Skip to main content
sharethis

 


วันที่ 19-20 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมดับบ้านดับเมือง จัดเวทีสัมมนา "ร่วมกำหนดอนาคตภาคใต้บ้านเรา" ขึ้นที่อาคารเรียนรวม 5 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วยประชาชน นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักพัฒนาจากหลายพื้นที่ในภาคใต้ที่กำลังได้ประสบกับปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้าร่วม ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง นราธิวาส สตูล ตรัง พังงา และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองเดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์


 



 


นายบรรจง นะแส เลขาธิการ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้กล่าวเปิดการเวทีสัมมนา โดยกล่าวว่าการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (เอ็นจีโอ) ซึ่งทำงานประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วทั้งภาคใต้ กำลังประสบกับปัญหาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ กรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าจะนะ และโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูลและการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล (แลนด์บริช) โครงการจัดตั้งนิตมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ จ.นครศรีธรรมราช กรณีการขุดเจาะนำมันของบริษัทนิวคอสตอล ในทะเลอ่าวไทยบริเวณสทิงพระ จ.สงขลา กรณีการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชฟรอน จ.นครศรีธรรมราช และโครงการอื่นๆอีกมากมาย


 


นายบรรจง กล่าวต่อมาว่า ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาที่ชาวบ้านจะรับรู้เข้ามูลเมื่อเจ้าของโครงการหรือหน่วยงานเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่แล้ว และเมื่อชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชน หลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายคนในชุมชน ดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านทิศทางการพัฒนาถูกกำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลักขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างแท้จริง


 


ดังนั้นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ สมาคมดับบ้านดับเมือง และสมาคมรักษ์ทะเลไทย มีความเห็นร่วมกันว่าที่จะจัดเวทีสัมมนา เพื่อเปิดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนพัฒนา และนโยบายสาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลของโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อเท่าทันสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในชุมชนและวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนต่อแผนพัฒนาภาคใต้และทางเลือกในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยชุมชนควรที่จะมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และสิทธิที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของตนเอง


 


หลังจากที่มีการกล่าวเปิดเวทีสัมมนาได้มีการบรรยายเรื่อง "อนาคตภาคใต้ในแผนพัฒนาของรัฐบาล" โดยคุณฉวีวรรณ สุวรรณหงส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคใต้ กล่าวว่าถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 10มีการวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับทิศทางการพัฒนา ซึ่งมีภาคใต้มีโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงภายใน ไม่ใช้ศักยภาพด้านที่ตั้งอย่างเดียวที่เป็นระบบ (เมืองท่าและฐานอุตสาหกรรมใหม่ โครงข่ายถนนระหว่างจังหวัด เชื่อมสู่สายหลักของภาคมีบางช่วงเป็น 2 ช่องจราจร ใช้ประโยชน์ระบบรถไฟในการขนส่งสินค้าน้อยท่าเรือที่ใช้ประโยชน์กินปริมาณ 3 ท่าคือ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานีสนามบินนานาชาติใช้ประโยชน์สูง คือภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สมุย หาดใหญ่ ส่วนสนามบินภายในประเทศ 5 แห่งที่ใช้น้อยคือ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ส่วนด้านความมั่นคงด้านพลังงานมีโรงแยกก๊าซ 2 แห่งคือ สงขลา 475 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน และนครศรีธรรมราช 250 ล้านฟุตต่อวัน


 


จากนั้นได้กล่าวถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอันดามัน กลุ่มอ่าวไทย และกลุ่มชายแดนโดย กลุ่มอันดามัน มีศักยภาพทางด้านสนามบินนานาชาติภูเก็ต-กระบี่ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต-ระนอง มีระบบรถไฟเฉพาะตรัง มี ICT City ที่ภูเก็ต มีโรงไฟฟ้ากระบี่ มีข้อจำกัด เรื่องการขาดแคลนน้ำ ความเปราะบางสิ่งแวดล้อม ถนนพังงา-ระนอง มี 2 เลน ความเสี่ยงจากสึนามิ มีบทบาทที่จะเป็นฐาน Cluster การท่องเที่ยว/ ICT City กลุ่มอ่าวไทย มีศักยภาพทางด้านสนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย มีระบบรถไฟทุกจังหวัด อ่างฯ รัชประภา (4,000 ล้านลบ.ม.) โรงแยกก๊าซขนอม (250 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน) โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าเขื่อน รัชประภา ข้อจำกัดเนื่องจากไม่มีท่าเรือน้ำลึกมีบทบาทที่จะเป็นฐาน Cluster ปาล์มน้ำมัน/Oil Palm City เป็นทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีและพลังงาน


 


ส่วนกลุ่มชายแดนมีศักยภาพทางด้านสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถไฟ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง (1,400 ล้าน ลบ.ม.) โรงแยกก๊าซจะนะ (375 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน) ข้อจำกัดในเรื่องความเปราะบางด้านสังคม/วัฒนธรรมมีบทบาทที่จะเป็นฐาน Cluster ปาล์มน้ำมัน/Oil Palm City เป็นทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน


 


หลังจากที่คุณฉวีวรรณ สุวรรณหงส์ บรรยายในเวทีเสวนามีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นกลุ่มพื้นที่อ่าวไทย บริเวณจ.นครศรีธรรมราชและกลุ่มชายแดน บริเวณจ.สงขลาถูกกำหนดให้เป็นทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีและพลังงาน ในที่สุดผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมดได้ยกมือมีมติไม่ต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นในพื้นที่ และเสนอให้ทางสภาพัฒน์ฯ ควรตัดประเด็นนี้ออกจากแผนพัฒนาที่กำหนดไว้


 


จากนั้นได้การเสวนาเรื่อง "บทเรียนการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกบทเรียนประเทศไทย" โดยดร.อาภา หวังเกียรติ ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและนายสุทธิ อัชฌาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ดำเนินรายการโดยนายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ


 


ดร.อาภากล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก กลยุทธ์การพัฒนาแผนงานพัฒนา (Program Approach)โดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกควบคู่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นที่เป้าหมายระยะที่ 1 คือ แหลมฉบับ ชลบุรี มาบตาพุด ระยอง และกล่าวว่าโครงการที่ระยองเป็นโครงการเขมือบ เพราะขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันผลกระทบมลพิษในแหล่งน้ำ มีปัญหาน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำฝนจะมีตะกอน มีการปนเปื้อนของน้ำมัน เคยมีการเก็บตัวอย่างของน้ำ ซึ่งไม่อยู่ในค่ามาตรฐานเกินถึง 80% ซึ่งน้ำอันตรายความเสียหายของพืชผลจากสภาพความเป็นกรดของน้ำฝนมลพิษทางอากาศและกลิ่นเหม็น สารที่เจอ โดยมีการเก็บตัวอย่างสารระเหยอินทรีย์ จะทำให้เป็นมะเร็งในอวัยวะ การรั่วไหลของสารพิษ การกัดเซาะชายฝั่งทะเล การลักลอบทิ้งน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมขยะพิษ มีกองขยะเป็นภูเขา เป็นของเสียอันตราย ในน้ำในทะเลลดลงและไม่ปลอดภัย เกิดจากการทิ้งของเสียของในทะเลมาก ชุมชนประมงล่มสลาย ธุรกิจท่องเที่ยวล้มละลายป่วยเรื้อรัง ไร้คนเหลียวแล เกิดโรงมะเร็ง ชาวบ้านที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว ได้บอกว่า "ชีวิต คือ เครื่องมือวัดตะกั่ว"


 


นายสุทธิ กล่าว่า ระยองมีมติการพัฒนาที่ไม่จบสิ้น เมื่อมีการพัฒนาที่เรียกว่าโชติช่วงชัชวาล ทีแรก ชาวบ้านอาจจะคิดว่าเราคงจะรวย แต่สุดท้ายอาจจะต้องโดนเวนคืนที่ดินราคาถูกให้นายหน้าซึ่งนายหน้าไปขายต่อนายทุนราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาจำนวนมหาศาล โดยเปรียบเทียบว่าระยองเหมือนหญิงสาวที่ถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนภาคใต้ยังไม่ได้ถูกข่มขืนยังมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะไม่ยอมให้ถูกข่มขืน หากไม่ยอมต้องรู้จักขีดวงจำกัดในการครองตัวให้ปลอดภัย ปัจจุบันคนระยองเกิดปัญหาสุขภาพอย่างมากมายทั้งจากมลพิษและติดอับดับการเป็นโรคHIV


 


จากการเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในจังหวัดระยอง นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง ทำให้เกิดการเรียกร้องขึ้น คนระยองออกมาร่วมกันคัดค้านจำนวนมากเราใช้คำว่า หยุดทุกขลาภ" เราต้องแสดงกำลังที่ประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่าเรามีสิทธิที่จะจับมือร่วมกันว่า "เราไม่เอานิคมอุตสาหกรรม" และกล่าวทิ้งท้ายว่าเราอยากเห็นการพัฒนาที่มีดุลยภาพและมีความยั่งยืน


 


นอกจากนี้ในเวทีสัมมนาดังกล่าวมีการ "ส่องกล้อง เรียนรู้โครงการขนาดใหญ่ที่กำลังมาปักษ์ใต้บ้านเรา" โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่จังหวัดสงขลา โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล (แลนด์บริช) และ โดยนายวสันต์ พาณิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบทั้งสามกรณีตามที่มีผู้ร้องเรียนการละเมิดสิทธิ โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ จ.นครศรีธรรมราช และกรณีการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชฟรอน จ.นครศรีธรรมราชโดยดร.สุธีระ ทองขาว


 


และมีการเสวนาประเด็น "เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ ด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยรศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายบรรจง นะแส


 


สุดท้ายมีการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา โดยมีความเห็นร่วมกันว่าการพัฒนาต้องเอาความสุขเป็นตัวตั้ง มีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่คำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว มองว่าการพัฒนาต้องเสริมจุดแข็งของภาคใต้หรือการเกษตรและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการรักษาฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของชายทะเล ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ เช่นการขยายเขตอนุรักษ์ชายฝั่ง 5 กิโลเมตร ที่สำคัญจุดยืนของผู้เข้าร่วมเวทีสัมมนาคือไม่ต้องการทิศทางการพัฒนาพื้นที่ไปสู่นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก ท่าเรือน้ำลึกและโครงการอื่นๆที่ทำลายและส่งผลกระทบต่อชุมชน


 


 


 


สุรัตน์ แซ่จุ่ง


โครงการดับบ้านดับเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net