Skip to main content
sharethis

ในเวทีระดมความเห็นเรื่อง "บำนาญชราภาพโดยชุมชน: การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน" โดยแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายวรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ โดยภาครัฐจะต้องสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เช่นเดียวกับสวัสดิการภาคประชาชนก็ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้เหมือนกัน


ขณะที่ประชากรสูงอายุไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุวัย 15-59 ปี กลับลดลงเรื่อยๆ โดยจำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มทั้งจำนวนและสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต และจากผลการสำรวจผู้สูงอายุพบว่ายังพึ่งรายได้จากครอบครัวราวร้อยละ 60 แต่ปัจจุบันการเจริญพันธุ์กลับน้อยลง เพราะไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วไม่มีลูก หรือมีลูกน้อย จนส่งผลให้การพึ่งพาครอบครัวมีข้อจำกัดมากขึ้น แนวโน้มวัยกำลังแรงงานจึงจะเหลือแค่ 2.5 คนที่ดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ปัจจุบันมีอัตราสูงประมาณ 6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน


"ประชาชนประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดไม่มีหลักประกันใดๆ รวมถึงหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ ขณะที่ระบบเบี้ยยังชีพมีไว้รองรับสำหรับผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ดังนั้นจึงต้องให้เครดิตภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาจัดสวัสดิการโดยตนเอง เช่น จังหวัดสงขลาที่จำนวนกลุ่มเพิ่มมากขึ้น และมีสมาชิกสวัสดิการภาคประชาชนเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคน รวมถึงในอีกหลายพื้นที่ยังพยายามสร้างกลุ่มสวัสดิการภาคประชาชนขึ้นอีกราว 3 พันกว่ากลุ่ม"


นายวรเวศม์กล่าวต่อว่าขณะที่ประชาชนรวมตัวกันอย่างสมัครใจมาทำสวัสดิการชุมชน รวมถึงบำนาญชุมชนนั้นจำต้องพิจารณาเรื่องของความยั่งยืนด้วย เพราะบำนาญเป็นเสมือนหนึ่งข้อผูกพันที่สัญญาไว้กับสมาชิกกองทุน เป็นภาระผูกพันในระยะยาว แต่ในส่วนของการจัดการกองทุนจะมีการจัดสรรแยกเป็นกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนกู้ยืม กองทุนสวัสดิการ ถ้าเกิดการจ่ายเงินในกองทุนเหล่านี้มากๆ จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายบำนาญในอนาคต


"อุปสรรคของกองทุนบำนาญชุมชนคือเงินหนึ่งบาทที่จ่ายไปจะถูกกระจายไปยังกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสำรอง กองทุนกู้ยืม แม้จะเพิ่มขึ้นได้จากการบริหารจัดการ แต่ก็ต้องร่อยหรอลงไปจากการจ่ายสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่ใช่บำนาญ เช่น เจ็บป่วย ตาย ทั้งนี้บำนาญชุมชนไม่ได้นำเงินจากสมาชิกไปให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันทันที แต่จะถูกสะสมไปไว้ 10-15 ปี แล้วรวมกับรายได้ในอนาคต แล้วค่อยให้ผู้สูงอายุในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นระบบกึ่งช่วยเหลือเกื้อกูล"


นายวรเวศม์กล่าวด้วยว่า ช่วงแรกก่อนจ่ายเงินบำนาญ ยอดเงินสะสมของกองทุนจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อเริ่มจ่ายบำนาญแล้ว สถานะกองทุนจะเสถียรหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเก็บได้น้อยแล้วจ่ายมากหรือเปล่า หรือการบริหารจัดการมีดอกผลกลับมายังกองทุนมากน้อยแค่ไหน มีสมาชิกเข้ามาในกลุ่มมากน้อยอย่างไร รวมถึงสัดส่วนของสมาชิกที่จ่ายเงินกับผู้สูงอายุที่รับเงินต่างกันแค่ไหน ถ้ามาก สถานะทางการคลังของกองทุนจะแย่


"ปัจจัยเสี่ยงของบำนาญชราภาพจะอยู่ที่ความสมดุลระหว่างเงินสัจจะและเงินบำนาญ ถ้าต่างกันมาก แต่ก็แก้ได้โดยอาศัยความเป็นชุมชนที่จะสามารถปรับเงินเพิ่มและลดเงินบำนาญลงได้ด้วยการตกลงกันแบบสมัครใจของชุมชน อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ปรับยากคือการเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินระยะยาว แม้จะใช้การรณรงค์เข้าช่วยให้มีกลุ่มเด็กและกลางคนเข้ามามากขึ้นก็ตามที และที่สำคัญไม่สามารถแก้ไขสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้"


นายวรเวศม์กล่าวต่อว่า หากปล่อยให้ต่างคนต่างทำท่ามกลางความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่บางจังหวัดเอื้อต่อการสร้างบำนาญชุมชนแต่บางจังหวัดไม่เอื้อนั้นจะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในแนวนอน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาภาคประชาชนได้สร้างสวัสดิการภาคประชาชนที่ก้าวล้ำกว่ารัฐบาล เพียงแต่ต้องปรับเพื่อความยั่งยืน


