Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม : แรงงานข้ามชาติจากพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ : เครือข่ายทางสังคม อำนาจ และการต่อรอง


โดย อดิศร เกิดมงคล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 


 


อำนาจกับการต่อต้าน : โทรศัพท์มือถือกับกรณีประกาศจังหวัด


ขณะที่การใช้โทรศัพท์มือถือดูจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันของแรงงานข้ามชาติ เป็นเครื่องมือในการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตในสังคมที่ตนเองต้องมาอยู่ใหม่ คือ ประเทศไทย มีส่วนช่วยในการเรียนรู้และปรับตัวของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่ในทางตรงกันข้ามการใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากพม่าก็ยังเป็นสิ่งที่ขัดใจของภาครัฐโดยเฉพาะส่วนที่เป็นฝ่ายความมั่นคงและนายจ้างผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งมองว่าการใช้โทรศัพท์มือถือของแรงงานข้ามชาติอาจจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคง รวมถึงมองว่าเป็นเครื่องมือของเครือข่ายการค้ามนุษย์กลุ่มต่างๆ


 


ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 - 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศโดยกลุ่มทหารที่เข้ามาทำการรัฐประหาร ทำให้กระแสเรื่องความมั่นคงจึงมีอยู่อย่างเข้มข้น บางจังหวัดในภาคใต้และภาคตะวันออก ได้แก่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ระยองได้มีการออกนโยบายในชื่อว่า "ประกาศจังหวัด" ซึ่งเป็นประกาศเพื่อควบคุมจัดการแรงงานต่างด้าว โดยมีเนื้อหาสาระในเรื่องของการจำกัดสิทธิบางอย่างของกลุ่มแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา เช่น การห้ามออกนอกที่พักอาศัยในยามวิกาล ห้ามมิให้ชุมนุมกันเกินห้าคน ห้ามขับขี่รถจักรยานยนต์ และห้ามมิให้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือบางพื้นที่ถ้าจะมีการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือก็จะต้องมีการขออนุญาตและขึ้นทะเบียนกับจังหวัดไว้เท่านั้น โดยมีการให้เหตุผลว่าโทรศัพท์มือถือไม่ใช่อุปกรณ์ในการทำงาน และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีความรวดเร็วซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้


 


ดังเช่น "ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองกล่าวว่า ก่อนที่จังหวัดระนองจะออกประกาศดังกล่าว ได้มีผู้ประกอบการ หรือนายจ้างมาบ่นให้ฟังว่า ลูกจ้างต่างด้าวมีการใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันเป็นภาษาพม่า ซึ่งนายจ้างไม่มีสิทธิรู้เลยว่าคุยกันเรื่องอะไร และหลังจากที่ได้ออกประกาศดังกล่าวไปแล้ว ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ก็พอใจในมาตรการดังกล่าว การควบคุมเป็นการให้ใช้โทรศัพท์มือถือในข้อจำกัด ไม่ได้ควบคุมเสียทีเดียว และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แต่จะคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ" (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 พฤษภาคม 2550)


 


จากประกาศจังหวัดในลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติในสายตาของรัฐไทยวางอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ และถูกมองว่าเป็น "คนอื่น" ที่อันตรายและจำเป็นจะต้องอยู่ในความควบคุมการถูกจับจ้องมอง แต่อย่างไรก็ดีการใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะต่อตัวแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ได้สร้างภาวะความหวาดกลัวและความหวาดระแวง รวมทั้งกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมแรงงานข้ามชาติอีกด้านหนึ่งด้วย เพราะหลังจากมีการออกประกาศจังหวัดในลักษณะดังกล่าว ชุมชนไทยในหลายพื้นที่เริ่มมีความหวาดกลัวแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าบางชุมชนมีการห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติพกมีด ทั้งที่ๆแรงงานข้ามชาติในชุมชนเหล่านี้ทำงานในภาคเกษตรกรรม ในสวนยางพารา ซึ่งการห้ามดังกล่าวก็ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงในชุมชน แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงภาวะความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นจากแนวทางการควบคุมหรือการใช้อำนาจของรัฐต่อแรงงานข้ามชาติ


