Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเวลา 12.30น. ของวันที่ 13 ม.ค. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีได้รับหมายเรียกในความผิดฐาน ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ม.112 ป.อาญา) หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ ตึก 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวและซักถาม

ใจระบุว่า คดีนี้มาจากหนังสือวิชาการภาษาอังกฤษของเขาที่ชื่อ "A Coup for the Rich" ซึ่งตีพิมพ์ในต้นปี 2550 แต่ยังไม่ทราบว่าส่วนใดของหนังสือที่ถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ เขาจะไปรายงานตัว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2552 เวลา 10.00 น.

ใจกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ หนังสือเล่มนี้ได้ถูกปฎิเสธไม่วางจำหน่ายจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ และต่อมา ตำรวจสันติบาลได้เคยทำหนังสือขอความร่วมมือไปศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ให้จำหน่ายหนังสือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าหนังสือของเขาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอยู่ระหว่างสืบสวน อย่างไรก็ตาม ใจกล่าวว่า หนังสือดังกล่าวซึ่งมียอดพิมพ์ทั้งสิ้น 1,000 เล่ม ได้ขายหมดแล้ว แต่สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ http://wdpress.blog.co.uk/

เขากล่าวว่า มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นักรัฐศาสตร์ในประเทศไทย จะต้องพยายามวิเคราะห์ลักษณะของสถาบันกษัตริย์ในบรรยากาศที่มีเสรีภาพทางวิชาการ แต่สถาบันกษัตริย์ได้ถูกนำมาอ้างในการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กรณีรัฐประหาร 19 กันยา และกรณีการปิดสนามบินโดยพันธมิตรฯ เป็นต้น และข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยเป็นอุปสรรคในการทำงานของสถาบันกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย เนื่องจากมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและห้ามไม่ให้พลเมืองตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ด้วยความโปร่งใส พลเมืองไทยถูกชักชวนให้เชื่อว่าเราดำรงอยู่ในระบบกษัตริย์แบบโบราณ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างระบบศักดินา ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข"

ใจ แสดงความเห็นว่า การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยเป็นการพยายามจำกัดการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยปัญญา เป็นการพยายามที่จะห้ามการคิดเองเพื่อส่งเสริมระบบท่องจำในหมู่ประชาชน ตัวอย่างที่ดีก็คือกรณีเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อมีการเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชวัง มีความคาดหวังในสังคมว่า เราจะชื่นชมและยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีที่การล้างสมองแบบนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะสังคมใดที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองไม่ได้ ย่อมเป็นสังคมที่ด้อยพัฒนา

ทั้งนี้ กองทัพมักจะอ้างว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ในระบบรัฐธรรมนูญ แต่ทหารไทยมีประวัติอันยาวนานในการทำลายรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหาร บ่อยครั้งรัฐประหารดังกล่าวจะอ้างความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ รัฐประหาร 19 กันยาเป็นตัวอย่างที่ดี เราควรเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวมิได้กระทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการอ้างถึงสถาบันกษัตริย์เพื่ออ้างความชอบธรรมกับการปฎิบัติของทหาร ดังนั้นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้โดยทหารและกลุ่มเผด็จการอื่นๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา การสร้างภาพว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจล้นฟ้า ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมกับตนเองโดยทหารและกลุ่มอื่นๆ

"ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีเสถียรภาพ ในขณะที่ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจะต้องสรุปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างเสถียรภาพกับสถาบันกษัตริย์แต่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น"

ใจกล่าวว่า ผู้ที่กล่าวหาผมว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวหาผมเพราะผมมีจุดยืนและอุดมการณ์ในการต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการ นักเคลื่อนไหวอื่นหลายคนถูกข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน และเราไม่ควรจะลืมกรณีของพวกเขา เราจะต้องรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งในสังคมไทยและเวทีสากล

ส่วนหนังสือ A Coup for the Rich นั้น ใจกล่าวว่า เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา เพื่อเป็นการวิเคราะห์วิกฤติการเมืองไทยในเชิงวิชาการจากจุดยืนที่สนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทักษิณมาตลอด เขาได้เสนอว่าการทำรัฐประหารขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เสนอว่ากลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหารประกอบไปด้วยทหาร พันธมิตรฯ นักธุรกิจบางส่วน นักเสรีนิยมสุดขั้ว และข้าราชการอนุรักษ์นิยม กลุ่มเหล่านี้มีจุดร่วมในการดูถูกคนจน ไม่ชื่นชมในระบบประชาธิปไตย เพราะมองว่าคนจนไม่ควรจะมีสิทธิเลือกตั้ง และเกลียดชังพรรคการเมืองของทักษิณเพราะมีความสามารถในการชนะการเลือกตั้งในขณะที่ตนเองชนะการเลือกตั้งไม่ได้

"อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในหนังสือของผม เป็นการตั้งคำถามกับความเชื่อในสังคมไทยว่าวิกฤตินี้มาจากความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทักษิณ ประเด็นนี้อาจจะสร้างความโกรธแค้นในหมู่ทหาร คมช. เพราะเขาต้องการสร้างความชอบธรรมจากพระราชวังในการทำรัฐประหาร ในประเด็นนี้ผมพยายามที่จะกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยการตั้งคำถามว่าสถาบันกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยควรจะปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยหรือไม่ ในบทที่สองของหนังสือ ผมพยายามวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ไทยตามประวัติศาสตร์ โดยเสนอว่าสถาบันกษัตริย์ในยุคนี้เป็นสถาบันสมัยใหม่ ไม่ใช่สถาบันศักดินา

"ผมปฏิเสธโดยสิ้นเชิงข้อกล่าวหาว่าผมได้ก่ออาชญากรรมด้วยการเขียนหนังสือเล่มนี้ และผมพร้อมที่จะสู้ข้อกล่าวหาคดีหมิ่นเดชานุภาพในทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพในระบบประชาธิปไตย"

เขากล่าวว่า เนื่องจากข้อกล่าวหาในครั้งนี้มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คำถามสำคัญคือ รัฐบาลใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้และคดีอื่นๆ อีกหลายคดีอย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะเข้มงวดมากขึ้นในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net