Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)


อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


 Shukur2003@yahoo.co.uk


 


 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


จากสถาบันข่าวอิศราได้รายงานว่า นักวิชาการชายแดนใต้ไม่เชื่อว่าไฟใต้จะสงบรัฐบาลใหม่ เชื่อภายใต้รัฐบาลใหม่เพราะใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็เจอเหมือนๆ กัน


  


ขณะที่พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงค์แก้ว สรุปว่า สถิติคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงวันที่ 1 ธ.ค.2551 รวมระยะเวลา 4 ปี 11 เดือน มีคดีเกิดขึ้นทั้งสิ้น 6,103 คดี ร้อยละประมาณ 80 ไม่ทราบผู้กระทำผิด (โปรดดูเว็บไซต์สถาบันข่าวอิศรา)


 


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะมีต้นเหตุหลายปัจจัยแต่ผู้เขียนมีทัศนะว่าหากรัฐบาลใหม่ต้องการแก้ปัญหาใต้อย่างยั่งยืนต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมืองการปกครองโดยควรกำหนดแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและระยะด้วยหลักการและเหตุผลดังนี้ (ข้อเสนอต่อไปนี้เป็นผลของการประชุมระดมสมองเวทีการเมืองภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปลายปีและต้นปี 50-51ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็น)


 


หลักการและเหตุผล


การปฏิรูปการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระที่จะต้องพิจารณาปรับปรุง แก้ไขโดยรีบด่วนและรอบคอบ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.. 2475 มีประกาศให้ยุบเลิกการปกครองแบบเจ้าเมือง แล้วให้รวมเป็นมณฑลหนึ่งของสยาม ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ผนวก ปัตตานี สายบุรี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองในสังกัดเข้าเป็นดินแดนของสยาม โดยจัดตั้งเป็นมณฑลปัตตานี และเป็นจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในที่สุด ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด และยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และเหตุการณ์ความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรัฐไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขได้ อย่างไรก็ตาม ในการเสนอมาตรการเพื่อปรับปรุง แก้ไขและเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ


 


กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.. 2550 มาตรา 78 กำหนดไว้ว่า รัฐจะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้


 


1. บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ


 


2. จัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขตอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน เหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่


 


3. กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น


 


4. พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ ใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ


 


5. จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น  เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


6. ดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมาย ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐตามกฎหมาย และตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลักนิติธรรม


 


7. จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด


 


8. ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม


การบริหารราชการส่วนภูมิภาคในปัจจุบัน ไม่สามารถสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนงานและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการในส่วนภูมิภาคไม่สามารถให้บริการพื้นฐานแห่งรัฐไปสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้าราชการส่วนภูมิภาคจำนวนมากเกินไป จนต้องใช้งบประมาณในส่วนของเงินเดือนและการบริหารจัดการ (งบประจำ) มากเกินไป ทำให้มีงบประมาณเพื่อการพัฒนาจังหวัดน้อยเกินไป ผู้ว่าราชการไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณเพื่อการพัฒนาจังหวัดได้อย่างเต็มที่ และไม่มีอำนาจกำกับดูแลข้าราชการที่อยู่ในจังหวัดในฐานะหัวหน้าของทุกส่วนราชการได้เต็มที่ (เพราะแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต่างพยายามรักษาอำนาจของตน) จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องรอให้ราชการส่วนกลางเข้ามีส่วนช่วยแก้ไข  ทำให้การแก้ปัญหาของประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการณ์ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย


จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ถ้าหากไม่พิจารณาปรับปรุง แก้ไขการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาต่างๆ จะยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น จนไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้


กำหนดระยะการแก้ปัญหาออกเป็นสามระยะ


หากพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรม พ.. 2550  สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขให้อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมฯ ได้ จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไปการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้


 ระยะแรก


1. ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการยกระดับผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ให้เทียบเท่าปลัดกระทรวงฯ และควรให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์ดังกล่าว เป็นผู้ที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีระบบการตรวจสอบโดยจัดตั้งสภาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากการสรรหาจากคนท้องถิ่นโดยตรงพร้อมให้มีอำนาจการบริหารด้วยไม่ใช้เป็นแค่ที่ปรึกษา (สภา ศอ.บต.)


 


2. ให้นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 87  ว่าด้วยแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง ให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมือง ให้การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมือง ภาคพลเมือง เพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็น และเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่


 ระยะกลาง


1.ให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเฉพาะในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความยุติธรรม ตลอดจนให้การสนับสนุนการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ส่วนการพัฒนาจังหวัด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและด้านอื่นๆ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณในการพัฒนาฯ รัฐจะต้องจัดสรรให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ราชการส่วนภูมิภาคมีหน้าที่เพียงควบคุม กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐเท่านั้น และควรมีข้าราชการในสังกัดส่วนภูมิภาคเพียงจำนวนเท่าที่จำเป็น


 


2. ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ


 


3. ให้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้มีอำนาจ หน้าที่และรับผิดชอบ ดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความยุติธรรมภายในจังหวัด โดยให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความสงบอื่นๆ ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด


 


4. กระบวนการยุติธรรมเพื่อนำคนกระทำผิดขึ้นสู่ศาล  การสอบสวนของตำรวจจะต้องมีฝ่ายอัยการและฝ่ายปกครองร่วมสอบสวน เพื่อให้มีการถ่วงดุลกัน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวนเบื้องต้นก่อนคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นอัยการและชั้นศาล


 


5. เปลี่ยนแปลงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ อันประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ตลอดจนผู้ทรงความรู้ทางศาสนาและปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ประชาชนเคารพ นับถือ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเอกภาพและประสิทธิในการทำงาน ตลอดจนให้ความเห็นต่อราชการส่วนกลางในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่น  สภาผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี และคัดออกหนึ่งในสาม ทุกๆ 2 ปี  ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครบ 6 ปี ไม่มีสิทธิเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้อีก


 


6. ให้มีศาลชารีอะฮ์  เพื่อตัดสินคดีความที่มีมุสลิมเป็นคู่กรณี แยกจากศาลทั่วไป


 


7. ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ


 


ระยะต่อไป


 


1. ยกเลิกการบริหารราชการส่วนผู้ภูมิภาค


 


2. ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกกฎ ระเบียบใดๆ เพื่อใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดและแย้งกับกฎหมายหลักของประเทศ


 


3. การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การยุติธรรม การคลัง การบรรจุแต่งตั้ง การเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ เป็นเรื่องที่การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดและแย้งกับกฎหมายหลักของประเทศ


 


4. การรักษาความมั่นคงของประเทศ การต่างประเทศ ธนาคารกลาง การพัฒนาด้านต่างๆ ที่เป็นส่วนที่ใหญ่กว่าระดับท้องถิ่น หรือคาบเกี่ยวกันระหว่างท้องถิ่น ตลอดจนด้านต่างๆ ที่เป็นการดูแลภาพรวมของประเทศ เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนกลาง


 


ผู้เขียนหวังว่า ด้วยข้อเสนอภายใต้หลักการและเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะนำมาเป็นแนวทางในการการแก้ปัญหา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net