Skip to main content
sharethis

วันที่ 25 ธันวาคม ตัวแทนชาวบ้าน 50 คน จาก 4 พื้นที่เป้าหมายโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกที่ทำเนียบรัฐบาล ผ่านกองบริการประชาชน เพื่อให้นายกพิจารณากำหนดนโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน เรียกร้องนายกฯอภิสิทธิ์พิจารณายกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนทั้งหมดไม่ใช่เลื่อนการก่อสร้างโรงฟ้าตามที่ปลัดกระทรวงพลังงานแถลงข่าว


 







เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้า


25  ธันวาคม 2551     


 


เรื่อง ขอให้นายก ฯ ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า2007(แผนPDP2007)


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 


พวกข้าพเจ้าคือเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของบริษัทเอกชน (โรงไฟฟ้าไอพีพี-IPP) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คือ จ.ฉะเชิงเทรา , จ.สระบุรี, จ.ระยอง และ จ.ชุมพร พวกข้าพเจ้าได้ดำเนินการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ้านของเราประมาณ1 ปี ถ้าเราไม่คัดค้าน คงมีปล่องโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในบ้านเราแล้ว ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่าต้นตอที่แท้จริงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาจากการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาโดยเฉพาะ รัฐบาล สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า2007 หรือ แผนPDP 2007 ซึ่งแผนPDP2007 เป็นแผนที่มีความบกพร่องหลายประการโดยเราขอหยิบยกเป็นตัวอย่างบางเรื่องดังนี้


1.แผนพีดีพี 2007 เป็นแผนที่ใช้ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าความเป็นจริงมาก อันนำไปสู่การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงตามไปด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เศรษฐกิจจะเติบโตเป็น 0 ในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป


2.ปัจจุบัน เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ระหว่าง 29.8% - 43% ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงกว่ามาตรฐาน สำรอง 15 % ที่กระทรวงพลังงานตั้งไว้มาก การสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้เงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ หรือประมาณ กว่า 35 ล้านบาท ปัจจุบันเรามีโรงไฟฟ้าที่ใช้งานได้ทั้งหมด ประมาณ 29,000 เมกกะวัตต์ กำลังสำรองไฟฟ้าเมือเดือนเมษายน คือ29.8% คิดเป็นเงินลงทุนสำหรับปริมาณสำรองไฟฟ้านี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ในเดือนตุลาคม กำลังสำรองไฟฟ้าสูงถึง 43% คิดเป็นเงินลงทุน ประมาณ 4 แสนล้านบาท


3. การสร้างโรงไฟฟ้าโดยเชื้อเพลิงสกปรก จากถ่านหิน , ก๊าซธรรมชาติ หรือนิวเคลียร์ ต้องใช้พื้นที่ในชนบทใช้ทรัพยากรน้ำมหาศาล ใช้อากาศอันบริสุทธิ์เพื่อปล่อยมลพิษ แต่เอาไฟฟ้าไปป้อนอุตสาหกรรมหรือธุรกิจขนาดใหญ่ และใช้เงินค่าไฟฟ้าจากประชาชนทั้งประเทศหรือใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาล ในกรณี กฟผ.ซึ่งก็คือเงินภาษีจากประชาชนนั่นเอง วันนี้โครงการโรงไฟฟ้ารุกเข้าไปในพื้นที่เกษตร,ประมงและสิ่งแวดล้อมชั้นดี เช่น จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระบุรี และจ.ชุมพร ส่วนจ.ระยองนั้นไม่มีพื้นที่ปล่อยมลพิษอีกแล้วเพราะเต็มไปด้วยมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรม


4.   เราเสนอให้ท่านนายกอภิสิทธ์ พิจารณาทบทวนการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(แผนPDP2007) เพื่อยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนทั้งหมดไม่ใช่เลื่อนการก่อสร้างโรงฟ้าตามที่ปลัดกระทรวงพลังงาน


นายพรชัย รุจิประภา แถลงเมื่อไม่กี่วันนี้ แล้วดำเนินการวางแผนใหม่ ลดตัวเลขความต้องการไฟฟ้าลงให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งของเอกชนและกฟผ. และพิจารณาการหาไฟฟ้าจากการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า ( ดีเอสเอ็ม- DSM) , การจัดการบริหารช่วงการใช้พลังงานสูงสุดหรือที่เรียกว่า PEAK CUT , การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งวิธีการทั้งหมดที่กล่าวมาได้มีนักวิชาการภาคประชาชนนำเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมาแต่ไม่มีการนำไปปฏิบัติ


5. กฟผ. และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ทำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงโดยการเซ็นต์สัญญาซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน 3 สัญญา มีมูลค่าเกือบ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรีบเร่งทำสัญญาโดยไม่ผ่านความเห็นของประชาชน สัญญาทั้ง 3 ทำให้ กฟผ.ต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและจ่ายเงินค่าความพร้อมจ่าย แม้ไม่มีคำสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ความผิดพลาดนี้แบบเดียวกับค่าโง่ในหลาย ๆ โครงการที่รัฐเสียเปรียบ ท่านต้องยกเลิกสัญญาทั้งหมด เพราะมีบางสัญญายังไม่ผ่านเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม


เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ท่านนายกต้องพิจารณาโดยด่วน เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คือผลประโยชน์ของกลุ่มทุน และ กฟผ. ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศไทย ไม่มีการขาดแคลนไฟฟ้าอีกแล้ว เราขอย้ำว่า เรามีไฟฟ้าเพียงพออีก 15 ปี ซึ่งไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ เราขอเรียกร้องให้ท่านนายกเปิดเวทีสาธารณะที่มีสื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายทอดสดให้นักวิชาการภาคประชาชนได้นำเสนอข้อมูลความผิดพลาดของการวางแผนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลชุดที่แล้ว และนำเสนอทางออกของการจัดหาไฟฟ้าที่สะอาดและชุมชนยอมรับได้


เราขอให้ท่านลงไปดูพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านของพวกเราเพื่อท่านจะได้รู้ว่ามันไม่เหมาะสมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งถ่านหิน , ก๊าซ และนิวเคลียร์ ในประเทศไทยไม่มีพื้นที่ใดเหมาะสมจะสร้างโรงไฟฟ้าที่มีมลพิษอีกแล้ว ประเทศเราต้องรักษาพื้นที่เกษตร,ประมง และสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลาน อย่าเอาสิ่งแวดล้อมสังเวยกำไรกลุ่มทุนอีกต่อไป


จึงเรียนมาเพื่อท่านพิจารณาโดยเร่งด่วน


 


ขอแสดงความนับถือ


 


(นส.ธนิกา บุญธรรมหนัก)  .................................................................


ผู้แทนเครือข่ายรักษ์แปดริ้ว คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซเสม็ดเหนือเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา


(นส.นันทวัน หาญดี) .................................................................


ผู้แทนเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม, สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา (นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี)  ...............................................................


ผู้แทนเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง อ.หนองแซง สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา


 (นายชาญชัย ชุมเกษียร)...................................................................


ประธานเครือข่ายกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ปะทิว จ.ชุมพร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net