Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 27 ..51 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์และแถลงข่าวเรื่อง "ถึงเวลานำประเทศกลับสู่ระบบนิติรัฐ ยุติการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรผู้นำทุกฝ่ายต้องควบคุมมวลชนของตนให้ตั้งอยู่ในความสงบและปราศจากอาวุธ" เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองจากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น


 


ทั้งนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษม เพ็ญภินันท์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย มธ. อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. วราภรณ์ แช่มสนิท อาจารย์ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ (อ่านได้ที่นี่) ได้มีการกล่าวเสริมถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ และที่มาต่อท่าทีของกลุ่ม ดังต่อไปนี้


 


ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้สิทธิการชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้นไม่เข้ากับมาตรา 63 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งในการใช้สิทธิในการชุมนุมนั้นต้องไม่ทำความเดือดร้อนหรือไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แต่ในการใช้สิทธิตรงนี้นั้นไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพและสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลออกคำสั่งให้พวกเขาออก ซึ่งก็อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ (ล่าสุด ศาลไม่รับคำร้องของพันธมิตรฯ -ประชาไท) ซึ่งตอนนี้ผมกำลังดูว่าเขากำลังทำความผิดกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายก่อการร้ายด้วยหรือเปล่า รวมไปถึงตัว พรบ. ความผิดบางประการของท่าอากาศซึ่งไทยเป็นภาคีด้วย ซึ่งมันเป็นความผิดที่กระทำขึ้น ณ ท่าอากาศยาน ซึ่งเมื่อดูจากตัวบทที่เป็นอังกฤษน่าจะเข้าข่าย เพราะว่ามันมีองค์ประกอบอันหนึ่งก็คือการไปรบกวนเกี่ยวการให้บริการของท่าอากาศยาน แต่จะเป็นความผิดจะมากน้อยเท่าไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งความผิดอันนี้ค่อนข้างที่จะหนักโดยความผิดฐานก่อการร้าย


 


ประสิทธ์กล่าวต่อไปอีกว่า ประเด็นก็คือ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่บอกให้ออกจากสนามบินไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลใช้มาตรการสลายการชุมนุมไม่ได้ ยังใช้ได้ เพียงแต่ว่าคำสั่งของศาลปกครองบอกว่าให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งเขาเห็นว่าต้องมีการสลายการชุมชุมโดยเร็วที่สุด แต่เชื่อได้ว่าถ้าใช้มาตรการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นน้ำ แก๊สน้ำตา ส.. 40 คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ สายอำมาตย์ หรือใครก็แล้วแต่ต้องออกมาบอกว่าใช้ความรุนแรง รัฐบาลเข่นฆ่าประชาชน


 


บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในตอนนี้เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 แต่จริงๆ เป็นการเคลื่อนไหวที่เกินกว่าที่มีสิทธิ ดังนั้นลักษณะที่ปฏิบัติการต่างๆ ทั้งไปยึดสถานที่ของรัฐบาล สถานที่สาธารณะที่ต้องใช้ร่วมกันอย่างสนามบิน และลักษณะของการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เองไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นอารยะขัดขืน เพราะไม่เข้าลักษณะอารยะขัดขืนในทุกกรณี เพราะอารยะขัดขืนมีหัวใจสำคัญอยู่บนการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ปฏิวัติ


 


บุญส่ง กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือลักษณะของอารยะขัดขืนนั้นอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา ดังนั้นการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่มีทิศทางที่ล้มระบอบรัฐสภา หรือทำให้กลไกของรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการไปได้ ทั้งหมดนี้ถือได้เป็นลักษณะที่ไม่ใช่อารยะขัดขืน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายในการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ วันนี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศกระทบอย่างรุนแรง และประการต่อมาก็คือประชาธิปไตยสมัยใหม่อยู่บนหลักการที่ว่าทุกคนเสมอภาคกันเมื่ออยู่เบื้องหน้ากฎหมายซึ่งก็คือหลักปฏิบัติ เราจะเห็นว่าพันธมิตรฯ เลือกที่จะใช้กฎหมายในบางครั้ง แล้วเรียกร้องให้มีการแก้โครงสร้างเพื่อเพิ่มอภิสิทธิ์กับคนบางกลุ่มซึ่งอันนี้ขัดแย้งโดยพื้นฐาน


 


พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากที่จะขยายประเด็นที่เราเรียกร้องให้มีการยุติการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯ ในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั้งหมด แต่เมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มันได้ล้ำเส้นกรอบของกฎหมายโดยไม่คำนึงกฎเกณฑ์ใดๆ ในบ้านเมือง ไม่คำนึงว่าสิ่งที่ได้กระทำนั้นสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างไร ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งในทางเศรษฐกิจก็ทราบกันดี แต่ในทางการเมืองสิ่งที่เราเห็นก็คือว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำนั้นไม่ใช้การเคลื่อนไหวในลักษณะที่แค่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่เป็นความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐด้วยวิธีการของตัวเอง แล้ววิธีการที่พันธมิตรฯ ใช้เป็นวิธีการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นบ้านเมือง ถึงระดับที่คนจำนวนมากทนไม่ได้ เห็นได้ว่าได้มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอีก แม้กระทั่งนักธุรกิจเอง สิ่งที่นักธุรกิจต้องการคือความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่จะทำให้ความเสียหายของผลผลิตของเขาลดน้อยลงที่สุด ซึ่งคิดว่าถ้าเรายอมรับสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำแบบนี้ เท่ากับเรายอมจำนนกับวิธีการของพันธมิตรฯ ที่ใช้คนหมู่มากของตัวเองเข้ายึดสถานที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นนี่กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานอันหนึ่ง ถ้าหากเรายอมจำนนให้สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้และเขาได้ชัยชนะ และในอนาคตไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ วิธีการนี้ก็จะกลายเป็นวิธีการที่จะเกิดขึ้นอีกให้สังคมไทย


 


เกษม เพ็ญภินันท์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นหลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือคำถามของความมักง่ายของสังคมนี้ โดยเมื่อดูที่บทบาทของข้าราชการประจำ ซึ่งเมื่อวาน (26 พ.ย.) ทุกคนคงจะทราบกันดีว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกมาพูดกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งแรงกัดดันตรงส่วนนี้เรากดดันรัฐบาล แต่ถามว่าทำไมเราไม่กดดันพันธมิตรฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพันธมิตรฯ ฝืนหลักนิติรัฐ ประเด็นต่อมาก็คือว่าความต้องการของภาคเอกชนส่วนหนึ่งที่เข้าประชุมเมื่อวานนี้คือต้องการให้เรื่องนี้จบโดยเร็วด้วยวิธีการใดก็ได้ ซึ่งถือว่านี่คือความมักง่ายของสังคม ถ้าสังคมยอมรับอันนี้ การกระทำแบบพันธมิตรฯ อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีก เราควรจะถอยไปดูที่กติกาหรือครรลองของสังคมอยู่ตรงไหน ครรลองของระบอบประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน ซึ่งสิ่งต่างๆ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ให้รัฐบาลลาออกไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้ ทางออกปัญหาคือเราควรจะผลักดันให้พันธมิตรฯ ยอมสลายการชุมนุม


 


เกษม กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คือบทบาทของศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ซึ่งในด้านหนึ่งค่อนข้างจะสนับสนุนพันธมิตรฯ โดยทางอ้อมหรือให้ท้ายพันธมิตรฯ ที่น่าสนใจคือ ประเด็นการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ตั้งแต่ศาลคุ้มครองเอเอสทีวี ซึ่งเอเอสทีวีมีส่วนสำคัญอันหนึ่งที่จะหลอมให้คนไปอยู่กับพันธมิตรฯ และกระบวนการต่างๆ แม้แต่การชุมนุมในที่ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถใช้กำลัง และประเด็นที่สองคือการที่ศาลสามารถที่จะให้ประกันตัวผู้ต้องหากรณียึดรถเมล์สาย 53 สามารถประกันตัวออกไปซึ่งเข้าใจว่าเป็นการอ้างฉากของพันธมิตรฯ การกระทำทั้งหมดเป็นการให้ท้าย ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งกว่านั้นการให้ท้ายนี้ยิ่งทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ หรือว่าแกนนำพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งเหิมเกริมไปด้วย ทั้งนี้ระบบศาลปกครองและกระบวนการศาลต้องเข้ามารับผิดชอบ ในแง่ของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาพรวม


 


อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกระบวนการให้ท้ายพันธมิตรฯ ว่าพันธมิตรฯ ไม่สามารถมีวันนี้ได้ ไม่สามารถที่จะกล้า หรือแม้กระทั่งยึดสนามบินถ้าไม่มีกระบวนการให้ท้าย เพราะฉะนั้นในจุดนี้เราจะทำอย่างไรให้พันธมิตรฯ กลับสู่หลักนิติรัฐให้ได้ ทางเลือกทางแรกคือให้พันธมิตรฯ เคารพกฎหมาย มันต้องการพลังจากสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มักจะเรียกตัวเองว่านักวิชาการ ปัญญาชน องค์กรสิทธิต่างๆ พวกนี้ผมขอเรียกร้องให้ท่านที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ อย่าให้ท้ายพันธมิตร อาจารย์สุรพล ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายควรจะต้องถามตัวเองว่าท่านมีความเป็นนักกฎหมายของท่านแล้วหรือยัง ถ้าท่านยังไม่ลืมความเป็นนักกฎหมายของท่านท่านต้องยืนยันหลักนิติรัฐ ท่านต้องกล้าที่จะออกมาพูดว่าสิ่งที่พันธมิตรทำมันปฏิเสธหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ ไม่เฉพาะอาจารย์สุรพลที่เป็นนักกฎหมายโดยตรง อธิการบดีนิด้า อาจารย์คณะรัฐศาสตร์หลายๆ ท่าน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่อยู่ในประเทศนี้ออกมาพูดมากกว่านี้แล้วหรือยัง ออกมาพูดความจริงได้แล้วว่าสิ่งที่พันธมิตรทำในวันนี้มันเกินกว่าหลักนิติรัฐมากเกินไปแล้ว เกือบจะเป็นอันเดียวแล้วที่เห็นจะสามารถขวางไม่ให้พันธมิตรลากประเทศเป็นตัวประกันเข้าสู่สงครามกลางเมือง นี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน


 


วราภรณ์ แช่มสนิท สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่หมายความว่าใครจะทำอะไรก็ได้ รัฐไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่ง ห้ามบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษยชนไม่ใช้หมายความว่าคนบางกลุ่มในสังคมสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ หรือแม้กระทั่งสิทธิในการรวมกลุ่ม ในการชุมนุมในหลักสากกลก็มีข้อกำหนดไว้ ว่าไม่รบกวนต่อความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในกรณีของพันธมิตรนั้นไปไกลกว่านั้น ไปไกลกว่าการชุมนุมโดยสงบ เป็นชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมติดอาวุธเพื่อที่จะล้มล้างรัฐบาล ไม่ใช่การชุมนุมของภาคประชาชน ที่จะต่อรองประเด็นต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมา ตรงที่นี้ถ้าเราแยกแยะให้ชัดเจนจะทำให้เข้าใจผิดไป ซึ่งนี้คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพราะฉะนั้นในกรณีของพันธมิตรคิดว่าเราไม่ควรจะเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องให้ฝ่ายใดทำอย่างโน่นอย่างนี้ ในเวลานี้ทุกคน ทุกฝ่ายในสังคม ต้องเรียกร้องให้พันธมิตรหยุดการเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเชิง โดยไม่มีเงื่อนไข อันนี้คือข้อเรียกร้องที่สำคัญ ณ เวลานี้ที่สำคัญ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้มันไม่ได้เป็นการฟาดฟันกันระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาลสมชาย มันเป็นกรณีที่พันธมิตรได้เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อชัยชนะของตัวเองในการที่จะเปลี่ยนแลงการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย


 


ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ในสถานะที่จะต้องรักษากฎระเบียบของรัฐ คุณต้องมีความรับผิดชอบในการรักษาระเบียบของสังคม ผมคิดว่าสิ่งที่อันตรายคือศรัทธาที่มีต่อกฎระเบียบต่อสังคม ตอนนี้เราต้องการศรัทธา ถึงเวลานี้ศรัทธาที่มีต่อสถาบันต่างๆ ที่จะมีบทบาทในสังคม ผมสงสัยว่าอาจจะไม่มีเหลืออีกแล้ว จนเกิดภาวการณ์ยกเว้น เปิดภาวะที่ให้อำนาจนอกระบบแทรกเข้ามา ผมสงสัยว่าอำนาจนอกระบบยังมีความชอบธรรมอยู่อีกหรือเปล่า ศรัทธาที่เราควรจะมีคืออะไร คือเราต้องมีศรัทธาต่อระเบียบต่อสังคม อย่างน้อยสิ่งที่เราเรียกว่าหลักนิติธรรม หรือหลักนิติรัฐ คุณควรจะยึดมั่นไว้


 


ถึงตรงนี้เองภาวะที่อันตรายก็คือภาวะที่เราเปิดช่องว่างให้เกิดภาวะยกเว้นแล้วเกิดอำนาจ ที่สถาบันบางสถาบันเข้ามาแทรกแซง ประเด็นหนึ่งกลุ่มสันติประชาธรรมถูกมองในลักษณะที่ว่าเป็นกลุ่มที่เป็นกลาง หรือมีส่วนในการสร้างสภาวะที่จะเกิดการแทรกแซงของอำนาจตรงนี้ เคยพุดไปแล้วว่าอย่างน้อยในกลุ่มของเราผมประกาศความไม่เป็นกลาง เพราะว่าความเป็นกลางมักจะทำให้เกิดภาวะยกเว้นแล้วมีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ


 


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันก็คือการต่อสู้ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าระบบกับบุคคล ว่าสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นมาจะเลือกหรือให้น้ำหนักระหว่างสิ่งที่เรียกว่าระบบหรือสถาบันสังคมในการปกครองทางการเมืองกับตัวบุคคล คือถ้าพูดง่ายๆ คือเมื่อวานนี้ที่นายกสมชายพูดเสร็จ จะมีคนถามทันทีเลยว่าเป็นไงฟังแล้วชอบใจไหม ผมเดาได้ว่าเสียงส่วนใหญ่บอกได้เลยว่าไม่ถูกใจเพราะว่าไม่ได้ตอบคำถาม นี่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะฉะนั้นฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายคัดค้าน ฝ่ายที่สนับสนุนการล้มรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ จัดอยู่ในฝ่ายที่ไม่เชื่อแล้วว่าระบบทำงานได้ ดังนั้นอีกขั้วหนึ่งก็ชูทางออกหรือข้อเสนอว่าก็ต้องไปหาตัวบุคคล ทางออกที่จะมาแทนที่การต่อสู้ในระบบนั้นคือจะต้องมานอกระบบ และเสียงที่น่าสนใจว่าคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพผมคิดว่าเสียงจำนวนมากของคนชั้นกลางที่มีการศึกษากำลังบอกว่าไม่ต้องเอาระบบแล้วตอนนี้ เอาตัวบุคคลแล้วกัน เอาคนที่มีความดี เอาคนที่เขาเชื่อว่าดีเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐบาลแทน แล้วก็จะจบปัญหากันไป


 


ทั้งหมดนี้มันเคยเกิดมาไหม การต่อสู้แย่งชิงอำนาจแบบนี้ในการเมืองไทยเราก็ทำมาตั้งแต่หลัง 2475 มาแล้วคือการรัฐประหารตั้งแต่ครั้งแรกๆ มาเรื่อยมาจน 2534 และครั้งล่าสุด 2549 เผด็จการต่อสู้ล้มอำนาจรัฐแล้วก็ยึดอำนาจรัฐไป แล้วคราวนี้มันต่างกันยังไง แต่ก่อนเขายึดเฉพาะในกลุ่มผู้นำจริงๆ คือฝ่ายทหารหรือฝ่ายรัฐบาล แล้วก็ยุติภายในวันเดียว และบางครั้งยุติเร็ว แต่คราวนี้มันต่างออกไปเพราะว่ามันไม่ได้เป็นการต่อระหว่างผู้นำ แต่เป็นการต่อสู้ตั้งแต่ข้างล่างขึ้นมา เพราะฉะนั้นกลุ่มพันธมิตรนั้นถ้าจะพูดในศัพท์ที่เขาใช้คือว่า "เขาเป็นนอมินีของกลุ่มบางกลุ่ม ที่กำลังต่อสู้โค่นล้มชิงอำนาจรัฐบาลเอง" เพราะฉะนั้นมันถึงตกลงไมได้ ซึ่งการต่อสู้เคลื่อนไหวคราวนี้พบว่ามีสิ่งที่มีการใช้การพูดที่มีบทบาทเยอะมากอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นตรรกะในการปลุกระดมซึ่งมันเป็นการสร้างความทรงจำ อันนี้ทำให้การโค่นรัฐบาลคราวนี้ต่างจากการยึดอำนาจรัฐประหารของผู้นำทหารแต่ก่อน ก็เพราะว่ากระบวนการที่ใช้การต่อสู้ทำให้เสียงสนับสนุนของเขาเป็นเหตุเป็นผลกับประชาชนเอง


 


ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มี 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือทำไมเราถึงเรียกร้องว่าต้องหยุดพันธมิตร ประเด็นที่ 2 คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานที่กองทัพออกมาแถลงจริงๆ แล้วเป็นการรัฐประหารรูปแบบหนึ่ง (เสนอให้รัฐบาลยุบสภา-พันธมิตรฯ หยุดชุมนุมทุกพื้นที่ - ประชาไท) กองทัพได้ทำรัฐประหารแล้ว ในรูปแม้จะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเหมือนการรัฐประหารโดยปกติ แต่เป็นการรัฐประหารรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐประหารเงียบ ประเด็นที่ 3 คืออยากเน้นว่ารัฐประหารไม่ใช่ถ้าออกแต่เป็นทางตัน และทางเดินไปสู่หายนะทางการเมืองของประเทศ


 


ประเด็นแรกคือ ทำไมถึงต้องหยุดพันธมิตร แม้ว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรจะมีด้านบวกอยู่บางในตอนต้น เพราะได้ปลุกจิตสำนึกทางการเมืองและทำให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่จากการเคลื่อนไหวตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมาที่บานปลายมาจนถึงการยึดสุวรรณภูมิในขณะนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วว่าผลเสียหายจากที่กลุ่มพันธมิตรได้ก่อขึ้นมามีมากมายมหาศาลเกินกว่าผลในด้านบวก ขอเรียกผลเสียหายว่า "4 ทำลาย" คือ 1. ทำลายความสงบสุขของสังคม 2.ทำลายประชาธิปไตยและเสถียรภาพทางการเมือง 3.ทำลายเศรษฐกิจ 4.ทำลายการเมืองภาคประชาชน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งที่เรามีอยู่นั้นมีความบกพร่องและมีปัญหา แต่เราต้องหาทางแก้ไขความบกพร่องระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วยรูปแบบที่ดีกว่านี้


 


ประเด็นที่สองทำไมถึงเรียกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานเป็นการรัฐประหารรูปแบบหนึ่ง มีหลักการสำคัญประการหนึ่งในการปกครองระบบระบอบประชาธิปไตยคือ กลไกรัฐทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมและสั่งการโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภาวะที่รัฐบาลพลเรือนบัญชาการให้กลไกรัฐให้ทำงานอะไรไม่ได้ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความสงบสุขของสังคม และกลไกรัฐที่มีหน้าที่สั่งการในการรักษาความมั่นคงมากที่สุดก็คือกองทัพกับตำรวจ ฉะนั้นตำรวจและกองทัพต้องทำหน้าที่หลักในการรักษาความเรียบร้อยและป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองก่อนอื่น มิใช่การเล่นการเมือง เมื่อมีผู้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสังคม ละเมิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรงและคุกคามผู้อื่น กลไกรัฐต้องหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านั้น การที่รัฐไม่หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ แต่หันมากดดันรัฐบาลพลเรือนให้ยุติบทบาทเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบประชาธิปไตย คือให้การยอมรับใช้วิธีการก่อจลาจล ใช้ความรุนแรงท่ามกลางความหวาดกลัวต่อพลเมือง และสร้างภาวการณ์ความไร้ระเบียบขึ้นในบ้านเมืองให้เป็นวิถีทางที่ชอบธรรมในการถอดถอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องถามดังๆ ว่าสังคมไทยจะเอาอย่างนั้นหรือไม่ ยอมรับให้วิถีทางแบบที่พันธมิตรทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้เป็นวิถีทางที่ชอบธรรมในการถอนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง


 


ประการสุดท้าย ทำไมถึงบอกว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออกแต่เป็นทางตัน และจะนำไปสู่หายนะอย่างแท้จริง มีบทเรียนที่เกิดจากสังคมไทยเองและทั่วโลก เนื่องด้วยเหตุผล 4 ประการ 1.การรัฐประหารเป็นความรุนแรงในตัวเอง 2.การรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จะไม่จบแน่นอน และทำให้การขยายตัวของความรุนแรงมากขึ้น จนอาจจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ เพราะมีกลุ่มคนในสังคมไทยออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่ยอมรับการรัฐประหาร และพร้อมที่จะออกไปต้านรัฐประหาร ถ้ากองทัพยังไม่ตระหนักถึงในข้อนี้กองทัพกำลังสร้างหายนะให้กับประเทศชาติ 3.เมื่อทำการรัฐประหารแล้วมีโอกาสที่จะถูกออกจากประชาคมโลกอย่างแน่นอน


 


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบก็มีทุกภาคส่วน โจทย์ที่กล่าวก็มีข้อเดียว คือ วิกฤตการณ์ของพันธมิตรก่อให้เกิดผลอะไรต่อคนทำเองคือกลุ่มของเขาเอง ก่อให้เกิดผลอะไรต่อคู่ต่อสู้ของเขา


 

อันที่หนึ่งก็คือผลที่ก่อเกิดต่อตัวเขาเอง ผมคิดว่ามันสร้างโลกแบบหนึ่งที่ลวงตัวเอง อันที่สองก็คือ เมื่อใช้วิธีการแบบนี้มันจะนำไปสู่ความความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ทุกครั้งที่ใครก็ตามอ้างว่าใช้สันติวิธีแล้วหันมาใช้ความรุนแรงผสมไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความชอบธรรม มันเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในโลก อันที่สาม มันรู้สึกอันตรายมากพอ ฝ่ายนี้เป็นอย่างนี้แล้วทำสักอย่างที่มันก่อให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าเกิดการล้อมจับจริงๆ แล้วจะรู้สึกเฉยๆ ผมคิดว่ามันมีอะไรบ้างอย่างเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า ถ้าสมมุติว่าคนซึ่งรู้สึกว่าการที่อำนาจของฝ่ายรัฐทำกับคนจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด สมมุติว่ารัฐทำเช่นนั้นและเรารู้สึกว่าไม่เป็นไร ผมคิดว่ามันมีปัญหากับสังคมการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net