Skip to main content
sharethis

เรื่องโดย : นางสาวพิจิตรา โล้วิชากรติกุล


 



 


จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเมืองกำลังเข้มข้นต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์ออกมาตอบโต้กันอย่างเมามัน ด้านสื่อมวลชนก็นำข่าวและภาพมาเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีก… ส่งผลให้แทบทุกครอบครัวต้องเปิดรับข่าวสารจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำไปแล้ว ขณะเดียวกันนั้น...."เด็กและเยาวชน" ตาดำๆ กำลังซึมซับภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ความเกลียดชังและความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของเด็กได้…


 


ร้อนอกร้อนใจไปถึงกลุ่มองค์กรและเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ให้อยู่ๆ นึ่งไม่ได้แล้ว... เช่นเดียวกับ แผนงานสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ที่ได้จัดเสวนา "เปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้างสันติในใจเด็ก" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เทคนิค วิธีการที่จะเสริมสร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจเด็กขึ้น ก่อนที่เด็กและเยาวชนจะตกเป็นเหยื่อของกระแสการเมืองไป


 


เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน สสส. ได้ออกมาบอกว่า การที่สื่อมวลชนต่างให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม และนำข่าวมาเสนอซ้ำๆ อาจจะทำให้เด็กเกิดความตึงเครียดสะสมได้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดมาจาก ประการแรกคือ ผู้ปกครองรับสื่อและเกิดความเครียด จึงนำความเครียดนั้นมาลงที่เด็ก หรือประการที่สอง เด็กที่เป็นฝ่ายรับสื่อ ไม่ได้รับคำแนะนำ คำอธิบายจากผู้ปกครอง ทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เก็บงำความเครียด เกิดเป็นความกลัว ซึมซับ จดจำ และนำไปสู่การเลียนแบบได้


 


ในประเทศไทย มีสัดส่วนของประชากรที่เป็นเด็กอยู่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จึงอยากให้หลายๆ ฝ่ายหันมาฟังความคิดเห็นของเด็กบ้าง ว่าพวกเขาได้ซึมซับหรือเรียนรู้สิ่งใดไป และอย่าปล่อยให้เด็กและเยาวชนสับสนกับข้อมูลที่ได้รับ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกหรือสิ่งไหนผิด การจัดเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่เปิดให้ผู้ปกครอง สื่อมวลชน เด็ก คุณครู และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เทคนิค และวิธีการ เพื่อหาแนวทางในการสร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจของเด็ก ซึ่งเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์สันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน" นางสาวเข็มพร บอกด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยความห่วงใย


 


เด็ก....เปรียบเสมือนผืนผ้าขาว สะอาด บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะแต่งแต้มสีสัน หรือตกแต่งลวดลายใดๆ ก็สามารถซึมซับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย


 


เช่นเดียวกับนางสาวกรรณิการ์ เกิดศรีพันธุ์ ประธานเครือข่ายศูนย์รวมใจพัฒนาเด็กเล็กธนบุรี ได้ออกมาบอกว่า ในช่วงที่โทรทัศน์มีการนำเสนอข่าวความรุนแรงทางการเมืองอยู่เป็นประจำ มีเด็กอายุ 2-3 ขวบส่วนหนึ่งได้รวมกลุ่มกัน และพูดว่า ออกไป! ออกไป! ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้รู้ซึ้งถึงความหมายของคำๆ นี้ เพราะวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จดจำ เมื่อเห็นตัวอย่างจากโทรทัศน์จึงเกิดการเลียนแบบขึ้น ทางศูนย์ฯ จึงได้นำคำนี้มาผสานกับการรณรงค์ในเด็กเลิกดื่มนมจากขวด เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดของเด็กกลายเป็น ขวดนม ออกไป! ขวดนม ออกไป!


 


ส่วนในระดับชั้นอนุบาล นางวรรณพร กันทาธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลผึ้งน้อย เล่าถึงเรื่องนี้ว่า เด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลผึ้งน้อยมีการซึมซับเหตุการณ์ความรุนแรงจากสื่อ แต่ไม่ได้แสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว ภาพที่ปรากฏออกมาจะเป็นในลักษณะไม่พึงพอใจกับรัฐบาล และไม่ชื่นชมในบทบาทของผู้นำประเทศ ในขณะที่เด็กชั้นอนุบาล 3 สามารถอธิบายถึงความดีและไม่ดีได้อย่างมีเหตุมีผล ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าพลังของสื่อนั้นมหาศาล


 


ด้านนางนันทภรณ์ แสนประเสริฐ อาจารย์จากโรงเรียนปรียาโชติ จังหวัดนครสวรรค์ เล่าว่า ขณะที่มีข่าวความรุนแรงนั้นในต่างจังหวัดมีหลายๆ ครอบครัวมักเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้พร้อมกับทำกิจวัตรประจำวันไปด้วยพร้อมกัน ทำให้เด็กได้รับข่าวสารจากโทรทัศน์ไปด้วยในตัว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กนำสิ่งที่ได้เห็นได้ยินไปปฏิบัติในทางที่ผิด ทางโรงเรียนจึงได้จัดตั้งสภาคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กแต่ละชั้นเรียน แล้วเปิดเวทีให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันขึ้น ผลปรากฏว่าเด็กๆ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เช่น ไม่ชอบเลย ทำไมไม่เอาเวลาไปทำอย่างอื่น, บางครั้งที่ผู้ใหญ่ทำไม่ถูก ทำไมไม่พูดคำว่าขอโทษและให้อภัยกัน ฯลฯ และเพื่อไม่ให้นักเรียนมีความคิดแตกแยก แบ่งเป็นฝั่งเป็นฝ่ายต่างๆ ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้มีการทำกิจกรรมกลุ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสามัคคีขึ้นด้วยอีกทาง...


 


 ทางฝั่งตัวแทนครอบครัว นางวรรัตน์ การุณรอบดุล เล่าว่าส่วนใหญ่จะไม่เปิดโทรทัศน์ให้ลูกดู เพราะว่ายังมีสื่อชนิดอื่นที่เหมาะสมกับวัย และช่วยเติมเต็มความรู้ สร้างสรรค์จินตนาการให้กับลูกได้ อย่างหนังสือ การดูละครเวทีที่แฝงคติสอนใจไว้ เมื่อลูกโตพอที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด จึงจะปล่อยให้ลูกรับสื่อนั้นๆ เอง แต่จะคอยอธิบายให้ลูกฟังเกี่ยวกับข่าวหรือสถานการณ์ความรุนแรงในทิศทางที่ถูกต้องด้วย


 


เด็ก....เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การจดจำ และเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิด เพราะฉะนั้นครอบครัวและโรงเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขัดเกลา สั่งสอน และแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับเด็ก


 


ส่วนทางด้านพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้เสนอแนวทางด้านการดูแลเด็กว่า สื่อในประเทศไทยยังไม่มีความสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเกิดจากเนื้อหาที่นำเสนอไม่มีความครบถ้วน การรายงานข่าวบางครั้งเป็นการให้ความคิดเห็นและต่อเติมความรู้สึกร่วมทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง แต่!!สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สื่อรายงานเพียงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ไม่ได้รายงานข่าวเพื่อนำไปสู่ทางออก ฉะนั้นครอบครัวจึงควรจะระมัดระวัง และคัดกรองข้อมูลจากสื่อมาก


 


 "อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ก็นับเป็นสถานการณ์ที่ดีที่จะให้ความรู้ทางด้านการเมืองกับเด็ก เพราะกำลังมีตัวอย่างให้เห็น ทำให้เราสามารถยกเหตุการณ์ต่างๆ มาสอนเขาได้ ขณะเดียวกัน เด็กก็อาจจะเป็นฝ่ายเปิดประเด็นตั้งคำถามขึ้นมาเองก็ได้ ที่สำคัญพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตในพฤติกรรมต่างๆ ของลูก ว่าเขากำลังติดตาม สนใจหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างไร รวมถึงเข้าไปพูดคุย ปรับมุมมองทัศนคติของลูก ให้เขาเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล" พญ.พรรณพิมล กล่าวแนะนำ


 


เด็ก....จะเกิดสันติขึ้นในใจได้ ต้องเริ่มจากครอบครัวด้วยการเอาใจใส่ ดูแล และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก ๆ เพื่อวางรากฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต, โรงเรียนที่ต้องอบรมสั่งสอน เพิ่มเติมความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม สร้างให้เด็กรู้จักคิดได้ด้วยตัวเอง, สื่อมวลชนที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ครอบคลุม เป็นกลาง และสร้างสรรค์มากขึ้น


 


และสุดท้ายทุกคนในสังคมต้องหันหน้าเข้าหากัน ยอมรับความแตกต่างทางความคิดของผู้อื่นให้ได้ เพราะหากยังยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม น่าเป็นห่วงว่า...อนาคตของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร เพราะ "เด็กนั้นไซร้ คือผู้ใหญ่ในอนาคต"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net