Skip to main content
sharethis

รัฐบาลพม่าเข้มรักษาความปลอดภัยในย่างกุ้งช่วงวันเอกราช


แหล่งข่าวรายงานว่า ทางการพม่าเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดรอบกรุงย่างกุ้ง หลังมีใบปลิวต่อต้านรัฐบาลพม่าถูกแจกจ่ายในกรุงย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


นักศึกษาในกรุงย่างกุ้งคนหนึ่งเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลและทหารจำนวนมากประจำการตามสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงเจดีย์ชเวดากอง  ประชาชนในพื้นที่คนหนึ่งที่เปิดเผยว่า การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในหลายเขตตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว


 


นักธุรกิจคนหนึ่งกล่าวว่า เขาทราบเรื่องที่มีใบปลิวต่อต้านระบาดรัฐบาลพม่าระบาดตามเมืองต่างๆเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนั้นทางการพม่าจึงเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพม่าออกเคลื่อนไหวและแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยในใบปลิวระบุว่า "ตราบใดที่ประชาชนในพม่ายังไม่มีเสรีภาพ พวกเราจะต้องดิ้นรนต่อสู้ต่อไป"


 


ขณะที่เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันเอกราชของพม่า สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี 9 คนถูกทางการพม่าจับกุมตัวหลังจากออกมาประท้วงหน้าอาคารรัฐสภาประชาชนในกรุงย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคที่ถูกรัฐบาลพม่ากักขังในบ้านพักมาเป็นเวลายาวนาน (Irrawaddy 13 ม.ค.52)


 


 


"กษิต ภิรมย์" เตรียมช่วยบูรณะวัดในพื้นที่ประสบภัยนาร์กิส


นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยแถลงพร้อมช่วยเหลือพม่าบูรณะซ่อมแซมวัดในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อเดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่ผ่านมา


 


โดยนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นผู้ประสานงานและบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อนำไปซ่อมแซมวัดที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กิสในพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีของพม่า  จากข้อมูลของกระทรวงศาสนาพม่าระบุว่า มีวัดได้รับความเสียหาย ในภาคอิระวดี 1,163 แห่งและในภาคย่างกุ้ง 284 แห่ง


 


โดยในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมบูรณะวัดในต่างประเทศ ขณะที่รายงานของกลุ่มบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ประสบภัยนาร์กิสต่างระบุว่า วัดถือมีบทบาทอย่างมากในการประสานงานช่วยเหลือชาวบ้านและเป็นที่พักพิงแก่ผู้ประสบภัย


 


ในส่วนของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยกล่าวในการประชุมด้านวิชาการเมื่อวันที่ 19 ของเดือนธันวาคมเมื่อปีที่แล้วว่า รัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นจะไม่ร่วมทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่าอย่างแน่นอน แต่จะมุ่งไปในเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่า และจะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเน้นจริยธรรม และจะปฏิบัติต่อชาวพม่าเหมือนที่ปฏิบัติต่อชาวไทย


 


เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกษิตได้เข้าประชุมร่วมกับนายจ่อทุ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศพม่าในกรุงเทพ เพื่อหารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ หลังการหารือของทั้งสองฝ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกล่าวว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพม่า แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด


 


"เป้าหมายของประเทศตะวันตกและภูมิภาคอาเซียนที่มีต่อพม่านั้นไม่แตกต่างกัน เราล้วนอยากเห็นการเปลี่ยนเกิดขึ้นในพม่า แต่อาจมีวิธีการแตกต่างกันเนื่องจากเหตุผลสำคัญสองประการ คือวัฒนธรรมที่แตกต่าง และระยะห่างของประเทศพม่าและประเทศนั้นๆ"นายอภิสิทธิ์กล่าว


 


ด้านเอทาอ่อง เลขาธิการคณะกรรมการสภาประชาชนแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า "ผมไม่เชื่อว่าไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงพม่าได้ เพราะประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้พยายามเปลี่ยนแปลงพม่ามากว่า 20 ปีก็ยังไม่เป็นผล" (Irrawaddy 13 ม.ค.52)


 


 


ที่มา: CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net