Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มูฮาหมัดอัณวัร  หะยีเต๊ะ


ทีมข่าว bungarayanews


 


ภายหลังจากที่ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คนแรกที่ผมสนใจ คือ ใครจะมานั่งเก้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสียงที่ออกมาได้ยินในตอนแรกบอกว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะนั่งควบเก้าอี้ตัวนี้ คนทำงานในแวดวงวิชาการขานรับ จนกระทั่งท้ายสุดหวยมาลงเอยที่ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถ้าใช้ภาษามลายูเขาเรียกว่า "ทือรา แตเงาะ" หรือลองดูก่อน
       
คือบางส่วนบอกว่ารับได้ แต่ต้องขอดูว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ?     


ตามมาด้วยข่าว คุณจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่าจะเร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2       
ไม่รู้ว่าดีหรือไม่กันแน่ เพราะเท่าที่ผมทราบ หลังการปฏิรูปการศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับปี 2542 ขณะนั้นผู้คนในแวดวงวิชาการส่วนใหญ่ก็ชื่นมื่นเพราะเข้าใจว่าจะทำให้การศึกษาในบ้านเราดีขึ้น       
      


แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี พิสูจน์ได้ชัดเลยว่าการปฏิรูปการศึกษาในไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ..!!
       
มาทบทวนดูสาเหตุที่ไม่สำเร็จ ก็พบว่า       
      


ซาตู (หนึ่ง) - เรื่องบุคลากรทางการศึกษา       
ที่ผ่านไป จำนวนบุคลากรครู คุณภาพการเรียนการสอนขาดยังไรก็ยังคงเหมือนเดิม ความไม่สอดคล้องของงานการสอนครู เรียนจบมาด้านคณิต แต่ต้องสอนเกือบทุกวิชา ปัญหานี้ยังคงเดิมโดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
       
ดูวอ (สอง) - นโยบายที่ทำไม่ได้จริง       
เรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ อนุบาล จนถึง มัธยมปลาย แท้ที่จริงสามารถทำได้หรือไม่


คำว่า "ฟรี" มีคำจำกัดความว่าอย่างไร อะไรบ้างที่ฟรี แล้วถ้าฟรี ค่าอื่นๆที่ไม่ได้ระบุในระเบียบ ทางโรงเรียน สถาบันการศึกษาสามารถเรียกเก็บได้หรือไม่ เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อค่าเล่าเรียนฟรี แต่ทางโรงเรียนเก็บค่าเสื้อกิจกรรม ค่าสอนพิเศษ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องทดลอง เฉลี่ยแล้วมากกว่าค่าเทอมที่รัฐของให้เสียอีก!!!??        


ดังนั้นบอกว่าเรียนฟรี แต่เอาเข้าจริงคนเป็นพ่อแม่ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้เรียนฟรีเลย ใบเสร็จอาจจะไม่มีค่าเล่าเรียน แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ไม่จ่ายไม่ได้ หนำซ้ำกลับมีค่าใช้จ่ายจุกจิกโน่นนี่ตลอดทั้งปีอีกต่างหาก เพราะช่องว่างของนโยบายนั่นเอง


และความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลให้เปลี่ยนตัวผู้นำกระทรวงบ่อยๆ แถมคนที่มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงก็เข้าข่ายมือใหม่หัดขับ ส่วนคนเก่งมีความรู้ความสามารถก็ไม่รู้ว่าเหตุไฉนอยู่ไม่ได้สักราย ท้ายสุดก็เลยทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาในบ้านเราไปไม่ถึงไหน  


ตีกฺอ (สาม) - เน้นการแข่งขันด้านวิชาการเกินเหตุ       
โครงสร้างการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันเพื่อมุ่งเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความสำคัญของช่วงชีวิตมนุษย์ที่ควรจะได้รับการเรียนรู้และส่งเสริมศักยภาพทางศีลธรรม จริยธรรม


ถึงแม้ว่าเยาวชนจะได้รับโอลิมปิกวิชาการมากี่เหรียญ ได้รับโล่ทางวิชาการเท่าใด แต่ไม่เคยมีการอบรมประเมินความซื่อสัตย์ ความมีศีลธรรม จริยธรรม การใช้ชิวิตอย่างมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคม ไม่เคยสอนอย่างจริงจังสักทีในระบบการศึกษา
              
อัมปัต (สี่) - ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา       
ในอดีตมาตรฐานการศึกษาไม่เท่าเทียมกันในสังคมเมืองและชนบท ต่างจังหวัด  แต่ถ้ามองลงให้ลึกกว่านั้นว่าในชุมชนชนบท หรือที่เรียกว่าบ้านนอก(กัมปง) ครูผู้สอนแน่นอนคือบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมาย แต่เรามองข้ามชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน(โอรัง ตูวอ) ที่มีความสามารถในด้านที่ครูนั้นไม่มี เช่น เรื่องราวในหมู่บ้าน ต้นไม้ อาชีพ สมุนไพร ภาษา และศาสนา ฯลฯ


สิ่งเหล่านี้เมือง(บานา) ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ถึงระบบการเรียนการสอนในระบบ ในเรื่องของวิชาการ โรงเรียนในเมืองเป็นเลิศ  แต่คนชนบทอย่างเราๆ มีความคิด รัก และศรัทธา มั่นในสิ่งที่เรามี การที่ถูกสอนมาเพื่อให้เสียสละเพื่อส่วนรวม เรามั่นใจว่าเราเหนือกว่าคนในเมือง  


และแน่นอนว่า พ่อแม่ทุกคนต่างอยากให้ลูกได้เรียนทุกห้องยกเว้นห้องเรียนธรรมดา
       

ห้า - หลักสูตรการศึกษาในระบบมีปัญหา       
ในอดีตการเรียนกวดวิชาจะเน้นเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อน หรือเด็กที่ต้องการติวเพิ่มเติมเพราะเรียนไม่ทัน หรือเฉพาะช่วงต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ค่านิยมของการกวดวิชากลายเป็นว่าต้องเรียนให้เหนือกว่าในห้องเรียน ต้องเหนือกว่าเพื่อนคนอื่น หรือต้องเหนือกว่าระดับชั้นเรียนในปัจจุบัน จากที่เคยเรียนกวดวิชากันในระดับชั้นมัธยมปลาย ก็เริ่มขยับลงเรื่องๆ มาสู่มัธยมต้น ระดับประถม และปัจจุบันบางคนก็ติวตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ       


คนแห่ไปกวดวิชา เพระไม่เชื่อมั่นการศึกษาในระบบ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ที่เปลี่ยนไป  ในขณะที่โรงเรียนเองก็มีการเรียนพิเศษทั้งช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ถ้าโรงเรียนไม่เปิดสอนเอง คุณครูหรืออาจารย์ก็จะเปิดสอนพิเศษเอง โดยสอนเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนของตนเองนั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับคุณครู แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทำไมถึงต้องเรียนพิเศษ เรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้นไม่พอเพียงหรือ แล้วโรงเรียนไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพียงพอหรือในการดูแลการเรียนการสอนของแต่ละสายชั้นหรือ ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนกลับสนับสนุนให้พ่อแม่พาลูกไปเรียนพิเศษ กวดวิชากันเอง       


ปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่คุณครูในโรงเรียนสอนพิเศษเอง ทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่และสอนเฉพาะรายวิชานั้นๆ และสถาบันกวดวิชาข้ามชาติที่เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยมากมาย       


มหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบการสอบเอนทรานซ์ มาเป็นแอดมิชชัน ให้มีสอบโอเน็ต เอเน็ต เก็บคะแนนจีพีเอ รวมทั้งสังคมที่แข่งขันสูง ทำให้มีการกวดวิชามากขึ้น และกวดกันตั้งแต่ระดับอนุบาลด้วยซ้ำ เชื่อว่ามีเด็กที่กวดวิชาไม่น้อยกว่า 40-50% ในปี 2549 ประมาณการณ์ว่ามีเด็กอยู่ในระบบการศึกษา ระดับ ป.1-ป.6 จำนวน 5,700,000 คน ระดับ ม.1-ม.6 จำนวน 4,660,000 คน รวม 10,360,000 คน       


ในจำนวนนี้กวดวิชา 40% จำนวน 4,144,000 คน หากเรียนกวดวิชาอย่างน้อยคนละ 2 วิชา วิชาละ 2,500 บาท ก็เป็น 5,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 20,720 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คิดจากค่าเฉลี่ยต่ำสุด ถ้าคิดว่ากวดวิชาราว 50% จะเป็นเงิน 25,900 ล้านบาทต่อปี จึงน่าจะมีเงินหมุนเวียนตลาดนี้ปีละ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปี
 


นี่คือการประเมินคร่าวๆ การศึกษาคือสิ่งสำคัญที่จะนำพาสังคม บ้านเมือง ศาสนา ให้ไปสู่สิ่งที่เป็นความหวังสูงสุดของเราได้


เยาวชน คือ พลังสำคัญในสังคม


การศึกษาเรียนรู้เริ่มตั้งแต่บนเปล จนถึงหลุมฝังศพ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net