Skip to main content
sharethis

วานนี้ (28พ.ย.) เวลา 14.00 น. นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวที่ห้องประชุมวรรณไวทยากร ตึกโดม มธ. เรื่องบทเสนอแนะการฝ่าวิกฤตการเมืองไทยที่ตระหนักถึงรากเหง้าแท้จริงของปัญหา


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงข่าวนายธีรยุทธ ไม่ได้สวมเสื้อกั๊ก แต่สวมเสื้อเชิ๊ตสีขาวแขนยาว โดยนายธีรยุทธ กล่าวก่อนอ่านบทเสนอแนะฯ ว่า ตนมาแถลงข่าวด้วยความหดหู่ใจจึงอยากใส่เสื้อขาว ไม่อยากใส่เสื้อกั๊ก


 


ทั้งนี้ บทเสนอแนะฯ ของนายธีรยุทธ มีการเสนอรัฐบาลควรเปิดการเจรจากับพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้มีทางออกโดยไม่เสียเลือดเนื้อ รัฐควรตั้งคณะกรรมการเจรจากับแกนนำพันธมิตรอย่างเปิดเผยโปร่งใสต่อสาธารณชน ก่อนจะตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ ที่จะนำพาไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ


 


นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะต่อพันธมิตรฯ ให้ปรับยุทธวิธีการต่อสู้โดยเป็นฝ่ายเลือกประกาศยุติการเคลื่อนไหวทั้งหมดทันที และยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด


 


อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะตอนหนึ่งระบุว่า โครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จที่คอร์รัปชั่น ใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นภัยคุกคามต่อสถานะของสถาบันดั้งเดิมต่างๆ อย่างมาก จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับเป็นแรงเหวี่ยงอย่างรุนแรง จะทำให้ทุกๆ ส่วนของประเทศขัดแย้งร้าวลึกมากกว่าปกติไปในทุกๆ ส่วน ไม่เพียงระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ระหว่างพรรคการเมือง ข้าราชการ กองทัพ ตำรวจ กลุ่มศาสนา กลุ่มธุรกิจ วิชาชีพ ฯลฯ ทุกสถาบันตั้งแต่ศาล มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน วิชาชีพต่างๆ ถูกดึงดูดเข้าสู่หลุมดำแห่งความขัดแย้งนี้ จนหลายส่วนสูญเสียสถานะและความศรัทธา ซึ่งอาจเลวร้ายมากขึ้นไปเรื่อยๆ


 


ทั้งนี้ยังระบุด้วยว่า ถ้ารัฐเลือกสั่งการให้ตำรวจสลายการชุมนุม จะส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ญาติมิตร พวกพ้องจะไม่ยินยอม มีการต่อสู้จลาจลไม่จบสิ้น นำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด


 


ภายหลังอ่านข้อเสนอแนะฯ นายธีรยุทธ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้มีโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารสูงมาก จะเห็นได้จากฉากที่เกิดขึ้นทั้งหมด


 


"โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารสูงมากเท่าที่มองเห็น เพราะความขัดแย้งมันแก้ไม่ตก" นายธีรยุทธกล่าวและว่า ปัญหาใหญ่คือระบบการเมืองมีข้อบกพร่องปัญหาเรื้องรัง การซื้อเสียงทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งตอนนี้ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ถูกต้อง


 


ต่อกรณีพรรคพลังประชาชนปลุกคนเสื้อแดงขึ้นมาสู้ ขณะที่ก็มีการชุมนุมของอีกฝ่าย นายธีรยุทธกล่าวว่า ตอนนี้ถูกทำให้กลายเป็นความรู้สึกที่รุนแรงที่ไม่ดีต่อกัน


 


"การแก้ปัญหาอุดมการณ์เป็นเรื่องแก้ยากอยู่แล้วเพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก และการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์มักจะบอกว่าทำไปจนกว่าจะบรรลุสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ปัญหาการเมืองไทยคือการเมืองในระบบที่เอาเสียงส่วนใหญ่ คือเสียงส่วนใหญ่ว่ายังไงก็ว่าตามกัน เป็นการเมืองในระบบประชาธิปไตย แต่คราวนี้เมื่อระบบไม่ทำงานก็เกิดอุดมการณ์คือจะทำตามความเชื่อความคิดของตัวเอง ถ้าไม่บรรลุก็ไม่เลิกไม่หยุด เชื่อว่าฝ่ายตัวเองถูกอีกฝ่ายผิด ก็จะสู้จนกว่าความผิดจะปรากฏออกมา ซึ่งอุดมการณ์แรงเหมือน 6ตุลา ซึ่งก็จะคลี่คลายด้วยการปะทะที่รุนแรง หลีกเลี่ยงได้ลำบากมาก ในที่สุดก็จะเกิดการเมืองอีกแบบ คือการเมืองของจริง Real politic ก็คือการเมืองที่ใช้อำนาจ วัดกันด้วยอำนาจ ก็คือการปฏิวัติรัฐประหาร และผมคิดว่าตอนนี้มันกำลังไปสู่จุดนั้น คือวิธีคิดของฝ่ายอำนาจรัฐหรือฝ่ายก็ทัพ หรือตำรวจก็ดี มีวิธีคิดแบบการเมืองของจริง ไม่ใช่การเมืองเป็นระบบ เพราะเชื่อว่าในที่สุด ปัญหาตัดสินด้วยกำลัง"


 


เมื่อถามว่าการปฏิวัติรัฐปะหารเป็นทางออกหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า นักวิชาการจะไม่คิดว่าการปฏิวัติเป็นทางออก


 


"ในฐานะนักวิชาการเราก็จะคัดค้านการรัฐประหารหรือการปฏิวัติอยู่เสมอ เพราะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งต้องแยกแยะกับการวิเคราะห์ว่าบ้านเมืองจะเป็นยังไงอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้น ต้องชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารมีสูง"


 


ถามว่าการรัฐประหารเกิดแล้วรอบหนึ่ง ถ้าเกิดรัฐประหารอีกรอบจะกลับมาวังวนเดิมหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า "อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ จะแย่กว่าเดิม"


 


เกี่ยวกับการที่หลายฝ่ายได้เลยขอบเขตของการเจรจาไปแล้ว นายธีรยุทธกล่าวว่า ตอนนี้ก็ตึงขึ้นมาก จึงเสนอว่าตอนนี้ก็มีจังหวะ คือมีมาตรการฉุกเฉินแล้ว แต่ก่อนจะทำอะไรรุนแรงก็ควรเปิดทางออกสักครั้งหนึ่ง ในเมื่อเป็นคนไทยด้วยกัน อย่าไปสร้างภาพว่าพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มที่ไม่ฟังอะไร แล้วรัฐบาลจะไปใช้กฎหมายก่อการร้าย


 


"อันนี้ผมคิดว่าไม่ดี เพราะเป็นการสร้างหรือกระพือความเกลียดชังในสังคม อันนี้ต้องเปลี่ยนทัศนะคติเพื่อลดความรุนแรง และควรเปิดโอกาสคุยกันสักหนก่อนอาจจะนำไปสู่การเจรจาอย่างที่หลายฝ่ายเสนอมา เช่น รัฐอาจส่งคนที่มีน้ำหนัก มีเหตุและผลดี เข้าไปเจรจากับผู้นำพันธมิตรฯ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ขณะนี้ เป็นการเจรจาคลี่คลายสถานการณ์เบื้องหน้า ถ้าเลือกคนที่ดีจำนวนหนึ่งจากฝ่ายรัฐในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ใช่คนๆ เดียว น่าจะเกิดการรอมชอมหาจุดพ้องต้องกันได้" นายธีรยุทธกล่าว


 


เมื่อถามว่ากว่าจะตั้งกรรมการได้จะช้าไปหรือไม่เพราะพันธมิตรฯได้ทุบหม้อข้าว เอาเศรษฐกิจประเทศเป็นเดิมพัน นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่รุนแรง ที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้น แต่อยากให้ทุกอย่างอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง


 


"ถ้ามองสั้นๆ แคบๆ ใกล้ๆ ก็บอกว่าพันธมิตรฯ ไปยึดทำเนียบ ไปปิดสนามบิน ผิดกฎหมาย เสียผลประโยชน์ประเทศชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่มองสั้นที่สุด ถ้ามองกลางๆ  ก็อย่างที่พันธมิตรฯ พูดว่าทั้งหมดเกิดมาจากระบอบทักษิณ คอรัปชั่น โกงกิน ใช้อำนาจไม่ชอบ เกิดผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ มีนอมินี ถ้ามอบแบบนี้ก็เห็นคนผิดเพิ่มขึ้น ถ้ามองไกลไปกว่านั้นก็คือเป็นกรรมของประเทศ คือไม่สามารถผลักดันให้ดีกว่านี้ไปได้ เพราะโครงสร้างทั้งหมดไม่ได้ดุล พอเรามองให้มันกว้างจะพบว่าปัญหามันใหญ่ มันหลากหลายพอไหมที่เราจะลดอคติ แล้วพอไหมที่เราจะหันมาชำเลืองหาทางออกกันบ้าง"


 


เมื่อถามว่าพร้อมเป็นตัวกลางไปเจรจากับพันธมิตรฯ หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนอาวุโสน้อยเกินไป แต่มีความเป็นเพื่อนต่อพันธมิตรฯ หากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ก็พอได้


 


นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องคิดกลไกที่จะมาช่วยคลี่คลายปัญหา ตนเคยสอบถามคนที่เกี่ยวข้องว่าอยากให้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถทำให้เห็นความผิดจริงที่พิสูจน์ยืนยันได้เป็นพื้นฐาน ไม่ใช่คำสั่งหรืคำตัดสินว่ามันผิดอย่างเดียว ฉะนั้นต้องหาความจริงมาตีแผ่


 


ถามว่ามีข้อเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนเห็นว่าบทบาท พ.ต.ท.ทักษิณ น้อยลงไป พ.ต.ท.ทักษิณมีความสำคัญระดับหนึ่ง เป็นไปได้ว่ามีโอกาสเป็นตัวละครสำคัญในอนาคต เพราะประเทศประชานิยม มีบทเรียนที่ผู้นำจะกลับมาอีก


 


"ผมไม่พูดเหมือนบางคนที่ว่าทักษิณเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง ผมคิดว่าไม่ใช่ ถ้าโดยสายตาผม คิดว่าที่คุณทักษิณให้สัมภาษณ์ หลังๆ สะเปะสะปะแล้วล่ะ สะท้อนว่าฟอร์มไม่ดีแล้ว เท่าที่เห็นจากการสังเกตการทำงานที่ผ่านมาเนี่ย เห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ครั้งหลังๆ สะท้อนว่า คุณทักษิณฝีมือตกแล้ว ฟอร์มตกแล้ว เราควรมองว่าปัญหาเป็นโครงสร้างใหญ่ ตัวบุคคลเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคลล้วนๆ ผมคิดว่าคุณทักษิณ เป็นตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น ผมไม่ถือว่าเป็นหัวใจของปัญหา" นายธีรยุทธกล่าว


 


ต่อคำถามที่ว่าฝ่ายรัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ยังอยากให้อดทนฟังเสียงสังคม และทุกฝ่ายต้องใช้ความพยายามให้มากกว่าที่ผ่านมา


 


เมื่อซักว่าจะให้น้ำหนักกับกรณีที่ประเทศเสียหายในเรื่องความสงบเรียบร้อยและเศรษฐกิจอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า ก็ให้น้ำหนักสูงในเรื่องความสงบเรียบร้อยและเศรษฐกิจ


 


"คือผมก็ไม่อยากให้เกิด เช่นเรื่องการยึดสนามบินก็อยู่นอกเหนือการจินตนาการของผมเลย ไม่เคยอยู่ในจินตนาการว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหาก (รัฐบาล) บุ่มบ่ามอยากจะปราบมากเหลือเกินจนคนตายเยอะๆ เนี่ย ไอ้ฉากแบบนี้ก็เสียหายต่อประเทศมหาศาลนะ คือนึกออกไหมครับ ไอ้ฉากแบบนี้ถ้ามันมี ก็จะเป็นอะไรที่ตรา... ไปมหาศาลกับประเทศ หรือถ้าเกิดคุมไม่อยู่ มีคนตายเยอะ มีการเผาหรือระเบิดหรืออะไรขึ้นมา แล้วภาพที่เกิดก็จะเสียหายร้ายแรง ฉะนั้นอย่ารีบร้อนเอาจำนวนเอาตัวเลข ซึ่งคุณสมชาย (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี) พูดใส่ไข่มากเลย เมื่อคืนนี้ ที่บอกว่าเสียหายวันละแสนล้านวันละหลายหมื่นล้าน อันนี้ผมว่าพูดเหมือนอยากจะยุให้มันมีการสลายคนไวเกินไป อันนี้ผมคิดว่าอย่าเพิ่ง โดยเฉพาะ ผมก็ติงฝ่ายที่เสียผลประโยชน์เรื่องนี้มากๆ หรือคนที่อยู่ในส่วนภาคธุรกิจภาคเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่มีปัญหาจะบ่นว่าเดือดร้อนมากลำบากมาก แต่เวลา50 ปีที่ผ่านมาที่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ภาคธุรกิจไม่เคยกระโดดลงมาตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ระบบการเมืองมันดีขึ้น ก็อาจจะเป็นกรรมของทุกฝ่าย ผมก็ประสบกรรมเพราะภรรยาผมก็ติดอยู่ต่างประเทศ เดินทางทางเครื่องบินไม่ได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาใช้"


 


นายธีรยุทธ กล่าวถึงกรณียุบพรรคว่า หากมีการยุบพรรค นักการเมืองก็พยายามจะตั้งรัฐบาลต่อโดยธรรมชาติ และบอกว่าตัวเองไม่ผิดเพราะมาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าคนจะรู้สึกว่าทำไมถึงดื้อรั้นดิ้นรนที่จะทำต่อไปไม่ยอมจบสิ้น ไม่ยุบสภาสักที


 


"แต่พูดง่ายๆ ว่าผมไม่เคยเห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ การยุบสภา ลาออก ผมคิดว่าไม่ใช่ทางออก ผมไม่เคยเสนอ แต่อยากให้มองปัญหาใหญ่ๆ แล้วก็ชี้ว่ามันจะไปทางไหน แล้วก็แนะว่าควรจะแก้ยังไงในภาวะที่เหมาะสม"


 


นายธีรยุทธ กล่าวว่าถ้าเราคลี่คลายวิฤตนี้ไม่ดีและกระบวนการคลี่คลายก็ยังไม่ตระหนักถึงพื้นฐานปัญหาบ้านเมือง ทั้งนี้คิดว่าปัญหาข้างหน้าจะใหญ่และก็ร้ายแรงกว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่  เพราะสัญญาณมีที่ส่อไปทางนั้น ภายในสัก 2 สัปดาห์เชื่อว่าจะเห็นได้ว่าคลี่คลายไปในทางใด


 


"ไม่มีที่ไหนมีประชาธิปไตยแบบสวยสดงดงามแต่แรก ในต่างประเทศมีความขัดแย้งมาแต่ต้นประชาธิปไตย ฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีการเลือกตั้งเข้ามา เพราะต้องมีรากฐานความขัดแย้งมาจาก ขุนนาง นายทุน ชาวบ้าน สื่อ และภาคสังคม ที่แย่งที่นั่งในสภามาหลายร้อยปี ต้องมาสร้างดุลยภาพกัน"


 


"ไม่อยากให้ถึงขั้นนองเลือด แต่อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอำนาจของตัวเอง ตามจริงผมก็ดีใจที่ประชาชนตื่นขึ้นมาแต่ต้องตัดวิธีการที่รุนแรง ในระยะยาวจะได้มีพลังมาถ่วงคนโน้นคนนี้"


 


ทั้งนี้ นายธีรยุทธ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องบทบาทของทหาร โดยระบุว่ายาก ตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามนายธีรยุทธกล่าวแสดงความคิดเห็นว่าเชื่อที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกมาบอกว่าไม่อยากปฏิวัติ แต่ถ้าถามว่า เหตุการณ์จะเป็นตามนั้นหรือไม่ ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นตามนั้น คือเขามีความมุ่งมั่นไม่อยากทำปฏิวัติ แต่ในที่สุดโอกาสที่เหตุการณ์จะนำไปสู่จุดนั้น เป็นไปได้สูง


 


ถามต่อว่า หากคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกันแล้วทหารควรออกมารัฐประหารหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งการวิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พบปะหรือกินข้าวกับนายทหารในกองทัพหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวยืนยันว่า ตั้งแต่เลือกตั้ง 23ธ.ค.50 ตนไม่เคยกินข้าวกับนายทหารคนใดแม้แต่คนเดียว


 


ถามว่าระหว่างนายกฯ และผบ.ทบ. ใครจะปลดอีกฝ่ายก่อนกัน นายธีรยุทธ กล่าวว่า อาจจะมีปาฏิหาริย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net