พลาดไม่ได้ ! ถ้อยแถลง "ธง แจ่มศรี" เนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฯไทยครบรอบ 66 ปี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ธง แจ่มศรี คือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพการณ์ของพรรคฯ สังคมไทย ท่าทีและข้อเสนอ "ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ภาระหน้าที่ของพวกเรา คือยืนหยัด คัดค้านรัฐประหารทุกรูปแบบ"

ถ้อยแถลงเนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี

ธง แจ่มศรี
1 ธันวาคม 2551

สวัสดีครับ เนื่องในโอกาสก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี ผมขอถือโอกาสนี้ส่งความปรารถนาดีและคำอวยพรมายังมิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งหลาย ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในหน้าที่และการงานของตน มีพลังกายพลังใจเต็มเปี่ยม พร้อมจะต่อสู้เพื่อภารกิจก้าวหน้าเป็นธรรม ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนแบกรับอยู่ให้ก้าวหน้าไปตามความเรียกร้องต้องการของสถานการณ์ในปัจจุบัน

ผมในนามเลขาธิการใหญ่ของพรรค ซึ่งบัดนี้เหลือแต่ชื่อ แต่ในทางเป็นจริงไม่ได้ดำรงสถานภาพนี้อยู่อีกต่อไปแล้ว ดังที่ทราบกันดี นับแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารกลางเต็มคณะสมัยที่ 2 ชุดที่ 4 ในปี 2526 เป็นต้นมา เนื่องด้วยเหตุปัจจัยทั้งทางภววิสัยและอัตวิสัย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยทางอัตวิสัย คณะกรรมการบริหารกลางชุดนี้ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์การนำสูงสุดของพรรคมาจนบัดนี้ เท่ากับได้สูญเสียบทบาทขององค์การนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศเราเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่ากำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่สับสน แตกแยกกันอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อขบวนของเราอย่างมาก กล่าวสำหรับมวลชนที่ก้าวหน้าและสหายเราที่ยังยึดมั่นในภารกิจที่ก้าวหน้าเป็นธรรมต่างเรียกร้องให้ฝ่ายนำของเรามีบทบาทที่เป็นจริงในการชี้นำทางความคิด ผลักดันสถานการณ์ให้เป็นผลดีต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ก้าวรุดหน้าตามทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจอย่างมากที่องค์การนำของเราไม่สามารถมีบทบาทตามความเรียกร้องต้องการของสหายและมวลชนได้ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผมจึงจำต้องใช้ฐานะส่วนตัวแจ้งให้มิตรสหายทราบถึงแนวความคิดและทิศทางที่ควรจะเป็นของเราต่อไป จะผิดถูกอย่างไรให้ถือเป็นภาระหน้าที่ร่วมกัน วิพากษ์วิจารณ์กันได้เต็มที่

ปมประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันครั้งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ กล่าวโดยสรุปก็สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครองสองกลุ่ม ขอเรียกสั้นๆ ว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนเก่า (อนุรักษ์นิยม) กับกลุ่มทุนใหม่ (เสรีนิยม) ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ จึงปะทุออกมาในรูปแบบการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

แม้กลุ่มทุนเก่าจะได้เปรียบ เนื่องจากเป็นฝ่ายที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐสืบเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะคือสามารถมีอำนาจเหนือข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และตุลาการได้อย่างเบ็ดเสร็จก็ตาม แต่เนื่องจากรูปแบบการปกครองของประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา เมื่อกลุ่มทุนเก่าสามารถตั้งรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารได้ซึ่งก็คือรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธฺ จุลลานนท์ โดยที่พวกเขาพยายามใช้เวลาหนึ่งปีกว่ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่บิดเบี้ยว คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย และกฎหมายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อลิดรอนทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชนในรูปแบบที่แอบแฝงแนบเนียน โดยคาดหวังว่าเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ปี พ.ศ.2550 พวกเขาจะได้รับชัยชนะ สามารถกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม กล่าวคือพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาฯ และสามารถตั้งรัฐบาลใหม่กลับเป็นพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ของพวกเขา เมื่อไม่สามารถยับยั้งคู่ปรปักษ์ได้ จึงต้องใช้อิทธิพลที่มีอยู่มาระดมลูกน้องลูกสมุนมาก่อกวนขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคือการใช้อิทธิพลครอบงำสื่อต่างๆ มาปลุกปั่นสร้างกระแสบิดเบือน ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนจนไม่สามารถจำแนกแยกแยะความเท็จความจริงและความถูกผิดได้

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ แม้จะมีนักวิชาการออกมามาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันต่างๆ นานา มีความคิดเห็นกันหลากหลาย แต่ในความหลากหลายเหล่านั้น เราก็สามารถใช้ทัศนะวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาจำแนกแยกแยะได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วก็คือการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนกับระบอบอำมาตยาธิปไตยของศักดินานั่นเอง

มาจนถึงจุดนี้ก็มีมิตรสหายบางคนเสนอแง่คิดว่า ในเมื่อมันเป็นความขัดแย้งระหว่างเผด็จการอำมาตยาธิปไตยกับนักประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแล้ว ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับเราที่เป็นประชาชนคนธรรมดา และยังมีมิตรสหายอีกบางคนให้แง่คิดว่า เราไม่ควรเพ้อฝันมากนักกับประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ซึ่งมีแต่การซื้อเสียงขายเสียง คอรัปชั่นโกงกินอย่างชั่วช้าสามานย์

แน่นอน นักต่อสู้ของประชาชนเรา จะต้องไม่นั่งงอมืองอเท้ารอคอยสถานการณ์ไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยอย่างเด็ดขาด หากจะต้องใช้สถานการณ์ให้การศึกษามวลชนในรูปแบบเงื่อนไขต่างๆ อย่างทรหดอดทนไปยกระดับความสำนึกตื่นตัวของมวลชนให้สูงขึ้น จนสามารถผลักดันให้พวกเขาสามัคคีรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งไปช่วงชิงผลประโยชน์ที่เป็นจริงของพวกเขาเอง

ส่วนเรื่องที่ว่าประชาชนเราสมควรจะสนับสนุนรัฐสภาของชนชั้นนายทุนหรือไม่นั้น ก็มิใช่ว่าเรารักชอบระบอบทุนนิยมหรือไม่ชอบ แต่อยู่ที่ว่าการวิวัฒนาการของสังคมมนุษยชาติปัจจุบันได้ก้าวถึงขั้นตอนที่เป็นยุคสมัยของทุนนิยมแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศไทยก็ได้พัฒนาก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยม แม้ว่าโครงสร้างสังคมบางส่วนยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมแล้ว สำหรับปัญหาความรับรู้ของเราที่มีต่อระบบทุนนิยมดีหรือเลวอย่างไรนั้น ปรมาจารย์ลัทธิมาร์กซ์คือ ท่านคาลมาร์กซ์ก็ได้ให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างสมบูรณ์แล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเรานักลัทธิมาร์กซ์ได้เรียนรู้ ประยุกต์ใช้กับความเป็นจริงของเราอย่างไรต่างหาก ด้วยเหตุนี้ท่าทีของเราต่อทุนนิยมจึงมิใช่รับหรือปฏิเสธอย่างเดียว เพราะแม้เราจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม แต่การดำรงอยู่ของทุนนิยมก็เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นเมื่อรับรู้ต่อกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็ยิ่งเรียกร้องให้เราต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ซึ่งก็คือต้องคำนึงถึงจุดอ่อนจุดแข็งของชนชั้นปกครอง และฝ่ายประชาชนเรา จากนี้ไปกำหนดขั้นตอนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีจังหวะก้าวและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางภววิสัย นี่คือทิศทางใหญ่ที่จะต้องเป็นไป

อย่างไรก็ดี เพื่อทำความกระจ่างต่อข้อสงสัยของเพื่อนบางท่าน ที่มีต่อระบอบรัฐสภาของชนชั้นนายทุน จึงใคร่ยกเอาคำสอนของปรมาจารย์ท่านหนึ่งคือท่านเลนิน ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ โรคไร้เดียงสา "ฝ่ายซ้าย" ในขบวนการคอมมิวนิสต์ โดยท่านชี้ว่า "เรายังไม่มีกำลังพอจะโค่นล้มรัฐสภาชนชั้นนายทุนได้ เรายังต้องเข้าร่วมการต่อสู้บนเวทีรัฐสภาชนชั้นนายทุน จุดมุ่งหมายก็อยู่ที่ให้การศึกษาแก่ชนชั้นที่ล้าหลังในชนชั้นของตนนั่นแหละ อยู่ที่ปลุกและให้การศึกษาแก่มวลชนในชนบทที่การศึกษายังไม่เจริญ ถูกปิดหูปิดตาและขาดความรู้นั่นแหละ ขณะที่พวกท่านยังไม่มีกำลังพอที่จะยุบรัฐสภาชนชั้นนายทุนและองค์กรปฏิกิริยาประเภทอื่นๆ นั้น พวกท่านจะต้องทำงานภายในองค์กรเหล่านี้" (จากบทที่ 7 "จะเข้าร่วมรัฐสภาชนชั้นนายทุนหรือไม่" ในหนังสือ โรคไร้เดียงสา "ฝ่ายซ้าย" ในขบวนการคอมมิวนิสต์)

จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า ต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาระหน้าที่ของพวกเราคือจะต้องยืนหยัดต่อสู้ คัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ คัดค้านการใช้อำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยให้เข้มแข็งสมบูรณ์เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง มีแต่เช่นนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เราสามารถผลักดันให้สังคมก้าวรุดหน้าต่อไปได้ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท