กรรมการสิทธิฯ ออกโรงแจงไม่อยู่ในฐานะ "คนกลาง" เจรจาพันธมิตรฯ หลังตำรวจเชิญดูปราบม็อบ

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสุนีย์ ไชยรส กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวปฏิเสธที่จะเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างตำรวจกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

หลังจากที่เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าตำรวจได้ทาบทามให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นคนกลางร่วมเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

 

ในการการแถลงข่าว นางสุนีย์ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า กสม.ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็น "คนกลาง" ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรฯ กรณีนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงและตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายซึ่ง กสม.ยินดีที่จะร่วมรับฟังการตกลงดังกล่าว โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มในการหารือ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีบอกว่ายินดีเจรจาแต่สุดท้ายคนที่เจรจากลับเป็นตำรวจหรือคนอื่นไม่ใช่นายกรัฐมนตรี 

 

ทั้งนี้ในการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรฯ จะต้องไม่ใช้คำว่า "เจรจา" แต่ต้องเป็นการ "หารือ" และต้องไม่ใช่เป็นการยื่นคำขาดให้กลุ่มพันธมิตรฯ สลายการชุมนุมหรือออกจากสถานที่ใด รวมทั้งสถานที่ในการพูดคุยดังกล่าวต้องเป็นที่สำนักงาน กสม.เท่านั้น ซึ่งการหารือต้องกระทำโดยเปิดเผยและโปร่งใส

 

นางสุนีย์ กล่าวต่อว่า กสม.มีความยินดีและพร้อมเสนอถ้าหากทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนเห็นว่า กสม.อยู่ในฐานะที่จะให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น และหวังว่ารัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรฯ จะได้ตระหนักถึงพันธะร่วมกันในฐานะประชาชนคนไทย เพื่อปกป้องไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองต้องตกต่ำและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

ด้านนายเสน่ห์ กล่าวยอมรับว่า มีการติดต่อมาจากทางตำรวจมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) ให้ไปเป็นคนกลางร่วมเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ได้ปฏิเสธไป เนื่องจากไม่ได้ถือว่าเป็นการเจรจาแต่ต้องการเชิญ กสม.ไปร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งไม่รู้ว่าตำรวจจะปฏิบัติการอะไร และไม่ต้องการไปเป็นพยานในเหตุการณ์ ทั้งนี้เห็นว่าการเจรจาจะต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจไปจนถึงขั้นตอนการยุติความขัดแย้งในที่สุด

 

"ข่าวที่ทางตำรวจออกไปว่า กสม.รับปากจะเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนเที่ยงวันนี้ ไม่เป็นความจริง เพราะสถานการณ์เช่นนี้มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง กสม.ต้องระมัดระวังท่าที เกรงว่าการกระทำบางอย่างอาจจะซ้ำเติมสถานการณ์เหมือนเอาน้ำมันไปราดบนกองไฟ" นายเสน่ห์ กล่าว

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชน

 

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยอยู่บน หลักการของสิทธิมนุษยชน และไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งขอให้เร่งพิจารณาดำเนินการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นั้น

 

โดยที่ต่อมาได้มีกระแสข่าวว่าทางตำรวจได้ประสานขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติไปร่วมหารือกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องนี้ รวมทั้งบางแหล่งข่าวยังชวนให้เข้าใจไปในทำนองว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะตั้งตนเป็น "คนกลาง" ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน

 

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงขอชี้แจงถึงจุดยืนและบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถูกต้อง ดังนี้

 

 

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในอันจะส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ และปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายอันจะละเมิดไม่ได้ โดยต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

 

 

2. จากกรณีข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็น "คนกลาง" ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีจึงขึ้นกับการตกลงและการตัดสินใจของรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยินดีที่จะร่วมรับฟังการตกลงกันดังกล่าว โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มการหารือ

 

 

3. ในการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามข้อ 2. นั้น ประการที่หนึ่งจะต้องไม่ใช้คำว่า "เจรจา" ประการที่สองจะต้องมิใช่เป็นการยื่นคำขาดให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสลายการการชุมนุม หรือออกจากสถานที่ใด ประการที่สามสถานที่ที่ใช้ในการพูดคุยกันดังกล่าวจะต้องเป็นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประการที่สี่ การหารือนี้จะต้องกระทำโดยเปิดเผยและโปร่งใส

 

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความยินดีและพร้อมเสมอถ้าหากทุกฝ่ายและภาคส่วนเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ในฐานะที่จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะได้ตระหนักถึงพันธะร่วมกันในฐานะประชาชนคนไทย ในอันที่จะปกป้องมิให้สถานการณ์บ้านเมืองต้องตกต่ำ และกระทบต่อสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนต่อไป

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

29 พฤศจิกายน 2551

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-"สมชาย" ออกอากาศสดอีกครั้ง ย้ำเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีละมุนละม่อมจัดการม็อบยึดสนามบิน

-กรรมการสิทธิฯ ส่งจม.เปิดผนึกถึงรัฐบาล-แกนนำพันธมิตรฯ วอนใช้หลักสันติวิธีแก้วิกฤตการเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท