Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สามชาย ศรีสันต์

 


นับแต่วันที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 15 ธันวาคม 2551 ผมถือว่าวันนั้น ยุคสมัยของทักษิณได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าในแวดวงการเมืองยังคงเชื่อมั่นว่า ทักษิณจะฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง เพราะยังได้รับความรักความศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ในภาคเหนือ ภาคอิสาน ทั้งยังมีเครือข่าย ส.ส. เงินทุน และนักการเมืองอีกเกือบสองร้อยคนที่ยังยืนอยู่เคียงข้าง แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมคิดว่าพ้นสมัยของทักษิณแล้ว และนับวันจะถอยล้าเลือนหายไปจากสังคมไทย ไทยรักไทย - พลังประชาชน - เพื่อไทย จะไม่ต่างไปจากพรรคที่มีอายุเป็นสิบปีและเลือนหายไปจากสังคมไทย (แม้จะได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ในภายหลัง) เช่น พรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคชาติพัฒนา


ตัวตน ร่องรอยของพรรคที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคือ อะไร ?


พรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองแรก ที่ได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 มีที่นั่งในสภาฯ 376 ที่นั่ง จากจำนวน 500 ที่นั่ง แต่วันที่โหวตเลือกนายกฯ มีเหลืออยู่เพียง 198  ซึ่งคาดว่าจะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับวันเวลาตามธรรมชาติของการเป็นพรรคฝ่ายค้าน (โปรดดูตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน)


 


ร่องรอยที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบทักษิณ จึงมีเพียงประชาชนที่ยังรักในตัวอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคลื่อนไหวในนาม นปช. หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า "กลุ่มคนเสื้อแดง" และนโยบายประชานิยมที่เชื่อว่าไม่นานนี้จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายประชานิยม แบบพอเพียงในนามพรรคประชาธิปัตย์


 


สิ่งที่คงหลงเหลืออยู่จึงอาจมีเพียงนามธรรมในรูปความรัก ความศรัทธาต่อคนที่ชื่อทักษิณ เพราะการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อไปนี้จะถูกเข้มงวด กวดขัน จับตามองจากสังคม และถูกสกัดกั้นจากฝ่ายความมั่นคงไม่ให้เกิดความไร้ระเบียบเหมือนดังการกระทำของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่ได้รับเป็นกรณียกเว้นพิเศษ ความแตกต่างของงบประมาณสนับสนุน  การถูกสกัดกั้นจากหน่วยงานราชการ  กฎหมายที่บังคับใช้อย่างไม่ผ่อนปรน  และแนวร่วมของพันธมิตรที่จะคอยออกมาสกัดปราม เหล่านี้จะทำให้ นปช. หลบเงียบไปเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันเกิดรอยเลื่อนแยกขึ้นอีกครั้ง ที่อาจไม่ใช่ในนามคนรักทักษิณ หรือกลุ่มคนสวมเสื้อแดง แต่เป็นในนามของการล้มล้างเปลี่ยนแปลง "ระบอบ" บางอย่าง


 


สัญลักษณ์ของ ไทยรักไทย ระบอบทักษิณ ในอนาคตอันใกล้จึงจะเหลือเพียง ตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น และยิ่งหากไม่สามารถแสวงหาช่องทางสื่อสารกับ "ประชาชนของเขา" จากนอกประเทศได้แล้ว ก็ยากยิ่งที่จะอาศัยพลังประชาชนเปลี่ยนแปลงการเมืองให้กลับเป็นวันของทักษิณ อีกครั้ง


 


ผมจึงเชื่อว่าวันนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่หลังยุคทักษิณแล้ว แต่สิ่งที่ทักษิณได้สร้างเอาไว้ยังคงอยู่เป็นแบบแผน บรรทัดฐานทางสังคม ไม่ต่างไปจากการทิ้งความเป็นอาณานิคมไว้ภายหลักการปลดปล่อยอาณานิคมของประเทศจักรวรรดิ (postcolonial[i])  สังคมไทยหลังยุคทักษิณได้ก้าวเข้าสู่ลักษณะดังต่อไปนี้


 


1. สังคมแห่งความแตกแยก


ประชาชนแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ไร้การศึกษา ขาดความรู้ ยากจน ไม่ฉลาด หน้าตาไม่ดี และเป็นภาระ คนเหล่านี้คือคนที่เลือกทักษิณ และถูกใส่ฉลากให้ว่าเป็น "ลิงบาบูน" กับคนที่มีการศึกษาดี หน้าตาดี มีกำลังซื้อ เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วม ซึ่งจะเป็นชนชั้นนำการเมืองไทยต่อไปในยุคหลังทักษิณ คนสองกลุ่มนี้จะขัดกันในผลประโยชน์จากนโยบาย ที่ฝ่ายสีเหลืองไม่ต้องการให้เกิดประชานิยมเพราะตนเองรู้สึกว่าเสียภาษีมากแต่เงินถูกนำมาให้กับคนที่เสียภาษีน้อย ขณะที่รัฐบาลยังจำเป็นต้องให้มีนโยบายแบบประชานิยมต่อไป เพื่อหวังดึงฐานคะแนนเสียงจากคนภาคเหนือ ภาคอิสาน คนในชนบท คนรากหญ้า  ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างความคิด "อนุรักษ์นิยมใหม่" (neoconservative) [ii] กับ "เสรีนิยมใหม่" (neoliberals)[iii] จะปะทะกันอย่างรุนแรง   ต่อไปเราอาจไม่เพียงได้ยินแค่ "เบื่อม็อบพันธมิตร" แต่เราอาจได้ยินว่า "เกลียดม็อบเกษตรกร" และ "พวกเสื้อแดง" แทน


 


2. ฟื้นฟูประเทศโดยการทำลายระบอบทักษิณให้สิ้นซาก


ซากเดนของทุกสิ่งที่เป็นระบอบทักษิณ จะถูกเก็บกวาดล้างชำระ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยหากจะยังคงอยู่แต่จะถูกทำให้มี ส.ส. เหลืออยู่ในพรรคน้อยที่สุด  ช่องทางการสื่อสารระหว่างทักษิณกับประชาชนของเขาจะถูกตัดขาด คนที่ทำงานให้กับทักษิณจะถูกขุดคุ้ย และค้นหาเรื่องราวมาดำเนินคดี เสื้อสีแดงจะกลายเป็นภัยร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และใครก็ตามที่เข้าไปข้องแวะกับระบอบทักษิณ จะกลายเป็นซาตานผู้ชั่วร้ายทำลายชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องขจัดให้หมดไป การทำลายลงให้สิ้นซากนี้ จะไม่ใช่กระทำในลักษณะประกาศสงคราม แต่จะทำในนามการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในนามการเมืองใหม่ ในนามสันติ สมานฉันท์ ฟื้นฟูเยียวยาประเทศ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โยกย้ายข้าราชการ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ อันเป็นภารกิจเชี่ยวชาญของพรรคประชาธิปัตย์ที่มักจะเป็นผู้มาฟื้นฟูเยียวยาหลังวิกฤติทุกครั้ง (พฤษภาทมิฬ, วิกฤติเศรษฐกิจปี 40) และก็มักจะใช้เวลาเยียวยาจนเกือบครบเทอมหากไม่มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น


 


3. รูปแบบใหม่ของอำนาจ


ภายใต้สิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า  "ตุลาการภิวัตน์" ได้ปรากฏให้เห็นอำนาจแบบใหม่ที่ก้าวล้ำกว่าอำนาจแบบเดิม ๆ ที่มีมาในสังคมไทย แม้บุคคลผู้ใช้อำนาจจะเป็นคนเดิม แต่รูปแบบได้เปลี่ยนไปเป็นอำนาจที่มองไม่เห็นซึ่งสังคมไทยเรียกว่า "มือที่มองไม่เห็น" อำนาจใหม่เป็นอำนาจที่แทรกซึมเข้าไปในจิตวิญญาณของคนไทย เป็นชีวอำนาจ (biopower) ที่แฝงฝังในมโนสำนึกซึ่งตอบสนองทางร่างกาย (responses) การกระทำในทันทีที่ได้รับสิ่งเร้า


 


การใช้อำนาจใหม่ไม่ได้กระทำผ่านตัวแทนดังเช่นในสมัยทักษิณ แต่เป็นการกระทำผ่านการตีความของสังคม (social interpretation) ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด หากแต่เป็นเรื่องควรหรือมิควร การส่งผ่านวาทกรรมของอำนาจรูปแบบใหม่มีลักษณะเป็นวาทกรรมที่คลุมเครือ เป็นอภิปรัชญา เป็นถ้อยความที่ตั้งอยู่ในความดี ความงาม และความจริง ไม่บ่งบอกว่าต้องการอะไร อย่างไร หากแต่แจกแจงหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีอำนาจจัดการทางสังคมในภาระหน้าที่ตามตำแหน่งและสถาบันที่สังกัด พร้อมกับการระบุถึงเป้าหมายและสิ่งที่ต้องการให้สังคมไทยพัฒนาไป 


 


อำนาจใหม่นี้เป็นอำนาจผ่านกระบวนการตีความ และตีความซ้ำกระบวนการตีความ (reinterpretation of interpretation process)  วาทะแห่งอำนาจจึงเป็นวาทะที่เลื่อนเคลื่อนไปได้อย่างไม่รู้จบเพราะเป็นการละเล่นเชิงอำนาจของการตีความที่ไม่มีโอกาสผิดพลาดได้ และตราบเท่าที่สังคมไทยยังประสบปัญหาแตกแยกขัดแย้งกระบวนการตีความก็จะดำเนินต่อไป ทำให้องค์อธิปัตย์สถาปนาตัวตนขึ้นเป็นหนึ่งเดียวแห่งอำนาจ  อำนาจใหม่เป็นอำนาจที่กระทำโดยไม่กระทำ ดุจสภาวธรรมที่ตั้งอยู่นิ่งใสบริสุทธิ์ท่ามกลางความเคลื่อนไหว อันเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ได้รับมอบอำนาจที่น้อมนำสภาวธรรมนั้นเข้าไว้ในตน ผ่านการตีความที่ผิดบ้างถูกบ้าง แต่ไม่ว่าจะผิดหรือถูกไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับว่าเหมาะสมและบังควรหรือไม่ ผู้น้อมรับธรรมเหล่านี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะชนชั้นนำของสังคมไทย แต่เมื่อรับมาแล้วก่อนที่จะส่งผ่านมายังประชาชนนั้นได้ผ่านการตีความ และลดรูปย่อส่วนให้รูปธรรมที่เข้าใจได้โดยใช้คำที่คุ้นเคยสัมผัสได้และระลึกรู้ปฏิบัติตามได้


 


4. สังคมของผู้เชี่ยวชาญ


การส่งผ่านความหมาย ความต้องการ ทิศทางที่สังคมไทยควรจะ (ต้อง) เป็นไปนั้น ถูกกระทำโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เป็นการกระทำที่ผ่านการตีความสภาวะที่ส่งผ่านมาจากอำนาจใหม่เสมือนการได้รับโองการแห่งสวรรค์ เป็นเสียงกระซิบที่ไม่มีใครได้ยินได้ฟังด้วย  (แม้จะได้ยินแต่ก็ไม่อาจตีความได้หากแต่ต้องเป็นหน้าที่หรือคนทรงวิญญาณซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชี้บอก) แต่ปรากฏดำรงอยู่ และนำความสงบสุขมาให้แก่มนุษย์ บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ยึดครองพื้นที่ของการตีความภายใต้ขอบเขตอำนาจแห่งตน โดยมีนัยว่า เขาเหล่านี้รอบรู้ มีประสบการณ์และมีบทบาทหน้าที่โดยตรงอย่างผู้ชำนาญการมากยิ่งกว่าชนกลุ่มใด ๆ ในสังคม การมอบความเชี่ยวชาญให้นี้ไม่เพียงมอบโดยการยอมรับของสังคม หากแต่เป็นการมอบโดยกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ และความผูกพันใกล้ชิดกับอำนาจที่อยู่เหนือขึ้นไป  กลุ่มทางสังคมที่จะสถาปนาความเชี่ยวชาญในยุคหลังทักษิณที่สำคัญได้แก่  พรรคประชาธิปัตย์, ทหาร, ศาล, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วม (ผ่านทางอดีตแกนนำ), สื่อมวลชน และนักวิชาการที่เลือกข้างถูก  บรรดากลุ่มคนเหล่านี้จะมีสิทธิ์มีเสียงในสังคม ซึ่งประชาชนผู้ป่วยไข้ ไม่รู้ ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


5.ชนชั้นผู้ป่วยไข้


ชนชั้นผู้ป่วยไข้คือผู้ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่อการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่เจ็บ จน โง่ สร้างภาระ ดื้อดึง และไม่เชื่อฟังอำนาจ หากยอมรับเชื่อฟังอำนาจก็จะได้รับการดูแล บำบัด เยียวยา ด้วยงบประมาณที่หว่านทุ่มลงไปในรูปเงินช่วยเหลือ กู้ยืม คนเหล่านี้เป็นคนที่เปลี่ยนมาจาก คนรากหญ้า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นคนส่วนใหญ่ใน 40 ล้านเสียง ที่อดีตนายกรัฐมนตรีอ้างความชอบธรรม และยังคงเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่นโยบายของทุกพรรคการเมืองช่วงการหาเสียงเลือกตั้งล้วนต้องเอาใจ เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นผลพวงที่ก่อกำเนิดขึ้นมานับแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ภายใต้โครงการชุดเอื้ออาทร และลงทะเบียนคนยากจน ที่มีคนรากหญ้ามาขอลงทะเบียนรับความช่วยเหลือมากกว่าจำนวนคนยากจนที่วัดได้จากเส้นความยากจนทางการ  เขาเหล่านี้เป็นคนป่วยไข้ที่ต้องบำบัดรักษาและเชื่อฟังผู้เชี่ยวชาญ 3 สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ผู้ป่วยไข้ถูกบอกให้ปฏิบัติ  1.เศรษฐกิจพอเพียง  2.อยู่ภายใต้ความสมานฉันท์ คือไม่โต้แย้ง ไม่เห็นค้าน (รัฐ) ไม่ออกมาเคลื่อนไหว 3. "รักพ่อ" ทั้งสามสิ่งคือยาขนานวิเศษที่แก้ไขได้ทุกโรค และจะสร้างสังคมที่สันติสุขอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย อันแตกต่างจากยุคทักษิณเพียง 1.เศรษฐกิจรากหญ้า  2. อยู่ภายใต้ความสมานฉันท์ คือไม่โต้แย้ง ไม่เห็นค้าน (รัฐ) ไม่ออกมาเคลื่อนไหว 3. "รักทักษิณ" ซึ่งหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เพราะคนเหล่านี้ก็ยังป่วยไข้และอยู่ในภาวะที่ต้องเยียวยารักษาต่อไป


6.อาการเสพติดของการเสพด่วน


คิดใหม่ทำใหม่ คิดเร็วทำเร็ว ทันสมัย ใหม่เสมอคือวัฒนธรรมที่รูปแบบการบริโภคของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และพรรคไทยรักไทยสร้างขึ้น การเปลี่ยนโปรโมชั่นใหม่ ๆ ทุก 3 เดือน โดยเปลี่ยนสูตรคำนวณการคิดค่าบริการใหม่ แต่ผลลัพธ์ของค่าบริการก็ไม่ต่างจากเดิม พร้อมไปกับการเพิ่มเติมความสามารถของโทรศัพท์มือถือ ทั้งการโหลดริงโทน โหลดเพลง  ส่งภาพถ่าย ส่งข้อมูล ส่งคลิปวีดีโอ  ฟังข่าว ดูดวง หาเพื่อน ชำระเงิน ชมรายการโทรทัศน์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การเสพย์การบริการเหล่านี้เกิดควบคู่ไปกับรูปแบบโทรศัพท์มือถือที่ออกรุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่ท้องตลาดทุกเดือนกระตุ้นการบริโภคและความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทดแทน กล้องถ่ายรูป เครื่องเล่นเสียงแบบพกพา กล้องถ่ายวิดีโอ  เครื่องรับโทรทัศน์ ได้สมบูรณ์ มันทำหน้าที่เพียงให้ผู้ครอบครองเสพความบันเทิง รื่นเริง ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ในทุกที่ทุกเวลา แบบชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อรอเสพสิ่งใหม่ๆ ที่จะถูกประดิษฐ์ขึ้น


นโยบายเป็นชุดในแบบ โครงการเอื้ออาทรที่มีทั้งบ้าน แท็กซี่  คอมพิวเตอร์ จักรยาน นักบิน แอร์โฮสเตส  ชุดนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดที่รวมการเข้าบำบัดรักษา การปราบปรามตัดตอน การปราบผู้มีอิทธิพล หรือชุดขจัดความยากจนที่เพิ่มช่องทางการกู้เงินอีกหลากหลาย ซึ่งแข่งขันกันผลิตเป็นนโยบายย่อยในชุดนโยบายใหญ่ก็ไม่ต่างกับโปรโมชั่นของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ  คือโอกาสในการช่วงชิงความได้เปรียบ และเรียกคะแนนกลับคืนมาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเร่งผลิตนโยบายสนองตอบต่อการเสพย์ติดการเมืองของ สังคมที่ป่วยไข้จากอาการเสพติดการเมืองที่ต้องการความเร่งด่วนรวดเร็วและรอไม่ได้


สังคมเสพด่วนจะคอยเรียกร้อง และเคลื่อนไหว เพื่อให้ฝ่ายการเมืองเร่งสนองตอบต่อการบริโภคที่เคยได้รับแบบทันใจ  แนวร่วมพันธมิตรจะเป็นรัฐบาลบนท้องถนนคู่ขนานอยู่ใกล้ ๆ รั้วทำเนียบ  ที่มีอำนาจกำกับได้มากกว่าคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์เดิมที่เคยมีมา


สรุป


แม้ว่าอำนาจทักษิณจะค่อย ๆ หมดไป ในยุคหลังทักษิณ แต่ยุคทักษิณได้สร้างระบบการเมือง สังคมขึ้นใหม่ ที่ก้าวกระโดด เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากขุนนาง ศักดินา  พ่อขุน ทหาร รัฐข้าราชการ และพรรคแนวอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสื่อมอำนาจลงไป  ช่วงเวลา 6 ปี ที่ทักษิณเรืองอำนาจ ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยอย่างรวดเร็ว และแฝงฝังเป็นชีวอำนาจ ที่แม้ทักษิณ และระบอบทักษิณจะถูกทำลายไป แต่สิ่งที่ทักษิณได้สร้างไว้จะยังคงอยู่เพราะมันได้แฝงฝังเข้าสู่โครงสร้างทางสังคมที่ รอวันเติบโต ปฏิวัติถอนรากถอนโคน ขจัดระบอบการเมืองเดิม (ใหม่) ด้วยเหตุนี้ยิ่งทำลายระบอบทักษิณรื้อล้าง และรุนแรงเพียงใด ก็ยิ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ความโกรธแค้นชิงชังระหว่างคนสองกลุ่มมากขึ้นเพียงนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์อาจก้าวไปไกลเกินกว่าความขัดแย้งระหว่างคนรักกับคนเกลียดทักษิณ แต่เป็นความขัดแย้งของความเชื่อทางการเมืองและสภาวะธรรมชาติ (natural state)[iv]  ของความเป็นมนุษย์แทน






เชิงอรรถ


[i] แนวคิดกลุ่มหลังอาณานิคม (post colonial)  มองว่าประเทศอดีตอาณานิคมยังคงต้องพึ่งพา และยอมรับภาษา วัฒนธรรม รูปแบบวิธีคิดแบบตะวันตก  ซึ่งยังครอบงำสังคมอยู่แม้ว่าจะได้รับการปลดปล่อยจากตะวันตกแล้ว ดังนี้จึงต้องทำลายสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้หมดสิ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการสร้างความเป็นตัวของตัวเอง



[ii] อนุรักษ์นิยมใหม่ เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับ เสรีนิยมใหม่ ในที่นี้หมายถึงการกลับคืนสู่การรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของชาติ การปลุกเร้าชาตินิยม และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันหลักที่เก่าแก่  ความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกลับไปสู่สังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรม ขจัดความฟุ้มเฟ้อฟุ่มเฟือย เปลี่ยนฉลากเศรษฐกิจทุนนิยม (ทุนสามานย์) มาสู่เศรษฐกิจพอเพียง (ทุนศักดิ์สิทธิ์)



[iii] เสรีนิยมใหม่ ที่ใช้ในสมัยทักษิณ คือการเปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุน ลดบทบาทของรัฐลง เพิ่มบทบาทของเอกชนมากขึ้น เน้นการแข่งขันเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี ขณะเดียวกันก็จัดสรรงบประมาณลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เรียกว่าคนรากหญ้าโดยตรงโดยลดขั้นตอนที่ต้องผ่านระบบราชการ ฟื้นฟูกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ



[iv] โปรดดูความแตกต่างในสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ระหว่าง  John Locke และ Thomas Hobbes


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net