 


ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนในชุมชนเริ่มมีมาตรการการควบคุมต่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เริ่มมีการตรวจจับและยึดโทรศัพท์มือถือของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ หลายครั้งที่ผู้ยึดโทรศัพท์มือถือของแรงงานข้ามชาติเป็นแค่เพียงอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยภายในชุมชนเท่านั้น ทำให้ในช่วงแรกของการมีประกาศดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกให้กับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ที่จะผลักดันให้แรงงานข้ามใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานสูง เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมประมงทะเล รวมถึงบางพื้นที่ที่ใกล้ๆกับกรุงเทพฯด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าแรงงานข้ามชาติและกลุ่มนายหน้าใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อเพื่อเปลี่ยน/ย้ายงานใหม่ การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือจึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน แต่สำหรับในมุมมองของแรงงานแล้ว การย้ายงานนั้นจะกระทำเมื่อสภาพการจ้างงานไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถต่อรองกับนายจ้างได้มากกว่า อย่างไรก็ตามในแง่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสินค้าที่ขายดีในหมู่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงทะเลและพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ โทรศัพท์มือถือกลับเป็นสินค้าขายดีในอันดับต้นๆ


 


อย่างไรก็ดีการประกาศห้ามใช้โทรศัพท์มือถือมีผลในทางปฏิบัติเพียงช่วงสั้นๆ จากการพูดคุยกับนักวิจัยบางคนที่เข้าไปทำวิจัยในพื้นที่ที่มีออกประกาศจังหวัด พบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังมีการใช้โทรศัพท์มือถือกันตามปกติ เพียงแต่เวลาที่อยู่นอกที่พักหรือที่ทำงาน แรงงานข้ามชาติจะใช้วิธีการปิดเสียงเรียกเข้า ทำให้เป็นระบบสั่น และจะไม่รับโทรศัพท์ต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือคนไทยที่ตัวเองไม่มั่นใจเท่านั้น ในขณะที่ในชีวิตประจำวันแรงงานข้ามชาติก็ยังใช้โทรศัพท์กันเป็นเรื่องธรรมดา


 


ขณะเดียวกันผมก็พบว่าแรงงานข้ามชาติหลายคนมักจะใช้ภาษาไทยในการพูดคุยโทรศัพท์มือถือในขณะที่พวกเขาอยู่ในที่สาธารณะ เช่น บนรถเมล์ หรือในร้านขายของ จากการสอบถามแรงงานข้ามชาติบอกว่าตนเองจะพูดภาษาไทยผ่านการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเป็นเรื่องปกติ หลายคนบอกว่าการที่พวกเขาใช้ภาษาไทยพูดคุยโทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะนั้น จะไม่ทำให้ตัวเองเป็นจุดเด่น และหลีกเลี่ยงการถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนั้นแล้วผมยังพบว่านักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวจากพม่าหลายคนก็มักจะใช้ภาษาอังกฤษหากมีความจำเป็นต้องรับโทรศัพท์ในรถประจำทาง ซึ่งจะเป็นจุดสนใจของผู้คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจน้อยกว่าการใช้ภาษาพม่าด้วยเช่นกัน  


 


 


การต่อรองของแรงงานข้ามชาติผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ


ในขณะที่การดำเนินชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ การทำงานหนักได้รับค่าแรงน้อย และมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการต้องอยู่ภายใต้กรอบการควบคุมของนายจ้าง แรงงานข้ามชาติก็เลือกที่จะต่อรองกับภาวะความเสี่ยงและความกดดันเหล่านี้ด้วยรูปแบบต่างๆ พบว่าหลายครั้งแรงงานข้ามชาติก็ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการต่อรอง


 


กรณีการต้องถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นภาวะที่แรงงานข้ามชาติอยากจะหลีกเลียงมากที่สุด เพราะว่าแม้สถานะของพวกเขาจะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ในประเทศไทยได้ภายใต้ข้อกำหนดบางอย่าง แต่หลายครั้งที่แรงงานข้ามชาติก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและส่งกลับเป็นประจำ บางครั้งแรงงานข้ามชาติอธิบายว่าเจ้าหน้าที่ทำเช่นนี้ เพื่อจะเรียกเก็บเงินจากพวกเขา แม้พวกเขาจะมีบัตรประจำตัวหรือใบอนุญาตทำงานก็ไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆแม้แต่น้อย ผมพบว่าในหลายครั้งที่เจอภาวะดังกล่าว แรงงานข้ามชาติที่พอจะรู้จักกับเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือทนายความที่ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติจะโทรศัพท์ไปหาคนเหล่านั้น รวมถึงโทรศัพท์ไปหานายจ้าง เพื่อให้เกิดการต่อรองระหว่างเขากับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายครั้งที่เหตุการณ์ไม่ได้จบลงด้วยการที่แรงงานไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ก็ทำให้ค่าปรับดังกล่าวลดลงได้เช่นกัน


 


ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับเจ ในระหว่างที่ผมกำลังเก็บข้อมูลในพื้นที่อยู่นั้น เจได้บอกกับผมว่าจะพาแฟนของตนเองไปเที่ยวเขาดิน ซึ่งผมไม่รู้ว่าแฟนของเจ แม้จะมีใบอนุญาตทำงาน แต่ก็ยังเป็นใบอนุญาตทำงานในจังหวัดนนทบุรี (เนื่องจากแฟนของเจ ทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยย้ายมาจากนนทบุรี และยังไม่ได้ทำการแจ้งย้าย) หลังจากนั้นอีกพักใหญ่เจโทรเข้ามาหาผม ด้วยน้ำเสียงที่กังวลใจอยู่พอสมควร


 


"ครูครับผมถูกจับที่เขาดิน" ด้วยความสงสัยเนื่องจากผมรู้ว่าเจมีใบอนุญาตทำงานและเป็นของพื้นที่กรุงเทพฯ จึงสงสัยถามกลับไปว่า "ถูกจับได้อย่างไร" เจอธิบายต่อว่า "บัตรของวาเป็นบัตรนนทบุรี" ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าผมไม่สามารถช่วยเจในการอธิบายเรื่องการถือบัตรให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีก เพราะหลายครั้งแรงงานที่ถูกจับมักจะถูกเข้าใจผิดว่าข้ามเขต เนื่องจากอยู่คนละเขตกับพื้นที่ที่ถูกจับซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดเดียวกัน การแก้ไขก็คือการอธิบาย หรือส่งเอกสารเรื่องนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่


 


ผมเสนอว่าให้เจลองเจรจาจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่แทน รวมถึงโทรศัพท์ไปบอกให้นายจ้างทราบก่อน เพราะหากจำเป็นจะได้ขอความช่วยเหลือจากนายจ้างได้ทัน ท้ายที่สุดผมก็ทราบว่าเจได้ใช้การเจรจาต่อรองค่าปรับจากกรณีนี้ โดยตอนแรกเจ้าหน้าที่เรียกค่าปรับสามพันบาท และเมื่อหลังจากโทรศัพท์คุยกับผมและนายจ้างแล้ว เจก็บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าตัวเองมีเพียงห้าร้อยบาท สุดท้ายก็เสียค่าปรับไปหนึ่งพันบาทแทน


 


ผมเห็นว่าการโทรศัพท์หาคนไทยที่ตัวเองรู้จักเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีคนรับรู้เรื่องราวนี้ และคนที่รับรู้นั้นมีความเข้าใจเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่ต่อรองกันระหว่างตัวแรงงานข้ามชาติกับเจ้าหน้าที่ เป็นการแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าตัวเขาเองไม่ได้เป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือหรือเป็นอันตราย แต่ก็จะพบว่าท้ายที่สุดก็จะไม่ใช่กระบวนการดึงดันที่จะไม่โอนอ่อนผ่อนตามเจ้าหน้าที่หรือไม่จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกรณีที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากใส่เสื้อเหลือง หรือใส่กำไลรัดข้อมือสีเหลืองที่บ่งบอกว่า ผู้สวมใส่ "รักในหลวง" แม้แรงงานข้ามชาติจะรู้ว่าไม่ได้ทำให้เขาดูเหมือนคนไทย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทยเหมือนคนไทยคนอื่นๆหรือเข้าใจขนบของสังคมไทย ไม่ได้แปลกหน้าอย่างที่เจ้าหน้าที่คิด


 


ขณะเดียวกันวิธีการแบบนี้ก็ไม่เหมาะกับบางโอกาส เช่น กรณีของลาทวยที่ช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆเลย และจะต้องไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลแจ้งว่าจะส่งตัวแรงงานหญิงคนนี้ไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ในตอนแรกลาทวยก็โทรศัพท์มาปรึกษา ผมเลยแนะนำให้พูดคุยกับทนายความคนหนึ่ง เพราะกรณีนี้มีจดหมายจากกระทรวงสาธารณสุขถึงโรงพยาบาลในเรื่องการไม่ต้องส่งผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์แต่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหากว่าทนายความโทรไปคุยหรือส่งเอกสารให้ทางโรงพยาบาลอาจจะช่วยในกรณีนี้ได้


 


แต่ลาทวยเลือกใช้วิธีการไปแจ้งต่อโรงพยาบาลว่าตนเองเป็นสามีของแรงงานหญิงคนนี้ และใช้วิธีการขอร้องต่อโรงพยาบาลให้เห็นใจ และยืนยันว่าจะจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลครั้งนี้ให้หมด โดยทยอยจ่ายเป็นระยะๆ ต่อมาเมื่อแรงงานหญิงคนนี้คลอดบุตรแล้ว และพบว่าเด็กที่คลอดมีร่างกายไม่แข็งแรง และมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง จนต้องอยู่ในตู้อบและห้องฉุกเฉินเนื่องจากมีอาการหนักมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจนลาทวยไม่สามารถจ่ายค่ารักษาทั้งหมดได้ รวมถึงเด็กก็มีอาการหนักมากทำให้แรงงานหญิงคนนี้จึงโทรศัพท์ปรึกษากับลาทวยอีกครั้ง เขาตัดสินใจให้แรงงานหญิงคนนั้นหนีออกจากโรงพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเด็กมีอาการหนักมากอาจจะไม่สามารถรอดชีวิตได้ และถ้าอยู่ต่อไปเธอก็คงถูกจับและส่งกลับประเทศซึ่งก็มีภาวะความเสี่ยง ในที่สุดแรงงานหญิงและสามีของเธอก็ตัดสินใจหนีออกมาตามคำแนะนำของลาทวย


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ในเบื้องต้นผมมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของลาทวยมากนัก เพราะผมเองมีค่านิยมตามแบบที่ตนเองเคยรับรู้และให้คุณค่ากับความเป็นแม่ตามความคาดหวังในทางสังคมที่ผมดำรงอยู่ ซึ่งความเป็นแม่ประเภทนั้นจะต้องอยู่กับลูกในทุกกรณี ภายใต้อุดมการณ์ทางสังคมที่จะสร้างภาพความรักของแม่ที่ยิ่งใหญ่ตายแทนลูกได้เสมอ โดยไม่ได้คำนึงบริบทหรือข้อจำกัดของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจปรากฏการณ์บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมของผมเพียงเท่านั้น


 


 


บทสรุป : โทรศัพท์มือถือในฐานะเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ทางสังคม และการต่อรองของแรงงานข้ามชาติ 


จากการศึกษาในประเด็นเรื่องนี้ทำให้ผมพบว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเครือข่ายทางสังคม สร้างพื้นที่ในทางสังคมให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าสามารถปรับตัวและสร้างอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะคนข้ามพรมแดนและอยู่นอกบ้านของตนเอง ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมตัวเองกับบ้านเกิดทั้งผ่านการโทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับบ้านเกิด การส่งเงินกลับบ้าน ในขณะเดียวกันก็ใช้ในการสร้างชุมชนของตนเองผ่านเครือข่ายการติดต่อ ชุมชนแบบนี้จะมีทั้งคนที่มาจากบ้านเกิดของตนเอง และคนในสังคมที่ตนเองมาอยู่ด้วย ซึ่งชุมชนดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตภายใต้ภาวะความขัดแย้งและความเป็นอื่นในสังคมใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น


 


ชุมชนดังกล่าวจึงมีลักษณะที่อยู่กึ่งกลาง และซ้อนทับระหว่างบ้านเกิดกับสังคมใหม่ของตนเอง สามารถเชื่อมโยงระหว่างสังคมที่ตนเองอยู่ในขณะนี้กับบ้านเกิดผ่านกิจกรรมต่างๆ และหลายครั้งที่มีส่วนกำหนดหรือผลักดันให้บ้านเกิดขับเคลื่อนไปตามที่พวกเขาหวังและฝันว่าจะเกิดขึ้นด้วย เช่น กรณีการตั้งเครือข่ายเพื่อเคลื่อนไหวผลักดันกรณีที่บ้านเกิดเกิดภาวะไม่ปรกติไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง หรือเกิดภัยพิบัติ


 


ในด้านของความขัดแย้งในสังคมใหม่ที่ตนเองมาอยู่ การสร้างเครือข่ายดังกล่าวได้มีส่วนในการต่อรองและขัดขืนต่ออำนาจที่กระทำต่อพวกเขา การต่อรองและการขัดขืนดังกล่าวไม่ได้แสดงออกว่าพวกเขาจะต้องเป็นหนึ่งเดียวหรือแยกขาดจากสังคมใหม่ แต่เป็นการแสดงถึงภาวะของการมีอยู่ ดำรงอยู่ในภาวะที่แตกต่างกับสังคมใหม่ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนแปลกแยกจากสังคม แต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนสังคมเช่นกัน


 


อย่างไรก็ดีงานศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดในการพูดคุยกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีลักษณะกว้างมากขึ้น และพื้นที่ที่มีลักษณะแตกต่างจากพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันการที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า แม้พวกเขาจะมีความเข้าใจภาษาไทยที่อยู่ในระดับดีและใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นหรือความรู้สึกของพวกเขาได้ดีมากพอ อีกทั้งยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติกับบ้านเกิดของตนเองในแง่มุมที่ลึกมากพอเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ


 


ท้ายที่สุดงานชิ้นนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่ามุมมองที่มีต่อแรงงานข้ามชาติทั้งในแง่ของการมองเป็นภัยต่อความมั่นคงเหมือนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ หรือเป็นผู้ถูกกระทำถูกละเมิดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่เพียงพอที่อธิบายภาวะของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยได้ แต่ผมกลับเห็นว่าพวกเขาได้เป็นผู้ทักทอสายใยของชุมชนหรือสังคมให้เชื่อมโยงตัดผ่านความเป็นรัฐชาติ ตัดผ่านความเป็นชุมชนในจินตนาการ แต่กลับช่วยขยายชุมชนในจินตนาการให้กว้างมากขึ้น รวมทั้งยืนยันความเป็นผู้กระทำของคนธรรมดาในกระแสโลกาภิวัตน์


 


 


 


หมายเหตุ :


คลิกอ่านย้อนหลัง ตอน 1 :  แรงงานพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ


 


คลิกอ่านย้อนหลัง ตอน 2 : แรงงานพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ  : การสร้างเครือข่ายทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net