นักข่าวพลเมืองรายงาน: เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ วอน "จุรินทร์" ฟื้นฟูชุมชน

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จัดงานรำลึก 4 ปี คลื่นสึนามิ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตตามพิธีกรรมของ 3 ศาสนาหลัก ณ บริเวณอนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม มีญาติผู้เสียชีวิตชาวบ้านน้ำเค็ม นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะเดินทางเข้าร่วมงานดังกล่าว

           

ในโอกาสนี้เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังประสบอยู่ได้แก่ เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน หลังภัยพิบัติสึนามิเกิดกรณีการไล่ที่ของชุมชนที่อาศัยอยู่มานาน และมีชุมชนที่ร้องเรียนให้มีการแก้ปัญหาจำนวน 122 ชุมชน มีชาวบ้านถูกฟ้องขับไล่และต้องขึ้นศาลถึง 2,260 ครอบครัว   ประมาณการว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปศาลไม่ต่ำกว่า 22.5 ล้านบาท ในขณะที่อนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่อันดามันแก้ปัญหาไปได้เพียง 13 ชุมชน

 

กรณีกลุ่มคนชาวเล (ทั้งเผ่ามอแกนและอูรัคลาโวย) มีจำนวนประชากรประมาณ 10,000 คน กระจายใน 30 ชุมชน ซึ่งกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 20 ชุมชน และบางกลุ่มไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ การทำมาหากินยากลำบากขึ้นเพราะเรือประมงขนาดใหญ่ทำลายเครื่องมือประมง และการห้ามเข้าไปหากินในพื้นที่ หน้าโรงแรมหรืออุทยาน ทั้งที่เคยทำกินมาแต่ดั้งเดิม

 

เรื่องกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ไร้สัญชาติ ซึ่งอพยพกลับมาอาศัยในประเทศไทยนานกว่า 20-50 ปี บุตรของคนเหล่านี้ไม่สามารถแจ้งเกิด เพื่อขอสัญชาติไทยได้ ส่งผลให้ไม้ได้รับสิทธิความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ ประมาณการว่ามีคนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 20,000 คน ในจังหวัด ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร มีทั้งนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ในขณะที่นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจน

 

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาประกอบด้วย รัฐบาลควรตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่อันดามัน ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยให้ผู้แทนองค์กรชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ตั้งอนุกรรมการศึกษาการแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตชุมชนชาวเล 30 แห่ง ในพื้นที่อันดามัน เพื่อหาแนวทางประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษทางวัฒนธรรมของชาวเล รวมทั้งสนับสนุนกองทุนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

 

ตั้งอนุกรรมการศึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น: คนไร้สัญชาติ ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ซึ่งมีประมาณ 20,000 คน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในระหว่างการแก้ปัญหา

 

สนับสนุนงบประมาณให้เครือข่ายองค์กรชุมชน เป็นแกนหลัก ในการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน การจัดสวัสดิการ ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรม ในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน

 

สนับสนุนกองทุนแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนของชาวบ้านที่ถูกไล่ที่ดิน และต้องขึ้นศาล

 

และมีนโยบายประสานความร่วมมือ กับ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานกับชุมชนและกระตุ้นให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดในการแก้ปัญหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท