นการบังคับใช้แรงงานการเกณฑ์ใช้แรงงาน หรือว่าการขับไล่ชาวบ้านให้อพยพไปอยู่ที่อื่น การบังคับย้ายถิ่นฐาน ยังเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น ในรัฐฉานก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปที่บ้านของเขา ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว

 

"แล้วก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานเนื่องจากโครงการที่เรียกว่าการพัฒนาต่าง ๆ เช่นการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ก็จะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาก"

 

เมื่อพูดถึงกรณีที่ผู้หญิงในพม่าถูกกดขี่ จ๋ามตอง บอกย้ำและยืนยันเช่นเดิมว่า เรื่องของการทารุณกรรมทางเพศและการข่มขืนก็ยังเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เพราะทุกวันนี้ยังคงได้รับข่าวหลายกรณีที่ทหารพม่าอนุญาตให้ทหารใต้บัญชาข่มขืนผู้หญิงและอีกหลายกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้เก็บข้อมูลรวบรวมจนถึงขณะนี้ก็ยังมีการข่มขืนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ของชาวบ้านก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

"ชาวบ้านจะถูกกดขี่ข่มเหงโดยรวมเหมือนกันอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงกับเด็กจะถูกกระทำมาก แล้วถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกละเมิดมากกว่า โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากการถูกข่มขืน"

           

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา "SWAN" ออกมาทำรายงานเปิดโปงข้อมูลเรื่อง "ใบอนุญาตข่มขืน"

ได้กระตุ้นต่อมจิตสำนึกของรัฐบาลทหารพม่าบ้างหรือไม่ ว่าได้ทำให้รัฐบาลทหารพม่าฉุกคิดหรือว่าหยุดนโยบายกดขี่ลักษณะนี้บ้างหรือไม่

 

จ๋ามตอง บอกว่า ใบอนุญาตข่มขืน ทำให้นานาชาติรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก และเป็นการเปิดโปงว่าทหารพม่าใช้การข่มขืนอย่างเป็นระบบ กับกลุ่มชาติพันธุ์ผู้หญิงและเด็กอย่างไรบ้าง ทหารพม่าถูกประณามโดยนานาชาติและหลายประเทศมาก และในขณะเดียวกันเราก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเห็นได้ชัดว่าทหารพม่าไม่จริงใจในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

 

และเมื่อพูดถึงพม่า แน่นอนว่า จำเป็นต้องพูดถึงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า

 

จ๋ามตอง บอกว่า แม่น้ำสาละวินที่พม่า นั้นไหลผ่านทั้ง รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา แล้วก็รัฐมอญ ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำของกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ และชาวบ้านก็ต้องอาศัยแม่น้ำสาละวิน ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนซึ่งจะมีหลายเขื่อนที่จะสร้างขึ้น ก็จะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกรทบอย่างมากตอนนี้ก็จะมีชาวบ้านที่ถูกขับไล่จากหมู่บ้านเนื่องจากโครงการเหล่านี้

 

"ซึ่งถ้าเจอปัญหาแบบนี้ ชาวบ้านก็คือต้องอพยพเข้ามาลี้ภัยในเมืองไทย ซึ่งถ้าหากมีการสร้างเขื่อนจริง ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะกับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่นป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตชาวบ้านและประชาชนที่หนีมาเป็นผู้ลี้ภัยและเป็นแรงงานอย่างถาวรที่จะไม่สามารถกลับไปที่บ้านของเขาได้"

 

เธอบอกย้ำด้วยว่า โครงการเหล่านี้ไม่เคยมีใครไปถามชาวบ้านว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเขามีอะไรบ้าง และชาวบ้านไม่เคยมีสิทธิ์ที่จะบอกหรือได้รับผลประโยชน์อะไรเลยจากโครงการเหล่านี้ เขาไม่มีสิทธิ์รับรู้อะไรเลย แต่ว่ามีแต่ต้องหนี ต้องสูญเสีย และถูกขับไล่ เขายังไม่รู้เลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนด้วยซ้ำ

 

วกกลับมาคุยประเด็น "ความขัดแย้งเรื่องการเมืองในพม่า" ที่กำลังร้อนระอุในขณะนี้

 

จ๋ามตอง บอกว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องการเมืองในรัฐต่างๆ นั้นเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากว่าเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตอนนี้ผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ "ขุนทุนอู" ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทยใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNLD ซึ่งได้รับเลือกตั้งมากที่สุดในรัฐฉาน เมื่อปี พ.ศ.2533 และผู้ใหญ่หลายคนที่เป็นสมาชิกของพรรคได้ถูกทหารพม่าจับกุมพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ เมื่อช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. พ.ศ.2548 และเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สองรองจากพรรคเอ็นแอลดีก็ยังถูกคุมขังรวมกว่า 30 คนจนถึงทุกวันนี้

 

"แล้วพวกเขาก็ถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ทุรกันดารมากในรัฐต่าง ๆ พวกเขาไม่ได้อยู่ในรัฐฉานเลย ซึ่งทำให้ครอบครัวเข้าไปเยี่ยมก็ไม่ได้ ในเรื่องของการเมืองก็ยังเหมือนเดิม คือ ถูกควบคุม"

 

เมื่อถามว่า ทางเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ และคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า จะผลักดันเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อไป

 

แสงน้อง (Hseng Noung) ชาวไทใหญ่ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Advisory Team Member of the Shan Women"s Action Network -SWAN) และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า (Presidium Board member of Women"s League of Burma) บอกว่า ที่ผ่านมา ได้มีการพยายามจะทำให้ประชาชนพม่าที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เขารู้มากขึ้นว่า ทหารพวกนี้ข่มขืนจริงๆ ชอบกดขี่ข่มเหงทารุณกรรมจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหนึ่งขั้นที่ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้มากขึ้น และหลังจากปี 1988 ก็จะรู้กันมากขึ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งมันช้ามากใช้เวลา ใช้ชีวิตคนทั้งหลายร้อยหลายพันคน กว่าประชาชนเขาจะรู้จริง ๆ ว่า ทหารพม่าพวกนี้มันทำลายจริงๆ

 

เธอบอกว่า เรื่องการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าประชาชนไม่รู้จริง ๆ เขาก็จะไม่รู้สึกว่า คนพวกนี้ลุกขึ้นมาต่อสู้ถืออาวุธทำไม คำตอบก็คือเรื่องมันเป็นมาอย่างนี้มาตลอด 50 กว่าปี คนอื่น ๆก็รู้เรื่องพม่ามากขึ้น

 

"ตอนปี 1988 ที่เห็นทหารพม่าใช้ความรุนแรงตายกันหลายคนที่เมืองย่างกุ้ง คนนานาชาติก็เห็น แต่จริงๆ แล้ว เรื่องข่มขืนนี่ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2002 แต่เป็นมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตอนนั้น ตั้งแต่กลุ่มจีนคณะชาติก๊กมินตั๋ง หนีมาจากประเทศจีน และก็ยังไม่มีทหารพม่าอยู่ในรัฐฉานเลย แล้วก๊กมินตั๋งก็เข้ามาและเพราะว่าไม่มีเงิน ไม่มีข้าวกิน เขาก็เอาไก่ เอาหมูเอาข้าวสาร เอาผู้หญิงด้วย ทหารพม่าก็เลยขึ้นมาในรัฐฉานมาปกป้องประชาชน แต่การปฏิบัติของทหารไม่แตกต่างกับกรมมันตัง ที่เข้ามาเอาหมู เอาเป็ด เอาไก่ เอาผู้หญิง เพราะฉะนั้นก็ลำบากสำหรับประชาชน ตั้งแต่นั้นกลุ่มรัฐฉานก็เริ่มคิดจะต่อสู้ให้ได้รับเอกราชจากสหภาพ ซึ่งมีเขียนไว้ในสัญญาปางหลวง ก็ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่สงบเลย

 

 

 

"แสงน้อง" (Hseng Noung) ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่

และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า

(Presidium Board member of Women"s League of Burma)

 

 

ทางออกหรือว่าแนวทางในการเรียกร้อง จำเป็นต้องมีสองแนวทางควบคู่กันไปใช่ไหม ทั้งเรื่องการจับปืนลุกขึ้นสู้ และการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี โดยใช้ข้อมูลความจริงมาเปิดเผย

           

แสงน้อง บอกว่าเป็นขบวนการมาตั้งแต่ครบรอบสิบปีหลังจากสัญญาปางหลวง ตั้งแต่กลุ่มก๊กมินตั๋งเข้ามาในรัฐฉาน เราก็รอคอยกันมา จนถึงปี 1958 กลุ่มไทใหญ่ก็เริ่มมีกองกำลังปฏิวัติ (กลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ") จนป่านนี้ ก็ยังต้องมีกองกำลังเคลื่อนไหว ก็เป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของตนนับตั้งแต่นั้นมา

 

"กลุ่มไทใหญ่ก็เหมือนกับกลุ่มกะเหรี่ยงด้วย ก็คือมีกลุ่มที่ต่อต้านเป็นครั้งแรก แล้วกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ตามมา แล้วก็มีปัญหาทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องการเมืองเรื่องที่ต่างไม่พอใจ เรื่องที่ไม่ยุติธรรม เรื่องที่ไม่สิทธิ์เท่าเทียมกัน หลายๆ อย่างก็เลยไม่แก้ และการที่ไม่แก้มาตลอดทำให้มันยุ่งขึ้น เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น ในเวลาเดียวกันบางประเทศ บางบริษัท ก็ฉวยโอกาส ฉวยเอาทรัพยากรที่พม่ามีอยู่ ในช่วงสถานการณ์ที่ประเทศพม่าไม่มั่นคงในขณะนี้ด้วย"

 

แหละนี่เป็นเพียงบางฉาก บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พม่า...เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง.

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

"จ๋ามตอง หญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังเพื่อชาวไทใหญ่" วันดี สันติวุฒิเมธี : สัมภาษณ์ ,นิตยสารสารคดี กันยายน 2548

บทสัมภาษณ์ "เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง" หญิงไทใหญ่ที่ "บุช" ขอพบ" www.prachatai.com , 21 พ.ย.2548

ทำความรู้จักหนังสือ "ใบอนุญาตข่มขืน", www.prachatai.com

ก่อนตะวันจะฉาย"ฉาน" พันเอกเจ้ายอดศึก,นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,นวลแก้ว บูรพวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ้ค,ก.ย. 2550

 

หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้ คือหนึ่งในงานเขียนอยู่ในหนังสือรวมเล่มชื่อ "ลมหายใจบนไหล่เขา" ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) จัดพิมพ์ขึ้นในนาม "สำนักพิมพ์ชนเผ่า"พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551 สุริยันต์ ทองหนูเอียด : บรรณาธิการ ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าว มีรวมงานเขียนของ หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง, ชิ สุวิชาน, แพร จารุ,ภู เชียงดาว และ อานุภาพ นุ่นสง มีวางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือทั่วไป

 

 

อ่านย้อนหลัง  สารคดี : จ๋ามตอง...ดอกไม้ที่ผลิบานหวังรอตะวันฉายฉาน (ตอน 1) และ (ตอน 2) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net