"ทางแก้หนึ่งคือรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นลำดับแรกๆ อีกทางหนึ่งคือต้องแยกกองทุนบำนาญออกจากสวัสดิการประเภทอื่นๆ กองทุนต้องกันเงินบำนาญไว้กับสมาชิกตามคำสัญญา ถ้าชุมชนยังทำบำนาญต่อไปอาจต้องทบทวนปรัชญาเกี่ยวกับบำนาญชุมชนใหม่เพราะโครงสร้างอายุของสมาชิกจะทำให้โอกาสไม่ยั่งยืนสูง จึงน่าจะสร้างบำนาญชุมชนแบบไม่อิงโครงสร้างประชากร เพราะบางพื้นที่ไม่อาจเกิดบำนาญชุมชนได้เพราะโครงสร้างประชากรไม่เอื้อ" นายวรเวศม์ กล่าวและว่า แนวทางการทำบำนาญชุมชนต้องไม่อิงโครงสร้างประชากรจึงจะมีเสถียรภาพ ทำแบบบัญชีสะสมทรัพย์ที่มีบัญชีรายตัว และจะจ่ายเมื่อครบตามเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งยังเชื่อมกับระบบบำนาญแห่งชาติที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยง รวบรวมสมาชิก และนำทรัพยากรไปบริหารจัดการความเสี่ยงให้


ด้าน นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า บำนาญชุมชนเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยเพราะมีความหลากหลาย มีการคิดค้นวิธีการหลายอย่าง โดยบำนาญชราภาพในชุมชนเป็นการทำสัญญาต่อกันระหว่างปัจเจกบุคคลว่าจะดูแลคนที่จ่ายเงินให้


อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลว่าทำอย่างไรให้สัญญายั่งยืนได้ถ้าโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะอาจจะเกิดภาวะล้มละลายหรือเอ็นพีแอลขึ้นได้ ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนค่อยแก้ไข เพราะจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในสวัสดิการแบบนี้


"ทั้งนี้ถึงวันหนึ่งต้องมีระบบบำนาญแห่งชาติที่ไม่ได้เข้ามาในลักษณะของการทดแทนบำนาญชราภาพในชุมชน แต่ต้องส่งเสริมกัน บำนาญชราภาพควรจะครอบคลุมคนทั้งประเทศที่เกิดจากการคิดให้สมบูรณ์ แต่ทำแบบเป็นไปได้ ทำในทรัพยากรจำกัด"


นายอัมมารกล่าวต่อว่า ทุกคนในประเทศควรมีบำนาญชราภาพ ถึงสังคมไทยจะยังมีความเอื้ออาทรมากมายแค่ไหน และควรเป็นบำนาญภาคบังคับที่ทำให้ทุกคนต้องจ่าย โดยรัฐต้องเข้ามา มีบทบาทในการทำบำนาญภาคบังคับ ขณะที่บำนาญชราภาพของชุมชนก็ไม่ควรวางไว้ข้างๆ หรือเป็นรอง เพราะภาคที่ไม่เป็นทางการแบบนี้มีเสน่ห์มาก


ส่วนนายชบ ยอดแก้ว ประธานมูลนิธิ ดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว กล่าวว่าสวัสดิการชุมชนหรือภาคประชาชนเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ เพราะปัญหาสังคมไทยเกิดที่คนจึงต้องแก้ที่คน คนขาดคุณธรรมจริยธรรม การฟื้นคุณธรรมขึ้นมาต้องใช้ความอยากของมนุษย์ รูปแบบสัจจะลดรายจ่ายวันละหนึ่งบาทจึงเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยากได้ส่วนกลางเหมือนราชการ


"สัจจะลดรายจ่ายวันละบาทเป็นการทำสวัสดิการแบบคุณธรรม เพราะการรักษาความสัตย์เป็นธรรม การรู้จักคุมใจตนเองให้อยู่ในความสัตย์ การอดทนอดกลั้นอดออม การรู้จักละวางความชั่ว สละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะช่วยให้ประเทศชาติร่มเย็นได้ การทำให้คนมีคุณธรรมจะต้องมีกิจกรรมแบบนี้ และแนวคิดเรื่องสัจจะวันละบาทนี้นำมาจากพระธรรมที่แสดงคุณค่าความเป็นคนของมนุษย์ว่าเท่ากัน อย่าเอาเงินมากำหนดคุณค่าคน สัจจะวันละบาทจึงเป็นการทำบุญกองบุญช่วยเหลือตัวเองและเพื่อน"


นายชบกล่าวต่อว่า แรกเริ่มเมื่อทำสัจจะวันละบาทลดรายจ่ายที่ จ.สงขลา มีคนเข้าร่วมกว่า 500 คน ตอนนี้ทำทั้งจังหวัดสงขลาสำเร็จแล้ว เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งกองทุน หนึ่งเทศบาลหนึ่งกองทุน มีแล้ว 114 กองทุน สมาชิกเข้าร่วมกว่า 1 แสนคน โดยจะจ่ายเงินบำนาญเมื่อผ่านไป 15 ปี จนตอนนี้จดทะเบียนเป็นสมาคมสวัสดิการประชาชนจังหวัดสงขลาแล้ว


"อยากเสนอรัฐบาลกลางว่าน่าจะสมทบกองทุนหนึ่งบาทผ่านทางกองทุนสวัสดิการสังคม แต่ต้องไม่ทำแบบกองทุนหมู่บ้าน เพราะจะไม่มั่นคงเนื่องจากคนไม่ถูกพัฒนา ต้องเปลี่ยนมาใช้คนเป็นตัวตั้งไม่ใช่เงินเป็นตัวตั้ง เหมือนการจ่ายเงินวันละบาทครบ 180 วันถึงจะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการ 9 เรื่อง ถ้าส่งทีเดียวไม่ได้เพราะไม่ได้ฝึก การทำเช่นนี้รัฐบาลลงทุนน้อยแต่ได้พัฒนาคน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net