ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: สายชล สัตยานุรักษ์อภิปราย "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง"

สายชล สัตยานุรักษ์ อภิปรายหัวข้อ "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง" ไล่เรียงประวัติศาสตร์แนวคิด "ชาตินิยม" ในสังคมไทย ก่อนเสนอแนวทาง "พหุชาติและพหุวัฒนธรรม" ลดความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย ยอมรับความเสมอภาคและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หวังให้มีการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม

 

ในการประชุมวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่นั้น

 

ในวันที่ 22 ธ.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. มีการอภิปรายหัวข้อ "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง" โดย รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รศ.สายชล อภิปรายว่า "วัฒนธรรมไทย" ที่เป็นผลมาจากความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลักนี้ จะมีส่วนดีอยู่มาก รวมทั้งได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาของรัฐและสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมาอยู่มากทีเดียว เป็นต้นว่าช่วยในการรวมประเทศ และการต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตกกับจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ ตลอดจนมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์ความรู้และศิลปะวิทยาการต่างๆ ของไทย แต่ "วัฒนธรรมไทย" ก็ได้หล่อหลอมระบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชนชั้น เพศ และชาติพันธุ์ ที่ปราศจากความเสมอภาคและเต็มไปด้วยอคติ อีกทั้งได้สร้างวิธีคิดในการอธิบายและการแก้ไขปัญหาที่คับแคบและตื้นเขินในบริบทที่สังคมไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

 

ดังนั้น ชาตินิยมและวัฒนธรรมไทยกระแสหลักจึงเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงในความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และชาติพันธุ์ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์เข้มข้นขึ้นและโครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากเช่นในปัจจุบัน แต่รัฐไทยยังคงพยายามรักษาระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม ที่อาจเรียกว่าเป็น "แบบไทย" เอาไว้ ในขณะที่คนทุกชั้นทุกชาติพันธุ์ กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปรับตัวและปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้เป็นธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ความขัดแย้งในรัฐและสังคมทวีขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงก็คือการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งชาติให้มีลักษณะ "พหุวัฒนธรรม" แทนการเหนี่ยวรั้งให้ทุกคนยอมอยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียวกัน เพราะ "พหุวัฒนธรรม" เอื้อต่อความเสมอภาคทางสังคมและความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง

 

 

สำนึก "คนไทย" ในหมู่ชนชั้นนำ

รศ.สายชล อภิปรายว่า ในรัชกาลที่ 4 เรื่องความสำนึกในเรื่อง "คนไทย" ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมได้เริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ เพราะสนธิสัญญาเบาริงทำให้คนในบังคับของชาติมหาอำนาจไม่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจและกฎหมายไทย การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่มี "คนต่างชาติ" เข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องคำนึงถึงปัญหา "การเมือง" ที่ผูกติดกับปัญหา "ชนชาติ" อยู่ตลอดเวลา ความสำนึกเรื่อง "ชาติ" ที่เกี่ยวโยงกับอำนาจการเมืองจึงก่อตัวขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของ "ชาตินิยมทางการเมือง" ในหมู่ชนชั้นนำ ขณะเดียวกัน การที่ชาติตะวันตกอ้างความเหนือกว่าทางอารยธรรมในการยึดครองอาณานิคม ก็ทำให้ชนชั้นนำไทยต้องเน้นความศิวิไลซ์ของ "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรม ที่สำคัญ ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี ภาษาไทย มารยาทไทย พุทธศาสนา ศิลปะ ฯลฯ ยังเป็นรากฐานของการแบ่งชั้นและการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย ชนชั้นนำจึงจำเป็นต้องสร้าง "ชาตินิยมทางวัฒนธรรม" เพื่อทำให้คนในชาติมีความรักความผูกพันกับวัฒนธรรมไทย หรือ "ความเป็นไทย" ในทางวัฒนธรรมอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การขยายอำนาจออกไปปกครองคนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งมีวีถีชีวิตและวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทำให้มีความจำเป็นมากขึ้นในการจำแนก "ชนชาติ" หรือ "ชาติพันธุ์" อย่างละเอียดอ่อน เพราะความเข้าใจคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะเอื้อต่อปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องจัดลำดับชั้นของชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเน้นชาติพันธุ์ไทยให้เหนือชาติพันธุ์อื่น ๆ และพยายามกลืนชาติพันธุ์อื่น ๆ ให้กลายเป็นไทยในทางวัฒนธรรมไปพร้อมกัน

 

การวางรากฐาน "ความเป็นไทย" หรือชาตินิยมทางวัฒนธรรม ยังเห็นได้จากการสถาปนาธรรมยุติกนิกาย ทรงทำให้พุทธศาสนามีลักษณะที่เน้นอุดมคติที่สามารถบรรลุได้จริงใน "โลกนี้" มากขึ้น ทำให้ได้รับได้รับความเลื่อมใสจากคนสมัยใหม่สืบมา นับเป็นรากฐานของพุทธศาสนาแบบโลกียธรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการเผยแผ่อย่างมากในระยะหลัง ทรงเน้นให้ทำการศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกเพื่อลดความแตกต่างของพุทธศาสนาในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดเอกภาพทางความคิด ทรงปรับเปลี่ยนพระราชพิธีต่าง ๆ ให้มีรากฐานอยู่บน "พุทธศาสนาแบบไทย" ทรงปรับเปลี่ยน "ภาษาไทย" กับ "มารยาทไทย" ให้เหมาะกับสังคมไทยสมัยใหม่ ฯลฯ พระราชกรณียกิจเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความสูงส่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมไทย จนกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานทางอุดมการณ์ชาตินิยมของไทยที่เน้นว่าพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนามีความสำคัญสูงสุดในการทำให้ "เมืองไทย" มีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า

 

การนิยามความหมายของ "ชาติสยาม"  หรือ"ชาติไทย"  และ "ความเป็นไทย" ในรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นอุดมการณ์สำหรับจรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเพื่อจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแทนระบบไพร่และทาสที่กำลังสลายตัวลงไป โดยมีการนิยามความหมายไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ทั้งต่อการเสริมสร้างพระราชอำนาจ และการจัดระเบียบสังคมแบบแบ่งคนออกเป็นชั้นตามหลักชาติวุฒิ เพื่อทำให้คนทั้งประเทศตระหนักในเอกภาพของคนในชาติที่มีชะตากรรมร่วมกันภายใต้ "การปกครองแบบไทย" นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนาพระราชอำนาจเหนือดินแดน ในยุคที่รัฐต้องมีเส้นเขตแดนชัดเจนท่ามกลางบริบทที่ชาติมหาอำนาจแสวงหาอาณานิคม

และคนทุกชั้น ควร อยู่ภายใต้การปกครองแบบไทย คือคนไทย ไม่เหมาะ จะมีรัฐสภา ในสมัยนั้น และความต้องการ ผู้นำ ซึ่งเอื้ออาทรต่อ ราษฎร และการปกครองของพระองค์ ทรงทำนุบำรุงศาสนา ส่งผลให้ "เมืองไทยนี้ดี" ตลอดมา

 

การสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมโดยรัชกาลที่ 6 คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อสร้างความหมายที่ชัดเจนและมีพลังขึ้นมา เพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองหลายประการ เช่น การขยายอิทธิพลของอุดมการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมที่คนกลุ่มต่าง ๆ เสนอสู่สังคมอย่างเข้มข้นในปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เน้น "ชาติของราษฎร" และเน้นให้หาทางแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมที่ราษฎรได้รับ คนบางกลุ่มถึงกับคิดว่าหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของชาติได้อย่างแท้จริงก็คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้ "คนสมัยใหม่" ที่ต้องการ "พัฒนาประเทศ" ให้เป็นแบบตะวันตกในทุกด้านได้ขยายตัวขึ้นมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเช่นเดียวกับพระราชบิดา คือการรักษา "ความเป็นไทย" ในทางวัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมีลำดับชั้นเอาไว้

 

 

เมื่อชาติไทย มี "ภาษาไทย" เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์

ภาษาไทย ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องหมายถึงการมีความรู้สึกนึกคิดแบบไทย รวมทั้งการยอมรับระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ "ถูกต้อง" ใน "ชาติไทย" คือการ "รู้ที่ต่ำที่สูง" ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในพระราชนิพนธ์ "ความเปนชาติโดยแท้จริง" ว่า "ลักษณะที่จะตัดสินว่าใครเปนคนชาติใดนั้น ก็มีอยู่แต่ที่ภาษาซึ่งคนนั้นใช้อยู่โดยปรกตินั้นแล" และ "ต้องถือเอาภาษาเปนใหญ่ และใครพูดภาษาใด แปลว่าปลงใจจงรักภักดีต่อชาตินั้นโดยจริงใจ ไม่ใช่โดยความจำเปนชั่วคราว" เกณฑ์ดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้คนชาติพันธุ์อื่นกลายเป็นไทยด้วยการใช้ภาษาไทยอันส่งผลให้ "เปนไทย...ในความนิยมและความคิด" ทรงระบุว่า หากผู้ใดไม่สามารถใช้ภาษาไทย ก็แสดงว่า "ผู้พูดต่างภาษากับผู้ปกครองนั้น ยังไม่เชื่องอยู่ตราบนั้น"

 

นอกจากนี้ทรงกระตุ้นให้มีการศึกษาวิชา "พงศาวดาร" เพราะความรู้ทางประวัติศาสตร์นี้จะช่วยฉุดรั้งมิให้คนไทยเดินตามตะวันตกจนสิ้นเชิงเพื่อจะ "จำเริญทันสมัย" จนเกิดผลร้ายตามมา ทรงนำ "พงศาวดาร" มาถ่ายทอดในรูปของละครด้วย เช่น บทละครเรื่อง "พระร่วง" บทละครเรื่อง "ตำนานเสือป่า" ฯลฯ ทรงใช้บทละครเหล่านี้ในการปลูกฝังให้เสือป่าและประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า "ชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่และเป็นชาตินักรบ มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยมีบรรพบุรุษที่มีสติปัญญา มีความกล้าหาญ และรักชาติ มีความสามัคคี และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งคนไทยทั้งปวงควรสืบทอดคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยเหล่านี้ตลอดไป

 

ในด้านชาติพันธุ์ มีการสร้าง "คนอื่น" โดยเน้นชาติพันธุ์จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนในกรุงเทพฯ ว่าไม่จงรักภักดีต่อ"ชาติไทย" และไม่ยอมใช้ "ภาษาไทย" อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งจีน "กลายเป็นไทย" ทรงตรา "พระราชบัญญัติแปลงสัญชาติ" ขึ้นใน พ..2454 อย่างไรก็ตามทรงเน้นว่าการแปลงสัญชาติเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้ผู้ใด "เป็นไทย" อย่างแท้จริง จนกว่าจะมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน

 

 

 

ชนชั้นนำกับการพัฒนาความเป็นไทย

ชนชั้นนำ เน้นย้ำว่าควรจะพัฒนาเฉพาะวัตถุ ในส่วนจิตใจแบบไทย คือ "รู้ที่ต่ำที่สูง" ซึ่งจะทำให้ชนชั้นนำของสมัยนั้น สามารถรักษาอำนาจอยู่ในมือตลอดไป และชนชั้นนำให้ความสำคัญ พุทธศาสนา กับ ภาษาไทย สร้างความรับรู้ของคนไทย โดยการอ้างอิง จรรโลงชาติ ให้มั่นคง ซึ่งความเชื่อเรื่องกรรม จะช่วยจัดระเบียบสังคม ทั้งนี้ ชนชั้นนำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งชาติ และทำให้พระราชพิธี ประกอบด้วยแบบพราหมณ์-ฮินดู และเน้นว่า พระพุทธศาสนาของไทย เป็นศาสนาที่มีเหตุผล ต่างกับศาสดาของศาสนาอื่น

 

ชนชั้นนำให้ความหมาย คุณค่า และความเป็นไทย แสดงให้เห็นกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แม้แต่กองทัพ ก็ให้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และการที่ทำให้คนสำนึกใน "ที่ต่ำที่สูง" ดังปรากฏภาษาไทยว่า กราบเรียน และเรื่องสรรพนาม ที่ชัดเจน ในการใช้ภาษาไทย ทำให้เป็นไทย และทำให้เชื่อง หากใครไม่ใช้ภาษาไทย ก็ไม่เป็นไทย โดยจะเห็นได้จากตำราเรียนของสามเณร และการแต่งแบบเรียน ในการศึกษาของไทย รวมทั้งสร้างวรรณคดีต่างๆ

 

 

ชาตินิยมหลัง 2475 - 2490

การสร้างชาติ หลัง 2475 ทำให้ความคิดเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ และประชาธิปไตยแบบที่เน้นมติมหาชนกลายเป็นอุดมคติของคนจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ความคิดเรื่อง "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ก็ได้รับการเน้นเป็นพิเศษ อุดมการณ์ชาตินิยมจึงเปลี่ยนแปลงมากในช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่งรัฐบาลในระบอบใหม่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามดำเนินนโยบาย "สร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง" ทำให้ปัญญาชนที่ทำงานให้แก่รัฐต้องทำการนิยามความหมาย "ชาติไทย" เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว พร้อมกับเน้นวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ "ความเป็นไทยทางวัฒนธรรม" ในแนวทางที่มีความเสมอภาคมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์และเพื่อให้วัฒนธรรมแห่งชาติสอดคล้องกับอุดมการณ์ของระบอบใหม่ ความพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมเพื่อลดการแบ่งชั้นหรือเพื่อสร้างความเสมอภาคมากขึ้นนี้ เห็นได้ชัดจากการปรับเปลี่ยนสรรพนามในภาษาไทยและการทำให้ตัวสะกดง่ายขึ้นเพื่อให้คนอ่านออกเขียนได้และเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเสมอภาคไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจรวมทั้งระบบกรรมสิทธิ์ เช่น ไม่มีการปฏิรูปที่ดินและการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ความพยายามจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโดยผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนได้รับการต่อต้านมากจนไม่อาจดำเนินการได้

 

อุดมการณ์ชาตินิยมในทศวรรษ 2480 เปลี่ยนมาเน้น "ชาตินิยมตามคติเชื้อชาตินิยม" ซึ่งนอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อกีดกันชาติพันธุ์จีนมิให้เข้าสู่พื้นที่ของอำนาจทางการเมืองแล้ว ยังเอื้อต่อนโยบายสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทองด้วย เพราะช่วยในการปลุกเร้าประชาชนให้สนับสนุนการขยายดินแดนและการเพิ่มประชากร โดยคนหลายชาติพันธุ์ จะถูกเหมารวมว่าเป็น "คนไทย" เช่น ไทใหญ่ ไทลื้อ ลาว ลาวพวน ญวน มอญ เขมร (แม้แต่จีน-ในงานของพระยาอนุมานราชธน) โดยเฉพาะชาติพันธุ์ที่มีชื่อขึ้นต้นว่า "ลาว" จะถูกเปลี่ยนเป็น "ไทย" เช่น ไทยพวน ไทยอีสาน ไทยเหนือ ไทยล้านช้าง แล้วเน้นว่า "คนเชื้อชาติไทย" ในประเทศต่าง ๆ ล้วนอยู่ในสภาพด้อยความเจริญและถูกกดขี่เนื่องจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติมหาอำนาจ จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยในประเทศไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่สายเลือดไทยด้วยกัน โดยเสียสละและสามัคคีกันในการต่อสู้ เพื่อรวมเอาคนเชื้อชาติไทยเหล่านี้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน "ชาติไทย"

 

 

บทบาทปัญญาชน กับการสร้างชาตินิยม

ความคิดใหม่ๆ ที่มีเฉพาะชาตินิยม และเกี่ยวกับชาติไทย ในมหาอำนาจ หรือแหลมทอง ซึ่งปัญญาชน อย่าง หลวงวิจิตรวาทการ และพระยาอนุมานราชธน มีอิทธิพล ต่อ ระบบราชการ และทบวง มหาวิทยาลัยต่างๆ นับตั้งแต่ ปี 2480 ทั้งนี้เน้นเรื่องเชื้อชาติไทย และภาษาไทย นอกจากนั้น วัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มีการแบ่งคนเป็นลำดับชั้นๆ เป็นพลังอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าพระยาอนุมานราชธนจะทำให้วัฒนธรรมชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ท่านทำให้เรารับรู้ว่า ความไม่เสมอภาค เป็นปกติ เหมือนกับนิ้ว ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอุดมคติ เรื่องความเสมอภาค มีอยู่ในคำพูด แต่ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ และไม่ต้องรู้จัก หรืออ้างสิทธิ์ ก็ได้ ท่านเน้นว่า ให้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต้องเลือกว่าจะดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้ หรือว่าจะ "กลายเป็นไทย"

 

ท่านเน้น ภาพ พระสงฆ์ ไม่ได้เอาเปรียบสังคม และงานเขียนเกี่ยวกับชนบท ว่า เสนอภาพ "ชนบทนี้ดี" ควบคู่กับภาพ "ชาวบ้านที่ยังขาดความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล" ซึ่งแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาความอ่อนแอในด้านความรู้หรือเหตุผลนี้จะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน กลับสามารถดำรงชีวิตร่วมกันด้วยสามัคคีธรรมและความสงบสุข

 

"ชาวเขา" ซึ่งพระยาอนุมานราชธนกล่าวถึงในฐานะคนที่ยังป่าเถื่อน "ชาติชาวป่าชาวเขา" "ชาวป่าชาวเขา...อนารยชน คือมีวัฒนธรรมอยู่ในขั้นต่ำ" "ชาวละว้าป่าเถื่อน" "ชาวดอยชาวเขาล้าหลังต่อความเจริญ" พระยาอนุมานราชธนยังเสนอด้วยว่าสิ่งที่จะช่วยบูรณาการวัฒนธรรมที่มีระดับความเจริญไม่เท่ากันให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมแห่งชาตินั้น ได้แก่ พุทธศาสนาและภาษาไทย ซึ่งจะเป็นสายใยเชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันไปทุกชั่วอายุคน ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานความคิดในการพัฒนาชาวบ้านและชาวเขาให้ยอมรับวัฒนธรรมไทยในด้านพุทธศาสนาและภาษาไทย ทั้งนี้ พระยาอนุมานราชธนอธิบายว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านและชาวเขาด้อยความเจริญก็คือขาดการศึกษาสมัยใหม่

 

 

ปัญหาชาติไทย นับตั้งแต่พระยาอนุมานราชธน กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

1.พระยาอนุมานราชธน ให้ภาพศาสนาอื่นในทางลบสร้างอคติต่อศาสนาและวัฒนธรรมของของคนชั้นล่างและคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ

 

2. กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติศัพท์เพื่อให้มีคำใหม่ ๆ ในภาษาไทยใช้อย่างเพียงพอในบริบทที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทรงเน้นการควบคุมความหมายของคำ ที่มีผลโดยตรงต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในชาติ เพื่อทำให้ความรู้สึกนึกคิดใหม่ ๆ จากตะวันตกที่เข้าสู่สังคมไทยนั้น มีความหมายที่อ่อนลง

 

3.หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรับเปลี่ยนจุดเน้น การอธิบายเรื่องชาติไทย โดย ท่านสามารถ รักษากรอบโครงทางความคิดชาติไทยได้ และมีอิทธิพลสูงสุด ต่อชนชั้นกลาง ดังกล่าว คือ การเป็นคนดี มีเมตตา เอื้ออาธร เป็นสิ่งที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ให้ความสำคัญอย่างมาก และเน้น ศิลปวัฒนธรรม อีกมาก ที่จะให้คนสำนึก รู้ที่ต่ำที่สูง และศิลปวัฒนธรรม เช่น ศิลปะการแสดงโขน ที่เน้น ก็เป็นพลังสูงมาก ทำให้การแบ่งชนชั้น ยังเป็นสิ่งถูกต้องดีงาม แม้ว่าจะเกิดการปฏิวัติ ไปนานแล้วก็ตาม โดยสืบทอดต่อจากอิทธิพลของพระยาอนุมานราชธน

 

ส่วนสาเหตุ ที่มีการสืบทอดปัญหาของชาติไทยดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง รศ.สายชล กล่าวว่า คิดว่าไม่มีการแตกหักจากระบอบเดิม ส่วนกรณี 14 ตุลา แม้จะทำให้ชนชั้นกลาง ลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่ต่อมาก็ถูกครอบงำ จากสื่อมวลชน ในขณะเดียวกับที่เกิดกระแสต่อต้าน ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง และไม่มีสื่อสร้างพลัง กลับผลิตซ้ำชาตินิยมเดิม ทำให้กระแสตอบโต้ดังกล่าว ขาดพลังไป

 

 

ประเด็นปัญหาความขัดแย้ง ต่อชาติพันธุ์

 

รศ.สายชลอภิปรายในประเด็นปัญหาความขัดแย้งต่อชาติพันธุ์ โดยระบุว่า

 

1.แม้ปัญญาชน จะยอมรับ ว่า มีหลายชนชั้น แต่วัฒนธรรมแห่งชาติโดยปัญญาชน ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาต่อชนชั้นต่ำของไทย

 

2.โดยทั่วไปแล้วไม่มีความเสมอภาค เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่คนในวัฒนธรรมไทย ถือว่า คนที่สูงกว่า เหนือกว่า สมควรจะเป็นชนชั้นปกครอง และคนที่ต่ำ ต้องพึ่งพิงชนชั้นสูง โดยวิธีคิด ทำให้คนแต่ละคน รวมทั้งคนไทยชั้นต่ำ จะเป็นการถูกดูถูกเยียดหยาม และในด้านการสูญเสียสวัสดิการของรัฐ และสูญเสียโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

ส่วนการแบ่งชั้นทางสังคม เป็นอุปสรรค ต่อการปกครอง ในขณะที่ประชาชน ถูกเน้นว่า โง่-จน-เจ็บ ทำให้คนไทย มีวิธีคิดไม่เป็นประชาธิปไตย เน้นแต่การตรวจสอบ คอรัปชั่น ของคนไม่ดี ขณะเดียวกัน ก็กีดกัน คนยากจน

 

3.ปัญหาหลักเรื่องชนชั้น หรือความยากจน ที่ทำให้ขาดโอกาส เข้าถึงทรัพยากร และสังคม จึงเห็นความขัดแย้งว่า ด้วยความเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งนึกถึงชาติพันธุ์จีน นั้น สามารถแสดงออก ทวิลักษณ์(สองลักษณะ) ได้สบายๆ แต่ปัญหาของชาติพันธุ์ ที่เขายากจน ทำให้ไม่ได้ความเป็นธรรม เพราะเขาไม่ใช่คนไทย และต่างก็ใช้ความรุนแรง ตอบโต้ ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนักการเมือง เริ่มสนใจ ชาติพันธุ์ ที่มีบัตรประชาชนแล้ว เนื่องจากมี สิทธิเลือกตั้ง จีน ลาวพวน ไม่มีปัญหาดังกล่าว

 

4.ไม่ยอมรับความหลากหลายของชาติ ดังนั้น วิถีชีวิต และศิลปะ ทำให้รัฐไทย ไม่ส่งเสริม ศาสนาต่างๆ ตลอดจนภูมิปัญญาของคนไทย ขาดความเข้าใจของลักษณะต่างๆ อย่างลึกซึ้ง เมื่อขาดศักยภาพ จะเข้าใจได้ ประกอบกับไม่เคารพความแตกต่าง ซึ่งนโยบายการพัฒนา จึงเน้นสิ่งใหม่เข้าไปแทนที่ เช่น ครู หรือ นายทุน โดยภายนอกของชนชั้นนำ เพื่อประโยชน์ของชนชั้นกลาง เมื่อรัฐไทย ห้ามตัดไม้ทำลายป่าก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมรับรู้ รัฐบาลดำเนินนโยบายอนุรักษ์ป่าด้วยวิธีคิดที่ว่าชาวเขาเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่า จะรักษาป่าไว้ได้ก็ต้องประกาศให้เป็นเขตวนอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือต้องนำชาวเขาออกมาจากป่าเท่านั้น ในบางกรณี ทำให้คนชาติพันธุ์ ขาดโอกาส จนถึงภูมิปัญญาของเขา ยากจะเผชิญ กับความเปลี่ยนแปลง ทำให้เสียเปรียบมากขึ้น

 

5.จำเป็นต้องละทิ้ง ความจริง ความงามของชาติพันธุ์เดิม หันมายอมรับ ความจริง ความดี แบบไทย ทำให้เป็นปัญหาที่ไม่อยากกลายเป็นไทย อีกหลายชาติพันธุ์ แต่ไม่มีความสามารถเข้าถึงเพียงพอ ดังนั้น ความจริง ความงามเดิม ด้วยบริบทของเขา จึงทำให้เขาต้องรักษาเอาไว้ ส่วนทางด้านอุดมการณ์ ชาตินิยม ก็ทำให้มองเป็นองค์รวมไม่ได้ และปัญหาของอุดมการณ์ไม่ได้มองชาติพันธุ์ในฐานะมนุษย์

 

6.ความรักชาติ ไม่ค่อยมีความหมาย ในเมื่อแต่ละคนต้องเสียสละความเป็นชาติพันธุ์ เพื่อความเป็นไทย รวมทั้งทำให้กลายเป็นไทยมากกว่า ซึ่งทำให้คนชาติพันธุ์ เหล่านี้ถูกทอดทิ้ง ในขณะเดียวกัน ส่วนที่แบ่งแยกเขาได้ คือ เรื่องผลประโยชน์ของชาติ

 

7.ระบบการศึกษา และระบบราชการ ได้รับการออกแบบ เฉพาะคนไทย ทำให้คนชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่ไทย จึงต้องหันไปผูกพัน กับศาสนาอิสลาม มากขึ้น ในวัฒนธรรมตะวันออกกลาง ชาวเขา หันไปนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อได้รับการศึกษามากขึ้น รัฐไทยก็ระแวง ที่เขาไปผูกพันกับวัฒนธรรมอื่น

 

8. การกลายเป็นไทย ในอุดมการณ์ชาตินิยม ต้องอาศัยเวลา การเป็นไทย เช่น ต้องได้รับการศึกษาสูง นอกจากนี้องค์ประกอบต่างๆ ต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากกว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบ

 

9.ชาตินิยม ได้หล่อหลอม เช่น มิตร ศัตรู เสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ใช้ความรุนแรง กำจัดฝั่งตรงข้าม รวมทั้งปัญหาอย่าแตกความสามัคคี และไม่คิดว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา

 

10. ความต้องการของรัฐ เพื่อให้คนชาติไทย เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทำให้ลบภาพความขัดแย้ง ออกไป คนไทยไม่เรียนรู้กลไกของประสิทธิภาพดังกล่าว เลยไม่สามารถพัฒนากลไก เพื่อไม่ให้รุนแรงมากขึ้น เท่าที่ผ่านมา เพียงให้ยึดมั่น คุณค่า ศาสนา สามัคคี จงรักภักดี ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยากจะมีพลังเพียงพอ

 

 

ทางเลือกต่อปัญหาทั้ง 10 ข้อ

ชาตินิยม เป็นส่วนทำให้เรามองปัญหาอย่างตื้นเขิน และทางแก้ไขด้วยการรื้อฟื้น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้าง ปัญหาทั้ง 10 ข้อ มันยากจะคลี่คลายลง จนกว่าอุดมการณ์ จะเอื้อ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะเข้าใจวิธีคิดมากขึ้น

 

ดังนั้น ชาตินิยม ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น และการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่เอื้อต่อพหุชาติและพหุวัฒนธรรม จะทำให้สังคมไทยมีความขัดแย้งและความรุนแรงน้อยลง เพราะจะทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายอย่างเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร เป็นการลดความขัดแย้งและความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางจิตใจของคนในชาติ เพราะทุกคนได้ประโยชน์จากชาติที่นำไปสู่การเห็นคุณค่าของชาติมากขึ้น มิฉะนั้นแล้วชาติและวัฒนธรรมแห่งชาติจะหมดความหมายไปเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้

 

 


ข่าวจากการประชุม "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ที่เกี่ยวข้อง

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "ศรีศักร วัลลิโภดม" หวั่นชาตินิยมรวมศูนย์พ่นพิษ ไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็รอวันเจ๊ง, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "หมอโกมาตร" ย้ำอคติชาติพันธุ์ในระบบสุขภาพ, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: 6 ปีหลักประกันสุขภาพ "ไม่" ถ้วนหน้า ลอยแพชาว "สยาม" ในดินแดนไทย, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: เสนอไปให้ไกลกว่า "อคติชาติพันธุ์" ไม่ควรมองข้าม "อคติทางชนชั้น", 24/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: สายชล สัตยานุรักษ์อภิปราย "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง", 25/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 28/12/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท