Skip to main content
sharethis

รายงานโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


 


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2551 เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสภาคริสตจักรในประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) ประจำปี 2551 ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ โดยมุ่งเน้นความสำคัญเรื่อง เสรีภาพในการเดินทาง (TRAVEL WITH FREEDOM) ของแรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษและจัดการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง "เสรีภาพในการเดินทาง" ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของงานวันแรงงานข้ามชาติสากลปี 2551 โดยซาชูมิ มาเยอะ วิไลวรรณ แซ่เตีย สุรพงษ์ กองจันทึก และสุนี ไชยรส ดำเนินรายการโดย คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา


           


ซาชูมิ มาเยอะ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองก่อนที่จะได้รับสัญชาติไทยว่า ประสบปัญหาเรื่องการเดินทางที่ยากลำบากตลอดเวลา ต้องขออนุญาตทุกครั้งเวลาต้องเดินทางข้ามจังหวัด บางครั้งถูกรีดไถเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแลกกับการเดินทาง บางครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ทำงาน แม้ว่าจะมีความจำเป็นด้วยเรื่องใดๆก็ตาม


 


หากกล่าวถึงสภาพของแรงงานหญิงข้ามชาติภาคบริการแล้วยิ่งมีความลำบากมากยิ่งขึ้น แค่เริ่มต้นขอใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงสิทธิในการเดินทาง และสิทธิอื่นๆที่ควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการทำงานที่ปลอดภัย สิทธิทางร่างกาย สิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย หรือสิทธิอื่นๆ การทำงานของแรงงานข้ามชาติภาคบริการมักถูกดูถูก ไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม อาจมีเพียงลูกค้าที่มาใช้บริการเท่านั้นที่ต้องการ แม้ว่าแรงงานภาคบริการจะเป็นงานที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงประเทศไทยมหาศาลก็ตาม


 


เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลปีนี้  แรงงานหญิงข้ามชาติภาคบริการจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล


 


1. ต้องการให้มีการขยายการจดทะเบียนคนข้ามชาติในภาคบริการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการต่างๆที่เกี่ยวข้อง


2.  ให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดแบบไม่ยุติธรรม


3.  ให้ถือว่าสิทธิในการเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี 4.  ให้แรงงานข้ามชาติภาคบริการได้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการตามกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้กับแรงงานไทยทุกฉบับ


 


วิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ต้องอยู่อาศัยแบบหลบๆซ่อนๆ หลายคนไม่มีโอกาสได้จดทะเบียนทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ต้องจ่ายเงินให้กับตำรวจเพื่อแลกกับการโดนจับในเรื่องต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีโอกาสคลุกคลีพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด พบว่าปัญหาสำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ คือ  ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีหลักประกันความคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานสูง ปัญหาต่างๆ ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระดับชาติและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ILO มีการยื่นหนังสือทวงถามไปที่กระทรวงแรงงานทุกปี


 


นอกจากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นยังถูกนำไปพูดคุยในหมู่พี่น้องแรงงานไทย เพื่อให้เกิดการปกป้องแรงงานข้ามชาติในฐานะของการเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน เช่น แรงงานข้ามชาติต้องเดินทางได้ ค่าจ้างควรต้องได้รับเท่ากัน เวลาเกิดอุบัติเหตุต้องได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ หรือเรื่องของการก่อตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อต่อรองเรื่องสิทธิต่างๆ จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ไม่อนุญาตให้มีการก่อตั้งได้ ซึ่งยังไม่นับถึงสหภาพแรงงานไทยที่ยังถูกกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา


 


ข้อเรียกร้องที่เสนอรัฐบาลทุกปีแต่รัฐบาลไม่เคยปฏิบัติได้จริง คือ กระทรวงแรงงานต้องมีศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ มีล่ามที่สามารถสื่อสารภาษาของแรงงานข้ามชาติได้ และประเด็นสำคัญ คือ สิทธิต่างๆขั้นพื้นฐานที่แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการปฏิบัติจริงเมื่อทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เขียนระบุไว้ในกฎหมายเพียงเท่านั้น


 


สุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้เชื่อมโยงเรื่องสิทธิในการเดินทางเป็นเพียงสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพียงเท่านั้น ทำให้แรงงานข้ามชาติจึงถูกจำกัดสิทธิห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ทำงาน เมื่อใดที่แรงงานละเมิดเดินทางออกนอกพื้นที่ สิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงหมดลงตามไปด้วย รัฐบาลไทยสนใจแรงงานข้ามชาติในเรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สนใจสิทธิการทำงานที่ต้องเกี่ยวโยงกับสิทธิประการอื่นๆ ซึ่งสิทธิประการอื่นๆนั้นสำคัญกว่าสิทธิในการทำงาน


 


"ผมเห็นว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติมีสิทธิทำงาน เขาต้องได้รับสิทธิต่างๆเหล่านี้ตามมาด้วย คือ (1) สิทธิการมีครอบครัวและอยู่อาศัยกับครอบครัว (2) สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพื่อมีชีวิตมีสุขภาพที่ดี ถ้าแรงงานจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่เพื่อไปรักษาพยาบาล แรงงานต้องได้รับสิทธินั้น (3) สิทธิในการศึกษา ลูกหลานแรงงานข้ามชาติและตัวแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการศึกษาในระบบการศึกษาไทยได้ เมื่อแรงงานข้ามชาติหรือลูกแรงงานข้ามชาติต้องเดินทางไปเรียนหนังสือนอกพื้นที่ เขาสามารถเดินทางได้ (4) สิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรม (5) สิทธิในการนับถือศาสนา นับถือความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น สิทธิในการจัดงานวันประเพณีของกะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ (6) สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดจากภัยความตาย"


 


สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสิทธิในเรื่องการเดินทาง แม้รัฐบาลไทยยังไม่เปิดโอกาส แต่ในประวัติศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถห้ามให้มนุษย์ไม่เดินทางได้ การเดินทางเป็นอิสระการเคลื่อนไหวทางร่างกายของมนุษย์ เช่น ศาสนาทุกศาสนาต้องให้คนเดินทางเพื่อไปเผยแพร่ศาสนาตามที่ต่างๆของโลก การห้ามการเดินทางจึงถือว่าเป็นการจำกัดอิสระของมนุษย์ เป็นการลงโทษคนที่ทำความผิดเพื่อให้หลาบจำ จึงสงสัยรัฐบาลไทยว่าแรงงานข้ามชาติทำความผิดอะไรจึงต้องไปจำกัดการเดินทาง ไปกักขังพวกเขาให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพียงเท่านั้น และกลับคิดว่าถ้าเราให้แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางได้ ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีในการจะนำไปสู่การพัฒนาคนที่สมบูรณ์ เพราะคนได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และไม่เห็นว่าการเดินทางจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยิ่งนำไปสู่การพัฒนาคนยิ่งขึ้น และปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันน่าจะได้รับการคลี่คลายตามไปด้วย


 


ส่วนสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเสรีภาพในการเดินทาง ไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติเพียงเท่านั้น ยังมีกลุ่มบุคคลอีกหลายกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ก็ขาดอิสรภาพในการเดินทาง เช่น กลุ่มคนที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ชนเผ่าต่างๆ กลุ่มไทยพลัดถิ่น เห็นได้ชัดว่าเสรีภาพในการเดินทางไปเชื่อมโยงกับการต้องมีสัญชาติไทยเพียงเท่านั้น หรือต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติมาจากประเทศของตนเอง


 


แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า เรารู้แล้วว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับ ทั้งยังเข่นฆ่าจนต้องหลบหนีมาประเทศไทย ทำให้พวกเขาถูกบีบบังคับในทุกสถานการณ์ นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยเองยังไม่ได้รับอนุสัญญาผู้ลี้ภัย 1951 จึงทำให้คนที่หลบหนีสงครามเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยจึงถูกจำกัดให้อยู่แต่ในค่ายผู้ลี้ภัยเพียงเท่านั้น ออกไปไหนไม่ได้ การจำกัดขอบเขตการเดินทางเช่นนี้เองจึงทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนกดดันและหลบหนีออกไปเป็นแรงงานข้ามชาติ เพื่อทำให้มีโอกาสได้เดินทางและรับสิทธิต่างๆเพิ่มขึ้น


 


มีตัวอย่างรูปธรรมของการห้ามเดินทาง แม้เป็นการเดินทางในเขตจังหวัดที่ตนเองทำงานอยู่ก็ตาม คือ การจัดงานวัฒนธรรมวันชาติมอญที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา มีการตั้งด่านตรวจอย่างละเอียดตลอดเส้นทางไปสถานที่จัดงาน มีการข่มขู่ไม่ให้คนเดินทางมาร่วมงาน หรือบางคนที่มาร่วมงาน ถ้าข้ามเขตจังหวัดก็ถูกจับและส่งกลับโดยทันที แม้เพียงพวกเขาจะมาร่วมงานวัฒนธรรมของชนชาติตนเองก็ตาม


 


ฉะนั้นโดยสรุปเสรีภาพการเดินทางเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาร่วมของคนทุกคนที่ไม่มีสัญชาติไทย สิ่งสำคัญเราต้องผลักดันร่วมกันเพื่อให้เกิดการยอมรับและรับรองสิทธิพื้นฐานนี้ให้ได้ เพราะเมื่อแรงงานข้ามชาติและคนกลุ่มต่างๆสามารถเดินทางได้ เมื่อนั้นการละเมิดสิทธิต่อพวกเขาก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย


 


ทั้งนี้ ในรอบปี 2551 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการเดินทางเพื่อย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายถึง 7 ครั้ง คือ


 


17 มกราคม 2551 จังหวัดกาญจนบุรี: เรือล่มในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ตาย 7 คน


เมื่อวันที่ 17  มกราคม 2551 พบศพแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจากพม่าจำนวน 7 คน ลอยอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณบ้านทุ่งม้าเหาะ หมู่ 2 ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน และเด็กอีก 2 คน ตำรวจสันนิษฐานว่าแรงงานกลุ่มนี้น่าจะใช้เส้นทางหลบหนีเข้าเมืองทางน้ำ เพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและตม.ที่ตั้งด่านตามเส้นทางสัญจรทางบกทุกสาย ทำให้ขบวนการลักลอบพาแรงงานไม่ถูกกฎหมาย ที่โดยปกติมีการลักลอบเข้ามาทางชายแดนด้านอำเภอสังขละบุรีหรืออำเภอทองผาภูมิ ใช้การเดินเท้าหรือรถยนต์ผ่านเส้นทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องหันมาใช้เส้นทางเรือผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์แทน ประกอบกับการเดินทางในช่วงกลางคืนซึ่งคนขับเรือไม่ชำนาญทางทำให้เรือล่มในที่สุด


 


26 มกราคม 2551 จังหวัดนครพนม: เรือล่มในแม่น้ำโขง แรงงานชาวเวียดนามตาย 3 คน สูญหาย 15 คน


เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551 ประมาณตี 2 ที่บริเวณบ้านบัว หมู่ 4 ตำบลดงขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อยู่เยื้องกับบ.หนองดินจี่ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำโขงทำให้แรงงานหญิงชาวเวียดนามจำนวน 3 คนเสียชีวิต แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ลักลอบไปทำงานที่กรุงเทพมหานครและนครปฐม ซึ่งกำลังจะเดินทางกลับประเทศเวียดนามที่ จังหวัดวินห์ฮาตินห์ และเงอาน เพื่อไปร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับญาติพี่น้อง พร้อมกับเพื่อนแรงงานชาวเวียดนามที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอีก 23 คน เป็นหญิง 10 คน ชาย 13 คน ได้เดินทางมาลงเรือข้ามแม่น้ำโขงที่ฝั่งนครพนม แต่เรือเกิดล่มเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน จนทำให้แรงงานสูญหายไปถึง 15 คน


 


19 มีนาคม 2551 จังหวัดอุบลราชธานี: รถพลิกคว่ำ แรงงานลาวตาย 9 คน บาดเจ็บ 13 คน


บนถนนสายเขมราฐ-ตระการพืชผล บ้านทรายพูล ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เกิดอุบัติเหตุรถปิคอัพยี่ห้อมาสด้า สีบรอนซ์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งกำลังพาแรงงานชาวลาวไม่ถูกกฎหมายจากบ้านนางลาว เมืองละครเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว รวมทั้งหมด 22 คน ลักลอบเข้าไปทำงานที่ร้านอาหารและรับจ้างทั่วไปที่กรุงเทพมหานคร ขณะคนขับรถขับมาตามถนนสายดังกล่าวซึ่งเป็นทางโค้ง ปรากฏว่ารถได้เสียหลักพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน และได้รับบาดเจ็บ 13 คน


 


9 เมษายน 2551 จังหวัดระนอง: ขาดอากาศหายใจ แรงงานจากพม่าตาย 54 คน บาดเจ็บ 21 คน


มีการพบศพแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจำนวน 54 คน เป็นชาย 17 คน และหญิง 37 คน รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีก 21 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งหมด 121 คน ในรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0619 ระนอง ของบริษัทรุ่งเรืองทรัพย์ที่ดัดแปลงเป็นรถตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มีนายหน้าพาลักลอบเดินทางมาจากแพปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง เพื่อเดินทางไปทำงานที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ระหว่างที่รถได้แล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต่างเบียดเสียดอย่างแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศหายใจนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ทำให้คนขับรถต้องหยุดรถและหลบหนีความผิดไปในที่สุด


 


18 กรกฎาคม 2551 จังหวัดกำแพงเพชร : รถขับด้วยความเร็วสูง แรงงานพม่าบาดเจ็บ 12 คน


ที่ถนนสายนาบ่อคำ-บ้านหนองกอง หมู่ที่ 10 ตำบลนาบ่อคำ จังหวัดกำแพงเพชร มีรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ ทะเบียน บฉ 2505 กรุงเทพมหานคร ชนกับรถกระบะหมายเลขทะเบียน บบ 4043 พิษณุโลก มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งหมด 14 คน โดยนายฮวย รุทภาพ อายุ 59 ปี ได้ขับรถปิคอัพทะเบียน บฉ 2505 กรุงเทพมหานครพร้อมญาติที่นั่งมาด้วยรวม 10 คน กลับจากการทอดผ้าป่าที่วัดหนองกองเหนือ เมื่อถึงที่เกิดเหตุได้มีรถกระบะทะเบียน บบ 4043 พิษณุโลกปิดไฟหน้า ขับสวนทางมาด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าชนประสานงากันอย่างแรง ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 14 คน ส่วนนายฮวยทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา


 


ผู้บาดเจ็บที่เดินทางมากับรถกระบะทะเบียน บบ 4043 พิษณุโลก ทั้งหมดเป็นแรงงานจากพม่าจำนวน 12 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 2 คน เดินเท้ามาจากเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ข้ามชายแดนที่อำเภอแม่สอดแล้วมีนายหน้าพาเดินเท้าผ่านป่าเข้าไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร หลังจากเดินเท้าถึงตำบลนาบ่อคำได้มีคนขับรถมารับและขับรถด้วยความเร็วสูง พร้อมกับปิดไฟหน้า เพราะเกรงว่าจะถูกจับ ทำให้รถกระบะอีกคันซึ่งขับสวนมา มองไม่เห็นและชนประสานงากัน จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว


 


6 ตุลาคม 2551 จังหวัดปราจีนบุรี: รถพลิกคว่ำ แรงงานกัมพูชาตาย 3 คน บาดเจ็บ 4 คน


บนถนนสายบ้านโคกขวาง - บ้านท่าตูมปากทางแยกเข้าหมู่บ้านหนองปรือหมู่ 7 ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มีอุบัติเหตุรถกระบะพลิกคว่ำมีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 4 คน เป็นรถกระบะสีบรอนด์เงิน ยี่ห้อนิสสัน หมายเขทะเบียน ณร 7371 กรุงเทพมหานคร ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นชาวกัมพูชา ยกเว้นคนขับที่เป็นคนไทย ทั้งหมดเดินทางมาจากประเทศกัมพูชาเพื่อมาทำงานในประเทศไทย เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ รถยางระเบิดและเสียหลักพลิกคว่ำจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว


 


15 ธันวาคม 2551 จังหวัดกาญจนบุรี: รถชนต้นไม้และเสาไฟฟ้า แรงงานจากพม่าตาย 8 คน บาดเจ็บ 8 คน


เมื่อเวลา 06.30 น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะ เลขทะเบียน บน 1174 กาญจนบุรี ชนต้นไม้และเสาไฟฟ้า บริเวณถนนสายลำห้วยรางกระชายวังสิงห์-ไทรโยค หมู่ที่ 2 ตำบลวังสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี สภาพรถพังยับเยิน พบว่ามีผู้เสียชีวิตทันที 8 ราย เป็นชายทั้งหมด  1 ในนั้น คือนายสุธางค์ ดาบแก้ว อายุ 29 ปี คนขับรถ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานชาวพม่าหลบหนีเข้าเมือง โดยรถกระบะคันดังกล่าวได้ขับหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะตั้งด่านตรวจตามเส้นทาง เมื่อรถแล่นมาถึงที่เกิดเหตุ รถได้เสียหลักวิ่งไปชนเสาไฟฟ้าและต้นไม้ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก


 


ทั้งนี้  7 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดของสถานการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติในสังคมไทย และชี้ชัดว่าแรงงานข้ามชาติยังต้องลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย พวกเขาจำเป็นต้องสร้างทางเลือกให้กับชีวิตตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากชะตากรรมที่เลวร้ายจากประเทศต้นทาง ท่ามกลางความไม่พร้อม และระบบที่ไม่เอื้อให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์ที่ความปลอดภัยในการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไม่ได้รับการแก้ไขในปัจจุบัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net