Skip to main content
sharethis

ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ออกแถลงการณ์ เรียกร้องประชาชนคนไทย ทุกภาคส่วน ทุกชั้นชน ทุกสถานะ พิจารณาทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติส่วนรวม และร่วมกันสื่อสาร แสดงออก หรือกดดัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องเลือกทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติส่วนรวม


 


โดยแถลงการณ์ระบุว่า การชุมนุมของประชาชนในนามเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เมื่อพิจารณากระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ ซึ่งมีพัฒนาการมาโดยลำดับ ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองของพลเมือง และไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เป็นการก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแน่นอน


 


ทั้งนี้ หากมีการสลายการชุมนุมจะสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสียและความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น เช่น หากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน อาจมีต้นทุนความเสียหายต่อส่วนรวมน้อยกว่า


 


"การลาออก หรือยุบสภาของนายสมชาย แม้จะกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมือง แต่กลับจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม และยังผลให้สามารถยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้อย่างสงบ โดยปราศจากความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศชาติในสายตาชาวโลก" แถลงการณ์ระบุ


 


 


 


 


แถลงการณ์


ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550


 


 


ประชาชนทุกคนในประเทศ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์บ้านเมืองที่กำลังระอุอยู่ในขณะนี้ และประชาชนทุกคนในประเทศ ก็สามารถจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ณ เวลานี้


 


ขณะนี้ ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการสลายการชุมนุมของประชาชน ที่ชุมนุมอยู่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง (ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


 


ประเด็นที่ประชาชนและสังคมไทยทุกภาคส่วน ควรจะต้องร่วมคิดร่วมพิจารณา เพื่อตัดสินใจมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองยามวิกฤติเช่นนี้ คือ


 


1) การชุมนุมของประชาชนในนามเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เป็นการก่อการร้ายตามที่ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลอ้าง หรือเป็นการชุมนุมทางการเมืองของพลเมือง ?


 


การพิจารณาประเด็นนี้ ไม่อาจตัดตอนพิจารณาเฉพาะการชุมนุมที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งในขณะนี้เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณากระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยตลอด ซึ่งมีพัฒนาการมาโดยลำดับ


 


ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพันธมิตรฯ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ มิใช่อยู่ๆ พันธมิตรฯ ก็บุกยึดสถานที่สำคัญอย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ หรือไม่มีกระบวนการทางการเมืองมาก่อนหน้า หรือโดยปราศจากเหตุผลและความชอบธรรมทางการเมือง


 


ในความเป็นจริง ก่อนหน้านี้ เครือข่ายพันธมิตรฯ ได้มีกระบวนการสื่อสารข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริง การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง การชุมนุมบนท้องถนน การชุมนุมในสถานที่ราชการสำคัญ การเดินขบวนเพื่อแสดงออกทางการเมืองและเรียกร้องต่อองค์กรการเมืองในรูปแบบ "ดาวกระจาย" เป็นต้น ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นการแสดงออกทางการเมือง บนพื้นฐานของการเรียกร้องเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การปกป้องอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของฝ่ายตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การต่อต้านกลุ่มการเมืองที่รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการยกระดับการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากฝ่ายการเมืองผู้กุมอำนาจรัฐ


 


ข้อเท็จจริงสำคัญยังปรากฏด้วยว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเครือข่ายพันธมิตรฯ มิได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด หรือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นสำคัญ


 


กระบวนการเคลื่อนไหวและเรียกร้องต่อรัฐบาลของเครือข่ายพันธมิตรฯ จึงเป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจน เป็นการเรียกร้องต่อกลุ่มการเมืองที่ตนเองเห็นว่าสูญสิ้นความชอบธรรมทางการเมืองและไม่สามารถที่จะปกครองประเทศต่อไป แม้จะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็เป็นธรรมดาของการเมือง แต่มิใช่เป็นการก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแน่นอน


 


2) วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควรใช้การสลายการชุมนุม หรือการที่รัฐบาลจะยุบสภา / ลาออก ?


 


วิธีการที่จะทำให้เครือข่ายพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมทางการเมืองบริเวณท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งนั้น หากพิจารณาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ผูกติดกับผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มในรัฐบาล จะพบว่ามีทางเลือกมากกว่าการสลายการชุมนุม


 


พึงพิจารณาว่า หากใช้วิธีสลายการชุมนุมจริง ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสียและความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งในระหว่างที่ดำเนินการสลายการชุมนุมและหลังจากนั้น เพราะจะนำไปสู่การลุกฮือต่อต้าน การเคลื่อนไหวตอบโต้อำนาจรัฐทั่วประเทศ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงครั้งใหญ่ และแม้จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่ก็ยากที่จะหลบเลี่ยงความเสียหายที่ตามมา


 


เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น เช่น หากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน อาจจะพบว่า มีต้นทุนความเสียหายต่อส่วนรวมน้อยกว่านั้น


 


การลาออก หรือยุบสภาของนายสมชาย แม้จะกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมือง แต่กลับจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม และยังผลให้สามารถยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้อย่างสงบ โดยปราศจากความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศชาติในสายตาชาวโลก


 


พิจารณาว่า จริยธรรมพื้นฐานของผู้อาสาเข้ามาทำงานทางการเมือง คือ การเสียสละซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่การมุ่งเอาชนะคะคาน หรือมุ่งรักษาอำนาจ หรือเล่นเกมการเมืองเพื่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ดังนั้น เมื่อเห็นว่า การรักษาอำนาจการเมืองของตน จะนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม นำมาซึ่งความย่อยยับของประเทศชาติ นักการเมืองที่มีจริยธรรมย่อมจะต้องยอมสละเสียซึ่งอำนาจส่วนตัว เพื่อรักษาบ้านเมืองส่วนรวมให้สามารถเดินหน้าได้ต่อไป


 


ถึงเวลาที่ประชาชนคนไทย ทุกภาคส่วน ทุกชั้นชน ทุกสถานะ จะต้องพิจารณาทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติส่วนรวม และร่วมกันสื่อสาร แสดงออก หรือกดดัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องเลือกทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติส่วนรวม


 


ชมรม สสร.50


28 พฤศจิกายน 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net