Skip to main content
sharethis

คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ เข้าเยี่ยมชมอาคารเก่าในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก่อนกลับไปถกต่อ จนท.กรมศิลปากรไม่เชื่อภาพเก่า "คุ้มเวียงแก้ว" อาจเป็นวัดหลวงราชสัณฐาน จ.พะเยา ยันเพิ่งไปบูรณะ ด้านนักวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์เสนอให้ศึกษาปลายเปิด ใช้หลักโบราณคดีช่วยพิสูจน์ ส่วน "ธเนศวร์ เจริญเมือง" เสนอทุกฝ่ายเอาหลักฐานทางวิชาการมาโต้กันในการประชุมคราวหน้า



คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ และคณะนักวิชาการ นักโบราณคดี และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เมื่อ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ตามที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็น สวนสาธารณะและคณะกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต่อมาได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นสวนสาธารณะ โดยมีการรับฟังความเห็นหัวข้อ "จากคุกเป็นสวนควรจะเป็นอย่างไร" ขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. และ 29 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นั้น


ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (24 ธ.ค. 51) คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ และคณะนักวิชาการ นักโบราณคดี และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยมี นางทิวาภา รักสัตย์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และนางนรรธพร ช่างสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้การต้อนรับและเป็นวิทยากรนำชม โดยมีการพาชมเฉพาะอาคารเก่าสถาปัตยกรรมทรงปั้นหยาจำนวน 6 หลัง ส่วน 5 หลังแรกเป็นอาคารส่วนหน้าและแดนแรกรับของทัณฑสถาน มี 1 หลังที่อยู่ในแดนหลังของทัณฑสถาน สร้างราว พ.ศ. 2445 มีอายุ 106 ปี นอกจากสิ่งก่อสร้างแล้ว พื้นที่ด้านหน้ายังพบบ่อน้ำเก่าที่มีการปิดฝาครอบไว้ คาดว่าจะมีอายุก่อนการสร้างทัณฑสถาน


โดยผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่กล่าวในช่วงหนึ่งของการบรรยายสรุปว่าทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีพื้นที่ 9 ไร่ หากรวมส่วนที่เป็นบ้านพักของข้าราชการจะเป็น 17 ไร่ โดยทางหน่วยงานพยายามคงสภาพเดิมของอาคารดังกล่าว ทั้งโครงสร้างหรือแม้แต่ธรณีประตู มีเพียงการตกแต่งปรับปรุงเล็กน้อย


ด้าน น.ส.เอื้อมพร หงส์สุวรรณ ตอบคำถามสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า ทัณฑสถานหญิงแห่งนี้มีกุศโลบายที่ใช้อบรมผู้ต้องขังหญิงว่าเราอยู่ในวังเก่า จึงต้องประพฤติตัวให้ดี เพื่อที่เมื่อพ้นโทษไปแล้วจะได้เป็นราษฎรที่ดีของพระเจ้าอยู่หัว ด้วยกุศโลบายที่ใช้อบรมว่าเป็นวังเก่าทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในการควบคุมผู้ต้องขังเมื่อเทียบกับทัณฑสถานแห่งอื่น


โดยนอกจากจะมีการชมอาคารเก่าภายในทัณฑสถานแล้ว ยังมีการเยี่ยมชมศาลเจ้าพ่อมือเหล็ก ซึ่งซุ้มของศาลมีสถาปัตยกรรมเป็นลายปูนปั้นเก่าคาดว่ามีอายุร่วมสมัยราชวงศ์มังรายด้วย



ภาพที่เชื่อว่าเป็นคุ้มเวียงแก้ว โดยปรากฏในสิ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2483 ในหนังสือของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ระบุใต้ภาพว่า "เวียงแก้ว จ.เชียงใหม่" และเชื่อกันว่าอาคารดังกล่าวถูกรื้อเพื่อสร้างเรือจำกลางเมืองเชียงใหม่ อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ขณะที่ในการประชุมเมื่อ 24 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเสนอว่าภาพดังกล่าวน่าจะเป็นวัดหลวงราชสันฐาน จ.พะเยา



นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ยกสำเนาแผนที่เมืองเชียงใหม่ "แผนที่มหาดไทย แพนกก่อสร้าง" ทะเบียน ชม.8 ทำในปี พ.ศ.2436 ประกอบการอภิปรายว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่คุ้มเวียงแก้ว แต่น่าจะเป็นวัดหลวงราชสัณฐาน อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งกรมศิลปากรเพิ่งไปบูรณะ


และเวลา 15.30 น. มีการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ต่อที่ห้องประชุมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยตัวแทนจากหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของ ประชาชนเบื้องต้นว่าที่ผ่านมามีการออกแบบสอบถาม และประชาชนให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นในแบบสอบถามพอสมควร โดยข้อเสนอของผู้ตอบแบบสอบถามขณะนี้ให้น้ำหนักไปที่การปรับปรุงเป็นพื้นที่ สีเขียว มากกว่าการคงสิ่งก่อสร้างที่เป็นเรือนจำแต่เดิม เพียงแต่ยังก้ำกึ่งระหว่างการทุบแต่ยังรักษาอาคารบางส่วนที่มีอายุเก่าแก่ จำนวน 6 อาคาร กับทุบอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งหมดแล้วปรับปรุงภูมิทัศน์


นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องภาพที่เชื่อกันว่าเป็นคุ้มเวียงแก้ว ที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์มังรายก่อนที่จะมีการรื้อและสร้างทัณฑสถานใน พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 เสนอว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่คุ้มเวียงแก้ว แต่น่าจะเป็นวัดหลวงราชสัณฐาน อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งกรมศิลปากรเพิ่งไปบูรณะ


ส่วน อ.ทวีศักดิ์ เกียรติวีระศักดิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าภาพดังกล่าวอาจสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้อย่างอื่นว่าเป็นหอพระเขต พระราชวังก็อาจเป็นไปได้ หรือาจจะไม่ใช่ก็ได้ โดย อ.ทวีศักดิ์ เสนอว่าหากต้องการหาคำตอบว่าสถานที่ดังกล่าวเคยมีสิ่งก่อสร้างใด ควรมีการขุดค้นชั้นดินเพื่อหาหลักฐานทางโบราณคดีก่อน โดยอย่าเพิ่งตั้งธงว่าจะต้องทำเป็นสวนสาธารณะหรือไม่ แต่ให้ขึ้นอยู่กับว่าขุดค้นเจออะไร


รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ กล่าวว่าทางคณะอนุกรรมการฯ ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และยินดีที่มีการเสนอหลักฐานทางวิชาการเพื่อโต้แย้งซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เสนอให้มีการเชิญภาควิชาการทุกฝ่ายทั้งนักประวัติศาสตร์ นักสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมทั้งนักโบราณคดี ประชุมเรื่องของพื้นที่ๆ เชื่อกันว่าเป็นคุ้มเวียงแก้วกันอีกครั้ง โดยเสนอให้มีการนำหลักฐานทางวิชาการมาอภิปรายกันด้วย


โดยที่ประชุมจะมีการประชุมเพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง โดยเบื้องต้นนัดหมายกันในวันที่ 17 ม.ค. ปี 2552


ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ ยังคงเปิดรับความคิดเห็นอยู่ โดยสามารถติดต่อได้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 หรือทางโทรสาร หมายเลข 053-219833, 053-217793 หรือ เว็บไชต์ www.cmocity.com หรือ welcome@cmocity.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net