เก็บตกเสวนา: ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ ต่อ สถานการณ์การเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 20 ..51 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมรถไฟมักกะสัน จัดสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ ต่อสถานการณ์การเลิกจ้าง" ร่วมจัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และประธานสหพันธ์แรงงานในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมอภิปรายนำเสนอเรื่องของผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ ต่อสถานการณ์การเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

บุญผิน สุนทรารักษ์ ประธานสหพันธ์แรงงานโลหะ กล่าวว่า ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กมีลักษณะวิกฤตหักมุม คือ ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคมมีการขยายตัว แม้โรงงานหลายแหล่งยังอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ก็ยังสามารถผลิตได้เต็มที่ และให้ผลตอบแทนคนงานเป็นที่พอใจแก่คนงาน แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ราคาเศษเหล็กร่วงมาอยู่ที่ 4 บาท เหล็กเส้นที่เคยขายอยู่ 30 กว่าบาทเหลือ 17 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงลดการผลิตทันที จากเคยผลิต 24 ชั่วโมง เหลือแค่ 8 ชั่วโมง เมื่อก่อนมีคนมาขายเศษเหล็กแน่นโรงงาน แต่ตอนนี้มีรถมาส่งเศษเหล็กแทบจะไม่ถึง 10 คัน เพราะฉะนั้น นายจ้างจึงต้องแบกรับทุนในการรีดเหล็ก เพราะซื้อ 18 บาท รีดออกมาแล้วขาย 17 บาท ยังไม่นับรวมค่าน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ในส่วนตัวเลขการปลดคนงานนั้นยังไม่มีตัวเลขชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทางแรงงานจังหวัดระบุคร่าวๆ ว่าที่สมุทรปราการมีสถานประกอบการปิดทำการไปแล้วร่วม 100 แห่ง และมีลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจำนวนมาก และอีกไม่น้อยที่ยังคงเจรจาเรื่องค่าจ้างค้างจ่ายอยู่

ชาลี ลอยสูง ประธานสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ เริ่มต้นเกริ่นถึงสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ว่า มีสหภาพที่เป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 20 แห่ง ใน 20 แห่งนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 2 แห่ง แห่งแรกคือ สหภาพแรงงานฟูจิซึแห่งประเทศไทยเผชิญปัญหาการเลิกจ้างของบริษัท ซึ่งขณะนี้ได้มีการทยอยเลิกจ้างเพื่อไม่ให้ลูกจ้างรวมกลุ่มกันเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพ โดยเฉพาะการเลิกจ้างในส่วนของคนงานจ้างเหมาช่วง และไม่ให้รวมกลุ่มเจรจาต่อรองกับนายจ้าง สำหรับสาเหตุการเลิกจ้างนั้น นายจ้างระบุว่าเป็นเพราะการสั่งของและการผลิตลดลง จึงต้องเลิกจ้างบางส่วนเพื่อรักษาคนส่วนใหญ่ไว้ ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีสัดส่วนของแรงงานจ้างเหมาช่วงอยู่เกือบ 50% ขณะนี้มีคนงานส่วนหนึ่งกำลังยื่นฟ้องศาลแรงงานแล้ว

อีกบริษัทหนึ่ง คือ คาสิโอที่จังหวัดปราจีนบุรี มีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไปประมาณ 120 คน ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันว่าการสั่งของลดลงจึงต้องลดการผลิตและลดต้นทุน โดยในการเลิกจ้างนั้นนายจ้างก็ได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ดี มีคนงานบางส่วนไม่ยอมรับในการบอกเลิกจ้างและได้ฟ้องศาล รวมทั้งร้องเรียนไปยังคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) แล้ว

ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงิน กล่าวว่า ที่มาของวิกฤตเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลก ระบบธนาคารนั้นไม่ใช่ระบบที่แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจหลักของระบบธนาคาร อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชน ไม่ว่าจะได้กำไรสูงสุดอย่างไรถ้าประชาชนไม่ศรัทธา ไม่เชื่อมั่น คนก็แห่กันไปถอนเงินหมด อีกทั้งระบบธนาคารถือได้ว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ คอยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ ถ้าระบบนี้มีโรคหรือพิการขึ้นมา ก็จะลามไปถึงทุกส่วน จากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวมันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง สามารถแยกประเด็นออกไป 2 ประการคือผลกระทบโดยตรงและผลกระทบโดยอ้อม

ผลกระทบโดยตรง คือ กรณีสถาบันการเงินของไทยเข้าไปลงทุนในสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีปัญหา แล้วเกิดความวิตกว่าเงินที่นำไปลงทุนนั้นจะหายไป ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบได้ออกมาชี้แจงและยืนยันหนักแน่นว่าเม็ดเงินที่สถาบันการเงินไทยนำไปลงทุนในสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีปัญหามีไม่กี่พันล้านบาท หากเทียบกับสินทรัพย์รวมของธนาคารทั้งระบบที่มีถึง 94 ล้านล้านบาท ก็ถือได้ว่าวิกฤตตอนนี้มีผลกระทบแบบมดกัดช้าง เมื่อไปดูสถานะของธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการปรับตัวกันอยู่ตามแผนพัฒนาสถาบันการเงิน เมื่อไปดูสถานะทางการเงินแล้วสถานการณ์ทางการเงินก็ยังเข้มแข็ง มีเงินกองทุนรองรับสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่ามาตรฐานเกือบสองเท่า มีหนี้เน่าอยู่ประมาณ 4% ถือว่ายังน้อยแสดงถึงสถานะที่เข้มแข็งของธนาคาร และเมื่อไปดูความสามารถในการสร้างกำไร ปรากฏว่าทุกธนาคาร ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 มีกำไรหมด

ประการที่สองผลกระทบทางอ้อม มีอยู่ 2 อย่าง เรื่องที่หนึ่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน เนื่องจากบริษัทแม่ประสบปัญหาวิกฤตแล้วจะมาถอนเงิน ส่งผลกระทบทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในบ้านเรา ประการที่สองเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง ปรากฏว่าเมื่อดูหนี้งบดุลการชำระเงินระหว่างประเทศแล้ววิเคราะห์ดูบัญชีในปี 2550 โอกาสที่เขาจะถอนออกไปทันทีจากการลงทุนที่เสี่ยงประมาณ 22 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์อีกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์อันนั้นก็เป็นหนี้ระยะสั้น ตัวเลข 22 พันล้านก็จะเป็นตัวเลขที่เกี่ยวกับเรื่องที่สำรองไว้เพื่อการส่งออก ประมาณ 11 พันล้าน หรือครึ่งหนึ่งของหนี้ระยะสั้น ส่วนหลักทรัพย์เมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมาไหลออกเพียง 2.4 พันล้าน ดังนั้น ในส่วนเงินที่ไหลออกอยู่ในระดับพอรับได้ ไม่น่าจะส่งกระทบ

สมาน พรประชาธรรม ตัวแทนจากสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมฯ กล่าวว่า ผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจล่าสุดคือ มีการตัดสภาพการจ้าง บริษัทหลายแห่งตัดวันครอบครัวพนักงาน (family day) ตัดงบประมาณวันครอบครัวพนักงาน โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานจ้างเหมาช่วง หรือ ซับคอนแทรค จะโดนเป็นกลุ่มแรกและรุนแรงเป็นพิเศษ ประเด็นต่อมาคือ เรื่องเออร์ลี่รีไทร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้นซึ่งก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาตัดสิทธิพนักงานตามแฟ้มประวัติการทำงาน กลุ่มคนที่จะโดนตัดสิทธิก่อนคือกลุ่มที่ป่วย สาย ขาด ลา

ยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนและรถยนต์ฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความมั่นคงดี แต่เมื่อดูคนงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์กลับไม่มีสภาพมั่งคงอย่างที่คิด เท่าที่ได้สำรวจ ประมาณการว่าแรงงานในภาคการผลิตนี้มีสูงเกือบ 500,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงแรงงานจ้างเหมาช่วงด้วย ขณะที่ลูกจ้างที่อยู่ในระบบจริงๆ ไม่น่าจะเกิน 200,000 คน นั่นหมายถึงในโรงงานอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์หลายแห่งมีพนักงานไม่ประจำเกินครึ่ง

ประเทศไทยกำหนดภาคการผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ว่าเป็นอุตสาหกรรมส่งออก ยอดการผลิตหลังวิกฤตปี 2540 เหลือ 200,000 กว่าคันต่อปี หลังจากก่อนหน้านี้เราผลิตเกือบ 600,000 คัน พอถึงปี 2541 เหลือประมาณ 140,000 แล้วคนงานจะอยู่ไหนหลังจากถูกเลิกจ้างมากมาย ต่อมาการส่งออกจึงเริ่มขยายตัวดีขึ้นจนถึงปี 47 มียอดการส่งออกมากกว่าการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนในปีนี้มีการส่งออกในสัดส่วน 60% ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 40% และบริษัทหลักๆ ก็มีเพียงประมาณ 10 กว่าบริษัท สำหรับผลกระทบครั้งนี้เราออกแบบสำรวจส่งไปทั้งหมด 28 สหภาพที่อยู่ในบริษัทผู้ผลิต ตอบกลับมา 14 แห่งในเวลาสั้นๆ ซึ่งมีสหภาพประกอบรถยนต์ 3 แห่ง ผลิตชิ้นส่วน 11 แห่ง พนักงานทั้งหมดประมาณสองหมื่นกว่าคน มีพนักงานประจำประมาณ 75% ไม่ประจำประมาณ 25% ข้อเสนอที่อยากบอกสหภาพแรงงานว่าอยากจะให้สหภาพแรงงานให้ความสำคัญในการยื่นข้อเรียกร้องนอกกรอบเรื่องของความมั่นคงด้วย ไม่เฉพาะแต่เรื่องโบนัส และรวมถึงการที่ทำให้นายจ้างหามาตรการที่จะมาชะลอการใช้มาตรการรุนแรงเช่นการเลิกจ้าง

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะตัวแทนจากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ กล่าวว่า ถ้ามองภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเลิกจ้างในปีนี้เท่านั้น แต่เจอปัญหานี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีที่ผ่านมามีการเลิกจ้างจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างบริษัทไทยศิลป์ มีพนักงาน 5,000 คน วันนี้ทำงานพรุ่งนี้ปิดกิจการ นายจ้างไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย คุณมีเงินไปขนของมาขายเอาเองได้เลย หรือบริษัทเจริญสวัสดิ์ ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่มากอยู่ในย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นบริษัทใหญ่จนเมื่อปี 50 เหลือคนงานอยู่ 300 คนแล้วจึงปิดกิจการ แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตปี 2551 ต่อไปถึงปี 2552 จะเป็นช่วงที่น่าห่วงกังวลมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุงานมากที่ทำงานประเภทอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งการลดวันเวลาการทำงานลง การใช้มาตรการ 75 มาตรการเหล่านี้สามารถอาศัยเป็นช่องทางลดลูกจ้างลงได้

อย่างไรก็ตาม วิไลวรรณ ได้ตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วคนที่ทำงานกินค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันนี้จะอยู่ได้หรือไม่ นี่เป็นประเด็นปัญหามาก ผลกระทบที่มันเกิดขึ้นนั้นหนักกว่าประเภทอุตสาหกรรมอื่น นอกจากนี้แล้ว ผลกระทบในส่วนของการไม่หนี ไม่มี มีจ่าย จะทำอย่างไร เพราะมาตรการของกระทรวงแรงงานในการจัดการเรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไรเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท