Skip to main content
sharethis


20 พ.ย. 51  ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา "นโยบายข้าวไทยจะไปทางไหน?" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า นโยบายข้าวของทุกรัฐบาลเป็นแบบ นโนบายคนขี้เมา ที่ทำอย่างสะเปะสะปะ และมักมีการเล่นลิเก โดยรัฐบาลมักออกมาแทรกแซงราคาในขณะที่ราคาตลาดสูงอยู่แล้ว เพื่อหวังผลด้านคะแนนนิยม ลักษณะดังกล่าวส่งผลร้ายต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรจะคอยให้รัฐบาลเนรมิตราคา โดยไม่มีความพยายามในการปรับตัว

 


ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออก และส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่การบริโภคภายในลดลง ต่างจากทุกประเทศที่ส่งออกข้าวจำนวนมาก อย่างอินเดีย เวียดนาม ซึ่งเคยเผชิญหน้ากับความขาดแคลนและคิดถึงเรื่องความมั่นคงภายในก่อน แต่ประเทศไทยใช้นโยบายการตลาดล้วน รัฐบาลใช้การรับจำนำ และมีสต๊อกข้าวจำนวนมาก แต่ก็มีบริหารที่ย่ำแย่โดยไม่มีการเรียนรู้ เป็นการสต๊อกเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบระยะยาวต่อการผลิตข้าว เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจให้ดูแลคุณภาพของข้าว ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐบาลก็รับซื้อ เรื่องนี้ตนสรุปเป็นกฎส่วนตัวอยู่ว่า คุณภาพข้าวจะดีหรือเลว ขึ้นกับสัดส่วนข้าวที่รัฐบาลเป็นผู้ค้า ถ้ารัฐบาลค้ามากคุณภาพจะห่วย แต่ถ้าเอกชนเป็นผู้ค้าหลักจะมีแรงจูงใจที่ดีในการบริหารคุณภาพมากกว่า สำหรับประเทศไทยรัฐบาลคงจะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ต่อไป และคุณภาพข้าวก็จะต่ำลงเรื่อยๆ


 


รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการให้ราคาข้าวสูงเสมอไป สิ่งที่ควรทำคือ ทำให้เกษตรกรมีผลิตภาพดีขึ้น การทำให้ราคาดีเป็นเพียงการเถลไถลไปประเด็นอื่น การช่วยเหลือเกษตรกรนั้นต้องเข้าใจโจทย์ที่แท้จริงของเกษตรกร นั่นคือ พวกเขามีความเสี่ยงสูง จึงต้องช่วยลดความเสี่ยงของชาวนา โดยรัฐบาลอาจเพิ่มมีมาตรการเสริมให้ เช่น การให้เกษตรกรซื้อประกันราคา ไม่ใช่คิดเพียงโจทย์ตื้นๆ ว่าให้ราคาสูงเข้าไว้


 


อัมมารกล่าวว่า ชาวนา อย่างน้อยในภาคกลางไม่ใช่คนจนแต่เป็นนักธุรกิจแล้ว ฉะนั้นอย่าขึ้นราคาข้าวเพราะความคิดที่จะช่วยคนจน ถ้ารัฐบาลต้องการช่วยคนจน ก็ควรคิดนโยบายทางสังคมด้านอื่นเพื่อช่วยเหลือคนจน หรือใช้มาตรการอื่นๆ ในการกำหนดนโยบายข้าวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการรับจำนำในราคาสูง


 


เมื่อถามถึงเรื่องหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในวงจรการผลิตเดิมอย่างไม่อาจเลี่ยง อัมมารกล่าวว่า เชื่อว่าเกษตรกรเป็นผู้เลือกที่จะมีหนี้ และรัฐบาลเป็นผู้โปรยหนี้จนกระทั่งเกษตรกรสามารถหมุนหนี้ได้ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่นักการเมืองทำเลยเถิดไป ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นห่วงชาวนาให้มาก ในต่างประเทศมีการอุดหนุนเกษตรกรจริง แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าประเทศที่ทำเช่นนั้นมักเป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีประชากรทำอาชีพเกษตรกรในสัดส่วนต่ำ ในส่วนของประเด็นความมั่นคงทางอาหารที่ทำให้รัฐจำเป็นต้องมีนโยบายที่เอื้อกับชาวนานั้น เขาเห็นว่า เรื่องความมั่นคงเป็นเพียงนิทานเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกข้าว และไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ส่วนเรื่องวัฒนธรรมก็เข้าใจได้แต่เขาเห็นว่า วัฒนธรรมที่มีชีวิตคือวัฒนธรรมที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำให้หยุดนิ่ง อย่างไรก็ตาม หากต้องการอุดหนุนให้กับชาวนาในมิติวัฒนธรรมโดยเฉพาะก็สามารถทำได้ แต่เป็นคนละโจทย์กับนโยบายเรื่องข้าวโดยรวม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net