Skip to main content
sharethis

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชีวิตผูกพันอยู่กับ "มือถือ" "อินเทอร์เน็ต" คุณควรรู้จักองค์กรนี้ ถ้าคุณเป็นคนที่เข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ คุณก็ควรรู้จักองค์กรนี้ "สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม" (สบท.) องค์กรน้องใหม่ที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค บิลมั่ว เน็ตช้า เครือข่ายล่ม บ้านอยู่ใกล้เสาสัญญาณ ฯลฯ สารพัดปัญหากำลังจะมีทางออกถ้ายังจำกันได้เมื่อไม่นานนี้ขณะที่กระแสเอสเอ็มเอสจาก "นายกฯ ของคุณ" กำลังฮือฮา หลายคนอาจได้ยินชื่อ "สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม" (สบท.) กันมาบ้างแล้ว ในฐานะองค์กรแรกๆ ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การส่งเอสเอ็มเอสดังกล่าวนั้นอาจขัดต่อประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 12 ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการจะนำข้อมูลที่ได้มาจากการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นโดยมิได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากผู้ใช้บริการ มิได้ เว้นแต่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย

องค์กรนี้เป็นองค์กรใหม่ ที่จะทำหน้าที่ดูแลกี่ยวกับสิ่งที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้มากที่สุด อย่างการใช้บริการมือถือ และอินเตอร์เน็ต …. ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และจะทำอะไรได้บ้าง ?

จากการพูดคุยกับ นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. ทำให้ทราบว่า สบท. นั้นเป็นองค์กรที่เริ่มทำงานมาได้เกือบหนึ่งปีแล้ว โดยระเบียบก่อตั้งองค์กรออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 50 จากนั้นมีการสรรหากรรมการเมื่อเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ก่อนที่จะเริ่มทำงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (มกราคม 51)

นพ.ประวิทย์เล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง สบท.ว่า เมื่อ กทช. ตั้งเสร็จเมื่อปี 49 ก็ได้ออกประกาศต่างๆ ออกมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะ จุดยืนของ กทช. คือการทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศก้าวทันโลก มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมา คนที่เสียงดังคือผู้ประกอบการ ผู้บริโภคเสียงส่วนน้อย แล้ว กทช. หรือหน่วยงานของรัฐเกือบทุกหน่วยจะไม่ค่อยคิดว่าตัวเองต้องคุ้มครองผู้บริโภค จะคิดว่าตัวเองเป็นกลางระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นก็ต้องหาฝั่งผู้บริโภคมาส่วนหนึ่ง

ที่ผ่านมามีการออกประกาศที่พยายามสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภคหลายอย่าง อาทิ มาตรฐานสัญญา ซึ่งจะระบุว่า ถ้าโทรศัพท์ในระบบเติมเงิน (พรีเพด) เติมเงินแล้วห้ามหมดอายุ เติมเท่าไหร่ต้องใช้หมดวันจึงจะหมด แต่ข้อเท็จจริงแล้วมันไม่ใช่ 10 บาทอยู่ได้วันหนึ่ง 30 บาทอยู่ได้ 3 วันทำนองนี้ หรือบอกว่า ถ้ายกเลิกบริการปุ๊บ ผมมีสิทธิเอาเงินคืนนะ แต่ปรากฎว่า ผมเติมไป 1,000 บาท แต่พอวันหมดแล้วคุณไม่เติมเงิน เขาก็เอาเงินคุณไปเลย หรือผมบอกว่ามันมีสิทธิยกเลิกสัญญาเวลาไหนก็ได้ เช่น ผมใช้อินเทอร์เน็ต ใช้ 1 วันอยากยกเลิกก็ทำได้ แต่พวกบริษัทก็จะมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้ 1 ปี ซึ่งไม่ถูกตามกฎหมายทั้งหมด กทช. ก็เห็นว่า สำนักคุ้มครองผู้ใช้บริการต้องแอคทีฟมากกว่านี้ อาจต้องเอาคนที่ทำงานด้านผู้บริโภคอยู่แล้วมาจัดการ ก็เลยตั้ง สบท. ขึ้น จากความร่วมมือระหว่าง กทช.กับองค์กรผู้บริโภค โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ กทช. หรือพูดง่ายๆ คือเป็นหน่วยงานของรัฐ

สำหรับหน้าที่ของ สบท. นั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า โดยหลักแล้ว ภารกิจประจำคือรับเรื่องร้องเรียน เวลาคนมีทุกข์ เขาก็ร้องเข้ามาแล้ว สบท.ก็ไปแก้ทุกข์ให้เขา แต่เรับเรื่องร้องเรียนอย่างเดียวมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จะให้ดี ต้องมีการถอดบทเรียนแต่ละเรื่อง แล้วมาดูว่าต้องออกกติกาอะไรเพิ่มรึเปล่า หรือเป็นเพราะกติกาอะไรหย่อนยาน เช่น ประเทศไทย ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคยได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วรู้สึกไหมว่ามันสูงกว่าที่เราใช้จริง หรือบางคนบอกว่า ทำไมมีแต่เบอร์อะไรแปลกๆ อะไรทำนองนี้

"ในอังกฤษ จะมีกติกาว่าการเรียกเก็บเกินจริง (overcharge) ห้ามเกิดขึ้นเกิน 1 ต่อ 50,000 คือ 100,000 บิล ผิดพลาดได้แค่ 2 บิล แต่คนไทยเกินครึ่งรู้สึกหมด เราจึงต้องออกกติกาเรื่องนี้ แปลว่าต้องบังคับให้บริษัทมีเครื่องมือตรวจสอบความแม่นยำของการให้บริการ แล้วต้องมีสำนักงานมาตรฐาน ยกตัวอย่างบางประเทศมีเครื่องมือตีตราเลย เหมือนตีตราลิฟท์ ว่า ลิฟท์นี้ผ่านการตรวจมาตรฐานแล้ว เครื่องมือต้องผ่านการตรวจมาตรฐานถึงจะเชื่อถือได้ แต่นี่ไม่มี คอมพิวเตอร์ใครผิดก็ไม่รู้ เรียกเก็บมั่วๆ ซั่วๆ เพราะฉะนั้น เราเชื่อว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียนเสร็จ เราต้องพัฒนาเป็นกฎกติกา นโยบาย มาตรการคุ้มครอง จึงจะแก้ปัญหาได้ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ"

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำงานได้ดี แต่จุดอ่อนของ สคบ. กับ อย. คือ เป็นองค์กรของรัฐ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ประวิทย์เชื่อว่าวิธีที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภค คือ ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม โดยกรรมการสถาบันมาจากชาวบ้าน มาจากองค์กรผู้บริโภคตามภูมิภาค แล้วหลังจากนั้นต้องสนับสนุนความเข้มแข็งของชาวบ้านตามต่างจังหวัด โดยบอกให้เขาเสนอโครงการเกี่ยวกับผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมมา ซึ่งหากต่อไปในภูมิภาคสามารถรณรงค์ให้ความรู้ ให้ชาวบ้านรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยเรื่องได้เอง ภาระส่วนกลางก็จะน้อยลง เพราะตอนนี้ หมายเลขโทรศัพท์ทั้งมือถือทั้งโทรศัพท์บ้าน เกิน 1 ต่อ 1 แล้ว เพราะฉะนั้นผู้บริโภคคือคนไทยทุกคนที่ใช้โทรศัพท์เป็น แล้วคำถามคือ ต้องจ้างเจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะแก้ปัญหาคน 60 ล้านคน ข้อเท็จจริงคือไม่มีประโยชน์ ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องทำให้ชาวบ้านคุ้มครองตัวเองได้

นอกจากความเข้มแข็งของเครือข่ายแล้ว ประวิทย์ระบุว่ายังต้องรณรงค์ให้ความรู้โดยตรง เช่น พยายามบอกชาวบ้านว่า "ถ้าวันหมด เงินไม่หมดก็ขอคืนได้" ผู้ประกอบการไม่ชอบก็เรื่องของเขา ทำไมจะต้องให้เขาอมเงินไปฟรีๆ กฎนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 49 แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เมื่อวันหมดเหลือเงินเท่าไหร่ก็ไม่ได้สนใจ

นอกจากนี้ สบท.ยังมีหน้าที่เสนอนโยบายต่างๆ ต่อ กทช. ซึ่ง กทช.จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ได้ ที่เสนอไปก็มีหลายอย่าง อาทิ เรื่องนโยบายเรื่องความแม่นยำของการคิดค่าบริการ เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศมี

หลายคนอาจสงสัยว่า ก่อนหน้านี้มีองค์กรหลายแห่งที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถ้าเช่นนั้น การมีองค์กรใหม่นี้เพิ่มขึ้นมาจะมีบทบาทหน้าที่คล้ายหรือต่างกันอย่างไร นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า สบท. มีความเป็นทางการมากกว่า โดยมีสิทธิที่จะได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการ เช่น ถ้ามีเรื่องร้องเรียน ก็ให้ผู้ประกอบการชี้แจงมา ถ้าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน จะไม่มีสิทธิเรียกข้อมูล บริษัทจะปฎิเสธตลอดว่าคุณไม่ใช่พนักงานตามกฎหมาย

นพ.ประวิทย์กล่าวต่อว่า สบท. ยังสามารถสรุปข้อมูลส่งให้ กทช. วินิจฉัยได้ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้บริโภคคนหนึ่ง เหลือเงิน 234 บาท ร้องเรียนมาว่า ทำไมวันหมดแล้วใช้เงินไม่ได้ ถ้าร้องไปที่มูลนิธิ ก็อาจจะสื่อกับสังคม หรือไปฟ้องศาล แต่ถ้าร้องมาที่เรา เราก็เสนอ กทช. ว่าเรื่องนี้ขัดประกาศ กทช. และให้ไปคุยกับบริษัทใหม่ บริษัทก็ยอมเซ็นสัญญาว่า เบอร์ของคุณใช้ได้จนกว่าเงินจะหมด ดังนั้น จะเห็นว่า สบท.มีอำนาจบังคับทางกฎหมายอยู่เหมือนกัน

ส่วนที่ สบท. ดูแลนั้นครอบคลุมเรื่องของโทรคมนาคม หลักๆ คือ โทรศัพท์ ไม่ว่า โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ต หมายถึงตัวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ไม่ใช่ตัวเนื้อหา เช่น อินเทอร์เน็ตล่ม อินเทอร์เน็ตช้า สบท.เข้าไปดูแลได้ ขณะที่เรื่องของกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ไม่เกี่ยวกับ สบท.

อย่างไรก็ตาม เรื่องเสรีภาพของผู้ใช้บริการ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ 2550 นั้น นพ.ประวิทย์บอกว่า ส่วนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของ สบท. เช่นกัน

"เนื่องจากออกกฎหมายมาไม่บูรณาการ ถ้าคุณจะร้องเรื่องโฆษณาอินเทอร์เน็ตคุณต้องไปร้อง สคบ. ถ้าจะร้องเรื่องคุณภาพมาร้องที่เรา ถ้าจะร้องเรื่องเนื้อหาต้องไปไอซีทีหรือตำรวจ นี่คือหน่วยงานภาครัฐซึ่งแบ่งหน้าที่กันตามที่กฎหมายเขียนไว้"

สำหรับกรณีไม่สามารถเข้าถึงเว็บเพจบางหน้า โดยสงสัยว่ามีการบล็อก ทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงนั้น ผอ.สบท. กล่าวว่า สบท.มีสิทธิให้ไอเอสพีชี้แจงเลยว่า มีผู้ร้องว่าคุณระงับการใช้บริการโดยไม่ชอบ มันเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องดูว่า เขามีอำนาจการบล็อกจริงรึเปล่า คือถ้าขัดขวางการใช้บริการก็ผิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่สอบสวนว่า บล็อกเพราะเทคโนโลยีขัดข้อง หรือจงใจ ถ้าจงใจมีอำนาจทางกฎหมายหรือเปล่า ถ้าเขาอ้างได้ว่า ตำรวจสั่งหรือไอซีทีสั่งก็ว่ากันไป แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ถือว่าผู้ให้บริการผิดกฎหมายแน่นอน คุณไม่มีสิทธิเลือกปฎิบัติ

นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว ความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่ง สบท.สามารถเข้าไปมีบทบาทตรวจสอบได้ "พอเรื่องนี้ร้องเข้ามา โดยส่วนใหญ่ 99% บริษัทจะบอกว่า แจ้งให้ทราบแล้วว่าเป็นอัตราความเร็วสูงสุด หากมีการใช้ร่วมกัน อัตราค่าเฉลี่ยก็ลดลง ดังนั้นถือว่า เขาไม่ได้โกหก เขาจะใช้ข้อต่อสู้ประมาณนี้หมด แต่เราต้องบอกเขาว่าในกติกาของต่างประเทศมีเรื่องการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องพูดชัดๆ เลยว่าความเร็ว 2 Mb แล้วอัตราเฉลี่ยจริงๆ นั้นเท่าใด แต่เนื่องจากกฎกติกาตอนนี้ไม่มี และพยายามจะสร้างอยู่

"เราอาจจะบอกว่า คุณโฆษณา 2 Mb ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องบอกด้วยว่า ขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ ไม่ใช่ขั้นต่ำได้เกือบศูนย์เลย ซึ่งก็ดูไม่แฟร์เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ถือเป็นความผิด"

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีประมาณ 1% ก็คือถ้าผู้ร้องยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการแชร์ คือ 24 ชั่วโมงแย่หมด บริษัทก็ส่งคนไปตรวจสอบที่บ้านว่าสายมันไม่ดีรึเปล่า ก็มีรายหนึ่งที่ทีโอทีไปตรวจสอบ รื้อระบบใหม่และใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะต่อสู้ว่า สายดีหมดทุกอย่าง เกิดจากการแชร์กัน

เขาบอกว่า สบท.ได้เคยพยายามขอความร่วมมือไอเอสพีทั้งหลาย เพื่อให้ส่งข้อมูลทางเทคนิคทั้งหมด เช่น ข้อมูลอัพโหลด ดาวน์โหลด หรือข้อมูลอื่นๆ เพื่อนำมาประมวลว่ามาตรฐานบริการด้านอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไรแล้ว โดยขณะนี้ กทช. มีเฉพาะมาตรฐานบริการด้านเสียง คือบอกได้ว่าโทรไป สายหลุดห้ามเกินกี่เปอร์เซ็นต์ โทรศัพท์เสียต้องส่งคนมาซ่อมกี่เปอร์เซ็นต์ โทรไปร้องเรียนคอลเซ็นเตอร์รับสายในกี่วินาที แต่อินเทอร์เน็ตยังไม่มีมาตรฐานตรงนี้

นอกจากนี้แล้วเรื่องที่คนร้องมามากก็คือเรื่องลูกเล่นที่ผูกว่าต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตครบปี ถ้าไม่ครบปีจะโดนค่าปรับ จริงๆ แล้วกติกา กทช.บอกเลยว่าคุณอยากยกเลิกวันไหนก็ยกเลิก ถ้าเป็นอินเทอร์เน็ต พรีเพด ก็บอกไว้ว่าห้ามหมดอายุ แต่บัตรอินเทอร์เน็ตทั่วโลกก็มีกำหนดอายุหมด ต้องใช้ภายใน 30 วัน 90 วัน ก็ต้องไปแก้กันต่อ อันที่จริงกำหนดไว้ว่าบริการทุกประเภทห้ามหมดอายุ บัตรโทรศัพท์หรืออะไรต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มันมีการคุยกันอยู่ว่าถ้าไม่หมดอายุเลยอาจดูไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ควรกำหนดอายุขั้นต่ำให้ยาวหน่อย ส่วนใหญ่อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่อง content เสียมากกว่าเรื่องบริการหรือผู้ให้บริการ ซึ่งตัว content เราไม่มีอำนาจตรงนี้

นอกเหนือไปจากตัวการบริการแล้ว สบท.ยังทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงบริการในทุกส่วน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสด้วย ผอ.สบท. บอกว่า เดิมมีหน่วยงานดูแลเ้รื่องการเข้าถึงโดยเฉพาะ แต่เน้นเรื่องการเข้าถึงในพื้นที่ห่างไกล ชาวเขา ชนบท ซึ่งตอนแรกเฉยๆ เพราะชาวบ้านบ้านนอกไม่มีโทรศัพท์ใช้ แต่เมื่อให้เอแบคโพลล์สำรวจ ในกรุงเทพฯ ก็มีคนเข้าไม่ถึงโทรศัพท์ เช่นชุมชนเกิดใหม่ ลาดกระบัง โดยบริษัทมักอ้างว่า คู่สายเต็ม หรืออยู่นอกพื้นที่ให้บริการ คนที่อยู่คลองหลวงโอกาสขอโทรศัพท์ยาก ซึ่งถ้าสายโทรศัพท์ไม่ถึง อินเทอร์เน็ตไม่ต้องพูดถึง คุณไม่มีทางใช้อินเทอร์เน็ตได้

นอกจากในกรุงเทพฯ ปัญหาคือแล้วกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มคนพิการ หูหนวก ตาบอด คนพิการอื่นๆ

เช่น ตอนนี้ กทช. มีนโยบายพัฒนา 3G บริการข้อมูลความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือ ในอนาคตเร็วกว่า ADSL 3G ใช้ส่งข้อมูลดูหนัง แต่ข้อเท็จจริง 3G มีประโยชน์กับคนหูหนวก เพราะเขาซื้อโทรศัพท์มาโทรไม่ได้ ตอนนี้ใช้ส่งข้อความเอสเอ็มเอส ถ้าทันสมัยหน่อยก็ส่งเอ็มเอ็มเอสถ่ายรูปแล้วส่งกันไปส่งกันมา แต่ถ้าเป็น 3G ต่อไป real time interactive กันเลย แต่คำถามคือค่าบริการแพง เป็นไปได้ไหมที่เราจะเจรจากับบริษัทว่า 3G ต่อไปคนหูหนวก ควรได้เอสเอ็มเอสแบบเหมาจ่าย เพราะทุกวันนี้ คนหูหนวกซื้อโทรศัพท์มา โทรก็ไม่ได้ ส่งเอสเอ็มเอสอย่างเดียว ยังคิดโดนคิดสามบาทๆ ไปเรื่อยๆ เท่ากัน

"ผู้ให้บริการควรให้เขาเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม เพราะเขาไม่ได้ใช้บริการเสียงอยู่แล้ว"

นพ.ประวิทย์ เสนอว่า ถ้าต่อไปเป็น 3G ก็ควรมีบริการให้โต้ตอบกันทางอินเทอร์เน็ตได้เลย ซึ่งก็ต้องเจรจากันต่อ นี่เป็นเรื่องการเข้าถึงแบบหนึ่ง หรือคนหูหนวกส่วนหนึ่งเขาเล่นแคมฟรอกซ์กัน แต่ค่าอินเทอร์เน็ตก็แพงอยู่ดี ทำไมอินเทอร์เน็ตของเขาถึงถูกไม่ได้ ถ้าจดทะเบียนในนามผู้พิการคนหูหนวกก็ได้

"จริงๆ แล้วปัญหาคือ บริการพวกนี้ต้องลงทุน แล้วผู้ประกอบการไม่อยากลงทุน เนื่องจากลงทุนไปก็เหมือนการกุศล คือลงทุนเพื่อคนกลุ่มน้อย แถมค่าบริการก็ต้องเก็บถูกๆ ดังนั้น กรรมการสถาบันก็บอกว่าเราควรตั้งศูนย์สาธิต โดยหาอุปกรณ์บริการสำหรับคนหูหนวกตาบอดในต่างประเทศมา ให้ผู้ประกอบการเห็นว่า มันมีเทคโนโลยีนี้อยู่ในโลกนะ ในต่างประเทศมี ตอนนี้เรากำลังต้องไปเสาะหาอยู่ว่าในต่างประเทศ เขามีอะไรบ้าง"

ผอ.สบท. ยกตัวอย่างว่า คนหูหนวกบางทีจะคุยกับคนหูดีต้องส่งเอสเอ็มเอส เป็นไปได้ไหมที่จะมีตัวกลางเป็นล่าม เช่นพอคนหูดีพูดมาปุ๊บล่ามจะแปลเป็นข้อความให้ส่งถึงมือถือคนหูหนวก คนหูหนวกคีย์ไปปุ๊บก็ส่งเป็นเสียง ระบบนี้ต่างประเทศก็มี แต่คนไทย คนหูหนวกคุยกับคนธรรมดาไม่ได้ ต้องส่งข้อความถึงกัน เพราะไม่มีระบบแปลงข้อความ แปลงข้อมูลให้เข้าถึงกันอยู่

วิธีที่ใช้ในการทำงานกับผู้ให้บริการนั้น นพ.ประวิทย์ บอกว่า ใช้เรื่องการดีลโดยตรง ไม่ได้เน้นกฎหมาย เ้พราะเขาพยายามต่อสู้มาตลอดว่า สบท.ไม่ถูกกฎหมาย เพราะตามกฎหมายมีแค่หน่วยงานเดียวคือ กทช. เราเป็นแค่ส่วนงานภายใน ฉะนั้น เขาพยายามต่อสู้ว่าเราไม่ถูกกฎหมาย

"แต่ผมไม่ได้แคร์เพราะคนใช้กฎหมายคือ กทช. เราก็เตรียมข้อมูลไป แต่เน้นเรื่องการเจรจา เช่นบอกว่า มาทำเรื่องสายด่วนกันไหม ถ้าผู้บริโภคร้องเรียนปุ๊บ ก็ส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน เขาก็ไม่อยากทำ หรือเรื่องผู้ประกอบการมาทำจรรยาบรรณผู้ประกอบการร่วมกัน การสั่งทำให้เกิดภาพลบมากขึ้น ตอนนี้เขาก็ไม่ชอบเรามากพอแล้ว"

นอกจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับปัญหาจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตแล้ว นพ.ประวิทย์เล่าว่า ยังมีกรณีของโทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งหลายคนยังอาจไม่ทราบด้วย "ตอนนี้คนใช้โทรศัพท์สาธารณะน้อยลง เพราะคนใช้โทรศัพท์มือถือ ทีโอที ซึ่งใช้ระบบสัญญา subcontract ให้คนไปตั้ง พอตั้งแล้วถูกใช้น้อยลงก็เจ๊ง ดังนั้น พวกนี้จึงระงับสัญญาณเลิกให้บริการ แต่ปัญหาคือ ตามกฎหมาย เมื่อให้บริการแล้วหยุดไม่ได้ ต้องขอ กทช. ดังนั้น ปรากฎว่าไอ้เจ้าเล็กๆ ปิดตู้หลายพันตู้ทั่วประเทศ แต่ชาวบ้านไม่รู้ รู้แค่ว่าตู้ใช้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ไม่ใช่ เขาระงับบริการโดยไม่บอก เป็นการกระทำผิดกฎหมาย"

ทีนี้ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนที่เงินทองไม่มีทั้งหลายก็เดือดร้อน ฉุกเฉินก็ต้องวิ่งไปโทรศัพท์สาธารณะที่ใกล้บ้านที่สุด ใช้ไม่ได้แล้วจะให้ใช้ที่ไหน แล้วบางทีบริษัทบางเจ้าก็เล่นมุขใหม่ ต้องเป็นโทรศัพท์แบบใช้บัตร เพราะถ้าเป็นที่ห่างไกลก็ต้องส่งคนไปเก็บเหรียญถ้าเหรียญเต็ม ดังนั้น ก็ให้ซื้อบัตรไป ซึ่งเขาก็ได้กำไีร เพราะเราจ่ายเงินเขาล่วงหน้า ใช้ไม่ใช้หมดอายุก็กำไรไป ถามว่าคุณล้อเล่นรึเปล่า ให้ อบต. เปิดเหรียญให้ก็ได้ หรือ subcontract ให้ อบต.ดูแลตู้ยังได้เลย มีวิธีเยอะแยะ ถ้าชาวบ้านไม่ใช้บัตรแล้วจะทำอย่างไร กลางค่ำกลางคืน ปกติตู้ที่มาตรฐานที่สุด คือทั้งหยอดเหรียญ ใช้บัตร ก็โอเค แฟร์ แต่นี่เล่นตู้ใช้บัตรอย่างเดียวเลย

ระบบบริการสาธารณะเมืองไทยเปลี่ยนไปโดยเราไม่รู้ มันมีการละเมิดสิทธิเรา โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เราเป็นคนชั้นกลาง เราไม่เคยใช้เลยไม่รู้ว่า ตู้หลายตู้ใช้ไม่ได้เพราะมันระงับสัญญากัน

ขณะที่ สบท.นั้นทราบข้อมูลเพราะบริษัทคู่สัญญาฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้น "บริษัทเล็กฟ้องเรื่องเงินกับบริษัทใหญ่ โดยมาร้องเรียนที่เรา เราถึงรู้ว่า อ๋อ มีหลายบริษัทที่มีปัญหากับทีโอที เลิกสัญญาแล้วเกิดผลกระทบปิดกันเป็นพันๆ ตู้ นึกว่าเฉพาะต่างจังหวัด แต่ในชุมชนฝั่งธนฯ ก็ปิด คนก็นึกว่าเสีย ก็ด่าองค์การโทรศัพท์ว่า เสียอีกแล้วทั้งวันทั้งคืน เสียทั้งปีทั้งชาติ"

นพ.ประวิทย์ย้ำว่า โดยหลักกฎหมายให้บริการแล้วหยุดไำม่ได้ ฉะนั้น ถ้าใครเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะข้างบ้านหายไป ไปตามเรื่องได้เลย ว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่

ต่อเรื่องความตื่นตัวในสิทธิของผู้บริโภคในบ้านเรา ที่ดูเหมือนจะยังไม่ตื่นตัว หรือไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองเท่าที่ควร นพ.ประวิทย์เริ่มอธิบายผ่านการตั้งคำถามว่า "เวลาเราโดนละเมิดด้านโทรคมนาคม เราโดนละเมิดกี่บาท"

เขาเล่าว่า เคยไปเปิดเวทีพูดคุยที่ภาคใต้ โดยเชิญ ส.ว.สงขลามา เขาก็บอกว่า เชื่อว่าบิลผิดมีทุกเดือน แต่เขาจะร้องเรียนก็ต่อเมื่อบิลสูงเกิน 1,500 บาท ถ้าต่ำกว่านี้ เสียเวลาที่จะดำเนินการ แต่สำหรับชาวบ้าน บางทีโดนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ยกตัวอย่าง เติมไป 100 บาท อาจจะได้แค่ 70 บาท หรือมีเงิน 70 บาท ไม่ได้โทร วันดีคืนดีมาเช็ค เหลือแต่ 50 บาท เงินเสียแค่ 5-10, 20 บาท ถามว่าคุ้มไหมที่เราจะลงทุนไปร้อง ค่าโทรศัพท์ก็แพงแล้ว ค่ารถเมล์ ค่าติดต่อแพงกว่า เพราะฉะนั้นทุกคนจะทน เนื่องจากต้นทุนการร้องเรียนมันสูงกว่าที่เสียประโยชน์

ดังนั้นแล้ว สบท.จึงมีหน้าที่ลดต้นทุนชาวบ้านให้เหลือน้อยที่สุด เปิดเบอร์โทรฟรี 1200 ที่เหลือเราติดต่อเขา เพื่อให้ชาวบ้านเสียเงินให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเสียเงินมากปุ๊บ แล้วได้แค่ 5-20 บาท เขาจะถามว่า แล้วฉันจะเสียเงินไปเป็น 100 ดังนั้นจะกลายเป็นว่า พวกที่จะร้องคือเสียเงินเป็น 10,000 พวกเสีย 10-20 บาทช่างหัวมัน

ทั้งนี้ แม้บริษัทที่ให้บริการจะออกมาบอกว่า กรณีวันหมดเงินไม่หมด ส่วนใหญ่คือเงินที่ไม่หมดมูลค่าต่ำกว่า 50 บาท แต่ถามว่า 50 บาทล้านเลขหมายเป็นเท่าไหร่ แม้ผู้บริโภคจะพบว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณบิล แต่ก็ไม่คุ้มที่จะดำเนินการ ดังนั้น 5-10 บาท 60 ล้านคนก็ 300 ล้านบาท ก็คุ้มกับผู้ให้บริการ แต่ไม่คุ้มกับเรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือ พิสูจน์ว่าเราเป็นหน่วยงานลดต้นทุน

อันที่สอง ไปบอกสิทธิที่เขายังไม่รู้ เช่น บัตรเติมเงิน วันหมด เงินไม่หมด ทำไมคุณไม่เอาเงินคืน เขาก็งงว่า เอาคืนได้ด้วยหรือ กฎหมายเขียนไว้ ร้องต่อศาลก็ได้ศาลตัดสินได้

นพ.ประวิทย์เล่าเรื่อง 3 เรื่องที่ สบท.กำลังดำเนินการแล้ว ผู้ประกอบการกลัวกันมากคือ 1. เรื่องพรีเพดคือ ถ้าเงินไม่หมด วันก็ไม่หมด เพราะมันกระทบกับการเงินเขา เพราะผู้ใช้บริการเกือบ 90% ใช้พรีเพด 2.เรื่องโพสต์เพด (post-paid) ที่เราทำคือ ถ้าไม่จ่าย 2 เดือนถูกระงับค่าบริการ เมื่อชำระแล้วห้ามเสียค่าต่อ 107 บาท จริงๆ แล้วต้นทุนค่าต่อไม่มี เพราะแค่คีย์ข้อมูลไปในคอมพิวเตอร์ แต่ที่คิดเพราะกลัวผู้บริโภคไม่หลาบจำ จะเบี้ยวหนี้ นี่เป็นบทลงโทษ ซึ่งเราบอกว่าคุณลงโทษเขาไม่ได้ เป็นแค่การซื้อขายของ

ตอนนี้เรากำลังทำอีกเรื่องหนึ่ง เคยได้ยินใช่ไหมว่า ใช้โทรศัพท์นานๆ จะเป็นมะเร็ง โรคนู้น โรคนี้ เราก็ชั่งน้ำหนักเอาว่าเป็นเรื่องสิทธิของคุณ เหมือนบุหรี่ เขาก็เตือนถึงโทษกับคุณแล้วถ้ายังจะดูดก็ดูดไป อย่าให้คนอื่นเดือดร้อน แต่โทรศัพท์มันต่างจากบุหรี่ตรงที่ว่า มีคนประเภทไม่ได้ใช้ แต่ซวยได้ก็คือ คนที่บ้านอยู่ติดกับเสาโทรศัพท์ เพราะบอกว่าใช้โทรศัพท์เกินวันละ 10 ชั่วโมงมีโอกาสเป็นมะเร็ง บ้านนั้นได้รับคลื่นสัญญาณ 24 ชั่วโมง หนักกว่าอีก เขาก็กลัวแล้วร้องเรียน เราก็บอกบริษัทว่างานวิจัยต่างประเทศบอกว่า คนที่อยู่ในระยะ 200-300 เมตรจะมีผลกระทบมากกว่าคนที่อยู่ไกล ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะตั้งเสาห่างออกไป หรือถ้าตั้งในเขตชุมชนก็ต้องให้มันเล็กหน่อย เขาก็บอกทันทีว่านี่ทำให้ต้นทุนเขาเพิ่มทันที ถ้าเขาจะลดเสาทั่วประเทศ หรือย้ายเสา ต้องลงทุนอีกกี่พันล้าน

เมื่อถามว่า สบท. ต้องไปตามจี้ผู้ประกอบการให้เปลี่ยนเสา ย้ายเสาด้วยหรือไม่ นพ.ประวิทย์ให้คำตอบว่า ตามหลักกฎหมาย กทช.บอกให้ตามเรื่องร้องเรียน ถ้ามีคนร้องมา ก็ลุยไป แต่ถ้าไม่มีผลก็ต้องพยายามเสนอเป็นนโยบายไปกับ กทช. ยกตัวอย่างเรื่องเสา เมื่อปลายปี 2549 มีผู้หญิงคนหนึ่งร้องเรียนว่าบนหลังคาตึกของข้างบ้านเขามี 3 เสา ทรู เอไอเอส ดีแทค เป็นคนแรกที่ร้อง พอร้องปุ๊บเรากับ กทช.ก็ทบทวนกันเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และกทช.ได้ประกาศเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของคลื่นวิทยุคมนาคม แต่จะมีผลเฉพาะเสาที่ตั้งหลังเดือนพฤษภาคมปีนี้ (2551) ผู้ให้บริการต้องรับฟังความเห็นชาวบ้านก่อน ถ้าเขาคัดค้าน คุณก็น่าจะไม่มีสิทธิตั้ง ต้องไปตั้งทำเลที่เขายอม แต่คนที่ร้องมาเมื่อปี 49 เสาก็ยังคาอยู่อย่างนั้นทำอะไรไม่ได้ แต่สำหรับหลังพฤษภาคม 51 แม้ไม่มีใครร้องมาเราก็เอากฎหมายนี้ไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้เข้าใจตามนั้นเลย ไม่อย่างนั้นถือว่าทำผิดกฎหมาย ฉะนั้น ถ้าเป็นเสาต้นใหม่จริงๆ บริษัทจะถอย เพราะยิ่งทำความเข้าใจมาก็ยิ่งอดตั้ง เขาก็จะตั้งให้เงียบที่สุด ถ้ามีการร้องก็ค่อยถอยกัน

ทั้งนี้ สบท.เสนอทางออกให้ผู้ประกอบการว่า อาจต้องกำหนดเขตอ่อนไหว (Sensitive) เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี กำหนดไปเลยว่าห้ามตั้งใกล้เกินกี่เมตร ส่วนเขตชุมชนหนาแน่น เคยสังเกตไหมว่าห้างใหญ่ๆ นั้นสัญญาณชัดทุกซอกทุกมุม ไม่มีเสา ทำไมทำได้ แต่ที่อื่นๆ ทำไม่ได้ หลักก็คือตั้งเสาให้มันเล็กลง แต่ความแรงถี่ขึ้น ต่างประเทศก็ทำได้แต่เสียเงินมากหน่อย เขาจึงมักทำเสาต้นเดียวส่งได้ไกลๆ

กรณีที่มีสายหลุดบ่อย นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ ทั้งนี้ ต้องดูว่าเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ ถ้าเป็นมือถือ คำถามคือ 1.เราเคลื่อนที่อยู่ไหม ถ้าเราเคลื่อนที่พื้นที่ที่เราเคลื่อนไปช่องสัญญาณมันอาจเต็ม แต่ถ้าเราอยู่กับที่แล้วหลุด เป็นเรื่องคุณภาพแน่ๆ มันพอมีกติกาอยู่ว่าไม่ว่าเคลื่อนที่หรือไม่เคลื่อนที่อัตราการสายหลุดต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ข้ออ่อนของ กทช.คือ รายงานพวกนี้ ผู้ประกอบการเป็นคนรายงาน เขาก็ต้องไม่รายงานว่าเกินมาตรฐานอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีใครไปจัดเก็บ แต่ถามว่าผู้บริโภคทำอะไรได้ไหม ได้

ยกตัวอย่าง เรื่องค่าบริการ เดี๋ยวนี้มีการรายละเอียดการใช้บริการ ค้นย้อนหลังได้หมด ถ้าจะให้ดีลองไปขอใบรายละเอียดเทียบกับใบแจ้งหนี้ แล้วทำบันทึกกันทั่วประเทศ อาจจะจังหวัดละ 10 คนก็ได้ เพื่อจะดูว่าเมืองไทยผิดพลาดกี่เปอร์เซ็นต์ สายหลุดกี่เปอร์เซ็นต์ ช่องสัญญาณเต็มโทรไม่ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นรายงานฝั่งผู้บริโภค ตอนนี้มีคดีคลาสสิคอยู่คดีหนึ่งของปีนี้คือ ผู้ใช้ฮัทช์จะโทรไปเอไอเอสไม่ได้ ต้องพยายามโทรประมาณ 5 ครั้งถึงจะติดเอไอเอสครั้งหนึ่ง ฮัทช์บอกทันทีว่าคุณภาพบริการเขาดีหมดกับเครือข่ายอื่นไม่มีปัญหา แล้วบอกว่าเอไอเอสบล็อกสัญญาณ ฟ้องศาลไป 3-4 หมื่นล้าน แล้วเอไอเอสก็ฟ้องกลับ 3-4 หมื่นล้าน สรุปแล้วสองฝ่ายต่างคนต่างถอนฟ้อง แต่ไม่มีการพิสูจน์ว่ามีการบล็อกสัญญาณจริงหรือเปล่า และข้อมูลมันก็แสดงให้เห็นระหว่างความผิดปกติของการเชื่อมต่อสัญญาณสองเจ้านี้ รายงานที่ต่างคนต่างส่งมา กทช.ก็ไม่รู้จะทำยังไง ตั้งแต่ ก.พ.- พ.ย.50 คนที่โทรไม่ได้ก็โทรไม่ได้ต่อไป มีคนร้องประมาณ 70 ราย แต่ประมาณการจากฮัทช์บอกว่าคนที่ใช้ฮัทช์แล้วโทรไปเอไอเอสไม่ได้มีประมาณ 500,000 คน

สาเหตุของการบล็อคสัญญาณนั้น นพ.ประวิทย์ เล่าว่า ตอนนี้ระบบโทรคมนาคมมีกติกาอยู่ว่า เวลาผมโทรไปหาเครือข่ายอื่นต้องจ่ายค่าเข้าหา เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ในเมื่อก็เก็บเงินจากคนโทรแล้วก็แบ่งส่วนหนึ่งถูกๆ ให้เครือข่ายที่มีการโทรหาด้วย เนื่องจากไปใช้ทรัพยากรเขา แต่ฮัทช์อยู่ภายใต้บังคับของ กสท. และ กสท. ไม่จ่ายค่าเชื่อมต่อให้ใครเลย เอไอเอสอาจรู้สึกว่า เวลาฮัทช์โปรโมชั่น เหมา 499 บาทโทรไม่อั้น สัญญาณมันยิงไปเอไอเอสมาก เอไอเอสก็อาจรู้สึกว่าเขาขาดรายได้ แทนที่ยิงมาแล้วเขาจะได้ตังค์ เขาก็อ้างว่าเขาไม่ได้บล็อกแต่อุปกรณ์อะไรซักอย่างไม่ดี อย่างไรก็ตาม คาดว่าถ้ามีการจ่ายเงินแล้วจะดีขึ้น

ทั้งนี้ ระบบโทรคมนาคมไทยเพิ่งมีการปฏิรูป ระบบเก่าไม่มีค่าเชื่อมต่อ อาศัยเสียเงินให้กับองค์การโทรศัพท์หรือทีโอทีซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเดือนละ 200 บาท พอมี กทช.ปุ๊บ กทช.บอกว่า ระบบนี้ทั่วโลกไม่ใช้ เพราะเงินส่วนนี้ไปอยู่กับทีโอทีทั้งที่จริงๆ แล้วทีโอทีไม่ได้ลงทุนอะไร มันควรจะเป็นเงินระหว่างคนที่เชื่อมต่อด้วยกัน เป็นข้อบังคับใหม่ออกมา ตอนนี้มันเลยลักลั่นกันอยู่ เพราะสัมปทานเก่าก็มี สัมปทานใหม่ก็มี กสท.ยังเป็นหน่วยงานรัฐ จะเปลี่ยนอะไรก็ลำบาก แต่ก็พยายามจะตกลงกันอยู่

"แต่ข้อเท็จจริงของปัญหาโทรคมนาคมในประเทศไทยก็คือ เราไม่มีใครรู้ว่าอัตราค่าบริการมันเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ ผมยกตัวอย่าง ค่าเชื่อมต่อทุกเจ้าคิดนาทีละ 1 บาท เป็นเหตุผลว่าทำไมดีแทคจึงมีโปรโมชั่น รับสายได้ 50 สต. เพราะเขาได้เงินจากเครือข่ายอื่น ปัญหาก็คือว่า 1 บาทรู้ได้อย่างไรว่าเหมาะสม กสท.บอกต้นทุนจริงๆ อยู่ที่ 21 สต. ขอจ่ายแค่นี้ แต่เอไอเอสบอกไม่ได้ ต้อง 1 บาท เพราะเจ้าอื่น 1 บาทหมด ทาง กทช.ก็จ้างคนวิเคราะห์และเห็นว่าข้อเท็จจริงมันไม่ถึง 1 บาท คนเสียประโยชน์ก็คือผู้บริโภค เพราะเอาค่าเชื่อมต่อไปจากเรา ดังนั้น สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ อัตราค่าบริการที่เหมาะสม"

เหมือนกันกับค่าเอสเอ็มเอสเมืองไทยไม่มีกำหนดราคาเอสเอ็มเอส แต่เห็นว่าส่งกันปกติทั่วไปครั้งละ 2 บาท ถ้าส่งไปรายการทีวี 6 บาท 12 บาท ที่เป็นแบบนี้เพราะเราไม่มีกติกาเรื่องเอสเอ็มเอส ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย ต้นทุนมันไม่ถึง 1 บาทแน่นอน แต่ตอนนี้ทุกคนหาประโยชน์ ต้นทุนที่จ่ายนิดเดียวที่เหลือหักเข้ารายการ

หรือตอนนี้คดีอื่นที่จะโดนกันก็คือ ถ้าใครมีมือถือจะโดน ทดลองสมัครรับข่าวสั้นฟรี 15 วัน ปัญหาคือ ถ้าคุณไปกดทดลองปุ๊บ เขาจะบอกว่ายกเลิกให้โทรไปเบอร์นี้ แต่โทรไปไม่มีคนรับสาย สายไม่ว่าง โอนสาย คุยกันไม่รู้เรื่อง สุดท้ายต้องเสียค่าบริการ 2 เดือนโดยเฉลี่ย ถึงจะยกเลิกได้ เราก็บอกบริษัทมือถือว่าไม่ยุติธรรม เขาบอกว่าบริการนี้ไม่เกี่ยวกับเขา เป็นของสำนักข่าว เราก็ไปสืบมาว่าเขาแบ่งกันครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น ถ้ายกเลิกไม่ได้ ทั้งสองส่วนต่างก็ได้กำไร วิธีที่ง่ายที่สุด ทำไมไม่ให้กด * เลขนู้นเลขนี้แล้วยกเลิกไปได้อัตโนมัติล่ะ ถ้าบริษัทมือถือไม่เกี่ยวจริงก็ไม่มีสิทธิหักค่าบริการผ่านค่าโทรศัพท์

นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีโฆษณาขยะหรือสแปมทางมือถือด้วย ซึ่ง นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ทั่วโลก แต่ที่น่าห่วงคือ เรื่องเสียง พอรับแล้วบอกซื้อประกันไหม ซื้อโน่นนี่ไหม มายังไง เรื่องข้อมูลส่วนตัวเรามันก็พิสูจน์ยาก มันอาจรั่วไหลจากตรงไหนก็ได้ แต่ในต่างประเทศเขาเจอเยอะมากจนต้องออกเป็นกฎหมาย ออสเตรเลียก็มี อังกฤษก็มี อเมริกาก็มี ฮ่องกงก็มี กฎหมายนี้เรียกว่า Do Not Call Register นั่นคือเรามีสิทธิไปลงทะเบียนกับหน่วยงานกลางเพื่อบอกว่าเบอร์เราห้ามโทรมาขายของ ถ้าบริษัทไหนจะขายของต้องเช็คจากข้อมูลนี้ ถ้าโทรมาผิดกฎหมายทันที ไม่ติดคุกก็เสียค่าปรับ เป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ในฮ่องกงก็ทำนองเดียวกันซึ่งครอบคลุมไปถึงการโฆษณาผ่านเอสเอ็มเอสด้วย แต่เมืองไทยยังไม่ก้าวไปถึงขั้นนั้น

เมื่อถามว่า ถ้ายังไม่มีกฎหมายแล้ว เราจะทำอย่างไรได้ ผอ.สบท.กล่าวว่า ในเบื้องต้น เรายังยืนยันกับบริษัทผู้ให้บริการกับเราได้ว่าเราไม่รับ ซึ่งมันก็แปลก พอมีคนยืนยันอย่างนี้ แม้เขาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องแต่มันจะหายไปช่วงหนึ่ง แล้วจะมาใหม่ พอมีคนร้องอีกก็จะหายไปอีก เป็นระลอกๆ ไป

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องเบอร์โทรศัพท์เสรีนั้น นพ.ประวิทย์ บอกว่า ภารกิจหลักของเรื่องนี้นั้นอยู่ที่ผู้ประกอบการ เพราะเขาต้องเป็นคนลงทุนในการเชื่อมต่อเลขหมายและอะไรต่อมิอะไร ถามว่า เขาอยากทำไหม ตอนนี้ทุกคนเดาไม่ออกว่าตลาดจะวิ่งไปทางไหน ทุกบริษัทยังเดาไม่ออกว่าใครจะได้ใครจะเสีย ทุกแห่งจึงยังพยายามคงสถานภาพ ดังนั้น กทช.ก็ต้องออกประกาศมาก่อนว่าควรต้องให้บริการนี้ภายในปีหน้า แต่ถึงออกประกาศก็ต้องมาดูว่าบริษัทผู้ให้บริการเขาจะทำยังไง ตอนนี้เขามีข้อแม้อยู่ที่ว่า ให้บริการนี้ก็ได้นะ แต่ถ้าเราจะโอนไปใช้เครือข่ายอื่น เสีย 300 บาท และระยะเวลาการโอน 3 วัน แปลว่าโทรไม่ได้ และเมื่อโอนไปแล้วต้องอยู่กับเจ้าใหม่ 60 วันจึงจะโอนต่อได้ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ผมมีสิทธิยกเลิกได้แม้แต่เบอร์ใหม่ แล้วทำไมผมจะเปลี่ยนเจ้าไม่ได้ แล้วที่บอกว่า 300 บาท ถามว่าซิมใหม่ตอนนี้ราคาเท่าไหร่ บางทีแจกฟรี ถ้าค่าใช้จ่ายต้นทุนในการซื้อซิมใหม่มัน 50 บาท แต่การเปลี่ยนเครือข่าย 300 บาท คิดว่าคนจนจะเปลี่ยนไหม มันก็เป็นการกีดกันการเข้าถึงบริการ ข้อเท็จจริงก็คือ ค่าบริการถ้าจะมีต้องไม่เกินราคาซิมใหม่ แต่ที่เจ๋งกว่านั้นคือในต่างประเทศ ไม่ว่า สเปน ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม ฟรี คนจ่ายก็คือผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะได้เราเป็นลูกค้าใหม่ เรื่องก็ลงตัว แต่เมืองไทยยังเดาไม่ออกว่าใครจะได้ใครจะเสีย ก็เลยผลักให้ผู้บริโภค ตอนนี้อาจจะอยู่ที่ 100 บาทที่บริษัทจะยอมรับได้ แต่เราก็เสนอว่า ไม่ควรจะจ่าย

ดูเหมือนมีประเด็นอีกมากที่ สบท.ต้องผลักดันต่อ นพ.ประวิทย์ บอกว่า ปัญหาคือประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นซูเปอร์เทคนิค

"ถามจริงๆ ว่านักวิชาการมีที่จับเรื่องโทรคมนาคมมีกี่คน แล้วถ้าเราจะคุยกับ กทช.ก็ต้องมีข้อมูลด้วย ไม่ใช่เอาความเห็นผู้บริโภคได้อย่างเดียว ถ้าเราไม่มีนักวิชาการเราก็ตาย ตอนนี้ที่สนใจจริงๆ คือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ดร.อานุภาพ ธีรลาภ เราจะหานักวิชาการด้านโทรคมนาคมได้อีกจากไหน เราก็เคยถามกับนักข่าวอย่างนี้ เขาก็บอกว่าหมอฝันขนาดนั้นเลยเหรอ รู้หรือเปล่าว่าวิศวะโทรคมนาคมทำงานที่มหาวิทยาลัยได้ทุนจากที่ไหน ภาครัฐมีเงินให้วิจัยหรือ เงินทั้งหมดมาจากบริษัทพวกนี้ แปลกลางๆ ว่า เขาถูกซื้อไปครึ่งตัวแล้ว เราจึงเหมือนอับจนหนทางมากที่จะหาแบ็คอัพทางด้านโทรคมนาคมที่ไม่เป็นที่ครหา"

ถามว่า หากหานักกฎหมายด้านนี้จะง่ายกว่าหรือไม่ นพ.ประวิทย์ ตอบว่า นักกฎหมายก็ยังหายาก กทช.มีความขยันมากตอนนี้ออกประกาศมา 4 เล่มแล้วแต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ที่สำคัญนักกฎหมายคนอื่นมาอ่าน ไม่รู้เรื่อง ผมจ้างนักกฎหมายมาแต่ละคนใช้เวลาครึ่งปีกว่าจะอ่านรู้เรื่อง ซึ่งมันจะส่งผลว่า มองจากมุมมองผู้บริโภคก็หาตัวแทนยากแล้ว แล้วเรกูเลเตอร์ หรือ กทช. มีนักกฎหมายที่อยู่ฝั่งประชาชนไหม มีวิศวะโทรคมนาคมที่อยู่ฝั่งประชาชนไหม ตอนนี้กลายเป็นมีคำครหาว่าทุกคนมีสังกัดหมด ถ้าไม่มีแล้วต่อไปอนาคตจะเป็นยังไง กลายเป็นเรกูเลเตอร์ด้านเทคนิคหมด ไม่ใช่ด้านสังคมเลย

 

 

สบท.เปิดตัวพร้อมดูแลผู้บริโภคโทรคมนาคมแล้ว

สบท.แถลงข่าวเปิดตัวสถาบันฯ พร้อมดูแลคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคม ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนร้องเรียนเรื่องถูกคิดค่าบริการผิดพลาดมากที่สุด

เนื่องจากการให้บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะที่จำเป็นสำหรับประชาชน และประชาชนในฐานะผู้บริโภคควรได้รับการคุ้มครอง สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จึงถือกำเนิดขึ้น

เพื่อเป็นสถาบันอิสระภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยมีคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริดภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริโภค และนักวิชาการ เป็นผู้กำกับนโนบาย

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สบท.ได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ทั้งนี้ งานสำคัญงานหนึ่งของ สบท.คือ การจัดตั้งหน่วยบริการประชาชนขึ้นเพื่อดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน มีบทบาทหน้าที่ติดตามตรวจสอบการบริการในกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ในปี 2551 ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน หน่วยบริการประชาชนดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค จำนวนทั้งสิ้น 252 ราย แต่เป็นเรื่องร้องเรียนจำนวน 260 เรื่อง เพราะผู้ร้องบางรายมีปัญหาร้องเรียนมากกว่า 1 เรื่อง

"สำหรับ 10 อันดับปัญหาการใช้บริการโทรคมนาคมที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ การคิดค่าบริการผิดพลาดคิดเป็นร้อยละ 25 คุณภาพของการให้บริการ ร้อยละ 24 ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัวร้อยละ 10 มาตรฐานการให้บริการที่ดี ร้อยละ 9 การให้ข้อมูลผิดพลาดร้อยละ 8 การยกเลิกการใช้บริการ ร้อยละ 6 ความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร้อยละ 6 การเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา ร้อยละ 3 การเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ ร้อยละ 3 สุดท้ายคือ การเข้าถึงบริการ ร้อยละ 2" ผอ.สบท.กล่าว

นายแพทย์ประวิทย์กล่าวอีกว่า ในจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด มีการดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 158 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.69 ทั้งนี้ ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหามีหลายกรณีที่หน่วยบริการประชาชนได้นำเสนอเรื่องร้องเรียนเข้าที่ประชุม กทช. ให้วินิจฉัยสั่งการเพื่อระงับข้อพิพาท เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ทำการตลาดแทนบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถโทรเข้าโครงข่ายของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้, กรณีการให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าบริการเป็นการล่วงหน้ามีข้อกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องใบริการภายในระยะเวลาที่กำหนด, กรณีผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ และกรณีการติดตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคมใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ร้องเรียน จึงเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

 

 

ตัวอย่างกรณีร้องเรียน : นายบุญโชติ วงศ์กำแหงบุญ ในนามคณะกรรมการหมู่บ้านเพชรวงแหวน

ปัญหาร้องเรียน : คณะกรรมการหมู่บ้านเพชรวงแหวน ได้เข้าร้องเรียนต่อสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากบริษัท ... ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินในหมู่บ้านเพชรวงแหวนจากเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งในหมู่บ้าน เพื่อติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ ลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจำนวนหลายราย ได้เข้าไปเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อให้ยกเลิกการอนุญาตติดตั้งเสาสัญญาณขนาดใหญ่ แต่เจ้าของที่ดินปฏิเสธ มิได้ให้ความร่วมมือ

หมู่บ้านเพชรวงแหวนมีประชาการประมาณร้อยห้าสิบหลังคาเรือน และมีเด็กๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลูกบ้านในหมู่บ้านจึงเกรงผลกระทบด้านสุขภาพจากเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้กว่าห้าสิบเมตร

คณะกรรมการหมู่บ้านจึงขอคัดค้านการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในหมู่บ้าน และขอให้บริษัท .. รื้อถอนการติดตั้งเสาสัญญาณออกไปจาพื้นที่หมู่บ้าน

ข้อเรียกร้อง : ขอให้ย้ายเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากหมู่บ้านโดยด่วน

 

เกณฑ์และมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีวิทยุคมนาคมที่ตั้งใหม่

1.ผู้ประกอบการจะต้องทำรายงานข้อมูลการประเมินระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีวิทยุคมนาคมส่งให้สำนักงาน กทช. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม

2.ภายหลังจากการจัดทำรายงานแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคของสถานีวิทยุคมนาคมี่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีวิทยุคมนาคมนั้น ให้ผู้ประกอบการทำรายงานข้อมูลเฉพาะ ส่งให้สำนักงานทราบภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเทคนิคดังกล่าว

3.ในกรณีที่มีข้อมูลการวิเคราะห์หรือข้อมูลการวัดระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีวิทยุคมนาคมใดบ่งชี้ว่า การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีวิทยุคมนาคมนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของประชาชน หรือผู้ทำงานแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องติดป้ายคำเตือนในบริเวณที่มีความเสี่ยงในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามควรแก่กรณี เพื่อป้องกันมิให้มีการเข้าถึงบริเวณดังกล่าวโดยง่าย หรือเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบมีการเตรียมการป้องกันตนเองที่เหมาะสม

4.ผู้ประกอบการต้องเก็บรักษาเอกสาร หลักฐานการประเมินระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบยืนยันการปฏิบัติตามการกำกับดูแลภายหลังการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ซึ่งรวมถึงการติดป้ายแสดงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบที่สามารถติดต่อได้สะดวก ไว้ในบริเวณที่ติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม

5.เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจร้องขอให้มีการแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในกรณีที่จำเป็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net