หอการค้าไทยถกวิกฤตชาติ แนะรัฐบาลยุบสภา - พันธมิตรเลิกชุมนุม

 

วันที่ 29 พ.ย.51   เวลา 17.00 น. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย พร้อมด้วยนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย แถลงผลการประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 26 ซึ่งได้รวบกำหนดการเหลือเพียงวันเดียวเท่านั้น โดยกำหนดการที่มีรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วยถูกตัดออกทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินมาเข้าร่วมได้ งานนี้มีตัวแทนหอการค้าทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 500 คน

 

พร้อมกันนี้นายประมนต์ ได้แถลงจุดยืนของหอการค้าไทย ต่อสถานการณ์ปัจจุบันด้วย โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

 

แถลงการณ์หอการค้าไทยต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของ สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง เจริญรุ่งเรือง ประชาชนคนไทยมีความสมัครสมานสามัคคีด้วยดีตลอดมา

 

สถานการณ์ปัจจุบันได้บั่นทอนโอกาสในการเจริญเติบโตของประเทศ หอการ ค้าจึงมีข้อสรุปความเห็นจากนักธุรกิจทั่วประเทศดังนี้

 

1. จากเหตุการณ์ความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ใช้ความชอบธรรมโดยการจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศไปแล้วถึงสองครั้ง แต่ที่ผ่านมาสถานการณ์กลับเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ จึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศให้เกิดความสงบสุขและความเรียบร้อย ตามที่แถลงนโยบายเอาไว้ได้ รัฐบาลจึงหมดความชอบธรรมทางด้านการบริหารไปแล้ว เป็นความล้มเหลวของรัฐบาล

 

2. สำหรับทางด้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลเพราะเห็นว่ารัฐบาลทำในสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ก็เริ่มต้นไปตามกรอบของครรลอง   ประชาธิปไตย แต่การดำเนินการในปัจจุบันทำเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย การปิดล้อมและยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนต่างต้องย้ายไปที่อื่น ขอให้พันธมิตรฯ ยุติการการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยทันที

 

3. ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น เกิดขึ้นโดยผ่านกลไกของผู้ประกอบธุรกิจ มีการสร้างคน สร้างงาน และสร้างความมั่นคงให้ประเทศ แต่ในปัจจุบันกลไกดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ในฐานะองค์กรหลักของภาค เอกชนที่เป็นผู้หารายได้ให้ประเทศและเป็นผู้มีส่วนอย่างเข้มแข็งในการสร้าง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและเป็นผู้เสียภาษี ขอแสดงความห่วงใยต่อสถาน- การณ์ โดยเฉพาะในส่วนที่กระทบต่อการดำเนินการทางธุรกิจ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  จึงขอนำเสนอจุดยืนเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศดังนี้คือ

 

3.1               เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยสากล รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ที่ได้รับเลือกตั้ง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลปัจจุบันหมดความสามารถ แม้จะอ้างความ ชอบธรรมทางกฎหมาย แต่ก็หมดความชอบธรรมทางการบริหารประเทศไปแล้วโดยสิ้นเชิง หรือพรรคร่วมรัฐบาลควรแสดงความกล้าหาญถอนตัวเปิดทางให้ผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

 

3.2               หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ ประเทศก็อยู่ไม่ได้ ประชาชนจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ในที่สุดเมื่อนักการเมืองเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศชาติเข้าสู่จุดล่มสลาย ควรต้องยอมเสียสละ ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

 

ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่ม ต้นให้ประเทศไทย เข้าสู่ยุคใหม่ของความโปร่งใส ความมีจริยธรรม ในการบริหารประเทศ สรรหาคณะรัฐมนตรี ที่ดี ที่มีความสามารถเข้ามาบริหาร เพื่อฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ และวางรากฐานการบริหารการจัดการทีดี ที่ถูกต้องเพื่อความยั่งยืนของประเทศต่อไป

 

                                                                        วันที่ 29 พฤศจิกายน 2551

 

 

...................................

 

 

ส่วนผลการสัมมนา ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย มีเนื้อหาดังนี้

 

 

กลุ่มที่ 1 เรื่อง " ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนเข้มแข็ง

ประธานกลุ่ม : นายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย นายวรยุกต์ เจียรพันธุ์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย

                       

ข้อเสนอแนะ


  • การสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชนในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

            ภาคเอกชนต้องเตรียมตัวและเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการแข่งขันทางการค้าในเวทีระหว่างประเทศมีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวและการผลิตที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและเพื่อความยั่งยืนของสังคม

                        ดังนั้น สิ่งที่ควรระวัง ก็คือธุรกิจของโลกจะถูกกำกับโดยกฎหมาย และมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

 

·         การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรหอการค้า

1.       ผู้บริหารหอการค้าต้องมีความเข้าใจบทบาทขององค์กรอย่างถ่องแท้ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

2.       จะต้องศึกษา พรบ.หอการค้าให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ขององค์กร สิ่งใดทำได้หรือไม่ได้

3.       สร้างความเข้าใจให้สมาชิก ผู้ประกอบการมีความศรัทธาต่อองค์กร อาทิ การช่วยเหลือความเดือดร้อนของสมาชิกอย่างรวดเร็วและจริงจัง อาทิ เรื่องภาษี เรื่องค้าปลีก

4.       คณะกรรมการต้องสืบสานภารกิจขององค์กร/นโยบายอย่างต่อเนื่อง

5.       ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือคณะกรรมการต้องมีความพร้อม สมัครใจและเสียสละที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์สังคม

6.       หอการค้าจังหวัดจะต้องติดตามสถานการณ์ เพื่อรับรู้และดูแลประโยชน์ของสาธารณะ

7.       หอการค้าจะต้องค้นหาจุดแข็งและความแตกต่างของตนเองในการสร้างและพัฒนาคนของภาคเอกชนโดยเร่งด่วน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้และ มีคุณภาพ

8.       สร้างเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนทุกระดับ เพื่อให้เป็นพลังร่วมกันในการประสานและเจรจาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ

9.       จะต้องเข้าไปมีบทบาทร่วมกับภาครัฐในการจัดทำภารกิจ/นโยบายของประเทศให้สำเร็จ อาทิ ด้านพลังงานและอาหาร ฯลฯ

10.   ในพื้นที่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ หอการค้าจะต้องพัฒนาคนให้สอดคล้องกับพื้นที่ ศาสนา และภาษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและรองรับการแข่งขันกับต่างประเทศ อาทิ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ IMT-GT, GMS,  ACMECS, ASEAN ฯลฯ

11.   ภาครัฐส่งเสริมบทบาทและภารกิจของหอการค้าในการทำหน้าที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้า

12.   ให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริม จูงใจผู้ประกอบการที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

13.   หอการค้าต้องมีองค์ประกอบครบ 4 ด้านคือ (1) สำนักงาน (2) คณะกรรมการ (3) สมาชิก (4) เจ้าหน้าที่ และสร้างจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็งและมั่นคง

14.   ธุรกิจภาคเอกชนต้องพัฒนาไปสู่ระดับสากลและร่วมมือเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งโดยเฉพาะ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

15.   ภาครัฐต้องสนับสนุนความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ

 

·         การเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน

1.       เร่งรัดจัดตั้งกรอ.จังหวัดเพื่อจะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต

2.       ให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนงบประมาณ/โครงการเพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยวให้หอการค้าจังหวัด อาทิ โครงการถนนคนเดิน  โครงการ OTOP

3.       เร่งปฏิรูประบบราชการ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอย่างแท้จริงในการบังคับบัญชาหน่วยงานส่วนราชการส่วนกลางที่ปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด เพื่อจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนในจังหวัดได้ทันท่วงที

4.       เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ประธานหอการค้าจังหวัดเข้าไปร่วมในคณะกรรมการ กก.ตร.จว. เพื่อสนับสนุนบทบาทในการช่วยเหลือและดูแลสังคม

 

 

 

กลุ่ม 2  เรื่อง  "ฟื้นฟูประเทศไทยให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างไร"

มีนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธาน มีผลดังนี้

 

มุมมองของผู้เข้าร่วมสัมมนา มีความเห็นร่วมกันในประเด็นการฟื้นฟูประเทศไทย ให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างไร สรุปได้ดังนี้

 

ข้อเสนอมาตรการเร่งด่วน

 

         การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย โดยขอให้มีการดำเนินการตามครรลองระบอบประชาธิปไตยแบบสากล ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถบริหาร และไม่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ควรเปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองอื่นได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ หรือควรยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

 

ระยะสั้น

 

1.       ภาคเอกชนจะขอให้สมาชิกชะลอการเลิกจ้างงาน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ด้านสังคมมากเกินไป และจะให้คำแนะนำด้านการดูแลสินค้าคงคลัง กับการบริหารด้านการเงิน

2.       จะประสานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจต่างๆ (Cluster) เพื่อสร้าง ความเข้าใจและมีข้อมูลที่ทันเหตุการณ์

3.   ภาครัฐควรเร่งดูแลธุรกิจ SMEs อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ด้านสภาพคล่อง หรือการช่วยเหลือด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งมาตรการทางภาษี    

 

ระยะกลาง

 

1.       เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจพอเพียง โดยหอการค้า         จะดำเนินการนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

2.       ภาครัฐควรเร่งสร้างกติกาที่ชัดเจนในธุรกิจค้าปลีก และสร้างความเป็นธรรม         ให้ค้าปลีกรายย่อยและรายใหญ่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้  

 

ระยะยาว

 

            เพื่อวางรากฐานทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว เสนอให้

1.       พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Train) เพื่อวางรากฐานระบบการขนส่งไทย 

2.       พิจารณาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล อันดามัน (Land Bridge) 

3.       ควรมีการกำหนดนโยบายด้านพลังงานทดแทนที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจ  ในการลงทุนของภาคเอกชน และผู้บริโภค รวมทั้งควรพิจารณาพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ  เช่น พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น

 

-----------------------------------------------------------

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท