คำต่อคำ: เรื่องเล่าจากปากคนบ่อนอก ว่าด้วยการต่อสู้ (แสบสัน) ของคนบ่อนอก

คำต่อคำ: เรื่องเล่าจากปากคนบ่อนอก ว่าด้วยการต่อสู้ (แสบสัน) ของคนบ่อนอก

โดย ละออง ยี่สาร กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก (ใครๆ ต่างเรียกเธอว่า 'เจ๊ออง')



ความเป็นมา - คัดกรอง 'ตัวจริง เสียงจริง'

การคัดค้านโรงไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ชุดแรก ที่ครูโรงเรียนประถมออกมาเป็นแกนนำ เอาใบปลิวแจกนักเรียนให้นักเรียนบอกผู้ปกครอง ทำให้ได้รู้ว่าจะมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านเรา ประมาณปี 2538 มีการเคลื่อนไหว นัดชุมนุม ทางโรงไฟฟ้าก็เข้ามากับทางหน่วยราชการจังหวัด เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่วัดบ่อนอกล่าง คนเยอะ ตอนนั้นชาวบ้านก็บอกอย่างเดียวว่าไม่เอา เพราะตอนนั้นชาวบ้านเราก็ได้ข่าวจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ฟังวิทยุมั่ง ทีวีมั่ง ก็รู้ว่าผลกระทบเยอะ และไม่ได้รับการแก้ไข แล้วที่นี่ก็ยังใช้ถ่านหินเหมือนกัน วันนั้นมีการล่ารายชื่อกันบนวัด ได้ไปหลายพันรายชื่อ


ตอนนั้นยังไม่รู้จักเจริญ กระรอกเลย รู้แต่ว่าถ้ามันไม่ดีก็ต้องช่วยกันค้าน พอเรื่องชักจะดังขึ้นมา ชาวบ้านเริ่มรวมตัว ครูที่ทำใบปลิวก็ได้รับเชิญจากโรงไฟฟ้าไปเมืองนอก ไปดูงานที่อเมริกา พอกลับมาทุกคนบอกว่าดีหมด มันดีอยู่ร่วมกับชุมชนได้ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ พวกครูเขาได้กิน ได้เที่ยวเมืองนอกก็ดีใจ แต่ชุดนั้นมีครูตุ้ย (อนันต์ พัฒนวงศ์สกุล) ที่ไม่ไป และยืนหยัดว่าไม่เห็นด้วย


หลังจากกนั้นก็มีแกนนำกลุ่มทนายธนู หินแก้ว (หนึ่งในผู้ต้องหาคดีสังหารเจริญ) ขึ้นมา แล้วเขาก็ว่า ไม่เอา มันมีผลกระทบเยอะ ความที่เราก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ใครนำเราก็ไปทางนั้น เพราะเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ตอนแรกเขาตั้งเวทีในวัดก่อนเพื่อปราศรัย อีกครั้งก็นัดชุมนุมใหญ่ศาลากลาง แต่จู่ๆ เขาหักลำไปแค่ อบต. แล้วก็พูดว่าอย่าไปศาลากลางเลย เขาเองก็อันตรายแล้ว มีคนให้เขาหยุด จากนั้นเขาก็หยุด ไม่เคลื่อนไหวอะไรต่อ พ่อเขาคือกำนันเจือ หินแก้ว (หนึ่งในผู้ต้องหาคดีสังหารเจริญ) ก็ตั้งกลุ่มพัฒนาชุมชนเพื่อความเป็นธรรม ได้เงินจากโรงไฟฟ้ามา 4 ล้าน เขาก็เอาเงินมาซื้อไก่ให้ชาวบ้านเลี้ยง ซื้อมะม่วงมาให้ชาวบ้านปลูก ก็มีคนเข้ากลุ่มเขาจำนวนหนึ่ง แต่ตอนนั้นก็มีการโต้แย้งกันหนักเพราะมีส่วนหนึ่งไม่ได้สนับสนุนโรงไฟฟ้า แต่เหมือนพี่น้องไปก็เอาชื่อไปใส่ให้ด้วยเพื่อจะเอาเงินส่วนนี้ คนก็โวยวายว่าไม่ได้เข้าเอาชื่อไปได้ยังไง ก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน นอกเหนือจากกนั้นก็ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมเลิก เขาพูดกับหลวงพี่ของเจริญว่า พวกนี้พูดกันไม่รู้เรื่อง หลวงพี่ก็บอกว่า ผีมันนอนอยู่ในหลุมดีๆ ไปปลุกขึ้นมา แล้วก็ไม่ยอมลงหลุมแล้ว


ทีนี้ก็เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีก เจริญก็เป็นตัวเชื่อมประสาน แต่มีประธานอีกคนหนึ่ง ชื่อ สุทิน ช่อระหงส์ คุยกันที่วัด ตอนแรกเราก็คิดว่าการที่ว่าโรงไฟฟ้าจะสร้างได้หรือไม่ อยู่ที่มติของ อบต. เลยส่งสุทินเข้าสมัครเป็นสมาชิก อบต. และหนุนให้เป็นประธานสภา แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว จากที่กล้าพูด กล้าทำ เข้าไปแล้วเหมือนสวมหัวโขน ก็ไม่แข็งพอ อ่อนไปโดยปริยาย เลยไม่สำเร็จ ก็ได้บทเรียน พอเขาหมดวาระ สมัครอีกที ชาวบ้านก็ไม่ลงคะแนนให้ ได้คะแนนไม่ถึงร้อย จากที่เคยได้ท่วมท้น


พอประธานคนที่หนึ่งไป ประธานคนที่สองก็คือ เจริญ หลังจากที่เราลองผิดลองถูกตามพวกแกนนำไปสองหน ก็ถึงได้เจริญขึ้นมา เป็นตัวจริง ไม่อ่อนไหว เรามั่นใจว่าเขาไม่เปลี่ยนแน่ เพราะเจริญจะบอกทุกอย่างว่าใครมาเสนออะไร เขาไม่ปิด เช่น มีตำรวจมาเสนอให้ 20 ล้าน เจริญก็พูดให้ฟัง ถ้าเขารับก็จบ แต่เขาไม่รับ เราก็รวมตัวกัน แล้วออกยื่นหนังสือตามหน่วยราชาการต่างๆ ไปทุกหน่วยที่เราคิดว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนรัฐบาลที ก็ไปใหม่ ถ้าเอาเอกสารมาดู ใส่ตระกร้านึงก็คงไม่หมดแล้ว


ยุทธการ 'ยื่นหนังสือถึงมือชวน หลีกภัย' กลางถนน !

หลังจากยื่นหนังสือไปเยอะมาก เราก็บอกกันว่า ยื่นมาเยอะแล้ว ทำเนียบฯ ก็ไป เลขาฯ ออกมารับ ไม่เคยเจอกับนายกฯ หรือรัฐมนตรีเลย ทีนี้วันหนึ่งเราก็รู้ว่าชวน (หลีกภัย - นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) จะมาเปิดโรงสีพระราชทานแถวประจวบ เราก็เริ่มวางแผน แต่ปิดเป็นความลับ ตำรวจโทรถามเจริญกับกระรอกว่า จะไปยื่นหนังสือไหม เขาก็บอกไม่ไปหรอก แล้วก็กระรอกแต่งตัวไปดูชวน เราไม่เรียกนายกฯ ชวน นะ เราเรียกไอ้ชวน (หัวเราะ) แล้วกระรอกก็ส่งสัญญาณกับเจริญว่ากลับมาหรือยัง ยังไง ที่บ่อนอกก็มีฮอ (เฮลิคอปเตอร์) มาบินดูในวัดว่าเคลื่อนไหวไหม เราก็รู้ว่าเขาดู เราก็อยู่กันในบ้าน แล้วพอกระรอกส่งข่าวว่าเขาออกมาแล้ว นั่งรถคันที่เท่าไร เราก็ชวนชาวบ้านออกมาถือธงริมถนน พอรถฉลามที่นำรถชวนผ่านมา เขาก็นึกว่ามารับนายกฯ โบกธงกันใหญ่ ฉลามก็วิ่งฉิวผ่านไป พอรถชวนปั๊บ เราก็ยื่นธงขวางปุ๊บ ด้ามธงเรายาว คนขับรถก็ปอด ต้องจอด แล้วเราก็เสียบสองข้าง จบ เคาะประตู ปัง ๆๆๆ (หัวเราะ) "ลงมาๆ มาคุยกันหน่อยดิ๊ มึงจะเอายังไงกับเรื่องโรงไฟฟ้า" ชวนนี่สั่นหมดเลย (เล่นอย่างนี้เลยเหรอ) ต้องอย่างนี้แหละ ไม่งั้นก็ไม่ได้ยื่นหนังสือ ชวนก็บอกครับๆ เดี๋ยวผมไปดูให้ครับ สรุปว่าก็ได้ยื่นหนังสือกลางถนน ให้เขารู้ว่าเราทำได้ เราอ่านให้เขาฟังก่อน ชาวบ้านก็ตะโกนเรื่อย โรงไฟฟ้าไม่ให้สร้างบ้านกูนะ (หัวเราะ) รถตำรวจ รถฉลามไปจอดนู้น เบรกไม่ทัน เขานึกว่าเรามาต้อนรับนายกฯ คงไม่ได้คิดอะไร


ตอนไปเอาธงกั้น มีคนแค่ห้าสิบคนได้มั้ง แต่กั้นเสร็จปั๊บ คนมาเลย หลบๆ กันอยู่ ถ้าออกมาแต่แรกจะมากผิดปกติ แล้วพอตอนชวน 1 จะหมดวาระ ตอนนั้นปีอะไรนะ จำพ..ไม่ค่อยเก่ง ตอนนั้นชวนใกล้หมดวาระ เราก็กลัวเขาจะทิ้งทวนให้สร้าง เราก็รวมตัวกันอีก เคาน์ดาวน์เลย นับวันชวนหมดวาระ เรื่อยมาจนวันที่ชวนหมดวาระ เขาก็ไม่ตัดสินบอกให้สร้างนะ วันนั้นก็มีรถโมบายมาถ่ายทำในวัดเยอะ เราก็ตั้งจอเลย ชาวบ้านมาร่วมเยอะมาก ตอนนั้นพูดเรื่องโรงไฟฟ้านี่ไม่ได้เลย เขาตื่นตัวมากเลย กลัว


(ทำไมเขาตื่นตัว เราทำงานในพื้นที่หรืออยู่ๆ เขาก็กลัว) ไม่ๆ ชาวบ้านทุกคนเขาก็ฟังข่าวทีวี ข่าววิทยุ เรื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะนี่แหละ เขารู้อยู่


ดูงาน 'แม่เมาะ' แต่...ขอจัดโปรแกรมเอง (นะจ๊ะ)

อ้อ เล่าข้ามไปตอนนึง โรงไฟฟ้าเริ่มเข้ามาก็พาคนไปดูที่แม่เมาะเหมือนกัน พี่สาวพี่ก็ไป ผู้ใหญ่ กำนัน กลุ่มสตรี เราก็ถามพี่สาวว่าไปดูงานแม่เมาะ มึงไปเหมืองแม่เมาะหรือเปล่า "ไป๊ กูก็เห็นมันก็สวยดี" แล้วไปไหนอีก "กูก็ไปกินขันโตก" แล้วไปไหนอีก "กูก็ไปนอนโรงแรม" แล้วมึงไปไหนอีก "กูก็กลับบ้าน" แค่นั้นน่ะ ได้ถุงผ้าลูกหนึ่งกับเอกสารว่าโรงไฟฟ้าดี


(แล้วได้ผลไหม) ได้ผลเป็นบางคน แต่พี่สาวนี่ยังออกมาค้าน วันนี้ก็อยู่ จากตรงนั้นโรงไฟฟ้าก็ชวนพวกเราไป มีคนมาถามว่าเขาจะพาไปมึงไปไหมล่ะ "ไปได้ (เสียงสูง)แต่ต้องพาไปตามที่กูบอกนะ กูจะดูตรงไหนมึงต้องจอด" สุดท้ายเขาไม่เอา เราเลยตั้งโปรแกรมไปกันเองเลย เสียค่ารถคนละหลายร้อยเหมือนกัน จากนี่ไปแม่เมาะนะ ไปกันสองคันหรือไงนี่แหละ จำไม่ค่อยได้ ก็ไปที่บ้านหัวฝาย ชาวบ้านก็คุยให้ฟังทั้งน้ำตาว่าเขาอยู่แบบทนทุกข์ทรมาน จากการเจ็บป่วย จากหมอกควันซัลเฟอร์ เมื่อก่อนเขาทำนาเขาไร่นึงได้ข้าวตั้งเยอะ เด๋วนี้ไม่ได้กิน ยอดผักตามรั้วบ้านนี่ถ้าฝนตก น้ำค้างลงหนัก ใบจะไหม้หยิกหมดเลย วัวควายเขาผอมมากแต่ท้องจะกาง เพราะมันกินหญ้าที่มีสารอะไรต่ออะไรเข้าไป มันป่วย เป็นแก๊สอยู่ในท้องเขาบอก มันน่าสงสารมากบางทีเหมือนมันจะตาย เราก็ถามว่าแล้วที่พี่สาวดูทำไมเล่าว่าเจอวัวควายอ๊วนอ้วน ชาวบ้านบอกอันนั้นเขาเอาขึ้นรถมา เราไปดูปลาในคลองน้ำชลประทาน ก็เห็นแต่ปลานิลอย่างเดียว เพราะมันทนมากกับทุกสภาพ ปลาอื่นไม่มี แต่ปลานิลก็มีแต่หัว ไม่อ้วนเลย


ถามลุงคนหนึ่งอายุ 60 ปีว่าทำไมไม่ค้าน เขาพูดภาษาเหนือ "โถ อีหนู ลุงจะไปค้านอาร้าย ลุงยังไปช่วยเขา รับจ้างเขาเล้ย เขาบอกสร้างโรงไฟฟ้าแล้วมันเจริญ ลุงก็ไปรับจ้างช่วยงานเขาวันละ 70-80 บาท" แล้วตอนหลังมีคนที่แม่เมาะมาแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่บ่อนอก มีบางคนปอดเหลือซีกเดียว บางคนต้องขายฝาบ้านประตูบ้านซื้อถังออกซิเจน ตายกันไปเยอะแล้วด้วย ตอนพี่ไปก็รู้สึกเลยนะ เพราะที่นั่นเป็นหุบ รู้สึกมันอืดในท้อง สูดอะไรเข้าไป นอนคืนเดียวยังแทบตายเลย ไม่รู้เขาอยู่กันได้ยังไง แม่อุ๊ยก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนน้ำฝนกินได้ แต่เดี๋ยวนี้บ่อน้ำนี่เขาต้องเอาพลาสติกคลุม แล้วเอาฝาปูนปิดอีกที ถามว่าทำไมต้องปิดขนาดนั้น เขาว่ากันน้ำฝนลง ถ้าน้ำฝนลงเอามาอาบมาอะไรมันจะคัน เราก็ไปถ่ายวิดีโอกัน กองถ่านหิน สัมภาษณ์ชาวบ้าน แล้วเราก็กลับมาประชุมกันที่วัด เรียกชาวบ้านมาดูวิดีโอที่ฉายมา เขาจะได้รู้ว่าเป็นยังไง พอบริษัทมาพูดว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ่านหินสะอาด ชาวบ้านก็เถียงกันคอขึ้นเอ็นเลย กูไม่เชื่อ ตามไปเถียงทุกที่เลย


เชิญทักษิณลงพื้นที่ ... นายกฯ ตากแดด ชาวบ้านอยู่ในร่ม

สู้มายันยุคทักษิณ ทักษิณเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยแรก ชาวบ้านก็ยกขบวนไปอีก วันนั้นนายกฯ ญี่ปุ่นจะลงมา เราก็ไป วันนั้นเราไปเจอปัญหามาก ตั้งกะเพชรบุรี ตำรวจตั้งด่านตลอดทางเลย ธรรมดาไปทุกเที่ยวไม่เคยเจออย่างนั้น ตั้งกักกันสองสามกิโลเลย เราไปรถบัส มีปิกอัพเครื่องเสียงนำขบวน เจอด่านตำรวจก็ถามว่า "มึงจะตรวจอะไรกันนักกันหนา" ก็รื้อด่านกันนะ แล้วไปต่อ รื้อไม่รู้กี่ด่าน ก็ไปได้ทันเช้า ธรรมดาเราได้นอนบ้าง คืนนั้นรื้อด่านทั้งคืน ชนิดที่ว่ารถที่เราจ้างไปส่งเราแล้วหนีกลับเลย รถเขากลัว ไปถึงมีเจ้าหน้าที่ถามว่า "อุ๊ย มากันได้ยังไงนี่" มึงแกล้งกูทั้งคืนกูก็ยังมาได้ พอไปถึงทักษิณก็บอกว่าไม่ต้องกลัวนะ เดี๋ยวผมจะลงไป ซักเดี๋ยวก็ให้จาตุรนต์ลงมา ตอนนั้นคนก็เยอะซักแปดพันได้ พอเขากลับไป ทีนี้ทักษิณมาเอง ที่นี่แหละ (ครัวชมวาฬ) คนแน่นมากเป็นหมื่น ตอนนั้นบังกะโลยังไม่มี คนงี้เต็มไปหมด เขาจะได้เห็นว่าคนมันเยอะแค่ไหน และคนที่สนับสนุนมีแค่ไหน คนที่อยากให้สร้างมีหยิบมือนึง ได้เงินจากกองทุนสี่ล้านนั่นแหละ


(แล้วอะไรๆ มันดีขึ้นไหม) วันที่ทักษิณลงมา เราไปประชาสัมพันธ์ให้โรงไฟฟ้าด้วยว่าใครสนับสนุนให้ไปที่โครงการ ใครคัดค้านให้มาครัวชมวาฬ ทักษิณก็มาที่นี่ก่อน ตรงนี้ก็แน่นไปหมดเลยยันถนน ตีซะประมาณหลักหมื่นเลยนะ ไม่มีที่จะนั่งกันเลย (มาทั้งอำเภอหรือ) ทั้งจังหวัด คนที่อยู่ไกลไปก็ไม่เอาเหมือนกัน เขาบอกว่ามลพิษไม่มีขอบเขต เขาก็รู้อยู่ พอมาที่นี่แล้วคนเยอะ เราก็เชิญชาวบ้านนั่งในเต็นท์ แล้วให้ทักษิณอยู่กลางแดด รัฐมนตรีก็อยู่กลางแดด ชาวบ้านก็ถาม แล้วก็ตะโกนพูดกันอิสระ ให้เขารู้ว่าเขามาใหญ่ที่นี่ไม่ได้ เสร็จจากที่นี่ทักษิณก็ไปที่ไซด์งาน เราก็ขับรถตามไปดู กล่องข้าวพะเนินเลยกะเลี้ยงคนมาก แต่มีคนไม่ถึงสามร้อยคน นี่ไปจ้างมาจากที่อื่นแล้วนะ เพราะคนของเราขับไป ยังได้ตังค์มาเลย เขาไมได้ใส่เสื้อเขียวไง แล้วก็เห็นว่าคนที่ไปไม่ใช่คนแถวบ่อนอกนี้ พอกลับไปซักพักเขาก็ตัดสินใจให้ของบ่อนอกย้ายไปแก่งคอย ของบ้านกรูดให้ย้ายก่อนนะ ไปที่ราชบุรี


(ยังเคลื่อนไหวกันต่อไหม) ที่ดินเขายังอยู่นะ บริษัทนี้เขาเป็นบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แล้วมันก็เชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะที่เขาจะออกโฉนด มีกำนันฉ่อย เมื่อก่อนนี้มาบอกเจริญว่า มันจะมีการออกโฉนดนะ 53 ไร่ในที่สาธารณะ กำนันต้องเซ็น แต่เขาเห็นว่าไม่ถูก เขาว่าเขาจะค้าน แต่เอกสารนี่ทำมาเรียบร้อยแล้ว แล้วเขาก็ชวนเจริญให้ไปให้ปากคำกรรมาธิการที่รัฐสภา ก็ไปกัน ขากลับเจริญก็โดนยิง จริงๆ กรรมาธิการก็ไม่ได้เชิญเจริญโดยตรง แต่กำนันฉ่อยมาชวนเจริญไปด้วย วันนั้นก่อนไปพี่ก็ยังเจอเจริญที่สี่แยกบ่อนอก เจริญเขาก็แต่งตัวของเขาเรียบร้อย เขายังไม่บอกพี่เลยว่าจะไปกรุงเทพฯ เขาไปกรุงเทพฯ นี่ความลับมากเลย รู้ไม่กี่คน เขาต้องระวังตัว เพราะตอนโรงไฟฟ้ายังไม่ย้ายเขาโดนขู่ฆ่า ย้ายแล้วก็ยังโดนอยู่ มีจัดเวรยามเฝ้ากันที่วัดบ่อนอกเลย


เส้นทางวิบาก 'เจริญ-กระรอก'

เจริญเริ่มมาเป็นแกนนำไม่นานนักก็ต้องย้ายไปอยู่ในวัด เพราะไม่ยอมอะไรเขาซักอย่าง เมื่อก่อนเขาปลูกบ้านในสวน เมื่อก่อนเขาเลี้ยงไก่กัน อยู่กับกระรอก ไม่ค่อยได้ยุ่งกับใคร รักสันโดษ ทำเรื่องนี้แล้วก็กลับบ้านไม่ได้อันตราย ก็อยู่วัดหรือไม่ก็บ้านกระรอกริมทะเลนี้ พอมาอยู่วัด บ้านก็ถูกเผา แต่ไม่ทันได้ไหม้ ไหม้แค่ฝาระเบียงเฉยๆ เขาสองคนไม่เคยเรียกร้องให้ใครมาเฝ้า มาดูเขานะ แต่ชาวบ้านได้ยินข่าวก็เป็นห่วงจัดเวรยามกันเอง เฝ้ามาพักใหญ่ ระวังมาหลายปี ระวังมาก แต่สุดท้ายก็ยังพลาด


ตอนนี้กับกระรอกเราก็ระวังเหมือนกัน เพราะได้ข่าวว่า มีการพูดว่า "อีนี่แสบนัก เอาไว้ไม่ได้" นี่พี่ก็มานอนเฝ้าคืนนี้ (25 ..) เราจัดระบบกันมาเฝ้า 4-5 คน ผู้ชายนอนศาลา ผู้หญิงนอนข้างในกัน ทำยังไงได้ล่ะ เราพึ่งกฎหมายไม่ได้


(แล้วแกนนำหลักๆ ทำมาหากินยังไง) พวกพี่ก็ทำไร่สับปะรด ไร่ว่านหางจรเข้กันธรรมดา กลางคืนค่อยมา แล้วแต่ว่าเวรใคร ตอนนี้ไม่เครียดแล้วลูกเรียนจบแล้ว (กระรอกโดนขู่มานานหรือยัง) นานแล้ว เพราะกระรอกไม่ปล่อย เรื่องคดีนี่ก็ตามตลอด ถ้ากระรอกไม่ตาม คดีมันก็คงจบนานแล้ว แต่ตอนนี้เราก็ไม่หวังอะไรแล้ว คนอื่นอาจคิดว่าโรงไฟฟ้าไปแล้ว เจริญตายไปแล้ว เรื่องเงียบแล้ว ภายนอกมันดูเงียบ แต่ภายในไม่เงียบหรอก ไม่เงียบ


ทำไมต้อง 'ปิดถนน'

เออ ข้ามไปอีกตอน ก่อนทักษิณจะลงมา สมัยชวนมีตอนที่ตำรวจตีชาวบ้านที่ปิดถนนแล้วเป็นข่าวใหญ่ จำได้มั้ย (จำได้...) พี่เอาลูกคนโตมาด้วย เวลาตำรวจเข้าตี มันเห็นมันก็วิ่งหนีเข้าไปในวัด พี่นี่โดนลากกางเกงขาดหมดเลย ชาวบ้านซักสองพันได้มั้ง


(ทำไมตัดสินใจปิดถนน) เราไปยื่นหนังสือกรุงเทพฯ เราบอกว่ามากี่ทีก็ไม่มาพบเรา งั้นเราไปรอที่ศาลากลางจังหวัดประจวบ ชุมนุมที่นั่นวันกะอีกคืนนึง ไม่มีใครมา เราแค่เรียกร้องให้เขาลงมาพูดกัน ให้คนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ได้ลงมาคุยกับเราว่าจะเอายังไงเรื่องโรงไฟฟ้า ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจค้างศาลากลาง แต่ไม่มา เราเลยนอนนั่นเลย เอามีดไปหั่นผักหั่นหมู ทำกับข้าวกิน เขาก็ยึดหาว่าเป็นอาวุธ มีแกล้งตัดน้ำตัดไฟ เราก็เริ่มเกิดอารมณ์แล้ว ตกบ่ายเราเลยเคลื่อนจากศาลากลางมาที่สี่แยกบ่อนอก ไปต่อไม่ไหว ก็เลยตั้งเต็นท์ ตอนแรกตั้งข้างเดียว โอ๊ย ไม่พอนั่งเว้ย ตั้งมันหมดนี่แหละ เดี๋ยวมันจะได้ลงมาไว กูก็เปิดไว ชาวบ้านมีมติอย่างงั้น


เขาก็บอกเดี๋ยวจะมาแล้วนะ เปิดถนนก่อน ชาวบ้านก็ว่า โอ๊ย จะมาแล้วจะเปิดทำไมเล่า มึงมาก่อนเด๋วกูเปิดให้ พอโพล้เพล้ วันนั้นหนาวมาก กลางวันร้อน กลางคืนหนาว ทรมานมากเลย นั่งคุดคู้ เราก็ทั้งโกรธ ทั้งโมโหแล้ว นั่งกันกลางถนน คอมมานโดก็มา ตั้งแถวทางทิศใต้ก่อน มีผู้หญิงบ้านกรูดอยู่เยอะ เราก็หลีกเลี่ยงการปะทะที่สุด ผู้ชายอยู่หน้าจะเกิดความรุนแรงได้ พี่ก็นั่งกับเด็กๆ รุ่นๆ แล้วก็คนแก่ๆ มั่ง มันก็ตั้งแถวเดินตบเท้าเข้ามา เด็กก็ถาม ป้ามันจะตีหนูมั้ยเนี่ย มีกระบองมีโล่ด้วย เราก็บอกไม่ตีหรอกลูก แค่ขู่อย่ากลัว


พอมาถึงมันดัน เราไม่ลุกๆ มันจับลาก กางเกงหัวเข่าขาดหมด พอลุยเข้ามาประมาณ 3-4 คน มันตีหมด ตีป้าบุญมีหัวแตก เลือดอาบคนนึง เย็บตั้งเกือบ 20 เข็ม โอ้โห ตีไม่ได้มองเลย ตีสลบเลยก็มี เด็กผู้ชายรุ่นๆ แล้วมันก็เรียกรถสิบล้อเข้ามาเลย รื้อเต็นท์โครมครามๆ ลุยเลย มีคนวิ่งไปลากเด็กคนนั้นหลบรถอีก ชาวบ้านก็โกรธแค้นมาก กินข้าวกันอยู่ตอนนั้น จานข้าวมั่ง กระบวยตักข้าวมั่ง คว้าอะไรได้เขวี้ยงใส่ตำรวจ เป็นอาวุธไปเลย แล้วก็ควบตำรวจ ตำรวจก็วิ่งหนีไป ชาวบ้านก็วิ่งกวดอีกด้วยความแค้น ทีนี้มันยิงปืน คนเลยชะงัก


ชาวบ้านที่ยังอยู่ในหมู่บ้านพอรู้ข่าวว่าตำรวจตีญาติเขา บางบ้านออกมาหมดบ้านเลย คนเลยเยอะมาก จากวันนั้นเห็นเลยว่า คนเขาแสดงน้ำใจกับเรา ส่งเสบียงให้พวกเรา หายเหนื่อยเลย ได้ข่าวไหมว่ามีการตีหัวผู้การด้วย พอดีตอนนั้นพี่นั่งหลับ หลับไม่รู้เรื่องเลย เสียดาย สุดท้ายมันจบที่พินิจ จารุสมบัติ ลงมา เขาบอกว่าถ้าผมยังอยู่ในตำแหน่งผมไม่ให้สร้าง ด้วยความอ่อนหัด เราก็ดีใจ เปิดถนน เรียกรัฐมนตรีกินข้าว เก็บกวาดถนนกันใหญ่ พอกลับไป สนั่น ขจรประศาสน์ ออกมาพูดเลยว่าเป็นการตัดสินใจของพินิจคนเดียว ครม.ไม่ได้ตัดสินใจ เอาอีกแล้ว นี่แหละบทเรียนเรา


(ถึงวันนี้เหนื่อยมั้ย จะได้เลิกมั้ย) เลิกไม่ได้หรอก ถ้ารัฐบาลยังหิวกระหายอยู่อย่างนี้ ถ้าเลิกก็เท่ากับจบชีวิตของพวกเราเลย คงเป็นแบบระยอง เราไปดูพื้นที่มาแล้ว ทะเลล่มสลาย ภาคเกษตรก็ล่มเหมือนกัน เขาบอกสับปะรดระยองเป็นโรคเอ๋อ ถามว่ามันเป็นเอ๋อได้ไง เขาว่ามันรับสารพิษเยอะ พอออกลูกแล้วตามันก็ไม่ลืม ตามันหยีๆ เหมือนเป็นโรคเอ๋อ ไม่โต ชาวบ้านเขายังบอกว่าไม่ให้เอาสับปะรดระยองมาปลูกแถวนี้นะ มันเป็นโรคเอ๋อเดี๋ยวมันติดกัน เราก็ว่าจะบ้าเหรอ มันไม่ใช่โรคติดต่อ มันเป็นแล้วแต่พื้นที่ นี่ลองเอามาปลูกดู กำลังจะออกลูกแล้วจะดูซิว่ามันจะเอ๋อหรือไม่เอ๋อ

 

 









เก็บ






ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร - แกนนำคนหนึ่งในกลุ่มฯ



ตอนนั้นยังอยู่ที่หัวหิน ตอนปี 38 ที่เขาเริ่มคัดค้านกันเราก็มาร่วมบ้าง และปี 41 ที่เขาปิดถนนเราก็มาร่วมด้วย และโดนตีที่กลางถนน หลังจากนั้นก็เลยเข้ามาร่วมเต็มตัว เผอิญกลับมาเปิดร้านค้าที่บ้านด้วย


เห็นพัฒนาการของกลุ่มไหม?

พวกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นบทเรียนให้ที่อื่น เราก็สู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติของเรา และเห็นว่าความเป็นธรรมมันไม่มีสำหรับพวกเรา สู้เรื่อยมาจนถึงเจริญ เสียชีวิต และจนทุกวันนี้ เราก็คงต้องสู้เรื่อยๆ เพราะแม้โรงไฟฟ้าจบไป แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เามากมายที่จะมาทำลายวิถีชีวิตเรา เราก็ต้องร่วมกับพื้นที่อื่นๆ แต่ชาวบ้านที่อื่นเขาอาจได้ใช้ประสบการณ์เราได้บ้าง


เมื่อก่อนเราไม่รู้เรื่องเลย เรื่องสิทธิชุมชน เราไม่เคยคิดว่ามันมีสิทธิเราลุกขึ้นมาต่อสู้ ปกป้องได้ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่า ดิน ฟ้า อากาศ ท้องทะเล ในบ้านเราเป็นสิ่งที่เราลุกขึ้นมาปกป้องได้ ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐมาชี้ว่าตรงนี้จะเป็นอะไร จะเอาอะไร แม้ว่าการปกป้องเรา บางทีก็ต้องต่อสู้นอกกรอบ เพราะต่อสู้ตามกฎหมาย ยื่นหนังสือไม่มีใครฟัง รัฐบาลก็อยู่ข้างนายทุนตลอด ต้องมีการรวมตัวกันไปหน้าทำเนียบฯ มีการปิดถนน ถามว่าเราอยากทำไหม ไม่อยากทำ แต่บังคับให้เราทำ เพราะนโยบายรัฐไม่เปลี่ยน และหลังจากเจริญเสียชีวิตแล้วก็ทำให้ชาวบ้านตื่นรู้ ตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อื่นๆ ก็อาจดูแบบจากบ่อนอก เช่น แม่รำพึง ทับสะแก หรืออย่างกลุ่มต้านเมืองโปรแตช ที่อุดรฯ กลุ่มค้านท่อก๊าซจะนะ เราก็เคยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้


คิดยังไงกับชะตากรรมของกลุ่มหรือตัวเองต่อจากนี้ ?

ทุกวันนี้อะไรจะเกิดกับชีวิตก็เกิด เราไม่คิดแล้วว่าจะไปร่ำรวยเหมือนคนอื่น เราคงไม่มีโอกาสแล้ว เมื่อการพัฒนาของประเทศไม่ปรับเปลี่ยน เอาแต่นักลงทุนจากต่างชาติ อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่บ้านเราประจวบติดทะเลก็เป็นที่หมายปองมาก ชีวิตเราก็คงต้องต่อสู้แบบนี้ตลอดไป


ท้อไหมเหนื่อยไหมก็มีเป็นบางครั้ง แต่เราไม่ถอย เราก็ต้องเริ่มจากตัวเราที่ต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ เป็นหน้าที่เราแล้วถึงทุกวันนี้ เห็นเพื่อนคัดค้านกันเย้วๆ เราจะไปถากหญ้าในไร่โดยไม่สนใจอะไรแล้ว ก็คงไม่ได้

ถามว่ามันย้ายไปจบไหม มันก็จบ ความบาดหมางส่วนหนึ่งก็กลับมาดีกันได้ แต่ตัวแกนหลักๆ ยังคงไม่พูดกัน บาดหมางกันเพราะมีคดีเจริญด้วย ยังไงก็ตาม ที่ดินที่เขาซื้อไว้มันยังอยู่ ถ้าโครงการเวสเทิร์นซีบอร์ด เกิดโรงไฟฟ้าก็คงกลับมา ชาวบ้านก็รู้เรื่องแผนพัฒนานี้ หรือเรื่องโรงถลุงเหล็ก อะไรก็ตาม ตอนนี้ก็ผนึกกันเป็น 6 พันธมิตรแล้ว จากที่เคยมีแค่บ่อนอก บ้านกรูด ตอนนี้มีแม่รำพึง ทับสะแก หนองหญ้าปล้อง ที่คัดค้านเรื่องบ่อขยะ กุยบุรี สามร้อยยอด


เมื่อมีเหตุการณ์สูญเสียเจริญ บรรยากาศของขบวนชาวบ้านเป็นยังไง?

ตอนที่เจริญเสียชีวิต ชาวบ้านทุกคนก็เสียใจ เพราะเจริญเป็นที่รักของชาวบ้าน เป็นแกนนำคนสำคัญ เสียขวัญไหม ก็มีเสียขวัญเหมือนกัน แต่การเสียกำลังใจมันเกิดพลังขึ้นมาเหมือนโดนรังแกซ้ำ ชาวบ้านมารวมตัวกันเยอะในการแห่ศพไปกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อกระรอกลุกขึ้นสู้ จากที่เคยอยู่แต่เบื้องหลัง ไม่เคยขึ้นรถไฮปาก ไม่เคยให้สัมภาษณ์ พอเจริญตาย กระรอกลุกขึ้นมาทำหน้าที่มุ่งมั่น กล้าหาญ มันก็ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาสู้ใหม่ แต่ถามว่าคนที่หยุดไปมีไหม ก็มี แต่ไม่เยอะ


ทำไมเจริญถึงเป็นที่รักของที่นี่ ?

เพราะเขาไม่ได้ทำเรื่องส่วนตัว เขาทำเรื่องส่วนรวม เจริญถูกหมายปองเอาชีวิต ใครๆ ก็รู้ แต่เจริญก็ไม่เลิก เอาคดีมาจัดการกับเจริญเยอะมาก เจริญก็ไม่หยุด เอาเงินมาให้เจริญก็ไม่เอา มีนายตำรวจใหญ่มาติดต่อ 20 ล้านให้เลิกค้านก็ไม่รับ พอโรงไฟฟ้าจบ มีเรื่องที่สาธารณะก็เข้าไปช่วยทำ เขาก็รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็ไปทำ แม้แต่วินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ไปเพื่อเรื่องส่วนรวม และสิ่งที่เจริญทำในการเป็นแกนนำ เขาก็ทำงานจริงจัง ไม่ย่อท้อ ไม่กลัวอะไร มีความเด็ดเดี่ยว แม้ว่าจะอายุน้อย แต่น้าๆ ป้าๆ ก็รักและให้การนับถือ


ในทางส่วนตัวเขาก็เป็นคนน่ารัก ร่าเริง ไม่ถือตัว พูดเล่นพูดหัว เวลาทำงานก็จริงจัง และรักเพื่อน คอยดูแลเพื่อนๆ ตลอด ไม่เฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้า การเจ็บป่วย ใครเป็นอะไรบอกเจริญ เขาจะไปยืมรถที่วัดพาไปหาหมอ


เรื่องมันเยอะมาก จัดการกันยังไง มีเวลาทำงานหรือ ?

ผมตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันนี้ก็ได้ทำงานส่วนตัว 2 วัน เพราะต้องเตรียมเรื่องนักข่าวลงพื้นที่ ทำรายการวิทยุชุมชนด้วย ถึงตรงนี้แล้ว ส่วนรวมกลายเป็นหลัก ส่วนตัวมันน้อย บางครั้งก็ได้กระรอก และเพื่อนๆ ช่วยเหลือกัน ฐานะมันก็ลำบากขึ้น จากเมื่อก่อนทำไร่ ตอนนี้ก็มีอาชีพรับจ้าง เพราะพอดีครอบครัวก็เลิกกันด้วย ไม่เข้าใจกัน แต่นี่ก็เป็นครอบครัวเราครอบครัวเดียว แต่เราก็ไม่ท้อ เพราะเป็นงานที่เราชอบ มีความสุข เราตายวันนี้พรุ่งนี้ไม่เสียดายชีวิตแล้ว เจริญเขายิ่งกว่าเราอีก


แกนนำหลักจริงๆ เวลาประชุมร่วมกันกำหนดทิศทางมีกี่คน ?

ประมาณ 20 คน ถ้าวงใหญ่ออกไปหน่อยก็ 40-50 คน แล้วเราก็ใช้วิทยุชุมชนในการบอกต่อ และยังต้องไปจัดประชุมในพื้นที่หมู่บ้านให้ชาวบ้านเข้าใจ เวลาจะเคลื่อนไหวอะไร เมื่อไร อย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร อย่างตอนนี้บ่อนอกไม่มีประเด็นในพื้นที่ก็วิ่งไปช่วยทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่เขาแดง อ.กุยบุรี เพราะมีแผนจะตั้งโครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทนิปปอน สตีล เราได้ประสบการณ์จากโรงไฟฟ้าที่ค้านหลังจากผ่าน ครม.มาแล้ว ซึ่งยากลำบาก แต่เราจะค้านตั้งแต่แผนพัฒนาว่าเราะไม่เอาแบบนี้ ของกรณีบ่อนอกตอนซื้อที่สร้างโรงไฟฟ้าเขาไม่ได้บอกตรงๆ ช่วงปี 2532-36 สนั่น ขจรประศาสน์ ค่อยๆ มาซื้อที่รวมไว้ 800 กว่าไร่บอกจะสร้างสนามกอล์ฟ รีสอร์ท จนมาเปิดเผยว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก บ้านกรูด ทับสะแกด้วยก็ช่วงปี 38 เห็นจะได้ ชาวบ้านก็เริ่มคัดค้านกันตั้งแต่ตอนนั้น


คนที่นี่ประกอบอาชีพอะไร แล้วอยากให้พัฒนาไปแบบไหน ?

ในจังหวัดประจวบฯ มีอาชีพหลากหลาย ประมงชายฝั่ง ทำไร่สับปะรด เลี้ยงวัวนม ทำสวนผลไม้ ค้าขาย เป็นจังหวัดที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วนะ ผมว่า มีทั้งทะเล ทั้งภูเขา หน้าหนาวก็ไม่หนาวจัด หน้าร้อนก็ไม่ร้อนมาก จริงๆ มันทั้งประเทศ ในโลกนี้ด้วย มันไม่ค่อยมีแล้วแหล่งอาหาร มันเป็นอุตสาหกรรมไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็น่าจะพัฒนาไปในทางอื่นบ้าง พัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร จริงๆ แล้วคนพื้นที่รวยนะ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร มีกินมีใช้ อุดมสมบูรณ์ สุขภาพก็ดี แต่นักลงทุนเขาอาจจะไม่รวย ไอ้คำว่าพวกเราขัดขวางการพัฒนา จริงๆ เราไม่ได้ขัดขวาง แต่เราต้องการให้มันถูกทิศถูกทางและยั่งยืน ชาวบ้านเขาก็ต้องการการพัฒนาประมงชายฝั่งนะ มีองค์ความรู้อะไรควรมาเผยแพร่ อบรม รัฐน่าจะช่วยส่งเสริมในสิ่งที่เขาทำอยู่ หรือแม้แต่อาชีพเกษตรที่เขาทำอยู่ก็ตาม อย่างเทรนด์ของอาหารปลอดสารพิษ มีตลาดที่ดี ทำไมรัฐไม่ช่วยหนุน ช่วยขยาย หรือแม้แต่การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยงเชิงนิเวศ มีทางไปได้อีกมากมายนัก




ตก






สำราญ วัดอักษร - พี่ชายเจริญ



เจริญมีพี่น้อง 8 คน ตอนนี้เหลือ 5 คน เจริญเป็นคนสุดท้อง


บ้านผมจะเป็นอย่างนี้ อิสระเรื่องความคิดกัน ใครอยากทำอะไรก็ทำ พี่น้องก็แบบนี้ ส่วนมากจะไปมุมเดียวกันมากกว่า เจริญเรียนอยู่ประจวบได้ประมาณป.6 แล้วย้ายมาอยู่ที่บ่อนอก อยู่กับหลวงพี่ วัดบ่อนอก เมื่อก่อนแม่กับพ่อทำกิจการมีแผงขายปลา และส่งเข้ากรุงเทพฯ ด้วย พอแม่เสียพ่อก็ไม่ได้ทำแล้ว


เจริญอ่อนกว่าผมปีหนึ่ง ก็เรียนมาด้วยกัน ไล่ๆ กัน เรียนไม่จบดี ก็มาต่อกศน. จบ ม.6 แล้วตอนที่ถูกยิงนั้นกำลังเรียนราชภัฏเพชรบุรี ภาคสมทบ เรียนได้เทอมเดียว


เมื่อก่อนกระรอกเองอยู่แต่ในครัว ก่อนมาทำงานตรงนี้ก็เลี้ยงไก่อยู่ในไร่ มีแผงรับซื้อสับปะรด ก็พออยู่ได้


ผมย้ายไปอยู่เชียงใหม่ แต่มีประท้วงก็มาร่วมด้วย ตอนปิดถนนก็ลงมา แต่พอเจริญตาย ผมก็ย้ายมาอยู่นี่เลย


ได้เรียนรู้อะไรบ้างกับหลายปีที่ผ่านมา ?

ขบวนการชาวบ้านได้เรียนรู้เยอะ อย่างกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย เดี๋ยวนี้เข้าใจมันมากขึ้น แล้วก็ได้เรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ระยอง แม่เมาะ ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองเลย ไม่ว่าเจริญจะอยู่หรือไม่ ขบวนก็ไม่ได้หยุด คราวที่แล้วก็ไปเนินมะปราง จ.พิษณุโลก เรื่องพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำต่อต้านโรงโม่หินที่ถูกยิงตาย พื้นที่เหมืองโปรแตช เราก็ไป ปากมูล ราศีไศล ไปหมด เราก็จะถามชาวบ้านที่สมัครใจไป แล้วก็ต้องออกตังค์เอง ตอนไประยองก็ไปกัน 3-4 คันรถบัส ไปฝาง เรื่องหลวงพี่สุพจน์ ก็ไป ทางใต้ก็ไปพื้นที่ที่มีปัญหา จะนะ พังงา ภูเก็ต ทางนั้นเขาเชิญมา แล้วเราก็ชวนๆ กันไป


การต่อสู้เของคนแต่ละพื้นที่ เป็นยังไงบ้าง ?

หลังเจริญตายกิจกรรมพวกนี้จะเยอะขึ้น คนเขาสนใจอยากแลกเปลี่ยน เพราะแม้แกนนำโดนฆ่าแล้วขบวนชาวบ้านก็ไม่ถอย หลายพื้นที่ก็ลงมาคุยแลกเปลี่ยนกับเราในพื้นที่ การต่อสู้แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยังยึดติดอยู่กับผู้นำเอ็นจีโอ ก็ผิดกับเราที่เอ็นจีโอต้องเป็นผู้ช่วยเราเฉยๆ ในบางด้าน ชี้นำไม่ได้ หรือเรื่องการเสียสละ บางพื้นที่ใส่ทองกันเส้นเท่านิ้วก้อยแต่พอจะลงพื้นที่แลกเปลี่ยนบอกไม่มีเงิน มันผิดกับบ้านเรา เราควักกันหมดเพราะเห็นความสำคัญ แล้วสู้จริง เรื่องของเราจะให้ใครมาช่วย คนไม่มีเงินก็ลงแรง คนมีเงินก็ลงเงิน มันช่วยกันได้หลายแบบ


อย่างที่นี่ทุกคนมันช่วยกัน กระรอกคนเดียวก็ไปไม่ได้ พี่น้องที่รวมกันอยู่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของกันและกัน และหลายๆ คนก็ผูกพันกับเจริญด้วย


ชาวบ้านเสียกำลังใจไหม ตอนเสียเจริญ?

ก่อนเจริญจะเสียเขาก็พูดไว้ก่อนเองแล้วว่า สู้แบบนี้ไม่ตายก็ติดคุก เขารู้ชะตา และทุกคนในขบวนก็รู้ แล้วก็เป็นจริงอย่างที่เจริญว่าว่าเขาตาย ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด มันเป็นอย่างนั้นจริง ตอนนี้มันดำดิ่งลงไปก้นเหวลึกเลย


ถ้าเจริญยังอยู่ คิดว่าจะเป็นยังไง?

ก็คงได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ ชาวบ้านส่วนที่ท้อไปก็คงมีกำลังใจดีอยู่ ตอนเขาอยู่เขาก็มีความคิดริเริ่มในหลายๆ อย่างของชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมันชุมชน วิทยุชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแปรรูปเกษตร พวกนี้เริ่มสมัยเจริญแล้วก็ยังดำเนินการอยู่จนปัจจุบัน โดยเฉพาะวิทยุชุมชน เจริญบอกว่าสื่อส่วนกลางบางทีเขาก็ไม่ออกให้ หรือออกก็ออกให้น้อย ถ้ามีวิทยุชุมชนเราเอง เราก็ยังได้บอกเรื่องราวกับพี่น้องเราได้ ส่วนกลางไม่รู้ไม่เป็นไร ให้พี่น้องเราได้รู้ก็ยังดี


วิทยุเราคือคลื่น 103.75 เมกะเฮิร์ต วิทยุชุมชนเริ่มตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 44-45 คนที่ไปจัดรายการก็เป็นอาสาสมัครทั้งนั้น มีตั้งแต่รุ่นใหญ่จนถึงรุ่นจิ๋ว ไม่ได้รับโฆษณา แต่ถ้ามีงานศพ งานบวชอะไรก็ประกาศให้ ก็ช่วยได้เยอะ เพราะนี่เป็นวิทยุเชิงประเด็น เราเน้นเรื่องการรักษาทรัพยากร ตรวจสอบโครงการพัฒนาต่างๆ เราก็จัดกันทุกวัน ผลัดๆ กัน ในกลุ่ม คนจัดก็ต้องควักกะตังด้วยนะ ค่าโทรศัพท์ หรืออย่างเครื่องส่ง ถ้าเสียก็ทอดผ้าป่า หาเงินซื้อ


ตอนนี้เริ่มพยายามทำระบบไฟฟ้าจากพลังงานลม เพิ่งเริ่มวันนี้ (25 ..51) จะทดลองใช้ไฟกับคอมพิวเตอร์ มิกซ์ และพัดลม เรื่องพวกนี้พี่น้อย เป็นคนค่อยๆ ศึกษาแล้วก็ทำ แกผูกพันกับเจริญ และรับแนวความคิดเรื่องพลังงานสะอาดมาเยอะ ที่ผ่านมาขบวนการก็มีการสร้างคนมาเยอะ ตอนนี้เราก็ได้คณะทำงานที่เข้มแข็ง


ตอนนี้ที่แม่รำพึงก็กำลังจะตั้งสถานี เขาพร้อมแล้ว เราก็ยินดีช่วยสนับสนุน ทุกอย่างที่พอช่วยได้ แต่อย่าไปอยากแทนเขา แต่ต้องให้ชุมชนเขาอยากได้มันเอง


ผมว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว คนเรามันเกิดมาถ้าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้สังคมเลย มันก็เสียดายเวลาที่เกิดมาเป็นคน อย่างที่เจริญพูดแหละ อย่างน้อยเจริญก็ยังทำให้หลายคนเอาคำของเขามาคิด


วันนี้ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเอง ถ้าไม่ลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีใครสู้แทนท่านได้










ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท