Skip to main content
sharethis

".. ไม่ว่าเป็นเครื่องพื้นบ้านหรือเครื่องสากล เราบรรเลงร่วมกันได้ ไปด้วยกันได้ เป็นวัฒนธรรมเพลงดนตรีมนุษยชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา พื้นที่ดินแดนใดก็ตามก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนั้น" คำบอกเล่าต่อผลงาน "เตหน่าแลมิตร" โดย ชิ สุวิชาน

 

 

"...งานชิ้นนี้ เตหน่า-เพลง-ดนตรีเผ่าปกาเกอะญอเข้าร่วมบรรเลงขับขานกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ไม่ว่าเป็นเครื่องพื้นบ้านหรือเครื่องสากล เราบรรเลงร่วมกันได้ ไปด้วยกันได้ เป็นวัฒนธรรมเพลงดนตรีมนุษยชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา พื้นที่ดินแดนใดก็ตามก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนั้น"

 

ส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าจากปกผลงาน "เตหน่าแลมิตร"

 

 

 

 

"เตหน่าแลมิตร" งานเพลงชุดที่ 2 ของศิลปินปกาเกอะญอจากเมืองเชียงใหม่ ชิ สุวิชาน ซึ่งร่วมกับชุมชนคนรักป่า กลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำงานรณรงค์เผยแพร่เรื่องราวของคนอยู่ป่า จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันนี้ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มะขามป้อมสตูดิโอ สี่แยกสะพานควาย เพื่อร่วมกันส่งต่อเรื่องราวและตำนานของชนเผ่าบนดอยสูง โดยผ่านบทเพลงและเตหน่า (เครื่องดนตรีปกาเกอะญอ)

 

หลังจากงานเพลงชุดแรก "เพลงนกเขาป่า" ได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตคนที่อยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพิงและเกื้อกูล ร้อยเรียงผ่านบทเพลงพื้นบ้านและดนตรีปกาเกอะญอ โดยมี ชิ ทำหน้าที่เป็น "นกเขาป่า" นกสื่อสารที่นำเรื่องเล่าจากคนบนดงดอยมาสู่คนเมือง

 

ผ่านไปกว่า 4 ปี งานเพลง "เตหน่าแลมิตร" ชุดที่ 2 นี้ ชิ ได้รังสรรค์ ราศี-ดิบ มาช่วยดูแลดนตรีและเป็นโปรดิวเซอร์ให้ นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งผูกมิตรไมตรีมาร่วมบรรเลงเครื่องดนตรีประสานเสียง "เตหน่ากู" ไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ เบสส์ กลอง ไวโอลิน เปียโน แซ็กโซโฟน กลองแจมเบ้ (กลองอาฟริกัน) ซามิเซง (เครื่องดนตรีโบราณของญี่ปุ่น) ปี่เขาควาย ฯลฯ ทำให้ได้บทเพลงพื้นบ้านปกาเกอะญอที่ผสมกลิ่นอายของหลากหลายวัฒนธรรมให้เราได้ฟัง

 

"ไม่ว่าฝรั่ง ไทย หรือคนดอย เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน ในโลกดวงเดียวกัน อย่างปัญหาในเมืองก็กระทบดอย ปัญหาดอยก็กระทบเมือง ดังนั้นจึงต้องช่วยกันแก้ โดยแก้ตามศักยภาพบนเงื่อนไขของตัวเอง เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีวัฒนธรรมที่แตกต่างใช่ แต่ภาระของเราเพื่อโลกมีไม่แตกต่างกัน" ชิบอกเล่าถึงสิ่งที่ต้องการสื่อสารในงานเพลงชุดที่สอง

 

เมื่อถามถึงความแตกต่างของงานเพลงทั้งสองชุด ชิกล่าวว่า งานเพลงชุดแรกจะมุ่งนำเสนอเนื้อหาเพื่อทำให้คนได้รู้จัก ความคิด วิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่าว่าไม่ได้เหมือนกับกรอบความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่คนเมืองได้เรียนรู้หรือมีการนำเสนอผ่านสื่อแต่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องดนตรีมากเท่าชุดสอง นอกจากนี้ในชุดสองจะกระบวนการคิดเรื่องเนื้อหาที่เข้มข้น และมีเรื่องราวที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น

 

ในส่วนความหมายของชื่อ "เตหน่าแลมิตร" นั้น ชิ กล่าวว่าในวิถีคิดของปกาเกอะญอ คำ คำหนึ่งสามารถตีความได้มากว่า 7 อย่าง ซึ่งสำหรับ "เตหน่าแลมิตร" นั้น เขาได้ให้คำอธิบายไว้ 2 ข้อ ข้อแรกคืองานเพลงชุดนี้เป็นผลงานที่มีเตหน่าร่วมบรรเลงกับมิตรคือเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ข้อที่สองคือการเดินทางตามหามิตรของเตหน่า ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องดนตรี แต่เป็นการสื่อสาร ที่เป็นได้ทั้ง คน ภาพ และเสียง

 

000

 

ศิลปินผู้เดินทางมาจากดินแดนป่าสนวัดจันทร์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของบทเพลงทั้ง 12 เพลงในงานชุดนี้ โดยมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ นิตยสาร OPEN ชวนพูดคุย อาทิ

 

เพลง "ดู เล ดู เล" ซึ่งมาจากเพลงพื้นบ้านปกาเกอะญอ มีเตหน่า บรรเลงร่วมกับ โหวด กลองแจมเบ้ และซามิเซ็ง เพลงนี้สื่อถึงช่วงเวลาเดินทางหามิตร ส่วนเพลง "ขอดึเดอ" แปลว่า คืนวันเก่าๆ มีเนื้อเพลงเล่าถึงความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งในอดีตคือครอบครัวเดียวกัน แต่เมื่อวันเวลาแปรเปลี่ยน คนเพิ่มขึ้น แผ่นดินเล็กลง จึงเกิดการแก่งแย่งแข่งขัน ทำให้โลกร้องไห้ ดังนั้นจึงอยากให้กลับมากินข้าวร่วมกัน กินฟักเขียวกับไก่ขาว และร่วมกันปลอบโยนโลก

 

ชิอธิบายว่า คนปกาเกอะญอเชื่อว่าโลกนี้กลมรีเหมือนฝักเขียว หากโลกสีเขียวลดลงหรือมีทรัพยากรลดน้อยลงก็เหมือนฝักที่ใกล้เน่า ส่วนไก่ขาวหมายถึงความจริงใจ จริยธรรม คุณธรรม ที่จะทำให้คนไม่โลภ หวังกอบโกยแต่ผลประโยชน์ ส่วนเพลง "แม่เป็นคนจน" บอกเล่าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เปรียบเหมือนแม่ของทุกชีวิตว่า ดิน น้ำ ป่า ไม่รำรวยพอที่จะให้เงินทอง แต่มีเพียงพอที่จะทำให้คนอยู่ได้ ซึ่งหากไม่รักษาสุดท้ายลูกก็จะจน แม่ก็จะจน

 

ในเพลง "ไก่กำพร้า" ชิเปรียบปกาเกอะญอ และคนชนเผ่าต่างๆ เหมือนลูกไก่ที่ไม่มีแม่ดูแล ซึ่งลูกไก่เหล่านี้ต้องมารวมตัวกันส่งเสียงร้องให้คนเข้าใจ และหาเพื่อนที่จะบอกทิศทางในการมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ เพลง "หน่อฉ่าตรู" หรือหญิงสาวดาวศุกร์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ส่วนเพลง "เทาะ แม ป่า" ซึ่งเป็นชื่อผู้นำที่แข็งแกร่งและอ่อนโยนของปกาเกอะญอ ที่จะกลับมาหาลูกหลานเพื่อรับไปอยู่ยังดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นคนปกาเกอะญอจึงยังรักษาดิน น้ำ ป่า และพยายามรักษาวัฒนธรรมของชนเผ่าให้ยังคงอยู่ เพราะหากเทาะมอป่ากลับมาแล้วพบว่าทุกอย่างไม่เหมือนเดิม จะไม่รับเป็นลูก เป็นหลาน

 

เพลง "แบแล" ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านพม่า เพลง "นกนางแอ่น" ซึ่ง พนา พ่อของชิเป็นคนเขียนเนื้อร้องเพื่อให้พลังแก่คนหนุ่มสาวในการก้าวย่างผ่านยุคสมัยที่ทุนนิยมกำลังครอบงำอยู่ในสังคม

