Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: การหาเสียงเลือกตั้งด้วยอินเตอร์เน็ต: กรณีศึกษาโอบามา และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.


 


 


อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์: Siam Intelligence Unit



ข้อความแสดงที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) บนป้ายหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป การนำเอาเทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยหาเสียงนั้นถูกใช้มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว และในยุคสมัยที่ บารัก โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ใช้แคมเปญออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง เราก็อาจมองได้ว่าการมีแค่เว็บไซต์เพียงอย่างเดียว อาจเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้ว


 


แคมเปญการหาเสียงออนไลน์ที่โดดเด่นที่สุดของนักการเมืองไทย อาจต้องย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งว่าที่ ส.ว. กรุงเทพมหานครในขณะนั้นคือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ได้ใช้วิธีการหาเสียงที่เรียกว่า viral video หรือการถ่ายทำวิดีโอหาเสียงสั้นๆ ของดารานักแสดงและคนดังในสังคมที่สนับสนุนรสนา แล้วนำวิดีโอเหล่านั้นอัพโหลดขึ้นไปยังเว็บไซต์วิดีโออย่าง YouTube ซึ่งมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ที่ได้ชมวิดีโอ (ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือจงใจ) "ส่งต่อและแนะนำ" วิดีโอเหล่านั้นไปให้เพื่อนและคนรู้จัก และหวังว่ามันจะกระจายไปในวงกว้าง


 


 



 


วิดีโอช่วยหาเสียงของปราบดา หยุ่น บนเว็บไซต์ FanRosana.com


 



การหาเสียงออนไลน์ของโอบามา


 


การหาเสียงด้วยวิธี viral video นั้นถูกพัฒนาขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการอบล่าสุด ผู้สมัครจำนวนมากต่างใช้วิดีโอออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ วิดีโอที่ดังที่สุดคือมิวสิควิดีโอเพลง "Yes We Can" (http://www.youtube.com/watch?v=jjXyqcx-mYY) แต่งโดย will.i.am ศิลปินเพลงฮิปฮอปผิวดำชื่อดัง (เป็นนักร้องนำของวง Black Eyed Peas) ความพิเศษของวิดีโอนี้คือการที่ will.i.am นำเอาวิดีโอการปราศัยต่างๆ ของบารัก โอบามา (โดยเฉพาะประโยค Yes, We Can) มาตัดต่อเข้าด้วยกันให้เป็นเพลง ทำให้มันมีสถานะเป็นทั้งเพลงที่มีความหมายในทางการเมือง และการปราศัยในรูปแบบเพลง นอกจากนั้นยังมีศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ ที่สนับสนุนโอบามาเข้ามาปรากฏตัวในวิดีโอด้วยเป็นจำนวนมาก ผลก็คือผู้ชมส่งต่อลิงก์ของวิดีโอนี้บน YouTube ไปให้เพื่อนๆ ได้ดู (เช่นเดียวกับการส่งต่อคลิปตลก หรือ มิวสิควิดีโอ) ทำให้คลิปนี้มีคนดูถึง 15 ล้านครั้ง (สถิติ ณ วันที่ 6 ม.ค. 2552) และยังไม่รวมการถูกเอ่ยถึงในสื่อกระแสหลัก อย่างทีวีและหนังสือพิมพ์อีกเป็นจำนวนมาก


 


 




มิวสิควิดีโอเพลง Yes We Can บน YouTube ซึ่งมีคนดังมาร่วมแจมมากมาย
เข้าชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=jjXyqcx-mYY


 


 


การใช้ social network อย่าง Hi5 และ Facebook ก็เป็นวิธีการหาเสียงยอดนิยมอีกวิธีหนึ่ง ข้อดีของ social network คือลักษณะของมันจะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการ "พูดคุยและสนทนา" ระหว่างเพื่อนๆ บนอินเทอร์เน็ตของเรา (ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงการคอมเมนต์กันไปกันมาใน Hi5 สิครับ) เราจะเห็นได้ว่า บน social network ของนักการเมือง จะมีทั้งคำสรรเสริญเยินยอ สนับสนุนและให้กำลังใจของผู้ที่ชื่นชอบนักการเมืองคนนั้น คำตำหนิและข้อความโจมตีจากฝ่ายที่มีรสนิยมทางการเมืองตรงข้าม และการตอบโต้ ชี้แจง แก้ข่าวกันไปมาตลอดเวลา ข้อความทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ ล้วนเป็น "การสนทนา" ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ยิ่งมีการสนทนาพูดถึงนักการเมืองมาก ก็แปลว่านักการเมืองคนนั้นเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายผู้ลงคะแนนมากนั่นเอง

ถ้าให้เปรียบเทียบเว็บไซต์ส่วนตัวของนักการเมือง ที่มีข้อมูลประวัติการทำงานและนโยบาย เปรียบเสมือนโบรชัวร์หรือป้ายหาเสียง ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวแล้ว การใช้ social network เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนทนา ก็จะมีลักษณะเหมือนการเดินพบปะชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งนักการเมืองจะเป็นที่จดจำมากกว่าการแจกโบรชัวร์หรือใช้ป้ายหาเสียงมาก แถมการใช้ social network ยังช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการหาเสียงลงพื้นที่ ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านเวลา สถานที่ และจำนวนกลุ่มเป้าหมาย มาเป็นการหาเสียงออนไลน์ที่เข้าถึงคนจำนวนมากจากต่างสถานที่ในเวลาเดียวกัน แถมยังมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับการลงพื้นที่จริง


 


 


หน้า


 


Facebook ของบารัก โอบามา
(เข้าได้จาก http://www.facebook.com/barackobama)


 


 



 


หน้า Facebook ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
(เข้าได้จาก http://www.facebook.com/pages/Abhisit-Vejajiva/17171146143)


 


 


การใช้ social network นั้นถือเป็น 1 ใน 2 กลยุทธ์การหาเสียงออนไลน์ที่สำคัญของบารัก โอบามา ถ้าเราดูใน Facebook ซึ่งเป็นเว็บไซต์ social network ยอดนิยมของคนอเมริกัน หน้าเว็บของโอบามานั้นมีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึงกว่า 3 ล้านคน (หน้าเว็บของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีประมาณ 4 พันคน - ข้อมูล 6 ม.ค. 2552) แต่โอบามาไปไกลกว่านั้น โดยการผสานคุณลักษณะของ social network เข้ากับเว็บไซต์ธรรมดา เมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ของโอบามาระหว่างการหาเสียง (http://www.barackobama.com) ในหน้าแรกของเว็บนั้นจะเป็นข้อมูลทั่วไปของโอบามา เช่น ประวัติชีวิต ประวัติการทำงาน และนโยบาย แต่ผู้ชมเว็บจะถูกเชิญชวนให้สมัคร social network ของผู้สนับสนุนโอบามา ซึ่งใช้ชื่อว่า My Obama (http://my.barackobama.com) ซึ่งจะมีเครื่องมือให้เราค้นหาผู้สนับสนุนโอบามาคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อชวนกันไปทำกิจกรรมหาเสียงออฟไลน์ในโลกจริงด้วยกันได้อีกด้วย


 


 



 


โลโก้เชิญชวนให้สมัครสมาชิก My.BarackObama.com บนเว็บไซต์ของโอบามา


 


 


นอกจากการใช้วิดีโอและ Social network แล้ว นักการเมืองสหรัฐอเมริกายังได้สรรหาเครื่องมือและเว็บไซต์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบอื่นๆ อีกมากมาใช้ในการหาเสียงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น


 



  • การใช้ SMS เพื่อแจ้งข่าว เช่น แจ้งเตือนผู้สนับสนุนในพื้นที่ที่จะไปปราศัย
  • Twitter เว็บสำหรับข้อความสั้นเพื่อบอกเพื่อนๆ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ (ตัวอย่าง Twitter ของโอบามา http://twitter.com/barackobama)
  • Flickr เว็บสำหรับฝากภาพถ่าย (โอบามานำรูปภาพของตัวเองระหว่างการหาเสียงไปเก็บไว้ เพื่อให้คนสามารถนำไปใช้ต่อได้สะดวก)
  • Moveon.com ต้นแบบของ My Obama แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักการเมืองคนใด Moveon เป็นเครื่องมือสำหรับค้นหาคนที่สนับสนุนนักการเมืองคนเดียวกัน และอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน
  • การโต้วาทีออนไลน์ โดยเปิดรับคำถามจากผู้ชมทางบ้านผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านบริการ Google Moderator (http://moderator.appspot.com/#16/e=ef)
  • นำเอกสารนโยบายทั้งหมดขึ้นเว็บสำหรับแชร์ไฟล์เอกสาร อย่างเช่น Scribd เพื่อเผยแพร่เอกสารเหล่านี้ออกไปในวงกว้างให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • การหาเดินขบวนหาเสียงในเกมออนไลน์ เช่น World of WarCraft และโลกเสมือนออนไลน์ เช่น Second Life

 



 


ไอคอนชี้ไปยังเครื่องมือหาเสียงออนไลน์นานาชนิดของโอบามา


 


 



 


ภาพการเดินขบวนหาเสียงให้กับ Ron Paul ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ในเกม World of WarCraft
(ภาพจากเว็บไซต์ Joystiq)


 


 


แคมเปญหาเสียงอันเล็กๆ แต่ผู้เขียนชอบที่สุด คือ บนเว็บไซต์ของโอบามานั้นจะมีภาพโลโก้และไอคอนจำนวนมากให้ผู้สนับสนุนดาวน์โหลดไปใช้แปะในเว็บไซต์ของตัวเอง หรือเอาขึ้นเป็นรูปภาพใน MSN ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ทีมงานโอบามานั้นสร้างโลโก้ของโอบามาพร้อมชื่อรัฐในอเมริกาครบทั้ง 50 รัฐ เรียกว่าพร้อมใช้ทันทีไม่ว่าจะมาจากรัฐไหน (คงคล้ายๆ กับป้าย คนจังหวัด.... สนับสนุน.... ตามที่เราเห็นในม็อบพันธมิตรหรือ นปช. นั่นเอง) 


 


 




ไอคอนชื่อรัฐต่างๆ ในสหรัฐพร้อมโลโก้ของโอบามา ในภาพเป็นรัฐ Arkansas แต่มีทุกรัฐ
(เข้าได้จาก http://www.barackobama.com/downloads/)


 


 


ย้อนกลับมาดูเมืองไทย




นักการเมืองรุ่นใหม่ของไทยหลายคนเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใหม่กว่าเว็บไซต์เข้ามาช่วยในการหาเสียงบ้างแล้ว นักการเมืองหลายคนมีบัญชี Facebook และ Hi5 ของตัวเอง (ซึ่งในที่นี้รวมถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) มาเป็นเวลานาน และในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครรอบล่าสุด (11 ม.ค. 2552) การใช้ social network ดูจะกลายเป็นมาตรฐานที่เหล่าผู้สมัครต้องมีไปเสียแล้ว


 




เว็บไซต์ของแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี (www.sam10.net)
ด้านขวามือจะเห็นโลโก้ลิงก์ไปยังหน้าบน Hi5 และ Facebook
นอกจากนี้ยังสามารถโหลดริงโทนเพลงแซมได้ด้วย


 


 



 


เว็บไซต์ของแก้วสรร อดิโพธิ์ (www.kaewsun.com)
มีเพลง และโบรชัวร์ให้ดาวน์โหลด


 


 






 


Hi5 และ Facebook ของ ม.ล.ณัฏฐกร เทวกุล
(nattakorn08.hi5.com)


 


 



 


Hi5 ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
(sukumpanb.hi5.com)


 


 


สำหรับผู้สมัครตัวเต็งทั้ง 4 คนนั้น ยุรนันท์ ภมรมนตรี ดูจะเป็นผู้สมัครที่ใช้เครื่องมือไฮเทคเหล่านี้อย่างจริงจังที่สุด มีการใช้ทั้งวิดีโอ เพลงริงโทนให้ดาวน์โหลด และ social network หลายชนิด ในขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกร เทวกุล จะรุกไปใช้เครื่องมือ social network เพียงอย่างเดียว (ไม่มีเว็บไซต์ของตัวเอง ใช้เว็บไซต์ที่ Hi5 เป็นหลัก) ส่วนแก้วสรรและ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ขยับตัวทันเครื่องมือเหล่านี้มากนัก แต่ก็เริ่มเห็นการนำมาใช้อย่างประปรายบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ผู้สมัครบางคน เช่น ม.ล. ณัฏฐกร เทวกุล และนายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ ได้ซื้อแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์วัยรุ่นที่ได้รับความนิยมหลายแห่ง เช่น Mthai.com อีกด้วย


 


 


แบน


 


เนอร์โฆษณาของนายเอธัส และ ม.ล. ณัฏฐกร บนเว็บไซต์ Mthai.com


 


 


จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครนั้นเป็นการเลือกตัวบุคคลเป็นหลัก (มีลักษณะเหมือนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นการโฆษณาตัวโอบามา ไม่ใช่โฆษณาพรรคเดโมแครต) การเลือกตัวบุคคลนั้นจะมีแง่มุมในการหาเสียงได้มากกว่าพรรค ซึ่งจะออกเป็นนามธรรมและจับต้องได้ยาก

เมื่อนำวิธีการหาเสียงของนักการเมืองไทยไปเทียบกับนักการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและบารัก โอบามา ซึ่งเป็นผู้นำในด้านนี้แล้ว เทคนิคของนักการเมืองไทยยังตามโอบามาอยู่อีกมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โอบามาได้แสดงให้โลกเห็นว่าจะนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เทคนิคที่โอบามาใช้ในการเลือกตั้งคราวนี้ จะกลายเป็นมาตรฐานที่นักการเมืองในการเลือกตั้งของสหรัฐ (เช่น การเลือกผู้ว่าการรัฐ) หรือการเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ (เช่น นายกรัฐมนตรี) ต้องนำมาใช้อย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะถ้าไม่ใช้นั้นจะหมายถึงการสูญเสียโอกาสให้คู่แข่งทันที

ด้วยต้นทุนที่ต่ำในการจัดทำและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต นักการเมืองไทยย่อมไม่พลาดที่จะใช้โอกาสเหล่านี้ เราได้เห็นแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก เช่น เลือกตั้งผู้ว่า กทม. หรือ สว. กทม. นั้นได้นำเอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้กันบ้างแล้ว และเราคงจะได้เห็นการขยายตัวออกไปสู่การเลือกตั้งแบบอื่นๆ ในอนาคตต่อไป

ไม่แน่ว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. คราวหน้า เราอาจจะเห็นการปราศรัยผ่าน YouTube กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำของ ส.ส. ทุกคนก็เป็นได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net