Skip to main content
sharethis

 



 



 



 




 


เมื่อวันที่ 24 .. ที่ผ่านมามีกิจกรรมคาราวานสิทธิแรงงาน หนังกลางแปลง: เทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่ จัดโดย โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย สนับสนุนโดย สำนักข่าวประชาไท, โครงการสื่อแนวราบ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ, มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์, และกลุ่มแรงงานสามัคคี


 


โดยก่อนที่จะมีการเริ่มเทศกาลหนังนั้น ได้มีการเสวนาในหัวข้อ

"แรงงานผู้สร้างเมือง: ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" ซึ่งมีวิทากรร่วมเสวนาได้แก่ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, กาญจนา ดีอุต มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และจายศักดิ์ ประธานกลุ่มแรงงานสามัคคี

 


 


ชีวิตเปลือยเปล่าของแรงงานข้ามชาติ


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้อภิปรายถึงชีวิตแรงงานโดยเปรียบเปรยว่าสำหรับแรงงานนั้นเป็นเพียงมดปลวกของแม่มดทุนนิยมยุคใหม่ ซึ่งสถานภาพใดก็ตามแรงงานมักจะเป็น unit สุดท้ายของระบบอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้ รศ.สมเกียรติ กล่าวว่ามนุษย์นั้นมีอยู่ 2 สถานภาพ โดยสถานภาพแรกนั้นเราเรียกว่าสถานภาพแบบ "ชีววิทยา" คือการมีปัจจัย 4 ในการคุ้มครองดำรงชีพ (อาหาร, เครื่องนุ่มห่ม, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค) ส่วนสถานภาพอันที่สองนั้นเราเรียกว่า "การมีสังกัด" โดยแรงงานไทยนั้นมีสังกัดแน่นอน นั่นก็คือสังกัดที่เป็นสัญชาติไทย แต่สำหรับแรงงานข้ามชาตินั้นจะเห็นได้ชัดว่าพวกเขาล้วนแล้วแต่ "ไร้สังกัด" ซึ่งคนที่ไร้สังกัดนั้นก็เปรียบเสมือนคนที่มีชีวิตแบบสัตว์ มีชีวิตเพียงแบบชีววิทยาแต่ไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายโดยการมีสังกัดอยู่ที่สัญชาติใด


 


โดยชีวิตเปลือยเปล่าของแรงงานไร้สัญชาติเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองทางด้านกฎหมาย รวมถึงในเรื่องสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเมื่อราว 20 - 30 ปีก่อน ประชาชนชาวเวียดนามที่เป็นชาวเรือ (boat people) บุคคลเหล่านี้ออกจากประเทศตนเองมา สิ้นสภาพความเป็นคนเวียดนาม คนเหล่านี้ไม่ได้รับการปกป้องในระหว่างที่อยู่กลางทะเล คนเหล่านี้ถูกปล้ำ ถูกข่มขืน ถูกฆ่า โดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนเหล่านั้นไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น


 


นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปถึงประเด็นการสื่อสารของแรงงานไร้สัญชาติใน จ. เชียงใหม่ ซึ่งมีคลื่นวิทยุต่างๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พ้นไปจากการสอดส่องของฝ่ายความมั่นคงของไทย การพูดจาสื่อสารกันด้วยภาษาชาติพันธุ์ มักที่จะถูกฝ่ายปกครองตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการพูดคุยเรื่องการเมือง มีการข่มขู่ บังคับ ถูกปรับให้ใช้ภาษาไทย เพราะฝ่ายความมั่นคงต้องการรู้ว่าเรากำลังสื่อสารกันในเรื่องอะไรอยู่


 


จะเห็นได้ว่าแรงงานที่เป็นแรงงานไร้สังกัดเช่นนี้ จึงเป็นยูนิตสุดท้ายของยูนิตสุดท้ายอีกที ซึ่งถูกรังแกและถูกทำร้ายได้ง่ายที่สุด


 


 


แรงงานต่างชาติ: ผลพวงจากความล่มสลาย


จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย นำเสนอว่าอยากให้มองเรื่องแรงงานต่างชาติในภาพกว้างมากกว่าการโฟกัสในภูมิภาค เพราะประเด็นแรงงานต่างชาตินั้นเป็นประเด็นใหญ่ในระดับโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก "ความล่มสลาย" ไม่ว่าจะเป็นความล่มสลายของรัฐในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจให้คนสามารถอยู่ดีมีสุขในประเทศได้ และผลพวงของการปฏิวัติเขียวซึ่งเป็นความล่มสลายของภาคเกษตรด้วย รวมถึงผลพวงของวิกฤตการเมืองเช่นตัวอย่างกรณีพม่า


 


ทั้งนี้จากแรงผลักทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองนี้เอง เป็นผลให้แรงงานต่างชาติมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่มีสิทธิทางการเมือง ความหวาดกลัวเนื่องจากการถูกคุกคามทุกรูปแบบ เช่นเดียวกันกับแรงงานไทยที่ไปค้าแรงในต่างประเทศ คนไทยเองก็ตกอยู่ภายใต้สภาวะนี้เหมือนกัน


 


ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่โครงการณรงค์เพื่อแรงงานไทยพยายามเรียกร้องก็คือ การยกระดับแรงงานต่างชาติในประเทศด้อยพัฒนาให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับแรงงานผิวขาว โดยใช้คำว่า "แรงงานต่างชาติ" เหมือนกัน แต่ทั้งนี้เราก็ยังต้องบอกกับสังคมอยู่ว่ามันคงยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ มันยังมีการให้ค่าที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น นิยามแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน, นิยามของแรงงานข้ามชาติที่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ พูดถึง หรือนิยามของคำว่าแรงงานต่างชาตินั้นสถานะคำจำกัดความและมโนสำนึกต่อคำสามคำนี้มันยังคงแตกต่างกัน ดังนั้นเราหากเราเรียก "แรงงานต่างชาติ" ไม่ว่าจะเป็นแรงงานผิวสีไหน ซึ่งจะเป็นการยกระดับการต่อรองไปในตัวอีกด้วย


 


 


แรงงานข้ามชาติกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ทัศนคติคนไทยยัง "เกลียดตัวกินไข่"


กาญจนา ดีอุต มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ โดยได้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าหากเราชี้ไปที่ตึกสักหลังในเชียงใหม่ ถามว่าเบื้องหลังของตึกนั้นใครเป็นคนสร้าง, ในตลาดใครที่เป็นแรงงานที่ขนของ บรรจุของ ขายของ, ในบ้านใครเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้าน ทำกับข้าว ทำความสะอาด เลี้ยงเด็ก คำตอบส่วนใหญ่ก็คือแรงงานข้ามชาติมักจะเป็นเบื้องหลังในงานนั้นๆ ที่กล่าวไป


 


แต่ทั้งนี้ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติบางส่วนได้มีโอกาสจดทะเบียน ซึ่งยังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้จดทะเบียนทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นผู้ที่ได้ใช้แรงงานอยู่ในบ้านเรา นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังต้องพบกับปัญหามากมายในการทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ก่อโดยนายจ้าง, ข้อกฎหมายของไทย รวมถึงทัศนะคติด้านลบของสังคมไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ


 


กาญจนาได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ครั้งที่ได้ไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งในช่วงนั้นมีความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่มาก และในพื้นที่นั้นยังมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่มีเอกสารถูกต้องแต่เอกสารหายไป โดยมูลนิธิ MAP ได้เข้าไปอำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติเหล่านั้น โดยวันหนึ่งเราได้นำแรงงานส่วนหนึ่งไปดำเนินการเรื่องเอกสารที่ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งมีซุ้มบริการแจกอาหารฟรีด้วย ปรากฏว่าพวกเราโดนคนไทยรุมต่อว่าว่า "ไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยมาหรือ ไม่รู้หรือว่าคนพม่าได้มาตีกรุงศรีอยุธยา" ซึ่งมันยังเป็นมายาคติ อคติบางอย่างที่ฝังลึก มองว่าแรงงานเพื่อนบ้านของเราเป็นศัตรู และเราไม่ควรให้ความช่วยเหลือเขา นอกจากนี้ในบางพื้นที่คนไทยมักจะลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ มองราวกับว่าเราสามารถปฏิบัติตนอย่างไรก็ได้กับแรงงานข้ามชาติ


 


กาญจนากล่าวว่าสามารถสรุปสถานการณ์โดยรวมได้ด้วยคำพูดที่ว่า "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" โดยเฉพาะนโยบายของรัฐไทยต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ ยังคงไม่มีการคุ้มครองไม่มีกลไกให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิและใช้สิทธิของเขาได้อย่างจริงจัง


 


 


ประสบการณ์ของแรงงานข้ามชาติ


จายศักดิ์ ประธานกลุ่มแรงงานสามัคคี ได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตด้วยการขายแรงงานในประเทศไทยว่าตัวเองเป็นแรงงานก่อสร้าง บ้านเดิมอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งเหตุที่ต้องย้ายถิ่นมาทำงานในประเทศไทยนั้นก็เพราะว่าถูกกดขี่ ข่มเหง รังแก โดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า


 


โดยการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนั้น นอกจากปัญหาภายในของประเทศต้นทางแล้ว ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณแรงงานข้ามชาติในไทยมีสูงเช่นในปัจจุบัน โดยมักจะมีนายหน้ามาติดต่อหาแรงงานแถวบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าต้องการแรงงานจำนวนเท่าใด ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติในภาคเหนือนั้นส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานเป็นแรงงานภาคก่อสร้าง รองลงมาก็จะเป็นแรงงานในภาคเกษตร และอันดับสามก็จะอยู่ในภาคขนส่ง


 


ปัญหาของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ก็คือปัญหาทัศนคติที่ไม่ดีจากคนไทย รวมถึงการจับผิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหาที่สำคัญขณะนี้ที่หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กๆ แต่แท้จริงแล้วกำลังเป็นปัญหาที่หนักอกของแรงงานข้ามชาติก็คือ การจับกุมเข้มงวดกับการไปไหนมาไหนของแรงงานข้ามชาติ เช่นการตั้งด่านตรวจค้น มีการปรับเงิน หรือบางครั้งก็ยึดรถของแรงงานไป


 


โดยเจ้าหน้าที่จะกวดขันและปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติอย่างไม่เป็นธรรมเสมอ เมื่อมีการตั้งด่านตรวจ ก็จะเริ่มตั้งแต่ตรวจเรื่องของหมวกกันน็อค มีหมวกกันน็อคแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจใบขับขี่ พอมีใบขับขี่เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจอย่างอื่นอีก ซึ่งถ้าไม่ได้อย่างหนึ่งก็จะเอาอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าเป็นคนไทยส่วนใหญ่มักจะรอดตัวไปหรือโดนปรับเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติถ้าไม่มีใบขับขี่ก็ถูกปรับขั้นต่ำ 2,000 บาท


 


ทั้งนี้เมื่อช่วงนี้ของปีที่แล้ว มีการบุกเข้ารื้อค้นจับกุมแค้มป์ของแรงงานข้ามชาติ มีการยึดมอเตอร์ไซด์ไปกว่า 20 คัน นอกจากนี้ยังมีการยึดทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เงินในกระปุกออมสิน หรือแม้แต่เงินที่แรงงานเตรียมให้ลูกไว้ไปโรงเรียนยังถูกยึดไปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความอยุติธรรมที่แรงงานข้ามชาติต้องประสบอยู่เสมอมา


 


โดยหลังจากการเสวนา ได้มีการเริ่มเทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ โดยได้ฉายภาพยนตร์เรื่อง "ชีวิตไร้ตัวตน" กำกับโดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยจำนวนแรงงานที่พากันหลังไหลมาจากรัฐต่างๆ ในพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทยเพื่อหนีภัยเผด็จการและต้องการชีวิตที่ดีกว่า โดยในสารคดี "ชีวิตไร้ตัวตน" เผยให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้มีชีวิตที่ดีกว่าอย่างที่วาดหวัง พวกเขายังถูกกดขี่ขูดรีด และไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายทั้งด้านค่าแรงและสวัสดิการ ซึ่งแรงงานข้ามชาติจากพม่าและจากรัฐต่างๆ ต้องการความเข้าใจ และได้รับการยอมรับในสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับคนงานไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net