 

นอกจากนี้ยังมี เพลง "นก" ที่บอกถึงความเชื่อเรื่องวิวัฒนาการของคนกลายเป็นสัตว์ต่าง ซึ่งสวนทางกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์บางสาขาที่ว่าลิงวิวัฒนาการมาเป็นคน เพลง "กล่อมลูก" ซึ่งมากเพลงกล่อมลูกพื้นบ้านของปกาเกอะญอ "เธอชื่อเตหน่า" เพลงคำร้องภาษาไทยซึ่ง ชิ บอกว่ามันตรงกับเรื่องราวของเขา แต่งโดย สุวิชานนท์ รัตนภิมล

 

และเพลง "กละ กละ ฉิ กรู งู" ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกจากกระแสลมพายุ ซึ่งในอดีตอาจเปรียบได้กับกระแสการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ลุกไล่เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น ส่วนปัจจุบันอาจเป็นกับภาวะโลกร้อน แต่ไม่ว่าอย่างไร ตอข้าวและขี้ผึ้งซึ่งชิอธิบายความว่า คือวิถีการผลิตที่พออยู่พอกินและหลักคุณธรรม จริยธรรม จะเป็นสิ่งที่มั่นคงที่สามารถยึดไว้เป็นหลักมั่นให้คนดำรงชีวิตอยู่รอดได้

 

 

000

 

 

 

จากการพูดคุยหลังเวที ชิทำให้เราเห็นภาพว่าการเข้ามาของหมอ ครู และผู้เผยแพร่ศาสนาต่างๆ ทำให้วิถีบางอย่างชุมชนขาดหายไป รวมทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว จากที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เคยเป็นผู้อบรมสั่งสอน เผยแผ่ความคิดความเชื่อเพื่อการดำรงชีวิตในชุมชนให้แก่ลูกหลาน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หน้าที่เหล่านี้ได้ถูกยกให้กับครูในโรงเรียน หมอในโรงพยาบาล และผู้เผยแผ่ในศาสนาต่างๆ เพราะความรู้เหล่านี้ไม่ได้เป็นความรู้ดั้งเดิมของชุมชน ที่ปู่ยาย ตายายจะมีความรู้มากพอที่จะสอนได้ จึงต้องยกให้เป็นหน้าทีของคนอื่น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความรู้ความคิดที่เข้ามาสู่ชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่ดี

 

และสิ่งที่เขาทำคือ การนำเสนอชุดความรู้ดั้งเดิมของท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าจะมีการนำกลับไปใช้หรือไม่ เพราะการเดินกลับไปสู่การดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิมๆ อาจเป็นไปไม่ได้แล้ว

 

ชิ เปรียบเทียบการผสานเครื่องดนตรีสมัยใหม่ต่างๆ เข้ากับดนตรีของเตหน่ากู เพื่อให้คนคนปกาเกอะญอรุ่นใหม่ๆ เข้าถึงได้ง่าย กับแก้วไม้ไผ่ว่า การเอาที่ตัดหัวตัดท้ายแล้วบอกว่าดีกว่าแก้วน้ำนั้นคงไม่ได้แล้ว มันจึงต้องมีการทำขอบปากให้เรียบ เพื่อให้ใช้แล้วไม่บาดปาก แต่ถึงจะมีการปรับแต่งอย่างไรมันก็ยังเป็นกระบอกไม้ไผ่

 

การที่ดนตรีของเตหน่ากู ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวิถีคนปกาเกอะญอ สามารถนำไปบรรเลงผสานกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุนใหม่คุ้นชินกว่าได้ ถือเป็นการประยุกต์ใช้ ที่สร้างความภาคภูมิใจ เพราะวัฒนธรรมไม่ใช่การต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมสมารถผสมผสานอยู่ร่วมกันได้ ถ้ายอมรับความแตกต่างหลากหลาย

 

"การยอมรับซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่รุกล้ำ พร้อมยอมรับภูมิปัญญาใหม่ๆ ในขณะที่อยู่ตามภูมิปัญญาก็เรียนรู้ที่จะเปิดใจยอมรับ และเลือกหยิบใช้วัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ของคนอื่นด้วย" ชิกล่าวถึงความคิดในการทำงานที่ผสมผสานวัฒนธรรมทางดนตรีของเขา

 

 

000

 

"วัฒนธรรมนั้นไม่หยุดนิ่ง มีการขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ แต่วัฒนธรรมที่แท้จริงจะขับเคลื่อนและเติบโตขึ้น จนเหมาะสมกับผู้ใช้มากขึ้นตามยุคสมัย ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างฉาบฉวยหรือเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มันเป็นวิถีของชุมชนที่ดำเนินไปโดยมีการหยิบยืมแลกเปลี่ยน และสิ่งสำคัญที่ต้องคงอยู่คือ ราก" ศิลปินหนุ่มปกาเกอะญอกล่าว

 

"ตาลือ ตาหละ" คือคำว่าวัฒนธรรมในความหมายของปกาเกอะญอ เมื่อแปลตรงตัวจะหมายถึง เยื่อและใย และในภาษาปกาเกอะญอจะมีคำว่า "โหม่ลือ ป่าหละ" แปลว่า แม่เป็นเยื่อพ่อเป็นใย หมายความถึงพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ส่งผ่านวัฒนธรรมสู่คนรุ่นต่อไป

 

ชิเปรียบเทียบว่า ต้นไม้มีเยื่อและใยอยู่แม้ใบหมดร่วงหล่นหมดทั้งต้น ต้นไม้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าต้นไม้ขาดเยื่อและใยแม้มีใบ ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ โดยใบก็เปรียบเสมือนสิ่งแต่งแต้มจากวัฒนธรรมที่ผสมผสานที่มองเห็นได้ ขณะที่ต้นไม้นั้นมีเยื่อและใยเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงและรากของวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ดำรงจุดยืนไว้

 

"หากเรามีรากที่เข้มแข็ง วัฒนธรรมอื่นก็จะมาเป็นตัวแต่งแต้ม แต่ถ้าไม่เข้มแข็งเราจะกลายเป็นตัวแต่แต้มวัฒนธรรมอื่น ตรงนี้เป็นปัญหา" ชิบอกเล่าความคิด และเสริมว่าหากยังคงรักษารากไว้ได้การผสมผสานที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็น "การยกระดับวัฒนธรรม"

 

 

000

 

ที่ผ่านมาการเดินทางไปแสดงดนตรียังที่ต่างๆ ของชิ นอกจากจะเป็นเพื่อสืบทอดเรื่องราวความเป็นชนเผ่าให้ผู้คนได้รับรู้ในฐานะลูกหลานปกาเกอะญอผ่านคำร้อง ทำนอง จากเครื่องดนตรีและเสียงดนตรีชนเผ่า ในแต่ละเวทียังเป็นการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจากเมืองสู่ป่า จากป่าสู่เมือง และในหมู่คนชนเผ่าต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายทั้งชาติพันธุ์ ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมา

 

จาก ชิ หรือเจ้าตัวเล็กในภาษาปกาเกอะญอของพ่อในวัยเด็ก วันนี้ ชิ สุวิชาน หรือ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เป็นทั้ง นักดนตรี กวี นักวิชาการ รวมทั้งนักพัฒนา จากดินแดน "มูเส่คี" ดงป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนต้นน้ำแม่แจ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อป่าสนวัดจันทร์ ผู้ขับขานบทเพลงให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจชีวิต ธรรมชาติ สรรพสัตว์ ชนเผ่า และคนเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ ต่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และอยู่ด้วยกันได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

 

ผลงานเพลงชุดล่าสุดชิ้นนี้จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทางดนตรี ในขณะเดียวก็อบอุ่นด้วยมิตรภาพ สมดังคำที่ว่า "ทางเดินยิ่งไกล มิตรเตหน่ายิ่งเพิ่มเติม" เพราะมันคือประสบการณ์การเดินทางมาหามิตรจากแดนไกลของเขา ชิ สุวิชาน

 

 

………………………………………………

ป.ล. ผลงานไม่มีวางจำหน่างบนแผงเทปทั่วไป

ดูข้อมูลเพิ่มเติมของ ชิ สุวิชาน หรืออุดหนุนผลงาน:

www.chitehnaku.com , chipatayaw@yahoo.com

บล็อกของ ชิ สุวิชาน http://blogazine.prachatai.com/user/chisuwicharn/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net