Skip to main content
sharethis

27 .. 51 - แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ "นโยบายการปฏิรูปและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน" ขอให้ให้รัฐบาลรับรองสิทธิและให้หลักประกันกับสื่อภาคประชาชน, เร่งรัดปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะ และขอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้แก่สื่อท้องถิ่นเชิงพาณิชย์


 


 






 


แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


นโยบายการปฏิรูปและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน


 


ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองตลอดระยะเวลาสิบเอ็ดปีที่ผ่านมา นับจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนประกาศใช้ในปี 2540 จวบจนปัจจุบันที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามวีถีสังคมประชาธิปไตยเสมอมา


 


แต่อย่างไรก็ตามสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกคนในสังคมไทย กลับไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้จริง และระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมามีเพียงหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ที่ได้รับอภิสิทธิ์ในการสื่อสาร และแสวงหาประโยชน์จากสาธารณะ


 


ดังนั้นในวาระของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะก้าวเข้ามาบริหารประเทศ หน้าที่ความรับผิดชอบในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวการณ์ของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิรูปสื่ออย่างจริงจังจะเป็นหนทางในการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้าถึงสื่ออย่างอิสระและได้แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ


 


คปส. จึงถือโอกาสนี้เสนอวาระการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์และการดำเนินกิจการการสื่อสารของรัฐและประชาชนต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้


 


1. ขอให้รัฐบาลรับรองสิทธิและให้หลักประกันกับสื่อภาคประชาชน ซึ่งหมายความถึง สื่อวิทยุชุมชน โทรทัศน์ในท้องถิ่น และสื่อชุมชนอื่นๆ โดยให้สื่อภาคประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิในการดำเนินการและมีเสรีภาพในการสื่อสารอย่างแท้จริง


 


2. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 และ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ ที่ไม่มีการปฏิรูปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปให้เป็นสื่อสาธารณะโดยพลัน


 


3. ขอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้แก่สื่อท้องถิ่นเชิงพาณิชย์ โดยให้สิทธิในการประกอบกิจการอย่างเสรีและให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะ วิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์และเคเบิลท้องถิ่น


 


ด้วยความเชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตย


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


27 ธันวาคม 2551


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net