นักข่าวพลเมือง : กฎหมายความมั่นคงกับสิทธิประชาชนชายแดนใต้

 

58 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันแนวโน้มของความรุนแรงลดจำนวนลง ตั้งแต่ มิถุนายน ปี 50 จากเดิม 100 กว่าครั้งต่อเดือน ลดเหลือเฉลี่ย 76 - 80 ครั้งต่อเดือน แต่หากมาดูผลกระทบต่อประชาชน การบาดเจ็บ การเสียชีวิต แนวโน้มแทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง และจำนวนผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย ก็เพิ่มจำนวนขึ้นตามอีกเช่นกัน

 

จนกระทั่งมีข่าวแพร่ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอให้ใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตร 21 เพื่อให้ผู้ที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในคดีความมั่นคงไม่ต้องถูกฟ้องศาลเสมอไป

 

จากข่าวที่เผยแพร่ออกไปทำให้ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนาวิชาการขึ้นมาในหัวข้อ "กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำความเข้าใจ และร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็น ในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ และหามาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ใต้ กล่าวเปิดการเสวนาวิชาการครั้งนี้ ว่าจากสถานการณ์นับแต่ปี 47 มีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ป.วิอาญา และจะมีการนำ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาใช้ แต่เป็นที่น่าสงสัยและถกเถียงกันว่าผลได้เสียจากการใช้กฎหมายพิเศษจะดีขึ้นหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชนพยายามที่จะเสนอแนะความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้ง หากเป็นการกระทำที่เกินเลยจะหาทางออกอย่างไรที่ดีที่สุดในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิชองประชาชน

 

นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเท็จจริงอยู่ที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ นักวิชาการ และคนทำงาน ประการแรกคือมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือสร้างสันติสุข และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่สองความเฉพาะพิเศษ เช่น อัตลักษณ์ซึ่งคนในพื้นที่รู้สึกชุมชนของตนเองไม่มั่นคงตนเอง ประการที่การไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นโยบายของรัฐ เช่น ความแตกต่างกันในทางเศรษฐกิจ โอกาสในการเข้ารับราชการ และประการที่ 4  คือเกิดช่องว่างอย่างมาก ระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาคมกับชุมชน และชุมชนรวมของประเทศ

 

ทั้งนี้ เรื่องของกฎหมายที่บังคับใช้ มีการใช้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจะนำ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาใช้ ซึ่งมีบทบาทในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยได้ในอ ข้อหาก่อการร้าย แต่กรณีนี้ดังกล่าวยังมีความเห็นที่ต่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกับนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ เพราะรัฐจะมองว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์จะดีขึ้น การปฏิบัติของงานเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งนโยบายมีส่วนมากน้อยเพียงใดต่อปัญหาอัตลักษณ์และความเป็นธรรม

 

ด้านนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า พ.ร.บ. ความมั่นคง มาตรา 21 ต้องประกอบไปกับมาตรา 15 ด้วย เพราะอย่างน้อยมันก็ดีต่อประชาชนที่จะเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และองค์กรที่ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องใน มาตรา21 ควรมีองค์กรอิสระอยู่ด้วย อย่างเช่น สภาทนายความ หรือทนายความ

 

ส่วน พ.ต.ท.เอกนรงค์ สวัสดิกานนท์ ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงเรียนเสริมสร้างสันติสุข ศปก.ตร. ได้ยกตัวอย่างของการใช้กฎหมายที่ผ่านว่า  กฎหมาย ป.วิอาญา ตอบสนองการแก้ปัญหาได้ไม่สมบูรณ์ จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และโดยความคิดเห็นส่วนตัว เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะเห็นว่ามันเป็นทางออกอีกทาง"

 

อับดุลอาซิ  ตาเดร์อิน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่ายังไม่ได้ประกาศใช้ แต่ข้อกังวลถึงการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยเฉพาะในการกลั่นกรองในเบื้องต้นจะชี้ให้เห็นว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือไม่

 

"การกลั่นกรอง น่าจะมีบุคคลระดับประชาชน กับนักกฎหมายเข้าไปดูแลด้วย เพราะเทียบกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับกฎอัยการศึก มันรุนแรงมาก"  

 

จากนั้น เขาได้ยกตัวอย่างของความหวังและการใช้กฎหมายว่า ขณะนี้คดีของ อิหม่ามยะพา กาเซ็ง มีแนวโน้มระบุว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดจริงและจะต้องได้รับโทษ เพราะชัดเจน แต่หากกรณีนี้ไม่ถูกลงโทษ ความเชื่อมั่นของประชาชนจะฝังลึกลงไปในหัวใจว่ากระบวนการยุติธรรมยังใช้ได้หรือไม่ ดังนั้นแม้รัฐจะประกาศใช้กฎหมายอีกสิบฉบับความเชื่อมั่นของประชาชนก็จะไม่มีเหลือ

 

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การใช้กฎหมายสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ มาตรการในการป้องกัน มีการพูดคุยกัน มีการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม มากน้อยแค่ไหน หากพิจารณาจากภาคประชาสังคมเห็นว่าหากมีผู้กระทำความผิด ภาคประชาสังคมยินดีที่จะให้ใช้กฎหมาย โดยความโปร่งใสและตรวจสอบได้

 

ดังนั้น กฎหมายคือสิ่งที่คอยบังคับ คอยควบคุม คนในสังคมให้อยู่อย่างสงบเรียบร้อย แต่ในการออกกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ นั้น ขอให้ระลึกถึง และเน้นไปในทางปฏิบัติ ระบุถึงโทษของผู้กระทำความผิด ไม่ว่าผู้กระทำความผิดนั้นจะมาจากส่วนใดในสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท