Skip to main content
sharethis


โดย http://www.siamintelligence.com/


ไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หากมีการคัดเลือกให้นักวิชาการที่ชื่อ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้รับตำแหน่งปัญญาชนสาธารณะแห่งปี แม้ว่าจะไม่ได้ออกโทรทัศน์บ่อยๆ หรือให้สัมภาษณ์สื่อบ่อยครั้ง แถลงการณ์ก็ออกมาเมื่อจำเป็น แต่หากถามถึงบุคคลที่ควรต้องรับฟังทัศนะ หลายคนจะชี้ไปยัง อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม แต่อาจารย์วรเจตน์และเพื่อนๆ อาจารย์อีกสามคน (อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร และ อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล) ก็เป็นคนกลุ่มๆ แรกที่ออกมาออกมา แสดงความเห็นคัดค้านการทำรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้วอย่างเปิดเผย ซึ่งตรงข้ามทัศนะของคนส่วนใหญ่ในสังคมขณะนั้นที่ต้องการยุติสิ่งที่เขามองว่าเป็นปัญหาในสังคมให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด และในเวลาต่อมาการทำรัฐประหารที่ว่านั้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น


แม้จะดูเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ด้วยการแสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา แฝงหลักวิชาการ และอิงอยู่กับความเป็นธรรมของคนในสังคม จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยยังคอยฟังทัศนะของอาจารย์วรเจตน์อยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็ตรงกับความเชื่อของเขา


"ผมมองว่าการแถลงการณ์หลังๆ มีลักษณะแฟชั่นของหมู่คนซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย คือดูว่าใครรวบรวมรายชื่อได้มากได้น้อย แต่เนื้อหาของบางแถลงการณ์นั้นก็ดีมาก แต่ไม่ใช่ว่าทุกแถลงการณ์จะเป็นอย่างนี้ บางแถลงการณ์มีการรวบรวมรายชื่อจำนวนมาก แต่เนื้อหาไม่ได้มีสาระอะไร ไม่ได้บอกอะไรกับสังคม หรือไม่ได้มีความเป็นธรรมกับคนในสังคมอย่างเพียงพอ


มีคนถามเยอะว่าทำไมออกแถลงการณ์ถึงมีเพียง 5 คน


คำตอบคือ เวลาที่เราออกแถลงการณ์ เราก็รับผิดชอบต่อคนอ่าน ต่อสังคม แถลงการณ์เมื่อออกไปแล้วก็เป็นของที่คนจะนำไปอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แต่ในหมู่พวกเราเองก็จะมีคุยกัน อ่านกัน ถกเถียงกัน ถึงจะออกไปได้


ผมไม่ชอบในแง่การล่ารายชื่อ ช่วยๆ กันเซ็นต์ มีคนร่าง มีโต้โผอยู่คนหนึ่ง มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่งในการร่างแถลงการณ์ พอได้เสร็จก็เขียนแล้วก็ขอๆ กัน ผมรู้สึกว่าตัวปริมาณในแถลงการณ์ไม่เป็นสาระสำคัญ ผมและเพื่อนๆ อาจารย์อีก 4 คน พยายามแสดงให้สังคมเห็นว่าอย่าไปสนใจที่ปริมาณ เราสนใจพลังของเหตุผลที่อยู่ในแถลงการณ์ ถ้าแถลงการณ์เรามีเหตุผล ก็คือมีเหตุผล ถ้ามันไม่มีก็คือมันไม่มี แถลงการณ์จำนวนนับร้อยคน ก็ไม่ได้ช่วยให้มีเหตุผลมากขึ้นไปกว่าแถลงการณ์ที่มีคน 5 คน


เรารู้ใจกัน 5 คนว่าแถลงการณ์อย่างนี้ เราอยากจะบอกอะไรกับสังคม และผมก็พูดแทนเพื่อนๆ อีก 4 คนด้วยว่าเราบริสุทธิ์ใจ ทุกครั้งที่ทำแถลงการณ์ ก็มีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่าอย่างนี้เราจะต้องทำอะไรบางอย่าง มีคนฟังเราอยู่บ้างเหมือนกัน มีคนอยากรู้ว่าพวกเราคิดในเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะทำ


ปกติถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าแถลงการณ์ที่กลุ่มเราทำไป จะเป็นประเด็นในทางกฎหมาย เพราะเราเป็นนักนิติศาสตร์ บังเอิญว่ามันเป็นประเด็นในทางกฎหมายมหาชน มันก็เลยมีผลกระทบในเชิงการเมืองอยู่บ้าง มีแถลงการณ์น้อยฉบับมาก ที่เป็นแถลงการณ์ที่ประกาศจุดยืนหรืออุดมการณ์ในทางการเมือง ที่ชัดๆ ก็เช่นการประณามรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 หรือการประกาศจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม ประณามการยึดสนามบินและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของการชุมนุม เหล่านี้จะเป็นโทนที่เป็นจุดยืนทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ปกติเราจะไม่ทำ แต่ฉบับอื่นจะเป็นไปในเชิงกฎหมาย แถลงการณ์บางฉบับจะมีเนื้อความที่เป็นคำอธิบาย บางส่วนจะมีทฤษฎีอยู่ในนั้นด้วย


เราไม่เคยทำแถลงการณ์โดยไปเขียนในเรื่องอื่นที่เราไม่มีความรู้ หรือไปเขียนในเรื่องทางการเมือง หรือทางสังคมอื่นๆ เลย เราก็พยายามทำให้เห็นว่า ใครที่เชี่ยวชาญในด้านไหน ให้ใช้ความรู้ของเขาบอกกับสังคม ว่าในมุมมองของเขา ในมุมของวิชาการของเขาคิดอย่างไร


มีอาจารย์คนอื่นให้กำลังใจ และถ้าต้องการให้ลงชื่อก็ยินดี ซึ่งเราก็ไม่ได้รังเกียจอะไร แต่ปกติแถลงการณ์จะมีการยกร่างและแก้ไขกัน แต่อย่างแถลงการณ์ฉบับล่าสุดก็ตี 1 ครึ่ง ก็ไม่มีเวลา และโดยสภาพของสถานการณ์จะทำไม่ได้ และเราไม่ได้ต้องการจะเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เราต้องการบอกประเด็นทางกฎหมายกับสังคมเท่านั้นเอง บังเอิญก็มีผู้สนใจติดตามทัศนะของพวกเรามากขึ้น ก็ถือเป็นเกียรติ และก็ยืนยันด้วยว่าจะอยู่ในหลักแบบนี้


หลักวิชาของเราเป็นอย่างไร เราก็พูดไปตามหลักวิชา ไม่มีบิดผันไปจากหลักวิชาที่เราได้ร่ำได้เรียนกันมา"


(จาก : Practical Utopia : สัมภาษณ์ รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์)


ผลสำรวจข้างล่างนี้ บอกเพียงว่าใครเป็นปัญญาชนที่สาธารณชนให้ความสนใจฟังความคิดเห็น ไม่ได้เป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าใครจะเป็นปัญญาชนสาธารณะแห่งปีหรือไม่ แต่กระนั้นก็น่าแปลกใจที่ความเห็นของสาธารณชน (ส่วนหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต) ก็สามารถยืนยันได้ถึง จุดยืนและท่าทีที่อาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติมาอย่างยาวนาน และเราหวังว่าสังคมไทยจะตัดสินปัญหาทางสังคม ได้ดุจเดียวกับการตัดสินปัญญาชนสาธารณะด้วยจุดยืนเช่นนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของปี และยุคสมัย



ทำไมเราถึงต้องฟังปัญญาชน
ถ้าเราสังเกตวิธีการให้เหตุผลของการถกเถียงประเด็นต่างๆ ทางการเมืองและทางสังคม จะเห็นว่าเรามักต้องฟังการแสดงทัศนะหรือการโต้แย้งของปัญญาชนผ่านข้อเขียน ผ่านบทสัมภาษณ์ และผ่านการแสดงความเห็นทางสื่อสาธารณะ เคยถามตัวเราเองหรือไม่ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักคิดมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี มีคำอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจนำ (Hagemony), อุดมการณ์ (Ideology) และ บทบาทของ ปัญญาชน (Intellectuals)


หนังสือเรื่อง "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ"  โดย ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ ได้อธิบายกรอบทฤษฎีอำนาจนำเอาไว้ว่า กระบวนการสถาปนาอำนาจนำสามารถทำโดยผ่านการครอบงำผ่านการยินยอม (consent) มากกว่าการบังคับ (coercion) อำนาจนำนี้หมายถึงการที่ชนชั้นนำได้รับฉันทามติจากกลุ่มต่างๆ ให้ครอบงำผู้อยู่ใต้การปกครอง โดยการทำให้ปัญญาชนในระบบเชื่อฟัง ทำให้มุมมองแบบชนชั้นปกครองแพร่กระจายสู่ปัญญาชนจนกลายเป็น "สามัญสำนึก" (common sense) ของสังคม


สามัญชนจะรับเอามุมมอง/สำนึกของชนชั้นปกครองมาเป็นของตนผ่านปัญญาชนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ภายใต้อำนาจนำนี้ยังมีความขัดแย้งในตัวมันเอง และเป็นพื้นที่สำหรับการต่อสู้เพื่อสถาปนาอำนาจนำระหว่างชนชั้นครอบงำกับชนชั้นใต้ปกครอง ปัญญาชนจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการต่อสู้เชิงอุดมการณ์นี้เพราะปัญญาชนจะเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการจัดตั้ง หรือบทบาทในทางอุดมการณ์-วัฒนธรรม ในสังคม เช่น พระ ครู ช่างเทคนิค และผู้จัดการในโรงงานอุตสาหกรรม ข้าราชการ นักสังคมสงเคราะห์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักข่าว เป็นต้น ปัญญาชนจึงมีฐานะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการสถาปนาอำนาจนำ โดยเชื่อมโยงบทบาทหน้าที่ของปัญญาชนเข้ากับศักยภาพที่มีมาแต่กำเนิดของมนุษย์ ในด้านความสามารถในการคิดและให้เหตุผล ผ่านการศึกษาและปฏิบัติการ


"คนทุกคนเป็นปัญญาชน แต่ไม่ใช่ทุกคนทีทำหน้าที่ของปัญญาชน"


ความนิยมของปัญญาชนสาธารณะ จากการสำรวจผ่านอินเทอร์เน็ต
SIU ได้มีโอกาสสำรวจ ทัศนะคติทางการเมืองของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง เราพบว่าต่อข้อถาม "นักวิชาการ หรือปัญญาชนสาธารณะ ที่แสดงความเห็นต่อสาธารณะได้ดีที่สุด" ซึ่งเป็นคำถามเปิด (ไม่ได้ระบุตัวเลือกใดๆ เอาไว้ โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามได้กรอกตามความเห็นของตนเอง) มีผลสำรวจออกมาว่า รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง (129 คะแนน) ตามมาด้วย รศ. ดร. สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (108 คะแนน) และอันดับสามคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี (69 คะแนน)


รายชื่อทั้งหมด (เรียงลำดับ) : วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สุขุม นวลสกุล, ประเวศ วะสี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล, สุเมธ ตันติเวชกุล, อานันท์ ปันยารชุน, เหวง โตจิราการ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, มล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล, พระพยอม กัลยาโณ, จาตุรนต์ ฉายแสง, จักรภพ เพ็ญแข, พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์, วีระ มุสิกพงศ์, ธีรยุทธ บุญมี, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, สนธิ ลิ้มทองกุล, ปณิธาน วัฒนายากร, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์


(หมายเหตุ : ยังมีรายชื่อนักวิชาการ - ปัญญาชนสาธารณะคนอื่น อยู่ในผลการสำรวจอีก แต่คะแนนไม่มากพอที่จะอยู่ในอันดับโหวตได้)


การกระจายตัวของข้อมูล



กระจายตัวตามภูมิลำเนาของกลุ่มตัวอย่าง


 


 


 



กระจายตัวตามเพศสภาพ


 


 



กระจายตัวตามสถานภาพการศึกษา


 


 



กระจายตัวตามอายุ


 


 



กระจายตัวตามการมีส่วนร่วมทางการเมือง


Methodology : การสำรวจความเห็นผ่านแบบสอบถามออนไลน์จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวน 4,279 ตัวอย่าง ผ่าน เว็บไซต์ขนาดใหญ่ เช่น twitter, blognone, ประชาไท และ kapook.com ตั้งแต่วันที่ พฤศจิกายน 2551 จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2551


SIU จะเปิดเผยข้อมูลอื่นที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องกับผลสำรวจนี้ต่อไปเร็วๆ นี้


 


........................
ที่มา: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปัญญาชนสาธารณะแห่งปี, http://www.siamintelligence.com/


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net