บทไตร่ตรองสังคมไทย ในความรุนแรง ปี 51

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


โดย สามสอ

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)

 

 

ปี 2549 สังคมไทยได้เรียนรู้เรื่อง สีเหลือง หนึ่งในกลุ่มสีหลัก ในวิชาศิลปะ สีเหลืองที่เป็นสีสัญลักษณ์แห่งองค์พระประมุขของประเทศ สังคมในเวลานั้น กลายเป็นสังคมร่วมสมัยแห่งการเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวสำคัญของพลเมืองที่กำลังถูกปล้นเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ จากทุนนิยมโดยระบอบธนกิจการเมือง ในเวลานั้น คงไม่มีใครคาดคิดได้ว่ากระแสร่วมสมัยแห่งการใส่เสื้อสีเหลือง ได้ส่งต่อการสร้างอัตลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่ต่างมีเสื้อยืดสีต่างๆ ขององค์กรตนเอง จนทำให้ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าห้องแถวตามตรอกซอยต่างๆ ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ

 

กุศโลบายของการใช้สีเหลืองเพื่อหลอมรวมคนในชาติเพื่อเป้าหมายสถาบันนิยม ในโอกาสฉลองการขึ้นครองราชย์ 60 ปี ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูง ขณะเดียวกัน เมื่อการพลิกผันทางการเมืองเกิดขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองจากวาทกรรมไม่เอาระบอบทักษิณ สีเหลืองถูกเพิ่มความหมายเป็นเกราะป้องกันทางจิตวิทยาของผู้ชุมนุมเพื่อติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตัวแทนของอดีตนายกทักษิณ  และในที่สุด มวลชนสีเหลืองก็ได้คู่ชกสีแดงฝ่ายตรงข้าม ที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ถูกปลุกเร้าให้เป็นความรุนแรง แม้ว่าฝ่ายเสื้อเหลือง จะยึดถือแนวทางสันติวิธีก็ตาม (แต่ในที่สุด กลายเป็นสันติวิธีที่หลงติดกับอคติ และจิตใจคับแคบ) ก็เป็นตัวเร่งให้ความเข้มข้นของสีตรงข้ามขยายวงมากขึ้น และต่างฝ่ายต่างใช้การปลุกกระแสอารมณ์มวลชน รวมถึงใช้แนวทางตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ของตน

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่สีเหลืองจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางแนวความคิด สังคมไทยในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดตนเองต่อการรับรู้ข้อเท็จจริงทางการเมืองมากขึ้น มีการติดตามตรวจสอบโดยเวทีเคลื่อนที่วิพากษ์การเมือง แม้ว่าบางกลุ่มจะรับรู้ได้ว่า เบื้องหลังของเวทีวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลจะมีเหตุผลเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวในเชิงธุรกิจ แต่เมื่อข้อมูลเชิงวิเคราะห์ต่อความเป็นไปของระบอบธนกิจการเมืองถูกเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อภาคประชาชนจากระบอบประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ ก็ทำให้ประเด็นความขัดแย้งของผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร กับผู้นำประเทศในขณะนั้น เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป เพราะองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่ละสัปดาห์น่าสนใจกว่า

 

ต่อมาเมื่อการทำงานร่วมกันระหว่างอำมาตยาธิปไตย กับบรรดาขุนศึก (ทหาร) ทำการรัฐประหาร ในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งน่าจะเป็นการขจัดระบอบผู้นำเบ็ดเสร็จได้ แต่การณ์กลับกลายเป็นเสมือนการตัดกิ่งไม้ ไม่ช้านานกิ่งใหม่ก็งอกออกมาอีก นั่นคือ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ และได้คณะรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนระบอบทักษิณอีกครั้งหนึ่ง  ปัญหาต่างๆ ทั้งการคอร์รัปชั่น ความไม่ซื่อสัตย์ การเอาเปรียบขูดรีดประชาชนโดยนโยบายต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมาอีก และดูเหมือนว่า กิ่งก้านสาขาที่แตกออกมา คือบรรดานักธุรกิจที่เปลี่ยนตัวกันเข้ามาเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ต่างก็เร่งรีบทำงานเพื่อรับรางวัลจากภาษีของประชาชน ดึงผลประโยชน์กลับคืนมากกว่าที่จะประสานงานเพื่อให้องคาพยพทั้งหมดของสังคมเคลื่อนไป สิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอีกครั้ง บนฐานพลังของสีเหลือง และการตรวจสอบการทำงานของโครงสร้างรัฐบาล ก็เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวและยึดครองพื้นที่ต่างๆ ของแนวร่วมสีเหลือง ที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญต่อสังคมไทยในปัจจุบัน จากจุดเริ่มที่เป็นเวทีถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร เปิดเผยข้อเท็จจริงสู่สังคม ในขณะที่สื่อทั่วไปกระทำได้อย่างไม่เต็มที่นัก และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจะสดใหม่อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมาจากการล่วงรู้ความเคลื่อนไหวภายในโครงสร้างรัฐบาล ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตรวจสอบอยู่เสมอ

 

ในช่วงต้นปี 2551 รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งใหม่ และยิ่งองค์ประกอบคณะรัฐบาลในทางปฏิบัติจริงแล้ว มีรัฐมนตรีที่ทำงานเป็นแขนขาอยู่เพียง 2-3 คน ของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด และเมื่อประเด็นการทำงานที่รวบรัด ไม่โปร่งใสของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีเขาพระวิหาร จนเกิดกระแสปลุกปั่นสร้างข่าวความบาดหมางระหว่างไทยกับกัมพูชา และถูกตีแผ่ถึงความไม่ชอบมาพากลและผลประโยชน์แลกเปลี่ยน  ทำให้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามแนวทางอหิงสธรรม ค่อยๆ ก่อรูปเป็นการเมืองแบบเฉียบพลัน หรือในภายหลังได้พยายามสร้างเป็นวาทกรรม "ผู้สร้างการเมืองใหม่" อย่างไรก็ดี สิ่งที่ค่อยๆ ปรากฏเด่นขึ้นมา ควบคู่กับการนำเสนอสาระหรือข้อมูล คือ การปลุกเร้าด้านอารมณ์ความรู้สึกของมวลชน ผ่านทางแกนนำ และวงดนตรีที่เสียดสีการเมือง  ซึ่งเคยมี Le bon นักสังคมวิทยาการเมืองชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือ เรื่อง The Crowd อธิบายบรรยากาศ ขบวนการเคลื่อนไหวไว้ว่า คนที่มาร่วมชุมนุม ต่างก็มีความแตกต่างกันด้านอาชีพ ความรู้ บุคลิกลักษณะ หรือสถานะทางสังคม ฯลฯ เมื่อเข้ามาอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวแล้ว คนเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนรูปโดยสิ่งแวดล้อมของกลุ่มเคลื่อนไหว ทำให้มีจิตใจร่วม ความรู้สึกร่วม รวมทั้งมีการแสดงออกและลักษณะท่าทางที่แตกต่างไปจากสิ่งที่แต่ละคนเคยเป็นมาก่อน

 

หากเอาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มาพิจารณากับบริบทที่สังคมโหยหาที่พึ่งพิง โหยหาผู้นำ (เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยมีภาวะหลงติดกับผู้นำนิยม) การมีบุคคลใดหยิบฉวยเอาสถานการณ์ของความสับสนทางการเมือง มาสร้างภาวะผู้นำให้กับตนเอง และกลุ่มพรรคพวก แม้ว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมการเมืองไทยก็ตาม  ดูเหมือนจะไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง  สิ่งที่เราเห็นจากช่วงเวลา 193 วัน ของการชุมนุม แกนนำพธม. แต่ละคนได้ใช้ทั้งคุณลักษณะเฉพาะของตน รวมทั้งถ้อยคำที่ปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ฟัง ที่นั่งฟังอย่างจดจ่อในบริเวณชุมนุม ซึ่งเป็นคำพูดที่ซ้ำๆ เพื่อให้ติดเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ฟัง รวมไปถึงผู้ชมทางบ้านที่เปิดทีวีช่อง ASTV ตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ "ใช่มั๊ยพี่น้อง" "ใช่? ไม่ใช่?" "ขอเสียงหน่อย" ฯลฯ ซึ่งตามด้วยการเปล่งเสียงขานรับของผู้ฟังอย่างแข็งขัน  หรือใช้ "มือตบ" ตอบรับอย่างไม่ขาดสาย  รวมทั้ง กระแสนิยมสะสมสิ่งของไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ผ้าพันคอ หรือ เหรียญที่ระลึก ซึ่งแพร่กระจายไปยังผู้คนที่เป็นแนวร่วมในภาคสังคมอื่นๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ของการเลือกข้างอย่างตั้งใจ แต่ดูๆ แล้วประหนึ่งเป็นภาคปฏิบัติของพิธีกรรมทางศาสนา การกระตุ้นให้มีการตอบรับ ทำซ้ำๆ บ่อยๆ ถี่ๆ ในที่สุดก็ตกไปอยู่ในภาวะจิตใต้สำนึก ซึ่งไม่ต้องใช้เหตุผล ก็สามารถรวมเอาผู้คนไว้ได้  เฉพาะอย่างยิ่ง สุภาพสตรีเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ (และยังเป็นกลุ่มสนับสนุนที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการชุมนุมอีกด้วย) มีความพร้อมต่อการคล้อยตาม ในแง่จิตวิทยาสังคมมนุษย์

 

พฤติกรรมที่ปรากฏ Lebon เคยบอกว่า การชักจูงและชี้นำในช่วงเวลาการชุมนุม สามารถทำให้ปัจเจกบุคคลสูญเสียความมีเหตุผล และสำนึกในศีลธรรม และก่อให้เกิดลักษณะ"อารมณ์และจิตใจร่วมเป็นหนึ่งเดียว" (the collective mind) และเป็นภาวะของอารมณ์ที่เกินความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด เกิดภาวะแพร่ระบาด เป็นภาวะที่สมาชิกในที่ชุมนุม ยอมทำตามการชักจูงชี้นำ คำสั่ง และปฏิบัติการของผู้นำชุมนุม หรือการเคลื่อนไหว

 

ในช่วงหลังๆ กลุ่มแกนนำกระทำในสิ่งตรงข้ามกับวลีที่ประกาศอยู่เสมอๆ ว่าเป็นการชุมนุมแบบสันติวิธี มีการใช้คำพูดหยาบคาย สบถ ด่าทอ และสาปแช่ง ฝ่ายที่ตนเองมองว่าเป็นศัตรู เปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนสัตว์ประเภทต่างๆ นั้น สะท้อนถึงพฤติกรรมที่พร่องด้านศีลธรรม และปลุกเร้าความรู้สึกสะใจ ให้แก่ผู้ชุมนุมทั้งที่อยู่บนท้องถนน และผู้ชมจอตู้ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จากทางบ้าน ซึ่งเมื่อตกอยู่ในภาวะอารมณ์และความรู้สึกร่วมแล้ว (ตัวอย่างเช่น เมื่อหนึ่งในแกนนำ สั่งให้ผู้ชุมนุมพักผ่อนในตอนดึก เพื่อเอาแรงไว้สำหรับการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมยังอีกสถานที่หนึ่งในวันรุ่งขึ้น ผู้ชมทางบ้านก็ปิดเครื่องรับทีวี และเข้านอนตามคำสั่งเช่นกัน) หลายคนกลับมองข้ามความรุนแรงทางวาจาและอารมณ์ที่ฮึกเหิมของผู้นำการชุมนุม  และเพียงแต่บอกว่า ให้จับเอาสาระสำคัญที่แกนนำพูด แต่นั่นถือเป็นการส่งเสริมการกระทำที่ล่วงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคมอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ศาสนาแต่ละศาสนา มีบทบัญญัติห้ามไว้ ศีลข้อที่หนึ่งในพุทธศาสนา ก็มุ่งสอนให้มนุษย์เคารพสิทธิและร่างกายของผู้อื่นๆ ศาสนาคริสต์ก็สอนเรื่องรักเพื่อนบ้าน จริงอยู่แม้ไม่ก่อบาดแผลทางกายภาพ แต่กลับสร้างแผลเป็นแห่งความชิงชังในจิตใจของอีกฝ่าย และเป็นแรงขับเคลื่อนของการรวมตัวเพื่อขึ้นมาต่อต้าน ดังเห็นจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านเผด็จการ (นปก.) ซึ่งเป็นการสร้างกลุ่มมวลชนเพื่อมาทัดทาน  ซึ่งในที่สุดแล้ว สังคมได้เรียนรู้ว่า เรื่องสงครามมวลชนหญ้าแพรก ที่ตกเป็นเครื่องมือของการต่อสู้อันซับซ้อนของ 2 ขั้วอำนาจ ระหว่างสถาบันนิยม และอำมาตยาธิปไตย และทุนนิยมใหม่ ที่ต่างก็ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือมายาวนาน

 

แม้บทเรียนการเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนการเมืองใหม่ในครั้งนี้ ได้สร้างคุณูปการต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนหลายกลุ่มเข้าใจถึงบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัจเจกชนมีความกล้าในการติดตาม และตรวจสอบมากกว่ามอบความไว้วางใจให้ผู้แทน (สส.) แต่กระนั้นก็ดี  เราพบว่าในช่วงการขยับเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเมืองนี้ ยังมีการปะทะกันทางความคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก จากการที่กลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ยังมีระดับการเข้าถึง รับรู้ และทำความเข้าใจต่อข้อมูลข่าวสารไม่เท่ากัน และยิ่งเมื่อมีการผนวกเรื่องชาตินิยม ภาคนิยม ชาวไทยเชื้อสายจีนรักชาติ คนอีสาน คนภาคเหนือ นิยมทักษิณ ฯลฯ กอปรกับสื่อมวลชน ก็เป็นเสมือนตัวเร่งให้ความขัดแย้ง ความคิดเห็นไม่ลงรอย เข้มข้นมากขึ้น จากการที่นำภาพความรุนแรงของการปะทะมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือนำเสนอแต่อคติของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการนำเสนอภาพความจริงไม่ว่าจะเป็นภาพตำรวจเล็งปืนแก๊สน้ำตาไปยังผู้ชุมนุม หรือภาพการตะลุมบอนของกลุ่มคน 2 สี สื่อได้เม็ดเงินเป็นผลตอบแทนทางบวก แต่ชาวบ้านผู้ชมข่าวทางโทรทัศน์ ได้อารมณ์เกลียดชังเป็นสิ่งตอบแทน มีตัวอย่างของความขัดแย้งเกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว นับตั้งแต่สามีภรรยา มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แม่กับลูกเลือกยืนอยู่กันคนละข้าง และเกิดปมขัดแย้ง กลุ่มผู้ที่ปฏิบัติความเชื่อในศาสนาต่างๆ กำลังดำเนินชีวิตแบบแยกส่วน คือไม่สามารถนำความเชื่อมาเป็นหลักยึดปฏิบัติในชีวิต  จำนวนไม่น้อย ที่ชีวิตในทางโลกและทางธรรมเป็นไปคนละเรื่อง คริสตชนที่ไปร่วมในการชุมนุม ของพธม. หรือ นปก. ก็มีอคติต่อเพื่อนบ้านที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน มองว่าไม่ใช่พวกตน ได้กระจายในกลุ่มผู้มีความเชื่อ คำถามคือ แล้วอะไรคือการปฏิบัติความเชื่อตามหลักศาสนธรรมที่แท้จริง

 

ในประเทศอื่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือ สงครามกลางเมือง ส่วนใหญ่เกิดมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา แต่สังคมไทย ที่ผ่านมา ความขัดแย้งด้านความคิด และอุดมการณ์ (อันที่จริงมีเรื่องอำนาจเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญ) ได้ก้าวล่วงเข้ามาทำลายบรรยากาศของเอกภาพภายในของศาสนิกในศาสนาต่างๆ ทั้งๆ ที่มักมีคำพูดเสมอๆ ว่า "ศาสนธรรมต้องเป็นหลักยึดเหนี่ยว ต้องเป็นคำตอบ เป็นทางออกของปัญหาต่างๆ" ในคำสอนของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ต่อเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน  ก็ท้าทายสังคมไทยในยามที่อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นไปเพื่อรับใช้ผลประโยชน์  และใช้เหตุผลฝักใฝ่ผลประโยชน์มาบิดเบือนความยุติธรรมทางสังคมไปเสียหมด แล้วคริสตชนจะทำอย่างไรจึงจะช่วยกันชำระเหตุผลทางการเมืองให้สะอาด การวิเคราะห์เพื่อค้นหาว่าอะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ประชาชนระดับล่างถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างไร และจะได้รับผลกระทบระยะยาวอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราเป็นผู้ชมรายการผ่านสื่อต่างๆ เราใช้สติ และปัญญา เพื่อค้นหาความจริงกับเนื้อหาข่าวที่ได้ยินได้ชมเพียงใด หรือเราใช้แต่อารมณ์ ความรู้สึก ตัดสิน เหมือนกับที่ Le bon กล่าวไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท